เมืองไทย-คนไทยเป็นอยู่อย่างไร ในจดหมายเหตุจีน บันทึกชี้ “ศพคนจนเอาไปทิ้งที่ฝั่งทะเล”

จิตรกรรม พระราชวังเดิม คนไทย พระเจ้าตาก ทรงแจกจ่ายข้าวสาร แก่ ราษฎร แก้ ปัญหาปากท้อง
"พระเจ้าตากทรงแจกจ่ายข้าวสารแก่ราษฎร" ภาพจิตรกรรมจัดแสดงภายในตำหนักเก๋งคู่ (เก๋งหลังใหญ่) พระราชวังเดิม

เมืองไทย คนไทย เป็นอยู่อย่างไร ใน บันทึกจดหมายเหตุจีน บันทึกชี้ “ศพคนจนเอาไปทิ้งที่ฝั่งทะเล”

หนังสือเรื่อง “ประเทศไทยในตำนานจีน” (บ้างใช้ชื่อ “ทางพระราชไมตรีระหว่างกรุงจีนกับกรุงสยาม”) นี้ ถือเป็น บันทึกจดหมายเหตุจีน ที่ หลวงเจนจีนอักษร (สุดใจ ตัณฑากาศ) แปลถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระเจนจีนอักษรผู้แปลนั้นมีบรรพชนเป็นคนจีนแต้จิ๋ว การแปลของท่านจึงใช้การถอดเสียงด้วยสำเนียงจีนแต้จิ๋วเป็นสำคัญ หรือบางคำก็อาจออกเสียงไม่ตรงกับที่นิยมใช้ในปัจจุบัน เช่น ชื่อจักรพรรดิเฉียนหลง ใช้ว่า เขียนหลง

สำหรับประเทศไทยในตำนานจีน หลวงเจนจีนอักษร แปลจากหนังสือจีน 3 เรื่อง คือ 1. หนังสือ คิมเตี้ยซกทงจี่ 2. หนังสือ หวงเฉียวบุ๋นเหียนทงเค้า 3. หนังสือ ยี่จั๋บสี่ซื้อ ตอนเหม็งซื้องั่วก๊กเลี่ยต้วน เป็นจดหมายเหตุกล่าวถึงทางพระราชไมตรีที่กรุงสยามได้มีมากับกรุงจีน ตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระร่วงตั้งราชธานีอยู่ที่นครสุโขทัย ตลอดเวลากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีลงมาจนครั้งกรุงธนบุรี

หนังสือจีนทั้ง 3 เรื่องนั้น เป็นหนังสือหลวงซึ่งจักรพรรดิเฉียนหลง ราชวงศ์ชิง ให้กรรมการข้าราชการตรวจจดหมายเหตุของเก่าในเมืองจีนมาเรียบเรียง (ตรงสมัยเมื่อครั้งกรุงธนบุรี) ว่าด้วยเมืองต่างประเทศที่เคยมีไมตรีมากับกรุงจีน หนังสือเหล่านี้จึงมีเรื่องเมืองไทยด้วย มีเนื้อหาทั้งหมด 2 ตอน ตอนที่ 1 ว่าด้วยภูมิประเทศและขนบธรรมเนียม และตอนที่ 2 ว่าด้วยเรื่องพงศาวดาร ที่นำมาเผยแพร่ครั้งนี้ เป็น บันทึกจดหมายเหตุจีน เฉพาะเนื้อหาในตอนที่ 1 [โดยมีการจัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำ เพื่อสะดวกในการอ่าน] ดังนี้

ตอนที่ 1

ว่าด้วยภูมิประเทศและขนบธรรมเนียม

หลวงเจนจีนอักษร (สุดใจ) แปลออกจากหนังสือหวงเฉียวบุ๋นเหี่ยนทงเค้า เล่ม 34 หน้า 40 หน้า 41

หนังสือหวงเฉียวบุ๋นเหี่ยนทงเค้านี้เป็นหนังสือหลวง ขุนนาง 66 นายเป็นเจ้าพนักงาน เรียบเรียงในสมัยราชวงศ์ไต้เชง เมื่อแผ่นดินเขียนหลงปีที่ 42 เตงอีว (ตรงปีระกา พ.ศ. 2320 ในครั้งกรุงธนบุรี)

