เปิดงานวิจัยใหม่ ไขปริศนาเหตุปัญหาทางจิต “แวนโก๊ะ” ตัดหูตัวเอง ฤๅเกี่ยวกับขาดสุรา?

ผู้เข้าชมงานศิลปะดูภาพวาดที่วินเซนต์ แวนโก๊ะ วาดภาพเสมือนจริงของตัวเอง จัดแสดงในนิทรรศการ "Van Gogh/Artaud. The Man Suicided by Society" ที่พิพิธภัณฑ์ Orsay ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ 10 มีนาคม 2014 ภาพจาก AFP

เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตช่วงบั้นปลายของจิตรกรระดับตำนานของโลกอย่าง วินเซนต์ แวน โก๊ะ (Vincent van Gogh) ยังเป็นข้อถกเถียงในหมู่นักประวัติศาสตร์และนักวิจัยจำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องราวที่เป็นผลทำให้เขาตัดสินใจตัดหูของตัวเองในคืนวันก่อนหน้าคริสต์มาสอีฟ เมื่อค.ศ. 1888 กระทั่งรายงานผลการวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารด้านสุขภาพจิตแห่งหนึ่งเสนอคำอธิบายอีกชุดเกี่ยวกับพฤติกรรมของเขาก่อนหน้าที่ศิลปินรายนี้จะอัตวินิบาตกรรมในปี 1890

เหตุการณ์ครั้งแวนโก๊ะเฉือนหูซ้ายของตัวเองก่อนจะถึงวันคริสต์มาสอีฟในปี 1888 ยังมีปมปริศนาซึ่งนักประวัติศาสตร์และนักวิจัยหลายรายยังไม่สามารถไขข้อเท็จจริงออกมาอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดเรื่องการตัดหูของแวนโก๊ะ แท้จริงแล้วตัดออกไปมากน้อยแค่ไหนกัน เขาตัดแค่บางส่วนของหู หรือตัดทั้งใบหูออกไปเลยกันแน่ (แม้ว่าพิพิธภัณฑ์เยอรมันเคยจัดแสดงใบหูจำลองที่ถูกเฉือนในสภาพเป็นทั้งใบหู)

หรือแม้แต่สาเหตุซึ่งนำมาสู่การกระทำอันน่าฉงนนี้ว่า ที่มาของการกระทำนั้น เป็นเพราะแวนโก๊ะ รับทราบเรื่องการหมั้นหมายของธีโอ (Theo) น้องชายของเขาหรือไม่ แต่นักประวัติศาสตร์บางรายก็โต้แย้งว่า แวนโก๊ะรับรู้เรื่องการหมั้นหมายของน้องชายก่อนหน้าวันที่เขาก่อเหตุตัดหูมานานแล้ว หรืออาจเป็นเพราะเรื่องการทะเลาะกันระหว่างเพื่อนศิลปินอย่าง Paul Gauguin ไปจนถึงทฤษฎีเรื่องแก้ความทุกข์ทรมานอันเนื่องมาจากอาการจิตหลอน

หากถามว่า แล้วปากคำของเจ้าตัวเองบอกถึงเรื่องนี้อย่างไรบ้าง พิพิธภัณธ์แวนโก๊ะในอัมสเตอร์ดัม ระบุรายละเอียดไว้ว่า “ภายหลังเกิดเหตุ เขาไม่สามารถจำอะไรเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นได้”

ล่าสุด รายงานผลการศึกษาเรื่อง “มุมมองใหม่เกี่ยวกับปัญหาทางจิตของวินเซนต์ แวนโก๊ะ : ผลการศึกษาผ่านกระบวนการสำรวจจากชั้นล่างสู่บนโดยใช้บทสัมภาษณ์กึ่งวินิจฉัยเชิงโครงสร้าง” (New vision on the mental problems of Vincent van Gogh; results from a bottom-up approach using (semi-)structured diagnostic interviews) เผยแพร่ในวารสารภาวะไบโพลาร์ระดับนานาชาติ (International Journal of Bipolar Disorders) เสนอคำอธิบายอีกชุดที่มองว่าปัญหาติดแอลกอฮอล์ ภาวะขาดสารอาหาร และความตึงเครียดจากสภาวะทางสังคมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยซึ่งทำให้อาการทางจิตของศิลปินรายนี้ทรุดหนักลงจนนำไปสู่พฤติกรรมเฉือนอวัยวะตัวเอง

ผลการศึกษาเผยว่า แวนโก๊ะประสบภาวะปัญหาจิตเวชหลายข้อ เป็นที่รับรู้ในนิยามว่า โรคที่เกิดขึ้นร่วมกัน (ภาวะโรคหลายโรคที่เกิดกับผู้ป่วยรายเดียวกัน) แต่งานวิจัยระบุว่า พวกเขาไม่สามารถแยกแยะแบบระบุโรคโดยชัดเจนได้ แต่ยังพอสามารถสันนิษฐานถึงความน่าจะเป็นซึ่งอาจเป็นข้อยืนยันทฤษฎีต่างๆ ที่เคยเสนอมาได้

งานศึกษาชิ้นนี้ค้นคว้าจากบทสัมภาษณ์นักประวัติศาสตร์ศิลปะ 3 ราย ประกอบกับการวิเคราะห์จดหมายของแวนโก๊ะกว่า 900 ฉบับ (มี 820 ฉบับที่เขาเขียนถึงธีโอ) และข้อมูลจากแพทย์ที่รักษาแวนโก๊ะ

