ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2547 |
---|---|
ผู้เขียน | ธวัช ปุณโณทก |
เผยแพร่ |
พ.ศ. 2445 ก่อนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยุ่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคตไม่กี่ปี (รัชกาลที่ 5 สวรรคต พ.ศ. 2453) ยังมีการขายตัวเป็นทาสนายเงิน ดังเอกสารโบราณลำดับที่ 23 เป็นสัญญาขายตัวของอ้ายเพชร เมื่อวันที่ 6 กันยายน ร.ศ. 121
หนังสือสัญญาดังกล่าวเรียกว่า สารกรมธรรม์ เป็นแบบฟอร์มที่พิมพ์จำหน่ายจากโรงพิมพ์หลวง (ตะพานเหล็กโรงหวย) แบบฟอร์มดังกล่าวพิมพ์ข้อความสำคัญไว้เกือบทั้งสิ้น และมีส่วนว่างให้เติมข้อความสำคัญอื่นๆ เช่น ชื่อทาส ชื่อนายเงิน จำนวนเงิน และตำแหน่งพนักงานที่จดทะเบียนสารกรมธรรม์ พร้อมกับประทับตราประจำตำแหน่ง ฯลฯ
เอกสารกรมธรรม์ซื้อทาสดังกล่าวเป็นเอกสารโบราณของทางราชการเมืองนครราชสีมา เพิ่งค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2538 จำนวน 138 ฉบับ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
การซื้อทาสขายทาส รวมทั้งยอมขายตนเองเป็นทาสแก่นายเงินนั้น มีกฎหมายบังคับก่อนที่จะมี พ.ร.บ.เลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ 5 ตามที่ทราบกันอยู่ทั่วไปนั้น แต่ยังไม่พบหลักฐานการทำหนังสือสัญญายอมขายตัวเป็นทาส รวมทั้งขบวนการเข้าสู่ระบบทาส ซึ่งมีการสอบถามความยินยอมพร้อมใจของทาสผู้ยอมขายตัวเองต่อหน้าข้าราชการผู้ใหญ่ และพยานดีแล้ว ทางราชการจึงจะทำหนังสือสารกรมธรรม์ หรือหนังสือสัญญาขายตัว โดยมีนายอำเภอ (เจ้าเมืองหรือข้าราชการผู้ใหญ่) มีพยาน และเสมียน นั่งพร้อมกันสอบถามความสมยอมพร้อมใจของผู้ขายตัวเป็นทาส และนายเงิน เมื่อเห็นว่าไม่ได้บังคับกดขี่คดโกงกัน จึงจะประทับตราประจำตำแหน่ง (ตรารูปหนุมานทรงเครื่อง) ไว้เป็นสำคัญอย่างน้อย 3 แห่ง คือ 1. ศก (วัน เดือน ปี) 2. เรือนเงิน (คือจำนวนเงินที่ซื้อขาย) 3. ชื่อทาส (ชื่อทาส ชื่อเมีย และพ่อแม่ถ้ามี)
เอกสารโบราณว่าด้วยสารกรมธรรม์การขายตัวเป็นทาสนี้พบจำนวนมาก (ประมาณ 138 ฉบับ) ที่บ้านคุณยายยี่สุ่น ไกรฤกษ์ บ้านอยู่ถนนมหาดไทยในเขตเทศบาลนครราชสีมา เมื่อ พ.ศ. 2538 (เมื่อพ.ศ. 2547 อยู่ในความครอบครองของนางเสริมศรี โชรัมย์ ทายาท) และได้มอบให้สำนักศิลปวัฒนธรรมสถาบันราชภัฏนครราชสีมา ต่อมา พ.ศ. 2545 สำนักศิลปวัฒนธรรมได้พิมพ์เผยแพร่ชื่อว่า เอกสารโบราณ เล่ม 1 สารกรมธรรม์ มีเอกสารโบราณจำนวน 138 ฉบับ ฉบับเก่าสุดลงศักราชตรงกับ พ.ศ. 2399 และฉบับล่าสุดลงศักราช พ.ศ. 2445 ซึ่งเอกสารโบราณดังกล่าว เป็นสารกรมธรรม์ขายตัวเองเป็นทาสส่วนใหญ่ มีบางส่วนเป็นสารกรมธรรม์นายเงินขายทาสให้นายเงิน โดยความยินยอมของนายเงินและทาส และบางส่วนเป็นสัญญากู้เงิน
