“กัมพูชา” เตรียมจัดแสดงจารึก “เลขศูนย์” ที่ (เชื่อว่า) เก่าแก่ที่สุดในโลก

ตัวเลข 605 ในจารึกโบราณของกัมพูชา (ฉากหลังเป็นภาพลานหินทางเข้าปราสาทนครวัด ภาพลายเส้นโดยกิโอด์ จากรูปสเก๊ตช์ของมูโอต์)

รายงานจาก EFE ประเทศสเปนระบุว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของประเทศกัมพูชาเตรียมนำจารึกซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีหลายรายเชื่อกันว่าเป็นหลักฐานการใช้ “เลขศูนย์” ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกมาจัดแสดงภายในเดือนมกราคมปี 2017 (พ.ศ. 2560) หลังจารึกดังกล่าวได้ถูกหลงลืมไปเนื่องจากภาวะความไม่สงบภายในประเทศ

จารึกหลักดังกล่าวถูกพบโดย อาเดมาร์ เลอแกลร์ (Adhemard Leclere) นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส เมื่อปี 1891 (พ.ศ. 2434) ณ เขตโบราณคดีตระเปรียงเปรย (ตระพังไพร-Trapang Prei) จังหวัดกระแจะ ซึ่งภายหลัง ยอร์ช เซเดส์ นักประวัติศาสตร์โบราณคดีชื่อดังชาวฝรั่งเศสอีกรายได้จัดหมวดหมู่แล้วให้ชื่อเรียกว่า “K-127” พร้อมได้ถอดความจารึกโบราณดังกล่าวแปลได้ความว่า “จกศักราชลุถึงปีที่ 605 ณ วันแรม 5 ค่ำ…” (แปลจากรายงานข่าวที่ระบุว่า “The Chaka era has reached 605 on the fifth day of the waning moon…”) โดยตัวเลขศูนย์แบบเขมรในจารึกปรากฏในลักษณะเป็นจุด มากกว่าที่จะเป็นตัววงรีอย่างที่คุ้นเคยในปัจจุบัน

Advertisement

ข้อมูลจาก อมีร์ อักเซล (Amir Aczel) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบอสตันกล่าวว่า เซเดส์ พยายามโต้ความเห็นของนักวิชาการรายอื่นๆ ที่เสนอว่า เลขศูนย์เป็นประดิษฐกรรมของชาวตะวันตกหรืออาหรับ โดยใช้จารึกดังกล่าวเป็นหลักฐานว่า เลขศูนย์ที่เก่าแก่ไปกว่านั้นน่าจะมาจากอารยธรรมอินเดีย หรือกลุ่มอารยธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย ซึ่งรวมถึงอาณาจักรโบราณในดินแดนกัมพูชา

อักเซล กล่าวว่า “จกศักราช” ที่ถูกอ้างถึงในจารึก เริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ. 78 ทำให้ปี จกศักราชที่ 605 ตรงกับปี ค.ศ. 687 มันจึงมีมาก่อนยุคพระนคร ก่อนการกำเนิดของจักรวรรดิอาหรับ และเก่าแก่กว่าเลขศูนย์แห่งกวาลิออร์ (Gwalior) ของอินเดียเกือบสองร้อยปี เพียงแต่เลขศูนย์โบราณของอินเดียมีรูปร่างที่ตรงกับเลขศูนย์ในยุคปัจจุบันมากกว่า และแนวคิดเกี่ยวกับเลขศูนย์ที่เก่าแก่กว่าก็มีปรากฏอยู่ในหลายอารยธรรมเช่นอารยธรรมมายา หรือบาบิโลเนีย (บ้างเชื่อว่าเลขศูนย์ของอินเดียได้อิทธิพลมาจากชาวบาบิโลเนียน แต่ก็มีผู้ที่แย้งว่าชาวอินเดียน่าจะพัฒนาแนวคิดนี้ขึ้นมาอย่างเป็นเอกเทศ)

ทั้งนี้ หลังจากที่มีการค้นพบจารึก K-127 ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้นำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงพนมเปญ แต่เมื่อประเทศตกอยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง ความวุ่นวายทำให้วัตถุโบราณหลายชิ้นสูญหาย ถูกทำลาย หรือถูกละเลย เหมือนเช่นจารึกชิ้นนี้ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญ แสดงถึงองค์ความรู้ที่ก้าวหน้าของอาณาจักรเขมรในอดีต


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 6 มกราคม 2560