ประสิทธิ์ รักประชา ลอบออกจากสยามเมื่อ 2480 เป็นทหารรบให้จีน กลับมาเป็นตร.ไทย

(ซ้าย) ปรีดี พนมยงค์ (ภาพใหญ่) เจียง ไค เช็ค (กลาง) พร้อม Soong May-ling ภรรยา และบุตร General Wego (ขวาสุด) เยี่ยมชมการจัดแสดงโดยกองทัพอากาศ ในไทเป-ไต้หวัน เมื่อธันวาคม 1961 ภาพจาก AFP

ประสิทธิ์ รักประชา ชื่อจีน “พันจื่อหมิง” คนไทยเชื้อสายจีน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2461 ที่จังหวัดสมุทรสงคราม เรียนจบมัธยมต้นวัดกลางเหนือ อำเภอบางคนที มัธยมตอนปลาย โรงเรียนจงหวาวิทยาลัย ถนนสาทร กรุงเทพฯ แล้วลักลอบเดินทางออกจากสยามเมื่อปลายปี พ.ศ. 2480 ขณะอายุ 19 ปี เพื่อสอบคัดเลือกเข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยทหารบกหวังปูแห่งสาธารณรัฐจีน

จบแล้วเข้าเป็นนายทหารกองทัพบกสาธารณรัฐจีนในสถานการณ์สู้รบเป็นเวลา 8 ปีเศษ จนดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารราบยศพันเอก แล้วเดินทางกลับไทยเข้ารับราชการเป็นนายตำรวจเมื่อ พ.ศ. 2497

Advertisement

สงครามจีน-ญี่ปุ่น

ขณะที่ประสิทธิ์ใกล้จบการศึกษามัธยมตอนปลายนั้น ใน พ.ศ. 2480 กองทัพญี่ปุ่นได้เปิดฉากรุกรานสาธารณรัฐจีน การสู้รบได้ขยายตัวมากขึ้นตามลำดับ สร้างความตื่นตัวให้กับชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลกรวมทั้งในสยามเป็นอย่างยิ่ง ต่างช่วยกันระดมทุนส่งไปสนับสนุนรัฐบาลสาธารณรัฐจีนที่มีเจียงไคเช็คเป็นประธานาธิบดี

เด็กหนุ่มไทยเชื้อสายจีนจำนวนมากต่างเล็ดลอดหลั่งไหลเดินทางกลับประเทศจีนเพื่อสมัครเข้าเป็นทหารต่อสู้กองทัพญี่ปุ่น ประสิทธิ์ได้ตัดสินใจลักลอบเดินทางออกจากสยามเพื่อไปสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยหวังปู โดยการสนับสนุนของนายตันซิวเม้ง นายกสมาคมพาณิชย์จีน และทูตพาณิชย์จีนประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์โรงเรียนจงหวาวิทยาลัย โดยจัดหาตั๋วโดยสารเรือเฮรีนา ซึ่งเป็นเรือเดินทะเลที่ บริษัท หวั่งหลี ของตนเช่ามาจากประเทศเดนมาร์ก เพื่อส่งข้าวไปขายที่ฮ่องกง

เรือออกจากท่าเรือหวั่งหลีที่ถนนตกเมื่อปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2480 โดยประสิทธิ์มิได้บอกกล่าวร่ำลาทางบ้านเนื่องจากเกรงว่าจะไม่ได้รับอนุญาต สามารถสอบผ่านได้เข้ารับการศึกษาโรงเรียนนายร้อยหวังปูรุ่นที่ 14 พ.ศ. 2481

โรงเรียนนายร้อยหวังปู

โรงเรียนนายร้อยหวังปูมี พลเอก เจียงไคเช็ค เป็นผู้บัญชาการ เปิดการศึกษาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2467 โดยเลือกเกาะหวังปู ปากแม่น้ำจูเจียงเป็นที่ตั้ง จึงตั้งชื่อว่าโรงเรียนนายร้อยหวังปู แม้ต่อมาจะย้ายที่ตั้งโรงเรียนไปยังนครนานกิงก็ยังเรียกว่าโรงเรียนนายร้อยหวังปู