เอกสารโบราณดังกล่าว เขียนด้วยอักษรไทย ลายมือโบราณส่วนหนึ่ง (สารกรมธรรม์ พ.ศ. 2399-พ.ศ. 2429) ส่วนเอกสารทำหลัง พ.ศ. 2429 ถึง พ.ศ. 2445 จะมีแบบฟอร์มพิมพ์จากโรงพิมพ์หลวง และมีคำชี้แจงด้านหลังว่า กระดาษที่จะใช้ทำหนังสือสัญญาต่างๆ ที่ทำเพื่อใช้เป็นพยานในโรงศาลทั้งปวงที่มีสารกรมธรรม์สัญญา เป็นต้น ควรใช้กระดาษหลวงที่มีตราหลวงสำหรับการนั้นๆ ให้ผู้ทำพิเคราะห์จงดี จึงจะเป็นการมั่นคงดี ที่อำเภอจะต้องใช้กระดาษต่างๆ และกระดาษต่างๆ ซึ่งเป็นที่ต้องการทุกสิ่งทุกอย่างนี้ จำหน่ายที่โรงพิมพ์หลวง แลที่ตึกแถวถนนใหม่ที่สุดริมตะพานเหล็กโรงหวย แลบ้านอำเภอทุกๆ แห่ง
จากหลักฐานเอกสาร สารกรมธรรม์ ข้างต้นนั้น เป็นหลักฐานว่า ในหัวเมืองนครราชสีมายังมีการขายตัวเป็นทาสจนถึง พ.ศ. 2445 แม้ว่าทางราชธานีจะประกาศเลิกทาสแล้วก็ตาม อีกประการหนึ่ง ในตอนต้นรัชสมัยของพระจุลจอมเกล้าฯ ที่ยังมิได้ประกาศเลิกทาสนั้น ทางราชการยังพิมพ์แบบฟอร์มสัญญาสารกรมธรรม์ขายตัวเองเป็นทาส ซึ่งมีรายละเอียดรูปพรรณของตัวทาส และมีพยาน มีการสอบถามความสมัครใจทั้งสองฝ่าย ลงชื่อ ประทับตราประจำตำแหน่งกันอย่างเป็นระบบ
จากการศึกษาเอกสารโบราณที่พบอยู่บ้านคุณยายยี่สุ่น ไกรฤกษ์ ในเขตเทศบาลเมืองนครราชสีมา เมื่อ พ.ศ. 2538 นั้น ทำให้เข้าใจขบวนการขายตัวเป็นทาสนายเงินหลายกรณี นั่นคือ 1. กรณีเกิดยากจนเป็นหนี้สิน จึงยอมขายตนเองเป็นทาส 2. กรณีนายทาส (เจ้าของทาส) มีความประสงค์จะขายทาสให้นายเงินคนอื่น 3. กรณีเป็นคดีความถูกศาลสั่งปรับไหมเป็นเงินจำนวนมาก (1 ชั่ง 2 ชั่ง) จึงต้องขายตนเองและลูกเมียเป็นทาส เพื่อนำเงินไปใช้ค่าปรับไหม 4. กรณีมูลนายขายตนเองเป็นทาสนายเงิน 5. กรณีทาสขอเพิ่มค่าตัวโดยเปลี่ยนนายเงินใหม่
…
สำหรับกรณีที่ 1 นั้น พบว่ามีขุนนางผู้ใหญ่ขายตนเองเป็นทาสด้วย
หลวงภักดีสงคราม
ในกรณีขุนนางผู้ใหญ่ขายตนเองและเมียเป็นทาส นายเงินที่เป็นชาวจีน ไม่มีรายละเอียดว่าท่านหลวงภักดีสงคราม ยากจนเพราะเหตุใด และเงินค่าขายตัวเพียง 2 ชั่ง 14 ตำลึง (ทั้งสองคนผัวเมีย) ก็ไม่ได้สูงกว่าไพร่เลวอื่นๆ ที่ขายตัวเป็นทาสในสมัยเดียวกัน (พ.ศ. 2416) และไม่พบรายละเอียดเกี่ยวกับตัวท่านหลวงภักดีสงครามและนางคล้าย (ภรรยา) ว่ามีอายุมากน้อยเท่าใด อยู่ในราชการหรือถูกปลดออกจากราชการ เงินเบี้ยหวัดทรัพย์สมบัติสูญสิ้นไปไหนหมด จึงสิ้นเนื้อประดาตัว จนต้องขายตนเองเป็นทาสแก่จีนทองจีน และนางนกแก้วภรรยา ซึ่งนายเงิน (จีนทองจีนและนางนกแก้ว) พบชื่ออยู่ในสารกรมธรรม์สมัยเดียวกันนี้หลายฉบับ แสดงว่ามีบ้านเรือนอยู่ที่เมืองนครราชสีมา
ส่วนหลวงภักดีสงครามและนางคล้าย (ภรรยา) คงเป็นขุนนางตกยากของเมืองนครราชสีมา และน่าจะถูกปลดประจำการเพราะพบในสารกรมธรรม์บางแห่งเขียนว่า อ้ายหลวงภักดีสงคราม สารกรมธรรม์ฉบับนี้อยู่ในเอกสารโบราณลำดับที่ 84 หน้า 109 มีใจความดังนี้
