ช่องโหว่ในบันทึกต่างชาติชี้คนไทยขี้ขลาด เบื้องลึกคือขลาดทางสังคม-จริยธรรม มิใช่สู้รบ?

ภาพ “สาวๆ” จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดกำแพงบางจาก ริมคลองบางหลวง

เรื่องทัศนะของชาวต่างชาติต่อนิสัยของคนไทย (สยาม) ในระยะเวลา 500 ปีที่ผ่านมา เท่าที่เคยมีผู้รวบรวมไว้จากบันทึกของชาวต่างชาติที่มีชื่อเป็นที่รู้จักกันราว 8 ราย แทบจะทั้งหมดมองคนไทยว่าเป็นคนขี้ขลาด ขี้เกียจ ขี้โกง อันถือเป็นข้อหาฉกรรจ์ทั้งนั้น ส่วนในข้อดีที่ชมเชยก็ยังระบุว่า เป็นชาติที่ใจกว้างในด้านศาสนาและรู้จักพอเพียง

สำหรับความคิดเห็นในฝั่งไทย บทความของ จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา รวบรวมเอาไว้และบรรยายว่า มีสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมองว่า คนไทยรักและหวงแหนอิสระของชาติยิ่งกว่าชีวิต มีความเอื้อเฟื้ออารีปราศจากวิหิงสา และฉลาดในการประสานประโยชน์

Advertisement

จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา ยังอธิบายเพิ่มไว้ว่า ความขี้ขลาดตามที่ฝรั่งเหล่านี้กล่าวหา หมายถึงขาดความกล้าหาญด้านสังคมและศีลธรรม (Moral Courage) คำกล่าวที่ว่า “รักแต่จะเป็นผู้รับใช้ เฉื่อยชา และว่าง่าย ไม่ดิ้นรน…ไม่มีน้ำใสใจจริง และขี้ขลาดตาขาว” ของครอเฟิด “ชาวสยามมีนิสัยเหมือนผู้หญิง” ของมูโอต์ และ “ขี้ขลาด และหัวอ่อน” ของมัลล้อก เหล่านี้เป็นความขลาดทางด้านสังคมและจริยธรรม ไม่ใช่ด้านการสู้รบ

ภาพอันไม่งดงามในทัศนะของชาวตะวันตกเหล่านี้ มีคำอธิบายที่ดีมากอันหนึ่งจากอาจารย์ฝรั่งซึ่งอยู่เมืองไทยมานานและสามารถเขียนบทความภาษาไทยได้ดีกว่านักเขียนไทยบางคน เขาคือนายไมเคิล ไรท เป็นนักเขียนประจำมติชนสุดสัปดาห์

บทความของ “จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา” ชื่อ “(13) ฝรั่งวิจารณ์คนไทย แล้วเราเชื่ออย่างไร” โดย จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2550 อธิบายโดยยกข้อมูลจากไมเคิล ไรท มาอ้างอิง มีเนื้อหาดังนี้


 

ลักษณะทางสังคม

ฝรั่งโดยมากมีลักษณะทางสังคม เผชิญหน้ากัน (Confrontation) ใครจับผิดใครได้ย่อมติเตียนว่ากล่าว อาจจะถึงขั้นโวยวายชี้หน้าบังคับให้เขาอธิบายพฤติกรรมของตน ทั้งนี้ถือว่าเป็นสิทธิปกติไม่ร้ายแรงหรือน่าเกลียดประการใด และสังคมพร้อมที่จะอัปเปหิผู้มีความผิดไม่ว่ามีตำแหน่งสูงส่ง หรือ “วาสนา” เริงร่า

ดังนั้นในสังคมฝรั่ง ท่านผู้ใหญ่ ถูกจับคาหนังคาเขา ก็มักรีบลาออกเสียก่อนที่สังคมจะหลอมไฟเล่นงาน หมดหน้าหมดเนื้อหมดตัว

ในทางตรงกันข้าม คนไทยมีลักษณะสังคมอดทน (Tolerant) และประนีประนอม (Conciliatory) คนไทยโดยมากถูกฝึกมาแต่น้อย “ให้รู้ที่ต่ำที่สูง” “เอาตัวรอดเป็นยอดดี” “อย่าว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง” “อย่าพูดมากโวยวาย” ว่าโดยสรุปคนพูดมาก “ปากไม่ดี” เป็นที่น่ารังเกียจยิ่งกว่าคนประพฤติชั่วต่างๆ เป็นไหนๆ

ในสังคมแบบนี้ “ท่านผู้ใหญ่เจ้าเล่ห์” ก็ร่าเริง เพราะซัดกลับกับคนประจานท่านได้เสมอว่า เขาอิจฉา “ปากร้าย” “ใส่ความ” ในสังคมแบบนี้คนหน้าด้านมีความถูกต้องเสมอ ส่วนคนสุจริตที่บังอาจฟ้องท่าน ก็ถูกสวมบทบาทผู้ร้าย “ที่ทำลายสามัคคีในสังคม”