การฝึกศึกษาใช้ระบบทหารเยอรมัน มีคณะที่ปรึกษาเป็นนายทหารเยอรมัน นักเรียนที่สำเร็จได้คะแนนดีระดับต้นๆ จะถูกส่งไปเรียนต่อที่เยอรมนีแล้วกลับมาเป็นอาจารย์ของโรงเรียน ครั้นเมื่อเกิดสงครามกับกองทัพญี่ปุ่น จำเป็นต้องขยายกองทัพให้มีขนาดใหญ่ขึ้น โรงเรียนนายร้อยหวังปูจึงเปิดสาขาเพิ่มขึ้นอีก ๙ แห่ง เพื่อเร่งรัดการผลิตนายทหารระดับผู้บังคับหมวด

ชีวิตนักเรียนนายร้อย

ประสิทธิ์บันทึกชีวิตในโรงเรียนนายร้อยหวังปูไว้ดังนี้

“ข้าพเจ้าสอบเข้าสาขาที่ 4 มณฑลกวางตุ้ง หลังจากสอบได้แล้วเนื่องจากภัยสงครามได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองกุ้ยผิง มณฑลกวางสี ลึกเข้าไปในผืนแผ่นดินใหญ่ จึงต้องติดตามไปรายงานตัวที่มณฑลกวางสี วันรายงานตัวสิ่งแรกที่โรงเรียนสั่งให้ทำคือโกนหัวให้เรียบร้อยก่อนเหมือนพระบวชใหม่ ก็ดีไปอย่าง ไม่ต้องกังวลเรื่องหวีผม สระผม หรือเป็นเหา” ประสิทธิ์เลือกเหล่าทหารราบ สังกัดกองพันที่ 2 กองร้อยที่ 4

คำขวัญของโรงเรียนคือ รักกันฉันพี่น้อง ถืออาวุโสเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อพบกันถามถึงรุ่น ถ้าเป็นรุ่นน้อง ไม่ว่ามียศตำแหน่งสูงแค่ไหน ต้องเรียกรุ่นพี่ว่า พี่ใหญ่ มีกลิ่นอายศิษย์พี่ศิษย์น้องร่วมสำนัก สปิริตของหวังปู คือ เสียสละ : สละชีพเพื่อประเทศชาติ สามัคคี : สามัคคีในหมู่คณะทหารปฏิวัตินักเรียนนายร้อยหวังปู หน้าที่ : ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้สำเร็จ ถึงแม้จะต้องพลีชีพก็ยอม”

“การฝึกวิชาทหารชั้นต้น ฝึกให้ร่างกายแข็งแรง อดทน บึกบึน ตอนเป็นเตรียมนักเรียนนายร้อยมีฐานะเป็นพลทหาร ทำงานโยธาสารพัด ขนหิน ขนทราย สร้างถนน ขุดบ่อน้ำ สร้างสนามฝึก และต้องฝึกระเบียบแถวท่าทหารราบอีกด้วย พอขึ้นเป็นนักเรียนนายร้อย เลื่อนยศเป็นสิบโท การฝึกระเบียบแถวลดน้อยลง เพิ่มวิชายุทธวิธีการเข้าตี การตั้งรับ การรุกไล่ติดตาม การถอนกำลัง การรบแบบฉับพลัน การรบแบบจู่โจม และการรบกลางคืน ฝึกทุกกระบวนยุทธ์ที่ต้องใช้ในสนามรบ

การฝึกวิ่ง วิ่งทั้งเช้าทั้งเย็น วิ่งกันจริงจังแทบเดินไม่เป็น ได้เห็นผลในยามออกรบ การเคลื่อนพลของทหารจีนใช้เดินทั้งนั้น ข้าพเจ้าอยู่ในกองทัพจีน 7-8 ปีไม่เคยนั่งรถยนต์เลย การเดินทัพผู้ใดตกแถวผู้บังคับบัญชาจะช่วยเก็บอาวุธไว้ให้เท่านั้น ตัวใครตัวมัน ถ้าเดินตามไม่ทันก็ตกแถวหายไปเลย การอบรมด้านวินัยเน้นหนักเรื่องต้องเชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยเด็ดขาด”

“ประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน 2481 ญี่ปุ่นได้ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด 27 ลำมาทิ้งระเบิดที่โรงเรียนเมื่อเวลา 12.00 น. ตามปกติเวลานี้พวกนักเรียนและอาจารย์จะอยู่ในห้องอาหาร เมื่อเครื่องบินบินมาก่อนจะหลบภัยนักเรียนทุกคนต้องสาละวนกับการไปเอาปืนในห้องเก็บปืนติดตัวไปด้วยตามระเบียบปฏิบัติประจำ ‘ปืนไม่ห่างกาย’ คงต้องตกเป็นเหยื่อของเครื่องบินทิ้งระเบิดตายแน่นอน เพราะญี่ปุ่นได้หาข่าวไว้เรียบร้อยว่าเวลา 12.00 น. ทิ้งระเบิดเป็นเวลาที่เหมาะที่สุด

