แรกมีน้ำบาดาลใช้ บ่อแห่งแรกของไทยที่เจาะกันกลางกรุงเทพฯ อยู่ตรงไหน?

​การ​ขุด​เจาะ​บ่อ​บาดาล พื้นที่​หมู่ 8 ต.​ชัย​นาม อ.​วัง​ทอง จ.​พิษณุโลก เพื่อ​ช่วยเหลือ​ประชาชน​ที่​ประสบ​ภัย​แล้ง​กว่า 300 หลังคา​เรือน วัน​ที่ 7 พฤษภาค​ม 2563 (ภาพจากห้องสมุดภาพมติชน)

การใช้น้ำบาดาล เริ่มต้นจากประเทศในแถบเอเซียกลาง ทั้งในประเทศอียิปต์ และอิหร่าน ซึ่งมีมาตั้งแต่ประมาณ 500 ปีก่อนคริสต์ศักราช ที่เรียกว่าระบบ Kanat เป็นระบบอุโมงค์ส่งน้ำใต้ดิน ขุดขึ้นตามแนวชั้นหินที่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำบาดาล โดยทำเป็นปล่องที่สามารถสูบหรือตักน้ำขึ้นมาใช้ ตัวอุโมงค์มักเริ่มจากเชิงเขาไปตามความลาดเอียงของภูมิประเทศ น้ำบาดาลจะไหลตามความลาดเอียงของอุโมงค์เหมือนน้ำในลำคลอง

ส่วนการเจาะน้ำบาดาลเริ่มต้นครั้งแรกในประเทศจีน ประมาณ พ.ศ. 1669 เครื่องเจาะยุคแรกๆ ทำจากไม้และไม้ไผ่ โดยใช้ไม้ไผ่เป็นก้านเจาะและท่อกรุการทำงานของเครื่องเจาะ โดยใช้แรงคน ถึง พ.ศ. 2421 มีการประดิษฐ์เครื่องเจาะแบบใช้เครื่องจักรไอน้ำแทนแรงคนขึ้นในสหรัฐอเมริกา จากนั้นก็มีการดัดแปลงแก้ไขปรับปรุงทั้งเครื่องเจาะ วิธีการเจาะเรื่อยมาในรูปแบบต่างๆ เรื่อยมาก

วิชาการน้ำบาดาลที่เกี่ยวกับทฤษฎี การเกิด การกักเก็บ และพฤติกรรมต่างๆ ของน้ำบาดาลเกิดขึ้นมาในภายหลัง ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 18 มีการวางรากฐานวิชาธรณีวิทยาขึ้น และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับอุทกธรณีวิทยา การกำเนิดและการเคลื่อนไหวของน้ำบาดาล ระหว่าง พ.ศ. 2346-2401 Henry Darcy ได้เป็นผู้ให้กำเนิด Darcy’s law ซึ่งเป็นรากฐานของวิชาการน้ำบาดาลที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 มีการเจาะบ่อบาดาลได้น้ำพุในประเทศฝรั่งเศส จึงทำให้มีผู้สนใจเกี่ยวกับวิชาการน้ำบาดาลมากขึ้นอย่างกว้างขวาง

ในประเทศไทยการใช้น้ำบาดาลไม่มีหลักฐานบันทึกไว้อย่างแน่ชัด คนไทยในสมัยโบราณส่วนใหญ่อยู่ใกล้แม่น้ำลำคลอง จึงมีแหล่งน้ำผิวดินที่จะใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค ส่วนชุมชนที่ห่างไกลแหล่งน้ำผิวดิน หรือมีน้ำไม่เพียงพอ มีการขุดบ่อบาดาล การพัฒนาน้ำบาดาลของประชาชนคนไทยในเบื้องต้นจึงเป็นการพัฒนาน้ำบาดาลระดับตื้นโดยการขุดเท่านั้น

ส่วนการเจาะบ่อน้ำบาดาลระดับลึกในไทย โดยภาคเอกชนในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2450 โดยนายเส็งยัง แซ่อาว เจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด อาวย่งซุนฮวด เจาะบ่อน้ำบาดาลโดยใช้เครื่องเจาะไม้ไผ่มาจากประเทศจีนเป็นต้นแบบ บ่อบาดาลบ่อแรกเจาะที่โรงพยาบาลเทียบหัว [น่าจะเป็นโรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ] ย่านเยาวราช กรุงเทพฯ ใกล้โรงภาพยนตร์นิวโอเดียนในอดีต ความลึกประมาณ 120 เมตร ได้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค

พ.ศ. 2461 กรมราชทัณฑ์ได้จ้างชาวตะวันตกเจาะน้ำบาดาล โดยใช้เครื่องเจาะที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรไอน้ำ เจาะบ่อบาดาลที่เรือนจำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และเจาะบ่อบาดาลในเรือนจำอีกหลายแห่ง

พ.ศ 2476-2501 กรมโยธาธิการซื้อเครื่องเจาะสมัยใหม่จากยุโรป และจ้างวิศวกรต่างชาติเข้ามาดำเนินการ เพื่อเจาะบ่อบาดาลสำหรับการทำประปาเทศบาลและสุขาภิบาลต่างๆ ต่อมา พ.ศ. 2502 กรมโยธาธิการได้จัดตั้ง โครงการเจาะน้ำบาดาล โดยสังกัดกองประปาภูมิภาค กำหนดเป้าหมายเจาะบ่อบาดาลในท้องถิ่นชนบททั่วราชอาณาจักร

เมื่อเทคโนโลยีการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลพัฒนาดีขึ้น การใช้น้ำบาดาลก็แพร่หลายมากขึ้น ปริมาณการใช้น้ำบาดาลที่มากเกินสมดุลธรรมชาติติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้เกิดวิกฤตการณ์น้ำบาดาลขึ้นในชั้นน้ำต่างๆ โดยพบว่า แรงดันของระดับน้ำบาดาลลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีการคืนตัว ทำให้เกิดผลกระทบต่าง เช่น แผ่นดินทรุด (ที่มีผลให้พื้นถนน ทางเดินแตกร้าว หรือเกิดน้ำท่วมขัง), น้ำเค็มแทรกซึมเข้าสู่น้ำบาดาล ซึ่งเดิมเป็นน้ำจืดกลายเป็นน้ำกร่อยหรือน้ำเค็ม ฯลฯ

 


ข้อมูลจาก :

http://www.dgr.go.th/th/about/11 สืบค้นเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563

เอกสารวิชาการ เรื่องน้ำบาดาล (ground water) : แหล่งน้ำสำรอง, สำนักงานวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 สิงหาคม 2563