เผยแพร่ |
---|
ทองบางสะพานหรือบางตะพานนี้มีชื่อเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “ทองนพคุณ” ในหนังสือประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 อธิบายไว้ว่า “ทองคำที่เนื้อต่ำซื้อขายกันหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน 4 บาท จึงเรียกว่า “เนื้อสี่” ที่เนื้อสูงไปกว่านั้น ทองหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน 5 บาท เรียกว่า “เนื้อห้า” ทองคำหนักบาทหนึ่งเป็นราคาเงิน 6 บาท เรียกว่า “เนื้อหก” ทองคำหนักบาทหนึ่งเป็นราคาเงิน 7 บาท เรียกว่า “ทองเนื้อเจ็ด” ทองคำหนักบาทหนึ่งเป็นราคาเงิน 8 บาท เรียกว่า “ทองเนื้อแปด” ทองคำหนักบาทหนึ่งเป็นราคาเงิน 8 บาท 2 สลึง เรียกว่า “ทองเนื้อแปดสองขา” หรืออีกคำหนึ่งว่า “เนื้อแปดเศษสอง” ตามการที่ราษฎรใช้ซื้อขายกันสมัยนั้นทองคำเนื้อสุกสูงอย่างเอกเช่นทองบางสะพานขายกันหนักเป็นราคา 9 บาท เรียกว่า “นพคุณเก้าน้ำ” ก็ที่ว่าสองขา สามขาก็ดี หรือที่เรียกว่า เศษสอง เศษสามก็ดี โดยละเอียดนั้นคือว่า เศษสลึงแต่หน้าชั้นขึ้นไป”
ที่เรียกกันว่า ทองเนื้อเก้า เพราะขายกันหนักบาทละ 9 บาท นี้เรียกกันก่อนรัชกาลที่ 4 นานนัก เพราะในสมัยรัชกาลที่ 4 ทองบางสะพานไม่ได้ขายกันหนักบาทละ 9 บาท และสำนวนการซื้อขายทองก็เปลี่ยนมาเป็นทองราคา 19 หนัก คือหมายความว่า ขายบาท 19 บาท ในประชุมประกาศนี้ก็มีกล่าวไว้ว่า “ทองผสมสีเหลือง ๆ ให้ดินไม่ขึ้นทุกวันนี้ เรียกว่า “ทองเนื้อริน” แต่ก่อนลาวเรียกว่า “เนื้อสอง” เพราะขายกัน 2 หนัก ทองเนื้อรินอย่างเลวหรือทองสีดอกบวบ ซึ่งในเวลานั้นขายกันหนักราคาต่อหนัก ลาวเรียกว่าทองเนื้อหนึ่ง แต่โบราณได้ยินว่ามีอยู่บ้างก็ประมาณชื่อเนื้อทองเหล่านี้ทั้งปวง เดิมเป็นธรรมเนียมของลาวเชียงแสน แลใช้เป็นโวหารในการเทียบน้ำทอง ครั้นสืบมาถึงเมืองใกล้ทะเลเงินมีเข้ามามาก ราคาทองก็แพงขึ้นไปถึง 2 เท่าพิกัดนั้น คือบางทีทองเนื้อนพคุณบางสะพานราคาถึง 20 หนัก 19 หนัก ทองคำเนื้อแปดสามัญที่เรียกกันว่า “เนื้อแปดตลอด” ราคาถึง 18 หนัก 17 หนักกึ่ง”
จากการได้สอบถามช่างทำทองในเขตบางสะพานท่านหนึ่งได้กล่าวว่า “ปกติการซื้อขายทองคำ ทองคำจะมีหลายเกรด หลายเนื้อ ทองคำ 70% ทองคำ 80% ทองคำ 90% ทองคำ 100% เหล่านี้ขึ้นอยู่กับสารเจือปนมากน้อยเพียงใด ทองร้อยเปอร์เซ็นต์หมายความว่า ทองคำนั้นบริสุทธิ์ เป็นทองคำแท้ไม่มีสิ่งอื่นใดเจือปน แต่การซื้อขายทองนพคุณหรือทองบางสะพานนั้น พิเศษกว่าทองคำชนิดอื่น ๆ เพราะเนื้อทองดีใกล้เคียงทองร้อยเปอร์เซ็นต์มาก ซึ่งความจริงนั้นดูจะสุกกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำไป”