เดชะบุญขณะนั้นนักเรียนกองพันที่ 1 (3 กองร้อย) ได้สำเร็จการศึกษาก่อนกำหนด เพราะกองทัพแนวหน้าต้องการนักเรียนต่างเหล่า เมื่อแบ่งเหล่าแล้วได้แยกย้ายไปฝึกที่อื่น เหลือแต่กองพันที่ 2 (4 กองร้อย) ของข้าพเจ้า วันนั้นทำการฝึกภาคสนาม ข้าพเจ้าจำได้อย่างแม่นยำว่าเป็นวิชากองร้อยเป็นกองระวังหน้า ปกติพอฝึกเสร็จ แต่ละกองร้อยจะแยกย้ายกันกลับโรงเรียนเพื่อเตรียมรับประทานอาหารกลางวัน แต่วันนั้นผู้บังคับกองพันคุมการฝึก เมื่อฝึกเสร็จมีคำสั่งให้นักเรียนทั้ง 4 กองร้อยรวมแถวในดงไม้ห่างจากโรงเรียนประมาณ 3 กิโลเมตร เพื่อฟังคำวิจารณ์ผลการฝึก ขณะที่ท่านกำลังพูดอยู่ เครื่องบินทิ้งระเบิดของญี่ปุ่น 27 ลำบินต่ำลงมาโผล่ที่ภูเขาหลังโรงเรียนแล้วทิ้งระเบิดทันที

ผู้บังคับกองพันออกคำสั่งนอนราบ นักเรียนประมาณ 500 คนต่างทุ่มตัวลงนอนราบบนพื้นดินทันที ไม่มีใครวิ่งหนีหรือเคลื่อนไหวใดๆ ถ้ามีการเคลื่อนไหวนักบินจะสังเกตเห็นได้ง่าย ฝูงบินวนทิ้งระเบิด 3 รอบ ตีวงบินผ่านเหนือหัวพวกเราทั้ง 3 รอบ และบินกลับไปทางเมืองกวางโจว พวกเราปลอดภัยทุกคน แต่พอกลับถึงโรงเรียนเห็นอาคารหอพักและห้องอาหารโดนระเบิดแหลกลงมากองอยู่กับพื้นดิน ข้าวของเสื้อผ้าแตกหักฉีกขาดกระจัดกระจายเสียหายหมด ทหารพวกสูทกรรมและทหารฝ่ายบริการ 100 กว่าคนถูกระเบิดตายเป็นส่วนมาก ที่ยังไม่ตายก็แขนขาขาดร้องระงมด้วยความเจ็บปวดเป็นที่น่าเวทนายิ่งนัก ถ้าพวกเรากลับถึงโรงเรียนตามกำหนดคงตายเรียบ”

เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นอีก จึงย้ายที่ตั้งโรงเรียนสาขานี้ไปยังเมืองอี๋ซัน มณฑลกุ้ยโจว ด้วยการเดินเท้าประมาณ 10 วัน และใช้สถานที่นี้จนจบการศึกษาเมื่อปลายปี พ.ศ. 2482 ประสิทธิ์อายุ 21 ปี

“ผู้บัญชาการโรงเรียน จอมพล เจียงไคเช็ค ติดราชการมาไม่ได้ แต่ได้ส่งกระบี่สั้น (กันหยัน) มามอบให้นักเรียนคนละเล่ม ด้ามกระบี่สลักชื่อ จอมพล เจียงไคเช็ค ผู้ให้บนกระบี่ ด้านหนึ่งสลักชื่อผู้รับ อีกด้านหนึ่งสลักอักษร 4 ตัวว่า ‘ความสำเร็จ ความตาย’ หมายความว่าต้องรบให้ชนะ ยอมตายดีกว่าถ้าแพ้”

เจียง ไค เช็ค (กลาง) พร้อม Soong May-ling ภรรยา และบุตร General Wego (ขวาสุด) เยียมชมการจัดแสดงโดยกองทัพอากาศ ในไทเป-ไต้หวัน เมื่อธันวาคม 1961 ภาพจาก AFP