คำอธิบายของนายไมเคิล ไรท สรุปแล้วก็คือ สังคมไทยเป็นอย่างนี้เอง เพราะถูกอบรมสั่งสอนมาอย่างนั้น คือถือเอาความสงบสุขเป็นสำคัญกว่าความถูกต้อง แต่ความเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้น เราได้เห็นการแสดงออกจากพฤติกรรมของคนไทยรุ่นใหม่ จากสื่อมวลชน ปัญญาชน จากการชุมนุม การเดินขบวน การประท้วง ที่เรียกหาความถูกต้องหนาแน่นมากขึ้น เรากำลัง “แก้ไขในสิ่งผิด” อยู่แล้ว

…อีกข้อหนึ่ง คือ ขี้โกง ไว้ใจไม่ได้

หมอกิศลับในรัชกาลที่ 3 กล่าวว่า “ชาวสยามเป็นผู้มีชื่อเสียงในด้านความซื่อสัตย์ สุจริต แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ข้าพเจ้าไม่ได้พบเห็นชาวสยามที่มีชื่อเสียงเช่นนี้เลยสักคน” นายวันวลิตกล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า “พวกคนเหล่านี้ไม่มีความซื่อสัตย์ หลอกลวงและทรยศ…โดยสรุปข้าพเจ้ากล่าวเพียงว่า เราไม่สามารถเชื่อในประเทศนี้ และไม่มีใครเป็นที่วางใจหรือเชื่อถือได้เลย”

ต่อข้อหานี้ ผู้เขียนใคร่จะตะโกนออกไปดังๆ ว่า ไม่จริง ไม่จริงสักร้อยครั้ง เพราะเราไม่เชื่อว่าจะมีคนคิดเช่นนี้กับคนไทย แต่ครั้นเมื่อเปิดหนังสือพิมพ์รายวันในวันที่เขียนนี้แทบทุกฉบับมีแต่ข่าวร้ายๆ แทบทั้งนั้น เช่น ไทยรัฐ ใน น. 1 มีข่าว 16 ข่าว ทั้งหมดเป็นข่าวการทรยศหักหลัง ฆ่าแกงกัน การโจรกรรม ทุจริตในวงราชการและการเมือง ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นการตรงกันข้ามกับความเชื่อของเราโดยสิ้น

ไทยรัฐฉบับลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2549 ในสกู๊ป น. 1 ลงคำให้สัมภาษณ์ของนายไพฑูรย์ เวียงศรี ไต้ก๋งเรืออวนลาก ชื่อดาวสมุทร เรื่องปัญหาในการทำประมงน้ำลึก ไต้ก๋งไพฑูรย์บอกว่า

“ลูกเรือไทยไม่ค่อยอดทน ไม่ขยัน เจ้าเล่ห์ และเป็นโรคคิดถึงบ้าน ลูกเรือมอญ กะเหรี่ยง พม่า อึด อดทนกว่า ซื่อตรงมากกว่า”

เราพอจะมีความสบายใจขึ้นได้บ้าง เมื่อได้เกิดมีกระบวนการต่อต้านสิ่งชั่วร้ายเกิดขึ้น ท่านผู้ที่นำกระแสธารแห่งความคิดนี้ คือ ในหลวงภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ท่านได้พระราชทานพระบรมราโชวาทมาหลายปีแล้ว ให้ยึดถือคุณความดี ความถูกต้องเป็นหลักชีวิตของชาวไทย ซึ่งก็น่ายินดีที่ปัญญาชนและสื่อมวลชนได้พร้อมใจกันรับสนองพระราชดำรินี้ เสียงตำหนิติเตียนผู้มีอำนาจที่กระทำการชั่วร้ายจึงดังกระหึ่มทั่วทั้งแผ่นดิน

ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่คนไทยที่รักชาติจะได้ออกมาช่วยกันสร้างคุณธรรมความดีให้แก่บ้านเมืองของเรา คนแรกที่ควรจะช่วย คือตัวเราเอง ถ้าเราได้ปรับปรุงตนเองให้เป็นคนถึงพร้อมด้วยคุณธรรม เราก็จะเป็นแบบอย่าง เป็นครูสอนให้ลูกของเราเจริญรอยตาม

คนที่มีลูก คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าลูกคือดวงใจของเรา เราอยากเห็นลูกของเราเป็นคนขยัน กล้าหาญ และมีคุณธรรม ไม่มีใครอยากมีลูกที่ขี้เกียจ ขี้ขลาด ขี้โกง ดังนั้นจึงต้องมีการอบรมสั่งสอน โดยธรรมชาติ เมื่อเด็กอยู่ในอ้อมอกของพ่อแม่ เด็กย่อมถือเอาพ่อแม่เป็นแบบอย่าง พ่อแม่ประพฤติอย่างไร พูดอย่างไร เด็กย่อมจดจำเอาโดยอัตโนมัติ

