ผู้เขียน | บุตรแห่งกอนโดลิน |
---|---|
เผยแพร่ |
“Enola Holmes” ภาพยนตร์จาก “Netflix” เปิดให้รับชมได้เมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่ผ่านมา ภาพยนตร์เรื่องนี้ ว่าด้วย Enola Holmes หญิงสาววัย 16 ปี น้องสาวของนักสืบชื่อดัง Sherlock Holmes ที่อาศัยอยู่กับแม่ จนวันหนึ่ง แม่ของ Enola หายตัวออกจากบ้านไปทำ “ภารกิจ” บางอย่าง Enola จึงออกตามหาแม่ของเธอ ระหว่างนั้น เธอได้เข้าไปพัวพันกับการเมืองอังกฤษโดยไม่รู้ตัว เมื่อได้ช่วยชีวิต Lord Tewksbury ขุนนางหนุ่มที่มีความฝันต้องการ “ปฏิรูป” ประเทศอังกฤษ
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สะท้อนภาพสังคม การเมือง และเศรษฐกิจของประเทศอังกฤษในศตวรรษที่ 19 หรือในยุควิกตอเรียน ซึ่งกำลังมีการปฏิรูปทางการเมืองครั้งใหญ่ การปฏิรูปที่ว่านี้เกิดขึ้นใน ค.ศ. 1884 เมื่อมีการผลักดัน พระราชบัญญัติปฏิรูป ค.ศ. 1884 หรือ “Third Reform Act 1884” ซึ่งเป็นกฎหมายที่ขยายสิทธิเลือกตั้งแก่ผู้ใช้แรงงานในภาคเกษตรกรหรือแรงงานรับจ้างในไร่
กฎหมายฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ทำให้ชายชาวอังกฤษมีสิทธิเลือกตั้งเพิ่มขึ้นอีกราว 2.5 ล้านคน จนอาจกล่าวได้ว่า ชายชาวอังกฤษที่บรรลุนิติภาวะและเป็นเจ้าของหรือเช่าที่อยู่อาศัยมีสิทธิเลือกตั้งได้ทุกคนแล้ว
แต่การปฏิรูปครั้งนี้จะไม่สำเร็จ หากปราศจากการผลักดันการปฏิรูประบอบการเลือกตั้ง 3 ครั้งก่อนหน้านี้ คือ เมื่อ ค.ศ. 1872, ค.ศ. 1867 และ ค.ศ. 1832
ย้อนกลับไปใน ค.ศ. 1872 มีการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงเลือกตั้ง (Ballot Act) ซึ่งได้กำหนดให้วิธีการลงคะแนนเป็นความลับ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ต้องลงคะแนนเปิดเผยต่อหน้าสาธารณชน อันทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีอิสระ ไม่ถูกครอบงำ หรือถูกโน้มน้าวจากผู้มีอิทธิพล โดยเฉพาะในเขตที่มีขุนนางหรือเจ้าที่ดินรายใหญ่ดูแลเขตเลือกตั้งนั้น ๆ
ส่วนการปฏิรูปใน ค.ศ. 1867 คือมีการผ่าน พระราชบัญญัติปฏิรูป ค.ศ. 1867 หรือ “Second Reform Act 1867” ซึ่งได้รับแรงผลักดันมาจากขบวนการชาร์ติสต์ ซึ่งเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบอบการเลือกตั้งเพิ่มเติมจากการปฏิรูปครั้งแรก โดยพรรคเสรีนิยมพยายามพลักดันกฎหมายขยายสิทธิเลือกตั้งแก่กรรมกรหรือผู้ใช้แรงงานในเขตเมืองบางแห่ง เบื้องต้นพรรคอนุรักษ์นิยมและสมาชิกพรรคเสรีนิยมบางส่วนคัดค้าน แต่ต่อมา พรรคอนุรักษ์นิยมมองเห็นโอกาสที่พรรคจะได้ประโยชน์เช่นกัน จึงสนับสนุนและช่วยผลักดันผ่านพระราชบัญญัติฉบับนี้จนสำเร็จ