ประสบการณ์ในกองทัพจีน

ประสิทธิ์พร้อมเพื่อนร่วมรุ่นอีก 12 คน ซึ่งสอบได้คะแนนเป็นลำดับต้นๆ เข้าประจำการที่กองพลที่ 50 กองทัพที่ 54 มณฑลหูหนาน ซึ่งจัดเป็นกองทัพชั้นแนวหน้า รับผิดชอบมณฑลหูหนานอันเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญจึงต้องป้องกันมิให้ญี่ปุ่นยึดไปโดยง่าย จนปลายปี พ.ศ. 2483 จึงได้รับตำแหน่งผู้บังคับกองร้อยอันเป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นบุกมณฑลกวางสี ประสิทธิ์ได้เข้าร่วมรบด้วยเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน กองทัพจีนประสบความสำเร็จสามารถป้องกันมณฑลกวางสีได้ แต่กองพลที่ 50 ซึ่งประสิทธิ์สังกัดอยู่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก จึงได้รับคำสั่งให้เคลื่อนย้ายไปเข้าแผนปรับและฟื้นฟูกำลังที่มณฑลยูนนาน ซึ่งอยู่ห่างจากพื้นที่การรบ

ประสิทธิ์ได้บันทึกประสบการณ์ระหว่างการรบครั้งหนึ่งไว้ว่า กองพลที่ 1 ซึ่งเป็นกองพลชั้นเยี่ยมของกองทัพจีน ได้รับคำสั่งให้วางแนวรบบนที่ราบสูง ผู้บัญชาการกองพลขึ้นแนวหน้าไปสำรวจภูมิประเทศเพื่อวางแผนแนวตั้งรับถูกทหารแม่นปืนของข้าศึกที่ซุ่มอยู่ก่อนยิงด้วยปืนเล็กยาวถูกหน้าอกเสียชีวิตทันที กองพลยังไม่ทันรบ ผู้บัญชาการกองพลถูกยิงเสียชีวิตในสนาม ทหารทุกคนขวัญเสีย รบไม่ได้ต้องถอยร่นลงมาทั้งกองพล…

“กองพลที่ 50 ที่ข้าพเจ้าสังกัดอยู่รับคำสั่งให้ไปผลัดเปลี่ยน กำลังส่วนหน้าของ 2 กองพลประมาณ 4,000 คนมาแออัดอยู่ละด้านบริเวณสถานีรถไฟเมืองหลิวโจว วันนั้นเป็นวันที่ จอมพล เจียงไคเช็ค ผู้บัญชาการทหารสูงสุดนัดประชุมแม่ทัพนายกองระดับผู้บัญชาการกองทัพขึ้นไปทั่วประเทศประมาณ 100 คน ที่ถ้ำใต้ภูเขาฝั่งตรงข้ามสถานีรถไฟ ถึงเวลาเที่ยงวันพอดี เครื่องบินทิ้งระเบิดและเครื่องบินรบของข้าศึกร้อยกว่าเครื่องดาหน้าบินมาเต็มท้องฟ้าบังแสงพระอาทิตย์มัวไปหมด บินวนเวียนทิ้งระเบิดที่บริเวณปากถ้ำที่ประชุมอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมงจึงบินกลับไปทางมณฑลกวางตุ้งโดยปราศจากการรบกวนจากเครื่องบินของฝ่ายเรา

ข้าพเจ้านอนหงายหน้านับเครื่องบินอยู่ข้างสถานีรถไฟ เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นเครื่องบินจำนวนมากเช่นนี้มาชุมนุมกันทิ้งระเบิดแผ่นดินแทบถล่มทลาย ได้ข่าวว่าการประชุมนายทหารชั้นผู้ใหญ่ในวันนั้นทุกคนปลอดภัย ต้องขอชมเชยวินัยในการปฏิบัติการรบของนักบินญี่ปุ่นว่าเฉียบขาดมาก ได้รับคำสั่งให้ระเบิดถ้ำก็ระเบิดถ้ำแห่งเดียว ไม่สนใจเป้าหมายอื่นเพื่อผลพลอยได้ หากหยอดระเบิดลงที่สถานีรถไฟสักรอบเดียว พวกเราคงเสร็จไปหลายพันคน”