นักการศึกษาเชื่อว่า 6 ปีแรกแห่งชีวิตเป็นระยะเวลาที่เขาจะซึมซาบเรียนรู้ได้ดีที่สุด ครั้นเมื่อเข้าโรงเรียนเด็กก็จะรับเอาเพื่อนฝูงและครูเป็นแบบอย่าง ต่อมาเมื่อเข้าทำงานก็จะยึดถือเอาผู้บังคับบัญชาเป็นต้นแบบ แต่ไม่ว่าช่วงเวลาใดก็ตาม ลูกก็ยังต้องใช้เวลาอยู่กับพ่อแม่นานที่สุด ดังนั้นการปฏิบัติตนของเรา การพูดการจาของเรา จึงมีอิทธิพลเป็นอย่างสูงต่อลูกๆ

คนเราแม้จะตั้งใจทำความดี แต่เมื่อเวลาล่วงไป เราก็มักจะลืมปณิธานที่ตั้งไว้ ผู้รู้ท่านจึงสอนว่า ตื่นขึ้นตอนเช้าระหว่างที่จิตสำนึกกำลังจะเข้ามาแทนที่จิตใต้สำนึก เป็นเวลาที่ดีที่สุดที่จะสอดแทรกความปรารถนาเข้าไป ซึ่งจะอยู่ได้นาน อย่างน้อยก็ตลอดวันนั้น ตอนตื่นนอนเราพึงคิดถึงคุณธรรม สิ่งที่ดีงาม ซึ่งอาจจะเป็นคำขวัญ สุภาษิต บทกลอน มีพระราชนิพนธ์เพลงของในหลวงของเราบทหนึ่ง ซึ่งแสนจะไพเราะ เพลงนั้นคือ “ความฝันอันสูง”

“จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด

จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง
จะยอมตาย หมายให้เกียรติธำรง
จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา”

นี้เป็นสุดยอดของคุณธรรมความดี ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากสถานการณ์อันเลวร้ายขณะนี้ได้ ก่อนที่จะจบข้อวิจารณ์ที่ชาวต่างประเทศมีต่อคนไทย ผู้เขียนยังติดใจในประเด็นเรื่องความเข้มแข็งในจิตใจของคนไทยอยู่เล็กน้อย

ในทัศนะของฝรั่งที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ภาพรวมที่เขามองเมืองไทยก็คือ วัฒนธรรมของไทยอยู่ในลักษณะอ่อน ไม่ใช่วัฒนธรรมแข็ง ยกตัวอย่างในด้านดนตรี ดนตรีไทยชวนให้สุขสงบ กล่อมให้หลับ เราจึงฟังในเวลาจะเข้านอนหรือค่ำคืน อารมณ์ของดนตรีไทยภาษาดนตรีเขาเรียกว่า Minor Key คือ เศร้า อ่อนโยน ตรงกันข้ามกับฝรั่งที่ส่วนใหญ่เป็น Major Key ฟังแล้วตื่นเต้น มีชีวิตชีวา ปลุกเร้าให้ร่าเริง

ในทางจิตรกรรม ภาพเขียนของไทยมีลักษณะอ่อนช้อย กลมกลืน แต่ของฝรั่งมี Contrast ตรง เป็นเรขาคณิต ทางสถาปัตยธรรมก็เช่นกัน

ในด้านวาทศิลป์ ฝรั่งนิยมเน้นโครมคราม แตกหัก ออกท่าออกทาง ของไทยต้องสุภาพอ่อนโยน

ในการทำงานฝรั่งชอบเชิงรุก กล้าคิดกล้าทำกล้าเสี่ยง พยายามออกนอกกรอบ แต่ยุทธศาสตร์การทำงานของไทย ชอบคิดแล้วคิดอีก กล้านักมักบิ่น ต้องสุขุมรอบคอบในการสู้รบ ฝรั่งชอบเป็นฝ่ายรุก นิยมว่าการรุกเป็นการป้องกันตัวที่ดีที่สุด

วัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างตรงกันข้ามนี้ น่าจะถึงเวลาแล้วที่เมืองไทยจะต้องตัดสินใจว่า เราจะเป็นนกพิราบอยู่ต่อไป ในท่ามกลางฝูงเหยี่ยวที่กำลังเติบโตมากขึ้นได้ละหรือ เราควรเป็นผู้พิชิต หรือผู้ถูกพิชิต

หมายเหตุ : บทความเดิมชื่อ “(13) ฝรั่งวิจารณ์คนไทย แล้วเราเชื่ออย่างไร” โดย จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2550


เอกสารอ้างอิง

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1351 วันที่ 7-13 กรกฎาคม 2549 น. 30 คอลัมน์ “ใครควรลาออก” โดย ไมเคิล ไรท


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 12 ตุลาคม 2563