เผยแพร่ | |
---|
“พรานนก” เป็นหนึ่งในตำนานสมรภูมิสำคัญของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือพระเจ้าตาก (สิน) ที่กรุงศรีอยุธยา ในช่วงปลายยุคสมัยก่อนกรุงแตกไม่นานนัก แต่ชื่อพรานนกนี้ถูกนำมาใช้เป็นชื่อถนน ชื่อย่าน ชื่อตลาด ในเขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรี ซึ่งชื่อพรานนกก็เป็นที่รู้จักกันดีของชาวฝั่งธนบุรี แต่ชื่อพรานนกเพิ่งจะมาปรากฏเมื่อไม่ถึงร้อยปีนี้ ก่อนหน้านี้ไม่เคยเรียกว่าพรานนกมาก่อน แล้วพรานนกในกรุงเทพมาจากไหน?
ย้อนกลับไปถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าตากในขณะที่ทรงมียศเป็น พระยาวชิรปราการ นำไพร่พลราว 500 คนออกจากกรุงศรีอยุธยา บ่ายหน้าสู่ทิศตะวันออก จนมาปะทะสู้รบกับกองทัพพม่า (อังวะ) ในการศึกที่บ้านโพธิ์สังหาร เมื่อได้รับชัยชนะจึงมุ่งหน้าต่อไปยังทิศทางเดิม จากนั้นได้เดินทางต่อมาถึง “บ้านพรานนก” (ปัจจุบันอยู่ในอำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) เพื่อพำนักหาเสบียงอาหาร
ที่บ้านพรานนกนี้ ตามตำนานท้องถิ่นกล่าวถึงชายผู้หนึ่งเรียกกันว่า “เฒ่าคำ” บ้างเรียก “พรานทองคำ” ผู้มีอาชีพเป็นนายพรานล่านก และเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการให้ความช่วยเหลือกองทัพของพระเจ้าตาก
ในระหว่างพักทัพนั้น ทหารพม่าจากบางคาง ปราจีนบุรี ได้พบทหารของพระเจ้าตากที่ออกเที่ยวหาอาหาร จึงไล่ติดตามมาจนถึงบ้านพรานนก พระเจ้าตากจึงทรงขี่ม้านำทหารม้าอีก 4 ม้าเข้าสู้รบ และใช้กลศึกให้พลทหารเดินเท้าจัดขบวนรบปีกกาโอบล้อมทหารพม่า ปรากฏว่าทหารพม่าเสียที ถูกรุกไล่ฆ่าฟันจนแตกทัพหนีไป
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระราชนิพนธ์คำโคลงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า
ฟันฝ่าข้าศึกห้อม แตกฉาน
รบรับรายทางราญ รอดได้
พักแรม ณ บ้านพราน นกนอก กรุงนา
ปล่อยพรรคพลหาญให้ ลาดค้นธัญญาฯ
มาปะปรปักษต้อน ตามติด
ตนหนึ่งกับทหารสนิท นับห้า
ขับแสะเสิดประชิด ชล่าไล่ ทะลวงแฮ
หมู่ม่านสามมิบม้า หมดห้าวเฮหนีฯ
ดังนั้น คำว่าพรานนกจึงสันนิษฐานว่ามาจากนายพรานล่านก เมื่อพระเจ้าตากมาพักทัพที่นี่ ก็ได้เกิดการศึกที่พรานนก อันเป็นการสู้รบครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งในการกู้ชาติบ้านเมืองของพระเจ้าตาก สถานที่แห่งนี้จึงมีความสำคัญต่อการนำมาตั้งชื่อถนนในกรุงเทพฯ
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มีการก่อสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าเพื่อเชื่อมการคมนาคมระหว่างฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร ในคราวการฉลองครบรอบ 150 ปี สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ ทรงมีพระราชดำริให้ตัดถนนในฝั่งธนบุรีขึ้นอีก 10 สาย เพื่อให้การคมนาคมสะดวกยิ่งขึ้น
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นผู้ดำริตั้งชื่อถนนทั้งหมด แล้วกราบบังคมทูลฯ ถวาย ซึ่งรัชกาลที่ 7 ทรงเห็นชอบ โดยทรงนำชื่อสถานที่อันเป็นมงคลชัยที่กองทัพไทยสามารถรบชนะพม่าในสงครามกู้อิสรภาพ และสงครามปกป้องราชอาณาจักรในสมัยธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์บ้าง หรือสถานที่ที่เปลี่ยนแปลงจากเดิม เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้รำลึกถึงประวัติความเป็นมาของสถานที่บ้าง ได้แก่ ถนนประชาธิปก ถนนสมเด็จเจ้าพระยา ถนนเจ้ากรุงธน ถนนลาดหญ้า ถนนวังเดิม ถนนโพธิ์สามต้น ถนนบางแก้ว ถนนท่าดินแดง ถนนเชียงใหม่ และถนนวังหลัง
โดยถนนวังหลังนี้ จุดเริ่มต้นอยู่ที่ท่าเรือวังหลัง (ศิริราช) ไปจรดถนนเจ้ากรุงธน ต่อมา ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลในยุคนั้นได้เปลี่ยนชื่อถนนเจ้ากรุงธนเป็นถนนอิสรภาพ และเปลี่ยนชื่อถนนวังหลังเป็นถนนพรานนก สันนิษฐานว่าได้เรียกบริเวณวังหลังส่วนนั้นว่า “พรานนก” ตามชื่อถนนพรานนกเรื่อยมา
จวบจนถึง พ.ศ. 2555 กรุงเทพมหานครได้ตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมาชุดหนึ่งได้สำรวจสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ และได้มีมติให้เปลี่ยนชื่อถนนพรานนกกลับไปใช้ชื่อถนนวังหลังตามเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์การสร้างถนนสายนี้ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7
กล่าวคือ ถนนตั้งแต่ท่าเรือวังหลังไปจรดถนนอิสรภาพ (แยกพรานนก) เรียก “ถนนวังหลัง” เพราะเป็นถนนที่ตัดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 แต่ในส่วนถนนที่เริ่มจากถนนอิสรภาพ (แยกพรานนก) ไปจรดถนนจรัญสนิทวงศ์ (แยกไฟฉาย) เรียก “ถนนพรานนก” เช่นเดิม เพราะถนนส่วนนี้ไม่ได้ตัดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 อย่างไรก็ตาม บริเวณถนนทั้งสองสายนั้นก็ยังนิยมเรียกกันว่าพรานนกกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
อ้างอิง :
ราชกิจจานุเบกษา. (2473). พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อตัดและขยายถนนฝั่งจังหวัดธนบุรีและจังหวัดพระนคร, จากเว็บไซต์ ratchakitcha.soc.go.th
จรรยา ประชิตโรมรัน. (2537). สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช, สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สมชาย พุ่มสอาด. (2531). สมเด็จพระเจ้าตากสิน จอมบดินทร์มหาราช, ม.ป.ท.
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. (2551). ชื่อบ้านนามเมือง. พิมพ์ครั้งที่ 7, สำนักพิมพ์มติชน
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. (2559). การสำรวจเส้นทางเดินทัพและรวบรวมไพร่พลเพื่อกู้ชาติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จากพระนครศรีอยุธยาจนถึงเมืองตราด. จากเว็บไซต์ lek-prapai.org
ข่าวสด. (2555). คอลัมน์ที่13 ถนนวังหลัง. ฉบับวันที่ 27 กรกฎาคม 2555.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 เมษายน 2563