ความผูกพันกับทหารจีน…

“ข้าพเจ้าใช้ชีวิตในสนามรบมีความผูกพันกับทหาร ถึงแม้จะเป็นนายสิบพลทหารแต่เราร่วมเป็นร่วมตายด้วยกันจึงมีความสัมพันธ์ทางจิตใจอย่างลึกซึ้งเหมือนพี่น้องกัน ทหารจีนเป็นทหารที่น่าเห็นใจ เป็นชาวนาซื่อๆ มาเป็นทหารเพราะประเทศถูกรุกราน มีความรักชาติ มีความมานะอดทน บางช่วงเวลาอาหารขาดแคลนต้องกินหัวเผือกหัวมันเป็นหลายเดือนไม่เคยบ่น อาวุธกระสุนส่งมาแนวหน้าไม่ทัน 2 คนใช้ปืนกระบอกเดียวผลัดกันยิงก็มี ขวัญกำลังใจไม่ตกต่ำ ที่น่ารักก็คือเชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาโดยเด็ดขาด ไม่มีข้อแม้ไม่มีข้ออ้างใดๆ ทั้งสิ้น”

“ทหารทุกคนก่อนออกรบต้องเตรียมพร้อมทั้งกำลังกายและกำลังใจ ตรวจดูอาวุธปืนและกระสุนให้แน่ใจ แต่งเครื่องแบบรัดกุมกระฉับกระเฉง พร้อมที่จะวิ่งและกระโดดได้ สิ่งของที่ไม่จำเป็นทิ้งไปให้หมด เป้ของแต่ละคนพยายามให้เบาเข้าไว้ มิฉะนั้นจะยิ่งแบกยิ่งหนักจนทนจนแบกไม่ไหว เวลายิงสู้กันอย่ากลัว ถ้ากลัวจะโดนยิง การรบติดพัน 2-3 เดือนไม่ได้อาบน้ำเป็นเรื่องธรรมดา หน้าหนาวต้องเปลี่ยนเครื่องแบบเป็นเสื้อหลวมกางเกงพอง ใส่ใหม่ๆ รู้สึกอุ้ยอ้าย ใส่นานเข้าก็คล่องตัวไปเอง ต้องใส่ทั้งกลางวันและกลางคืนไม่มีโอกาสผลัดเปลี่ยนเพราะมีชุดเดียว ถ้าแจกให้อีกชุดก็ไม่รู้จะแบกไปอย่างไร ต้องใส่จนถึงต้นฤดูร้อน ใส่ได้สักเดือนตามรอยตะเข็บเสื้อและกางเกงจะมีเห็บสีเทาเกาะอยู่คอยดูดเลือดจะรู้สึกคัน พอนานเข้าก็ชินไปเอง”

“ทหารที่เสียชีวิตในสนามรบ ผู้บังคับหมู่จะตัดแผ่นป้ายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าชิ้นเล็กๆ ที่ทำด้วยผ้าชุบน้ำมัน บนนั้นเขียนชื่อแซ่ หมายเลขประจำตัว และต้นสังกัดด้วยหมึกจีน ถูกน้ำก็ไม่เลอะเลือน เย็บอยู่เหนือกระเป๋าบนด้านซ้ายของเครื่องแบบเก็บเอาไว้เป็นหลักฐาน ใช้ผ้าห่มหรือเสื้อฝนห่อศพแล้วขุดหลุมฝังบริเวณสนามรบนั่นแหละ รบกันแต่ละครั้งใช้กำลังพลเป็นแสน ที่ตายก็ตายไป ที่ยังก็รบกันต่อไป เคลื่อนย้ายไปตามสถานการณ์หรือคำสั่ง ไม่สามารถจัดศพเพื่อนร่วมรบให้ดีกว่านี้ได้”               

เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2485 กองทัพญี่ปุ่นพ่ายแพ้ที่เกาะมิดเวย์ จากนั้นก็เริ่มอ่อนแรงในทุกสมรภูมิรวมทั้งในจีน

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ยุทธการ “มิดเวย์” (Midway) สมรภูมิพลิกโลก เค้าลางหายนะของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2

พบเสรีไทย

ปลายปี พ.ศ. 2487 ประสิทธิ์ได้รับคำสั่งให้ไปรายงานตัวที่กรมข่าวกรองทหาร คณะกรรมการทหารสูงสุด นครจุงกิง มณฑลเสฉวน ได้รับมอบหมายให้เป็นนายทหารติดต่อประจำสำนักงานเสรีไทยที่นครจุงกิง ซึ่งประกอบด้วย นายถวิล อุดล พันโท พระอภัยพลรบ นายวิบูลย์วงศ์ วิมลประภา นายประยูร อินทรัมพรรย์ และเชลยศึกอีก 3 คนทำหน้าที่ล่าม