ประการแรกคือ ตั้งแต่ช่วงวัยหนุ่มตอนต้น แวนโก๊ะเอ่ยถึงอาการบางอย่างในจดหมาย อย่างหนึ่งที่น่าจะเป็นไปได้คืออาการไบโพลาร์ (bipolar) และมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นร่วมกับภาวะความผิดปกติทางบุคลิกภาพ (Personality Disorder) โดยภาวะเหล่านี้มีอาการรุนแรงหนักข้อขึ้นเนื่องมาจากอาการติดแอลกอฮอล์และภาวะขาดสารอาหาร เมื่อผนวกรวมกับความตึงเครียดทางจิตที่เพิ่มขึ้น (รวมถึงเรื่องความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงานคือ Paul Gauguin) งานวิจัยระบุว่า ปัจจัยเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่นำมาสู่การตัดหูของตัวเองในวันที่ 23 ธันวาคม 1888

แถลงการณ์ของผู้ศึกษายังระบุผลการวิเคราะห์ว่า แวนโก๊ะมีแนวโน้มมีอาการเพ้อคลั่ง 2 ครั้งอันเป็นผลมาจากการขาดสุรา (alcohol withdrawal) ภายหลังจากที่เขาลงมือตัดหูตัวเองไป

แวนโก๊ะเสียชีวิตในวันที่ 29 กรกฎาคม 1890 อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการพยายามฆ่าตัวตายเมื่อ 2 วันก่อนหน้านั้น นับตั้งแต่เขาเสียชีวิต หลายฝ่ายพยายามนำเสนอทฤษฎีทางการแพทย์และทางจิตวิทยาหลายข้อเพื่ออธิบายอาการเจ็บป่วยทางจิตของศิลปินรายนี้

ทฤษฎีต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นมักมาจากการศึกษาแบบบนลงล่าง โดยที่คาดการณ์อาการจากข้อมูลระดับพื้นฐานซึ่งยังมีข้อจำกัด และไม่ได้ศึกษาลงลึกไปถึงข้อมูลอื่นๆ ซึ่งไม่ได้อยู่ในกรอบเหล่านั้น

งานวิจัยล่าสุดโต้แย้งบางทฤษฎีที่เคยถูกยกมาเสนอก่อนหน้านี้อย่างข้อเสนอแนะที่มองว่าแวนโก๊ะ ป่วยเป็นโรคจิตเภท (schizophrenia) และภาวะโรคพอร์ฟิเรีย (porphyria) โดยมองว่า มีแนวโน้มเป็นไปได้ยาก แต่ทฤษฎีเรื่องแวนโก๊ะมีอาการลมบ้าหมู (epilepsy) งานวิจัยระบุว่า ยังไม่สามารถชี้ชัดได้และยังต้องศึกษากันต่อไป

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้วิจัยชี้ว่า พวกเขาไม่สามารถวินิจฉัยหรือสอบถามจากแวนโก๊ะโดยตรง ขณะเดียวกัน จดหมายที่เขาเขียนขึ้นก็ไม่ได้เขียนเพื่อสื่อสารไปถึงแพทย์ที่รักษาเขาโดยตรงทำให้พวกเขาต้องวิเคราะห์อย่างระมัดระวัง

โดยรวมแล้ว การศึกษาหลักฐานผ่านกระบวนการที่เอ่ยถึงข้างต้น อย่างน้อยก็ช่วยให้ตัดทฤษฎีบางข้อที่เคยมีการเสนอขึ้นมาแล้วออกไปได้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว กลุ่มผู้วิจัยไม่อาจชี้ชัดถึงอาการของแวนโก๊ะได้แบบเจาะจงชัดเจนอยู่ดี และแน่นอนว่า งานศึกษาชิ้นนี้ก็คงไม่ใช่ชิ้นสุดท้ายที่วิเคราะห์อาการทางจิตของแวนโก๊ะ

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Cascone, Sarah. “Vincent van Gogh Cut Off His Ear to Silence Hallucinations and 10 Other Things We Learned in a New Book About Him”. Artnet News. Online. Published 27 SEPT 2018. Access 6 NOV 2020. <https://news.artnet.com/art-world/starry-night-vincent-van-gogh-asylum-1336622>

Isis Davis-Marks. “New Research Links Vincent van Gogh’s Delirium to Alcohol Withdrawal”. Smithsonian. Online. Published 5 NOV 2020. Access 6 NOV 2020. <https://www.smithsonianmag.com/smart-news/new-study-finds-van-gogh-may-have-suffered-alcohol-withdrawal-180976213/>

Pequenino, Karla. “The real reason Van Gogh sliced off his ear”. CNN. Online. Published 1 NOV 2016. Access 6 NOV 2020. <https://edition.cnn.com/style/article/van-gogh-ear-slash-motive-trnd/index.html>

Research provides new and deeper insights into Vincent van Gogh’s psychiatric illnesses. UMCG. Online. Published 2 NOV 2020. Access 6 NOV 2020. <https://www.umcg.nl/EN/corporate/News/Paginas/research-vincent-van-goghs-psychiatric-illnesses.aspx>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2563