ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อสภาผู้แทนราษฎรลงมติแต่งตั้ง นายปรีดี พนมยงค์ เป็นหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในวันที่ 16 ธันวาคม 2484 รัฐบาลจึงจัดหาที่อยู่ใหม่ให้กับครอบครัวนายปรีดี เพื่อสะดวกในการต้อนรับแขกที่จะมาปรึกษาราชการ และสรุป ได้ที่บ้านริมน้ำเจ้าพระยา หรือเรียกกันภายหลังว่า “ทำเนียบท่าช้าง”
เดิมทีทำเนียบท่าช้างดังกล่าว นี้เป็นบ้านของเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) ปู่ของเจ้าจอมมารดากลิ่นในรัชกาลที่ 4 ก่อนจะตกทอดมายัง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ เรียกว่า “วังถนนพระอาทิตย์” และต่อตกมาเป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ถึงสมัยรัชกาลที่ 7 พระราชทานให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ เป็นที่ประทับ (ปัจจุบันเป็นที่ทำการขององค์การยูนิเซฟแห่งประเทศไทย)
ซึ่งทั้ง 2 พระองค์เป็นบรรพบุรุษรุ่นแรกของระบอบประชาธิปไตย ที่ได้ลงนามร่วมกับเจ้านายและขุนนางรวมทั้งหมด 11 องค์/คน ที่ลงชื่อใน “คำกราบบังคมทูลถวายความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103 ” ที่ทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 5
ต่อมาช่วงปี 2485-90 บ้านหลังนี้เป็นที่พักของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่ศาลาท่าน้ำทำเนียบท่าช้างสมัยที่นายปรีดีพำนักอยู่นั้น บรรดาผู้นำขบวนการเสรีไทยใช้เป็นที่ปรึกษาเพื่อวางแผนงาน โดยมีหลวงอดุลเดชจรัส, หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์, หลวงศุภชลาศัย, อาจารย์วิจิตร ลุลิตานนท์ ฯลฯ มาเป็นแขกประจำศาลาท่าน้ำนี้
จนกระทั่งวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 คณะรัฐประหารที่มี พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ และ พ.อ.กาจ กาจสงคราม (หลวงกาจสงคราม) เป็นหัวหน้าสำคัญ
รถถังและกำลังทหารจำนวนหนึ่งจากกองทัพบุกทำเนียบท่าช้างเพื่อกวาดล้างจับกุมนายปรีดี ที่คณะรัฐประหารมองว่าเป็นเสี้ยนหนาม แต่นายปรีดีเล็ดลอดออกไปก่อนหน้านั้นอย่างเฉียดฉิว
กระสุนปืนจากรถถังกระหน่ำยิงมาที่ทำเนียบท่าช้าง ท่านผู้หญิงพูนศุขตะโกนสวนออกไปเป็นระยะเพื่อบอกว่า “ที่นี่มีแต่เด็กกับผู้หญิง…อย่ายิง” เมื่อเสียงปืนสงบท่านผู้หญิงพูนศุขเดินลงจากบ้านไปพบกับทหารที่บุกรุก 4-5 นาย ที่แจ้งว่า “เรามาเปลี่ยนรัฐบาล”
ท่านผู้หญิงพูนศุขจึงย้อนถามกลับว่า “ทำไมมาเปลี่ยนที่นี่ ทำไมไม่เปลี่ยนกันที่สภาเล่า?”
สุดท้ายท่านผู้หญิงพูนศุขตัดสินใจอพยพครอบครัวออกจากทำเนียบท่าช้าง
บ้านประวัติศาสตร์หลังนี้ก็จบชีวิตของมัน ด้วยการเป็นที่พักของ 3 บรรพบุรุษประชาธิปไตย
คลิกอ่านเพิ่ม:
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
ละมัย กลิ่นจำปา. “ทำเนียบท่าช้าง” ใน, เอกสารสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา 21 พฤศจิกายน 2562
ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร. ทำเนียบท่าช้าง, เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า
ชัยอนันต์ สมุทวณิช, ขัตติยา กรรณสูต รวบรวม. เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417-2477, โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2518
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 สิงหาคม 2563