“คณะเสรีไทยที่ประจำนครจุงกิง รัฐบาลจีนถือว่าเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยผู้รักชาติ จึงให้เกียรติและสิทธิเทียบเท่าคณะทูตต่างประเทศ อำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารและการเดินทางกลับประเทศไทยหรือไปต่างประเทศ เช่น อินเดีย เพื่อเดินทางต่อไปยังอังกฤษและอเมริกา ภายในประเทศจีนจากนครจุงกิง สามารถเดินทางไปมาระหว่างนครคุนหมิง เมืองซือเหมาและนครเชียงรุ้ง แคว้นสิบสองปันนา ที่เมืองซือเหมามีฐานปฏิบัติการของเสรีไทยสายอเมริกาตั้งอยู่ ส่วนนครคุนหมิงและนครเชียงรุ้งมีพลพรรคเสรีไทยเข้าออกหาข่าวเป็นประจำ”

ปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2488 คณะเสรีไทยได้รับวิทยุจาก ดร. ปรีดี พนมยงค์ ให้ ถวิล อุดล เดินทางกลับกรุงเทพฯ ด่วน จึงได้ประชุมหารือกัน ตกลงให้ ประยูร อินทรัมพรรย์ ติดตามไปด้วย ส่วน พันโท พระอภัยพลรบ วิบูลย์วงศ์ วิมลประภา และประสิทธิ์รอฟังคำสั่งอยู่ที่นครจุงกิง จนกระทั่งญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2488 ซึ่งประสิทธิ์ได้บันทึกความรู้สึกของตนเองไว้ดังนี้

 “บัดนี้สงครามยุติลง หันหน้าไปทางไหนไม่มีญาติ ไม่มีคนรัก ความว้าเหว่เข้ามาแทนที่ ในใจคิดถึงบ้านเป็นที่สุด อยากกลับบ้าน กลับไปหาป้าที่เมืองไทย”

เมื่อสงครามยุติในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2484 คณะเสรีไทยประจำนครจุงกิงจึงได้รับคำสั่งจาก “รูธ” ให้รีบเดินทางกลับประเทศไทย โดยรัฐบาลจีนได้มอบหมายให้ประสิทธิ์ร่วมเดินทางไปด้วยจนถึงเมืองไทย

กลับไทยพร้อมเสรีไทย

วันที่ 18 ตุลาคม 2488 คณะเสรีไทย 6 นาย มี พันโท พระอภัยพลรบ เป็นหัวหน้าเริ่มออกเดินทางจากนครจุงกิงโดยเครื่องบิน เมื่อถึงสนามบินเมืองหลิวโจว มณฑลกวางสี ปรากฏว่ากระเป๋าเดินทางหายไป 1 ใบ ซึ่งมีความสำคัญยิ่งเพราะบรรจุทองคำจำนวน 500 แท่งของเสรีไทยที่จัดไว้สำหรับเป็นทุนในการปฏิบัติงาน แต่ไม่ได้ใช้จึงจะนำกลับไทย ในที่สุดก็หาพบเนื่องจากถูกฝ่ายจีนกักไว้ตรวจสอบ เมื่อไม่พบข้อผิดปกติจึงคืนให้ แต่ก็ทำให้การเดินทางชักช้าไปถึง 1 สัปดาห์

คณะเดินทางโดยรถยนต์จากเมืองหลิวโจวมาถึงเมืองหนานหลิง ห่างจากชายแดนเวียดนาม 200 กิโลเมตร เพื่อรอเดินทางต่อไป ประสิทธิ์ได้พบกับทหารกองพลที่ 50 ซึ่งเคยประจำอยู่ตั้งแต่จบเป็นนายทหาร ต่างดีใจที่ได้พบกันโดยไม่คาดฝัน แต่ประสิทธิ์ต้องสะท้อนใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อทราบว่าทหารหน่วยนี้แม้จะจบภารกิจในการต่อสู้กับญี่ปุ่นแล้วก็ได้รับภารกิจใหม่ให้ไปรบกับทหารคอมมิวนิสต์ของเมาเซตุงซึ่งเป็นคนจีนด้วยกันอีก

