รูปปั้นพระญี่ปุ่น รอดจากการทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิมา ไปตั้งในสหรัฐฯ ได้อย่างไร?

รูปปั้น ชินราน (Shinran Shonin) ที่รอดจากระเบิดปรมาณูซึ่งสหรัฐฯ ทิ้งลงในฮิโรชิมา ปัจจุบันตั้งอยู่ในนิวยอร์ก ภาพจาก RegentsPark / Wikimedia Commons (CC BY-SA 4.0)

เมื่อครั้งที่สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูลงในเมืองฮิโรชิมา เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1945 เหตุการณ์ครั้งนั้นมีประชากรเสียชีวิตทันทีมากกว่า 6 หมื่นราย ผู้บาดเจ็บมีจำนวนมากกว่านั้นอีกหลายหมื่นคน วัตถุสิ่งของที่เหลือรอดในวันนั้นมีไม่มากนัก มีสิ่งของที่มีความหมายทางจิตใจไม่ได้เสียหายจากแรงระเบิดมากนักดังเช่นรูปปั้นของชินราน (Shinran Shonin)

ชินราน (Shinran, ค.ศ. 1173-1262) เป็นที่รู้จักในฐานะผู้เผยแพร่พุทธศาสนา นิกายโจโดชิน (Jodo Shin) หรือนิกายสุขาวดีใหม่ในญี่ปุ่น ดร. พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร อธิบายในงานศึกษาเรื่อง “พระพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่น” ว่า ท่านชินราน เป็นลูกศิษย์ของท่านโฮเนน (Hōnen, 1133-1212) ผู้ก่อตั้งนิกายโจโด (Jodo) หรือนิกายสุขาวดี ภายหลังเผยแพร่คำสอนของอาจารย์ และก่อตั้งนิกายโจโดชิน (Jodo Shin) ชินราน ไม่ได้ถือวินัยทั้งแบบมหายานและหีนยาน ท่านแต่งงานมีครอบครัว วิถีของท่านคือเชื่อว่า การปรับตัวให้เข้ากับชาวบ้านจะสามารถช่วยให้ชาวบ้านหลุดพ้นได้

จากงานศึกษาของดร. พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร นิกายโจโดชิน จัดอยู่ในพระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น ยุคคามาคุระ (Kamakura, ค.ศ. 1192-1333) ซึ่งเป็นช่วงแรกในยุคกลางของพระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น ช่วงเวลานั้นเป็นยุคเริ่มต้นของการปกครองด้วยรัฐบาลทหารและยุคแรกของระบอบโชกุน อันเรียกว่า “ระบอบโชกุนแบบคามาคุระ”

สำหรับรูปปั้นของท่านที่มาตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกานั้น ปรากฏข้อมูลว่า รูปปั้นของท่านตั้งอยู่ในนิวยอร์ก กรณีนี้โฮชินะ เซกิ (Hoshina Seki) ประธานชุมชนชาวพุทธอเมริกันในนิวยอร์ก ให้สัมภาษณ์กับ History Net ฉบับสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเดือนสิงหาคม ยืนยันว่า รูปปั้นของท่านชิ้นที่รอดจากฮิโรชิมา มาตั้งอยู่ที่นิวยอร์กจริง

ในการให้สัมภาษณ์ เขาเล่าที่มาของรูปปั้นนี้โดยย้อนกลับไปเมื่อ ค.ศ. 1937 ปรากฏช่างที่ทำงานในอุตสาหกรรมเหล็กนามว่า เซอิชิ ฮิโรเสะ (Seiichi Hirose) ซึ่งเป็นชาวพุทธที่ศรัทธาในนิกายโจโดชิน (Jodo Shinshu) เขาให้ทีมงานสร้างรูปปั้นสำริดของท่านชินราน 6 องค์ แต่ละชิ้นสูง 15 ฟุต หนักประมาณ 1,300 ปอนด์ และนำมาประดิษฐานในฮิโรชิมา, โอซากา, เกียวโต, โตเกียว, คุวานะ, และนีงาตะ

ในช่วงสงคราม รูปปั้นถูกทำลายไป 3 องค์ โดยวัตถุดิบของรูปปั้นถูกรัฐบาลนำไปใช้ในการสงคราม เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 1945 ระเบิดปรมาณูลูกแรกถูกทิ้งที่ฮิโรชิมา จุดศูนย์กลางของระเบิดห่างจากรูปปั้นไม่กี่ไมล์เท่านั้น รูปปั้นยังถูกแรงระเบิด แม้ไม่ได้รับความเสียหายมากนัก แต่ยังมีร่องรอยไหม้ติดอยู่จนถึงวันนี้ เซกิ อ้างว่ายังตรวจพบค่ากัมมันตรังสีอยู่เล็กน้อยด้วย

รูปปั้น ชินราน (Shinran Shonin) ที่รอดจากระเบิดปรมาณูซึ่งสหรัฐฯ ทิ้งลงในฮิโรชิมา ปัจจุบันตั้งอยู่ในนิวยอร์ก จะเห็นรอยไหม้ที่ส่วนล่างของรูปปั้น ภาพจาก RegentsPark / Wikimedia Commons (CC BY-SA 4.0)

เซกิ เล่าต่อว่า หลังสงครามจบลง ช่างและพ่อของเซกิ ตกลงเคลื่อนย้ายรูปปั้นมาที่นิวยอร์ก ซึ่งถูกมองว่าเป็นทางผ่านไปสู่โลกกว้าง กระทั่งในวันที่ 11 กันยายน 1955 รูปปั้นถูกเปิดตัวในลานของสถาบันพระพุทธศาสนา โดยมี D. T. Suzuki บุคคลที่ถือเป็นผู้นำพุทธวิถีเซนมาสู่สหรัฐอเมริกากล่าวปราศรัยเปิดด้วย

ปัจจุบันนี้ รูปปั้นตั้งอยู่ในย่านตะวันตกทางตอนบนของเมืองนิวยอร์ก ระหว่างถนนหมายเลข 105 กับ 106 ด้านหน้าวัดพุทธในนิวยอร์ก

 


อ้างอิง:

พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร, ดร. “พระพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่น”. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย. <http://gjn.mcu.ac.th/wp-content/uploads/2015/02/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%8D%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%9B%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99.pdf>

“The Statue That Survived an Atomic Bomb”. History Net. Online. Published AUG 2020. Access 19 AUG 2020. <https://www.historynet.com/the-statue-that-survived-an-atomic-bomb.htm>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 สิงหาคม 2563