กำเนิดย่าน “อารีย์” จากพื้นที่เรือกสวนไร่นา และถนนสายประชาธิปไตย

ปัจจุบัน เป็นที่เข้าใจกันว่า ย่าน “อารีย์” จำกัดอยู่ในเฉพาะถนนพหลโยธิน ซอย 7 และซอยใกล้เคียงอีกไม่กี่ซอย และมักเรียกช่วงต้นถนนพหลโยธินว่าย่านสนามเป้า เรียกช่วงถนนพหลโยธินตัดถนนประดิพัทธ์ว่าย่านสะพานควาย ซึ่งบริเวณที่กล่าวถึงนี้อยู่ในแขวงสามเสนใน เขตพญาไท สามารถเรียกรวมกันได้ว่า “ย่านพหลโยธิน” ตามชื่อถนนที่ตัดผ่าน

ย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 5 กรุงเทพฯ ทิศเหนือขยายตัวมากขึ้นหลังจากการสร้างพระราชวังดุสิต และการสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ – อยุธยา และกรุงเทพฯ – นครราชสีมา สองฟากทางรถไฟบริเวณแขวงถนนนครไชยศรี แขวงบางซื่อ แขวงจตุจักร แขวงสามเสนใน จึงพัฒนาขึ้นตามลำดับ เป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการหลายหน่วยงาน ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 6 หน่วยงานทหารจำนวนมากก่อตั้งขึ้นในบริเวณทิศเหนือของเขตดุสิต และอยู่ทางทิศตะวันตกของแขวงสามเสนในหรือย่านอารีย์หรือย่านพหลโยธินนั่นเอง

โดยในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1900-1936 (พ.ศ. 2443-2479) พื้นที่เมืองของกรุงเทพฯ ขยายตัวเพิ่มจาก 13 ตารางกิโลเมตร เป็น 43 ตารางกิโลเมตร สำหรับย่านอารีย์นี้ยังไม่มีความสำคัญมากนัก และพื้นที่ความเจริญยังอยู่ตามแนวเส้นทางรถไฟเป็นส่วนมาก เพราะการคมนาคมสะดวกกว่า เมื่อพิจารณาจากแผนที่ของกรมแผนที่ทหารที่จัดทำขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1924 (2467-2468) ในสมัยรัชกาลที่ 6-7 ปรากฏให้เห็นว่า ย่านอารีย์เป็นเพียงพื้นที่เกษตรกรรม ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาข้าว และสวนผลไม้ กระทั่งเริ่มขยายตัวและพัฒนาขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ย่านอารีย์หรือย่านพหลโยธินนี้ได้เปลี่ยนเป็นย่านชานเมืองของกรุงเทพฯ จากการตัด “ถนนประชาธิปัตย์” เมื่อ พ.ศ. 2479 ซึ่งเป็นถนนที่เชื่อมไปยังดอนเมือง จากนั้น พ.ศ. 2483 ได้สร้างเป็นทางหลวงแผ่นดิน เชื่อมกรุงเทพฯ – ลพบุรี

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ผู้สำเร็จราชการได้กล่าวถึง “ถนนประชาธิปัตย์” ในวันเปิดใช้ถนนเมื่อ พ.ศ. 2483 ความตอนหนึ่งว่า “…ในโอกาสที่จะได้เปิดใช้ทางหลวงประชาธิปัตย์… เราทั้งหลายต่างย่อมยินดีปราโมทย์ในผลสำเร็จแห่งงานขั้นต้นชิ้นสำคัญของรัฐบาลเป็นอันมาก แต่นี้ไปการคมนาคมระหว่างจุดชุมชนต่าง ๆ ตลอดทางจะมีการจราจรอย่างมีเสรีภาพแบบทันสมัยขึ้นอย่างที่จะเป็นผลในอนาคตอันดีงามทุกอย่าง ตามหลัก 6 ประการของระบอบประชาธิปไตย ท้องถิ่นซึ่งอุดมในวัตถุดิบธรรมชาติ และที่ดินว่างเปล่าจะเกิดเป็นผลประโยชน์ในการทำมาหากินของราษฎรอย่างใหญ่หลวง…”

สองฟากถนนประชาธิปัตย์จึงเริ่มมีความสำคัญหลังการตัดถนนเส้นนี้ กระทั่ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนชื่อถนนประชาธิปัตย์ เป็น “ถนนพหลโยธิน” เมื่อ พ.ศ. 2493 เพื่อเป็นเกีรยติแก่พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของไทย และผู้นำคนสำคัญของคณะราษฎร

เมื่อพิจารณาจากภาพแผนที่อีกฉบับหนึ่งที่จัดทำขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1955 (พ.ศ. 2498-2499) ก็ปรากฏให้เห็น ถนนพหลโยธิน, ซอยราชครู (ถนนพหลโยธิน ซอย 5), และซอยอารีย์ (ถนนพหลโยธิน ซอย 7) รวมทั้งมีบ้านเดี่ยวบนพื้นที่ขนาดใหญ่ และบริเวณหัวมุมถนนพหลโยธินตัดกับซอยอารีย์ก็ปรากฏตึกแถว

ดังนั้น ย่านอารีย์จึงเริ่มพัฒนาเป็นพื้นที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในช่วงทศวรรษ 2480-2490 นี้เอง แต่สำหรับชื่อ “อารีย์” นั้น ยังไม่ทราบข้อมูลแน่ชัดว่ามีที่มาจากไหน

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ย่านนี้เป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการมานับตั้งแต่อดีต ในระยะต่อมาก็ปรากฏว่า มีการตั้งสำนักงานของหน่วยราชการขึ้นหลายหน่วยงาน (ทั้งทหารและราชการพลเรือน) โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่ราว 100,000 ตารางเมตร ซึ่งเป็นที่ตั้งของ กระทรวงการคลัง, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กรมประชาสัมพันธ์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่นอีก เช่น กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน, กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ และสถานีโทรทัศน์กองทัพบก (ช่อง 5) เป็นต้น จึงอาจเรียกว่าเป็น “เมืองราชการ” ก็ว่าได้

ต่อมา ในช่วงทศวรรษ 1990 (พ.ศ. 2533-2543) ย่านอารีย์ได้กลายเป็นแหล่งที่ตั้งของสำนักงานธุรกิจหลายบริษัท มีการสร้างตึกสูงหลายแห่ง เช่น อาคารธนาคารกสิกรไทย, อาคารชินวัตร 1 และ 2, อาคาร S.P. (อาคาร IBM) และอาคาร EXIM Bank เป็นต้น ทำให้ย่านอารีย์กลายเป็นย่านที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และยิ่งเติบโตมากขึ้นหลังเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม เมื่อ พ.ศ. 2542

ปัจจุบัน ย่านอารีย์จึงเป็นทั้งย่านราชการ ย่านธุรกิจ ย่านที่พักอาศัย และย่าน “ของกิน” ขึ้นชื่อทั้งคาวและหวาน เป็นอีกหนึ่งย่านที่พลุกพล่านมากที่สุดของกรุงเทพฯ

 


อ้างอิง :

โจนัส โฮฟ, ดอกเตอร์. (2557). อารีย์ : พลวัตการเปลี่ยนเเปลงสังคมเมืองร่วมสมัยในย่านหนึ่งของกรุงเทพมหานคร, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สมพงษ์ เกรียงไกรเพชร. (2526). บันทึกเรื่องเมืองสยาม, ประจักษ์การพิมพ์

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. (2551). ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ. พิมพ์ครั้งที่ 7, สำนักพิมพ์มติชน.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 สิงหาคม 2563