พระราชบัญญัติปฏิรูป ค.ศ. 1867 มีสาระสำคัญคือ ปรับปรุงเขตเลือกตั้งใหม่ให้เหมาะสมกับจำนวนประชากร เขตเลือกตั้งที่เล็กอาจถูกเพิกถอนการส่งผู้แทนเข้าสภา และลดคุณสมบัติโดยเฉพาะเงื่อนไขเรื่องทรัพย์สินลง จึงส่งผลให้ขยายสิทธิเลือกตั้งแก่กรรมกรหรือผู้ใช้แรงงานในเขตเมืองบางแห่ง ทำให้ชายชาวอังกฤษมีสิทธิเลือกตั้งเพิ่มขึ้นอีกราว 2 ล้านคน
ย้อนกลับไปที่การปฏิรูประบอบการเลือกตั้งครั้งแรก หรือที่เรียกว่า “Great Reform Act” อังกฤษได้พยายามผ่าน พระราชบัญญัติปฏิรูป ค.ศ. 1832 นับเป็นกฎหมายปฏิรูประบอบการเลือกตั้งของอังกฤษฉบับแรกนับตั้งแต่ยุคกลาง
การเลือกตั้งของอังกฤษในยุคนั้น หรือตลอดช่วงศตวรรษก่อนหน้านี้ยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเท่าใดนัก รัฐสภาซึ่งประกอบไปด้วยสภาขุนนาง มีสมาชิกเป็นพวกขุนนาง ชนชั้นสูง นักบวช โดยตำแหน่งสืบทอดในตระกูล หรือกษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และสภาสามัญ มีสมาชิกเป็นพวกผู้ประกอบอาชีพต่าง ๆ คหบดี นักธุรกิจ โดยได้รับการเลือกตั้งจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเป็นชายชาวอังกฤษจำนวนหนึ่งที่มีคุณสมบัติตามกำหนด
ปัญหาการเลือกตั้งมาจากกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของประเทศ เช่น ในเขตคอร์นวอลล์มีสมาชิกสภาได้ถึง 44 คน ขณะที่กรุงลอนดอน ซึ่งมีประชากรจำนวนมาก กลับมีสมาชิกสภาได้เพียง 4 คน แม้แต่เมืองที่พึ่งเติบโตเป็นอุตสาหกรรมใหญ่อย่าง แมนเชสเตอร์ ลีดส์ เบอร์มิงแฮม กลับไม่มีสิทธิส่งสมาชิกสภา
นอกจากนี้ ผู้แทนหลายคนมาจากเขตเลือกตั้งที่เรียกว่า เขตเลือกตั้งเน่า หรือ “Rotten borough” ซึ่งบางพื้นที่มีประชากรน้อย หรือเป็นพื้นที่เกษตรกรรม หรือเป็นพื้นที่ที่ถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนแทบไม่เหลือ แต่มีสิทธิส่งผู้แทนได้ และผู้แทนบางคนมาจาก เขตเลือกตั้งกระเป๋า หรือ “Pocket borough” ซึ่งอยู่ใต้อิทธิพลของขุนนางหรือเจ้าที่ดินรายใหญ่ดูแลเขตเลือกตั้งนั้น ๆ
นี่จึงนำมาสู่การปฏิรูปใน ค.ศ. 1832
ชาร์ลส์ เกรย์ เอิร์ลเกรย์ ที่ 2 นายกรัฐมนตรีจากพรรคเสรีนิยมพยายามผลักดันกฎหมายการปฏิรูประบอบการเลือกตั้ง เพื่อขยายสิทธิเลือกตั้งแก่กลุ่มพ่อค้าและนักอุตสาหกรรม แต่ร่างพระราชบัญญัติปฏิรูปถูกสภาขุนนางปฏิเสธถึง 2 ครั้ง นำไปสู่การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทั่วประเทศ มีการจลาจลต่อต้านรุนแรงหลายแห่ง ในที่สุดพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 กษัตริย์อังกฤษ จึงทรงหาทางช่วยเหลือแก้ไข โดยทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาขุนนางสายพรรคเสรีนิยมเพิ่มเข้าไปอีก 50 คน ที่สุดจึงผ่านพระราชบัญญัติฉบับนี้จนสำเร็จ