ในนิราศถลาง ของนายมี (หมื่นพรหมสมพัดสร) ได้กล่าวไว้ว่า
“กระทั่งถึงบางตะพานสถานที่
มีทองดีแต่บุราณนานหนักหนา
บังเกิดกับกายสิทธิ์อิศรา
ไม่มีราคีแกมแอร่มเรือง
เนื้อกระษัตริย์ชัดแท้ไม่แปรธาตุ
ธรรมชาติสุกใสวิไลเหลือง
ชาติประหังหุงขาดบาทละเฟื้อง
ถึงรุ่งเรืองก็ยังเยาเบาราคา
บางตะพานผุดผ่องไม่ต้องหุง
ราคาสูงสมศรีดีหนักหนา
พี่อยากได้เนื้อทองให้น้องทา
แต่วาสนายังไม่เทียมต้องเจียมใจ”
ความดีของทองบางสะพานนี้ มีกล่าวถึงในวรรณคดีไทยหลายเรื่องเช่น เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนทำดาบฟ้าฟื้น
“เอาไม้สรรพยามาทำฝัก
ประสมผงลงรักให้ผิวผ่อง
กาบหุ้มต้นปลายลายจำลอง
ทำด้วยทองถ้วนบาทชาติบางตะพาน”
และตอนนางวันทองเตรียมข้าวของแก่พลายงาม เพื่อให้หนีภัยจากขุนช้างว่า
“จึงเก็บไถ้ใส่ขนมกับส้มลิ้ม
ทั้งแช่อิ่มจันอบลูกพลับหวาน
แหวนราคาห้าชั่งทองบางตะพาน
ล้วนต้องการเก็บใส่ในไถ้น้อย”
โครงนิราศนรินทร์ ได้กล่าวถึงทองบางสะพานไว้ดังนี้
“บางสะพานสะพาดพื้น สะพานทอง
ฤาสะพานสุวรรณรอง รับเจ้า
อ้าโฉมแม่มาฉลอง พิมพ์มาศ นี้ฤา
รอยร่อนเหลือป่าเฝ้า แนบเนื้อนพคุณ
บางสะพานสะพาดพื้น ทองปาง ก่อนแฮ
รอยชะแลงระลุราง ร่อนกลุ้ม
ระลึกโฉมแม่แบบบาง บัวมาศ กูเอย
ควรแผ่แผ่นทองหุ้ม ห่อไว้หวังสงวน”
นิทานคำกลอนเรื่องตาม่องล่าย ซึ่งเป็นนิทานพื้นเมืองได้กล่าวถึงการกำเนิดทองบางสะพานไว้ว่า
“เอาของเลี้ยงดูผู้คนไปจนถึง
ที่แห่งหนึ่งเป็นสำนักพวกยักษี
ตาม่องล่ายเห็นเต้นโลดโดดเตะตี
ยักขิณีล้มตายลงก่ายกอง
ทีเหลือตายได้ตัวกลัวม่องฤาม
แจ้งใจความว่าบอกมารักษาของ
ที่ตำแหน่งแห่งนี้มีบ่อทอง
พาตาม่องเดินไปชี้ให้ดู
ม่องล่ายได้เห็นยืนเต้นเหยง
ไหนพวกเองเรียกกันมาเถิดหวาสู
เอาทองคำทำสะพานข้ามด่านคู
ให้คนผู้มาไปได้สบาย
พวกข้างหลังยังพากันมามาก
ยกขันหมากมาบ้านกูสูทั้งหลาย
เออเองนี่ดีในหมู่สูเป็นนาย
สูจับจ่ายรีบร้อนอย่านอนใจ
ยักษ์คำนับรับว่าทองของไม่ยาก
ของไม่มากทำพอข้ามคลองน้ำไหล
ทองท่อนแท่งที่ยังจมอยู่ถมไป
นายครรไลสุขสำราญยังบ้านเรือน”
และอีกตอนหนึ่งมีว่า
“ฝ่ายยักขิณีที่ทำตะพานนั้น
บอกเพื่อนกันให้รู้ความตามประสงค์
ว่าม่องล่ายวายชีวิตถึงปลิดปลง
ยักษ์ที่คงเอาทองคำทำตะพาน
ก็เว้นว่างร้างรื้อเสียทั้งสิ้น
สละถิ่นหนีไปไกลสถาน
จึงนับเนื่องเรียกเมืองบางตะพาน
สืบบูราณรวมเรียกกันทุกวันมา”
[ขอขอบคุณ ผศ ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล ที่คัดข้อมูลมาจากเรื่อง “ทองบางสะพาน” โดย ชุมเจษฏ์ จรัลชวนะเพท เขียนไว้ในในหนังสืออนุสรณ์ฌาปนกิจศพของนายประกอบ ประจวบเหมาะ และอนุญาตให้เผยแพร่ต่อในเว็บศิลปวัฒนธรรม]