เสี้ยมหลอก๊ก

เสี้ยมหลอก๊กอยู่ฝ่ายทิศตะวันออกเมืองก้วงหลำ (เมืองกวางตังเดี๋ยวนี้) เฉียงหัวนอน (เฉียงใต้) เมืองกั้งพู้จ้าย (กำพูชา) ครั้งโบราณมีสองศึก [1] เสี้ยม (สยามคือสุโขทัย) ก๊ก 1 หลอฮก (ละโว้) ก๊ก 1 อาณาเขตต์ 1,000 ลี้เศษ (นับก้าวเท้าแต่ 1 ถึง 360 ก้าวเท้า จึงเรียกว่าลี้) ปลายแดนมีภูเขาล้อมตลอด

ในอาณาเขตต์แบ่งเป็นกุ๋น (เมืองประเทศราช) กุ้ย (อำเภอ) กุ้ยขึ้นฮู้ (เมือง) ฮู้ขึ้นต๋าคูสือ (เมืองพระยามหานคร คือเมืองเอก เมืองโท)

ต๋าคูสือมี 9 (แต่งตำรานี้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา) คือ

(1) เสี้ยมหลอ (กรุงศรีอยุธยา) (2) ค้อเล้าสี่ม้า (เมืองนครราชสีมา) (3) จกเช่าปั๊น (เมืองสัชชนาลัย) (4) พี่สี่ลก (เมืองพิษณุโลก) (5) สกก๊อตท้าย (เมืองสุโขทัย) (6) โกวผิวพี้ (เมืองกำแพงเพ็ชร) (7) ต๋าวน้าวลี้ (เมืองตะนาวศรี) (8) ท้าวพี้ (เมืองทะวาย) (9) ลกบี๊ (เมืองนครศรีธรรมราช) [2]

ฮู้มี 14

(1) ไช้ณะ (เมืองไชยนาท) (2) บูเล้า (3) บี๊ไช้ (เมืองพิชัย) (4) ตงปั๊น (5) ลูโซ่ง (6) พีพี่ (พริบพรี คือเมืองเพ็ชรบุรี) (7) พีลี้ (8) ไช้เอี้ย (เมืองไชยา) (9) ตอเท้า (10) กันบู้ลี้ (เมืองกาญจนบุรี) (11) สี้หลวง (เมืองสระหลวง คือ พิจิตร) (12) อ๊วดไช้ย็อก (เมืองไทรโยค) (13) ฟั้นสีวัน (เมืองนครสวรรค์) (14) เจี่ยมปันคอซัง (ชุมพร กุย ปราณ)

กุ้ยมี 72 พื้นแผ่นดินข้างฝ่ายทิศตะวันตกเฉียงปลายตีน (ทิศเหนือ) หรือเฉียงเหนือมีหินกรวด ด้วยเป็นอาณาเขตต์เสี้ยมก๊ก อาณาเขตต์หลอฮกก๊กอยู่ฝ่ายทิศตะวันออกเฉียงหัวนอนหรือเฉียงใต้ พื้นแผ่นดินราบและชุ่มชื่น เมืองหลวงมีแปดประตู กำแพงเมืองก่อด้วยอิฐ [3] เลียบรอบกำแพงเมืองประมาณ 10 ลี้เศษ ในเมืองมีคลองน้ำเล็กเรือไปมาได้ นอกเมืองข้างฝ่ายทิศตะวันตกเฉียงหัวนอนหรือเฉียงใต้ ราษฎรอยู่หนาแน่น

ก๊กอ๋อง (พระเจ้าแผ่นดิน) อยู่ในเมืองข้างฝ่ายทิศตะวันตก ที่อยู่สร้างเป็นเมืองเลียบรอบกำแพงประมาณสามลี้เศษ เต้ย (พระที่นั่ง) เขียนภาพลายทอง หลังคาเต้ยมุงกระเบื้องทองเหลือง ซิด (ตำหนักและเรือน) มุงกระเบื้องตะกั่ว เกย เอาตะกั่วหุ้มอิฐ ลูกกรงเอาทองเหลืองหุ้มไม้ ก๊กอ๋องชุดเสงกิมจึงใช้เกีย (พระเจ้าแผ่นดินเสด็จตำบลใดก็ทรงราชยาน) บางครั้งก็ทรงช้างที่มีกูบสั่ว (พระกลดและร่ม) ที่กั้นทำด้วยผ้าแดง