เป็นผลให้มีการปรับปรุงเขตเลือกตั้งให้สอดคล้องเหมาะสมกับจำนวนประชากร ยุบเขตเลือกตั้งที่ไม่เหมาะสม ขยายสิทธิเลือกตั้งแก่ชายชาวอังกฤษ ลดคุณสมบัติโดยเฉพาะเงื่อนไขเรื่องทรัพย์สินลง ส่งผลให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพิ่มขึ้นอีกราว 2.5 แสนคน พระราชบัญญัติฉบับนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ขยายอำนาจทางการเมืองจากชนชั้นสูงไปสู่ชนชั้นกลาง ดังที่กล่าวไปแล้วในการปฏิรูป ใน ค.ศ. 1867 และ ค.ศ. 1884
การปฏิรูประบอบการเลือกตั้งในช่วงศตวรรษที่ 19 นี้ แน่นอนว่า ยังคงจำกัดสิทธิเลือกตั้งเฉพาะชายชาวอังกฤษ แต่ยังมีชายอีก 40% ที่ยังไม่มีสิทธิเลือกตั้งเพราะยังขาดคุณสมบัติโดยเฉพาะเงื่อนไขเรื่องทรัพย์สิน
ในภาพยนตร์ “Enola Holmes” ได้สะท้อนภาพฝ่ายที่ต่อต้านและสนับสนุนการปฏิรูปใน ค.ศ. 1884 อย่างเช่น Mycroft Holmes พี่ชายคนโต ได้พูดกับ Sherlock ถึงการปฏิรูปดังกล่าวว่า “ปฏิรูป พระเจ้าช่วยเราด้วย ถ้ามันมีอะไรสักอย่างที่ประเทศเราไม่ต้องการ ก็คือการเพิ่มขึ้นของคนมีสิทธิออกเสียงที่ไร้การศึกษานี่แหละ อังกฤษจะวายวอดแน่”
และตัวละครที่สนับสนุนการปฏิรูปอย่าง Edith ซึ่งเธอต้องการเห็นสังคมในอนาคตดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เธอจึงสนับสนุนการปฏิรูปเพื่อขยายสิทธิเลือกตั้งให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
ในตอนที่ Sherlock ออกตามหาตัว Enola เขามาสืบข่าวจาก Edith จนได้ทราบ “ภารกิจ” บางอย่างที่เธอกำลังเตรียมการอยู่เพื่อเป็นแรงผลักดันการผ่านกฎหมายฉบับนี้ จน Sherlock ได้ใช้คำพูดกระทบความรู้สึกของ Edith เธอจึงบอกกับเขาว่า “คุณไม่เข้าใจหรอกว่า การไม่มีอำนาจมันเป็นยังไง คุณไม่สนใจการเมือง ทำไม?”
“เพราะมันน่าเบื่อที่สุด” Sherlock ตอบ Edith จึงบอกเขาว่า “เพราะคุณไม่สนใจที่จะเปลี่ยนแปลงโลกที่คุณอยู่สุขสบายดีอยู่แล้ว”
ในภาพยนตร์ไม่ได้อธิบายว่า Edith สนับสนุนให้ขยายสิทธิเลือกตั้งแก่หญิงชาวอังกฤษหรือไม่ แต่ Edith มีแนวคิดสนับสนุนสิทธิของสตรีแน่นอนโดยไม่ต้องสงสัย ซึ่งกว่าที่หญิงชาวอังกฤษจะมีสิทธิเลือกตั้งนั้น ก็หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติ เมื่อ ค.ศ. 1918 หรือ 34 ปี ให้หลังจากเหตุการณ์ในภาพยนตร์เรื่อง “Enola Holmes”
อ้างอิง :
ยุโรป ค.ศ.1815-1918 (2558) เขียนโดย สัญชัย สุวังบุตร และอนันตชัย เลาหะพันธุ
https://www.imdb.com/title/tt7846844/
https://www.britannica.com/event/Reform-Bill
https://www.parliament.uk/
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กันยายน 2563