“พวกเขาเป็นทหารที่รักชาติมีความสามารถและกล้าหาญ ขณะเดียวกันส่วนลึกของหัวใจเกิดความเศร้าที่พวกเขารบกับญี่ปุ่นมา 8 ปีแล้วไม่ได้พักผ่อนยังไม่ได้พบกับพ่อแม่ลูกเมียแบบนี้ ต้องไปรบอีก รบกับคนชาติเดียวกัน จะรบกันไปถึงวันไหนปีไหนถึงจะสิ้นสุดกันเสียที”

คณะเดินทางต่อไปถึงเมืองลังเซิน ขึ้นรถไฟต่อไปกรุงฮานอยเข้าลาวทางถนน แล้วเดินทางต่อจนถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2488

ปรีดี พนมยงค์ (ภาพจาก AFP FILES / STR)

พบปรีดี

ที่กรุงเทพฯ ประสิทธิ์ร่วมกับคณะเข้ารายงานผลการปฏิบัติต่อหัวหน้าเสรีไทย ดร. ปรีดี พนมยงค์ บันทึกตอนหนึ่งได้กล่าวถึงต้นเหตุที่จะได้เข้ารับราชการในกรมตำรวจไทยในเวลาต่อมาว่า

“ท่าน [ดร. ปรีดี พนมยงค์] ถามข้าพเจ้าว่าเป็นคนที่ไหน ข้าพเจ้าเรียนว่าเป็นคนสมุทรสงคราม มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่นายหนึ่งถามว่า อยากเป็นทหารไทยไหม ข้าพเจ้าตอบขอบคุณและเรียนว่าเพิ่งกลับจากสงคราม อยากจะขอพักผ่อนก่อน ในขณะนั้นพลพรรคเสรีไทยที่ปฏิบัติงานอยู่นอกประเทศมียศทหารชั้นอะไร กลับมาทางการก็แต่งตั้งตามชั้นยศที่เป็นอยู่ในต่างประเทศ”

รับราชการกรมตำรวจไทย

แม้จะหลบหนีจากประเทศไทยไปเป็นนายทหารกองทัพจีนตั้งแต่อายุ 18 ปี แต่ประสิทธิ์ก็ยังคงถือสัญชาติไทย ดังนั้น หลังจากร่วมส่งทหารจีนก๊กมินตั๋งไปยังไต้หวันแล้ว ประสิทธิ์ก็ตัดสินใจไม่ร่วมเดินทางไปด้วย พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งมีบทบาททางลับสนับสนุน นายพล หลีหมี (ผู้นำกองทัพทางยูนนานตอนใต้ของจีนติดพม่า-กองบก.ออนไลน์) มาโดยตลอด จึงมีความคุ้นเคยกับประสิทธิ์เป็นอย่างดีในฐานะล่าม ได้มีคำสั่งรับท่านเป็นข้าราชการตำรวจเมื่อ พ.ศ. 2498 ในยศร้อยตำรวจตรี

และท่านจะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆ ตามลำดับดังนี้ นายตำรวจประจำกองบังคับการตำรวจสันติบาล ผู้กำกับการข่าว กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน รองผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3 (ค่ายดารารัศมี) ช่วยราชการกองบัญชาการทหารสูงสุดส่วนหน้า พ.ศ. 2512-19 จนเกษียณอายุราชการเมื่อ พ.ศ. 2521 ยศพันตำรวจเอก

นอกจากนี้ท่านยังได้เข้ารับการศึกษาหลักสูตรที่สำคัญได้แก่ โรงเรียนสืบสวนกรมตำรวจ โรงเรียนนายทหารสารวัตร ฟอร์ทกอร์ดอน รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา หลักสูตรกระโดดร่ม กรมตำรวจ และโรงเรียนเสนาธิการทหารบก หลักสูตรหลักประจำชุดที่ 52

ประสิทธิ์ รักประชา เกษียณราชการในยศ พ.ต.อ. เมื่อ พ.ศ. 2521 เสียชีวิตเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2559 อายุ 98 ปี


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “พ.ต.อ. ประสิทธิ์ รักประชา : จากบางคนทีสู่นายร้อยหวังปู” โดย พลเอก บัญชร ชวาลศิลป์ เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2562

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2563 จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำใหม่โดยกองบรรณาธิการ