๐ วันพุธ เดือนสิบเอ็ด ขึ้นสามค่ำ จุลศักราช ๑๒๓๕ ปีระกาเบญจศก (พ.ศ. ๒๔๑๖) ตูข้าอ้ายหลวงภักดีสงคราม อีคล้ายผู้เมีย ทุกข์ยาก พร้อมใจกันทำหนังสือสารกรมธรรม์ขายตัวเองอยู่กับท่านจีนทองจีนผัว นางนกแก้วเมีย (แต่ต้น) เป็นเงินตราสองชั่งสิบสี่ตำลึง ตูข้าเข้าอยู่รับใช้สอยการงานต่างกิริยาดอกเบี้ยของท่าน ถ้าตูข้าขัดแข็งบิด (พลิ้ว) หลบ (หนีไป) มามิให้ท่านใช้สอยการงานต่างกิริยาดอกเบี้ยของท่านไซร้ ให้ท่านคิดเอาต้นเงินและดอกเบี้ยกับตูข้าจงเต็ม (ถ้า) ตูข้าขัดแข็งบิดพลิ้วไปมามิให้ต้นเงินและค่าป่วยการของท่านไซร้ ให้ท่านเอาหนังสือสารกรมธรรม์ (ขายตัว) เองใบนี้ ออกร้องเรียกว่ากล่าวเอาตามความแผ่นดินกะบิลเมืองของท่านเถิด ตูข้าหลวงภักดีสงครามผัว คล้ายผู้เมีย ขีดแกงได ให้ไว้แก่ท่านเป็นสำคัญ
ขุนอินทร์
อีกกรณีหนึ่ง ขุนอินทร์ อายุสี่สิบห้าปีขายตัวเองเป็นทาสของแม่เลื่อนนายเงิน เป็นเงิน 1 ชั่ง 5 ตำลึง เมื่อวันอาทิตย์ เดือนสิบเอ็ด ขึ้นค่ำหนึ่ง ปีระกานพศก จุลศักราช 1259 (วันที่ 26 กันยายน ร.ศ. 116/พ.ศ. 2440) โดยมีพระเจริญราชกิจ นายอำเภอเป็นผู้ออกหนังสือสารกรมธรรม์
รูปแบบหนังสือสารกรมธรรม์ฉบับนี้ เป็นฉบับพิมพ์จากโรงพิมพ์หลวง เป็นแบบฟอร์มที่มีรายละเอียดมากกว่าสารกรมธรรม์ที่เขียนด้วยลายมือ เช่น ลงชื่อพระเจริญราชกิจ-ผู้นั่ง (ประธาน) นายยอด-เสมียน ขุนอินทร-ตัวทาส จีนทองคำ-มาแทนนายเงิน นายหมา-พยาน ส่วนตอนท้ายของสัญญาจะมีตารางบันทึกรายละเอียดของตัวทาส ได้แก่ ชื่อผู้สัญญา-อ้ายขุนอินทร์ตัวทาส บิดามารดาหรือบุตรภรรยา-เมียชื่อสายราย อายุ-สี่สิบห้าปี ตำหนิ-มีไฝริมจมูกขวา ผิวเนื้อ-ดำแดง รูปพรรณ-สันทัด ลงชื่อ-อ้ายขุนอินทร์ นายหมา-พยาน
หมายเหตุ หลังจากทำสารกรมธรรม์ฉบับนี้เพียง 11 วัน ขุนอินทร์ก็เอาเงินมาคืน 15 ตำลึง คงค้างค่าตัวอีก 10 ตำลึง ดังปรากฏบันทึกด้านหลังสารกรมธรรม์ว่า วันที่ 7 ตุลาคม ร.ศ. 116 ขุนอินทร์ ตัวทาส ได้เอาเงินมาส่งแม่เลื่อน นายเงิน 15 ตำลึง ต้นเงินยังคงค้างอยู่ในสารกรมธรรม์เป็นเงิน 10 ตำลึง จึงให้สลักหลังสารกรมธรรม์ไว้เป็นสำคัญ
การที่ขุนนางที่ยอมขายตัวเองเป็นทาสนายเงิน ทั้งหลวงภักดีสงคราม และขุนอินทร์ แสดงให้เห็นว่าขุนนางจำนวนหนึ่งที่ยากจนเพราะถูกออกจากราชการ หรือถูกลงโทษ และมีความประพฤติเสื่อมเสีย มีหนี้สินมากมายถึงขั้นขายตัวเป็นทาส และไม่ได้มีค่าตัวมากกว่าไพร่เลว นั่นคือ หลวงภักดีสงครามกับภรรยาขายตัวเองเป็นเงิน 2 ชั่ง 14 ตำลึง ส่วนขุนอินทร์ (คนเดียว) ขายตัวเองเป็นเงิน 1 ชั่ง 5 ตำลึง ซึ่งเป็นราคาที่ขายตัวเองเป็นทาสกันในสมัยนั้น
หมายเหตุ: เนื้อหานี้คัดย่อ จัดย่อหน้าใหม่ และเรียบเรียงจากบทความ “ซื้อทาส สมัยรัชกาลที่ 5” โดย ธวัช ปุณโณทก ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม พ.ศ. 2547
(เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มิถุนายน 2563)
บรรณานุกรม
สำนักศิลปวัฒนธรรมสถาบันราชภัฏนครราชสีมา. เอกสารโบราณ เล่ม 1 สารกรมธรรม์. เอกสารสำเนา, พ.ศ. 2545.