ก๊กอ๋องหมวยต่างเตงเต้ย (พระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกนอกท้องพระโรงทุกเวลาเช้า) พวกขุนนางอยู่ที่พื้นปูพรม นั่งพับเข่าตามลำดับ แล้วยกมือขึ้นประณมถึงศีรษะ ถวายดอกไม้สดคนละหลายช่อ มีกิจก็เอาบุ๋นจือ (หนังสือ) อ่านขึ้นถวายด้วยเสียงอันดัง คอยก๊กอ๋องวินิจฉัยแล้วจึงกลับ

เสี้ยมหลอก๊กมีขุนนาง 9 ตำแหน่ง

(1) อกอาอ๎ว้าง (ออกญา) (2) อกบู้ล้า (ออกพระ) (3) อกหมัง (ออกเมือง) (4) อกควน (ออกขุน) (5) อกมุ้น (ออกหมื่น) (6) อกบุ่น (7) อกปั๋ง (ออกพัน) (8) อกล้ง (ออกหลวง) (9) อกคิว

การตั้งแต่งขุนนางให้เจ้าพนักงานไปเลือกเอาราษฎรในหมู่บ้าน มอบให้ต๋าคูสือๆ จึงให้ผู้ที่จะเป็นขุนนางนำหนังสือมาถวายอ๋องๆ ก็สอบไล่ตามวิธีที่เคย และสอบไล่ข้อปกครองราษฎรด้วย แม้ผู้ที่มาสอบไล่ตอบถูกต้อง อ๋องก็ตั้งให้เป็นขุนนางเข้ารับราชการตามตำแหน่ง ที่ตอบไม่ถูกต้องก็ไม่ได้เป็นขุนนาง วิธีสอบไล่นั้นสามปีครั้งหนึ่ง แต่หนังสือชาวเสี้ยมหลอก๊กเขียนไปทางข้าง ด้วยไม่ได้เล่าเรียนห่างยี่ (หนังสือจีน)

แต่ก๊กอ๋องนั้นหลีวฮวด (ไว้พระเกษายาว) ฮกเซก (เครื่องแต่งพระองค์) มงกุฎทำด้วยทองคำประดับป๊อเจียะ (เพ็ชรนิล จินดาที่เกิดจากหิน) รูปคล้ายต๋าวหมง (หมวกยอดแหลมสำหรับนายทหารใส่เมื่อเวลาออกรบศึก) เสี่ยงอี (ภูษาเฉียง) ยาวสามเชียะ (นับนิ้ว 1 ถึง 10 เรียกว่าเชียะ) ใช้แพรตึ้งห้าสี เหียอี (ภูษาทรง) ทำด้วยด้ายห้าสี เอ๋ย บ๋วย (ฉลองพระบาท ถุงพระบาท) ทำด้วยแพรตึ้งสีแดง

ขุนนางและราษฎรไว้ผมยาวเกล้ามวยใช้ปิ่นปักและใช้ผ้าขาวพันศีรษะ ขุนนางตำแหน่งที่ 1 ถึงที่ 4 ใช้หมวกทองคำประดับปอเจี๊ยะ (พลอย) ตำแหน่งที่ 5 ถึงที่ 9 ใช้หมวกทำด้วยแพรตึ้งและทําด้วยกำมะหยี่ นุ่งห่มใช้ผ้าสองผืน รองเท้าทำด้วยหนังโค ผู้หญิงใส่ก่วย (รัดเกล้า) ค่อนไปข้างหลัง เครื่องปักผมใช้เข็มเงินเข็มทอง หน้าผัดแป้ง นิ้วมือนั้นใส่แหวน รัดเกล้าและแหวนของคนจนทำด้วยทองเหลือง ผ้าห่มทำด้วยด้ายห้าสียกดอก ผ้านุ่งก็ทำด้วยด้ายห้าสีแต่เอาไหมทองยกดอก นุ่งผ้าสูงพ้นดิน 2-3 นิ้ว ใส่รองเท้าคีบทำด้วยหนังสีดำสีแดง

ฤดูปีเดือนในเสี้ยมหลอก๊กไม่เที่ยง พื้นแผ่นดินก็เปียกแฉะ ชาวชนต้องอยู่เรือนเป็นหอสูง (เรือนโบราณที่มีชั้นบนชั้นล่าง ชั้นบนจีนเรียกว่าหอ) หลังคามุงด้วยไม้หมากเอาหวายผูก ที่มุงด้วยกระเบื้องก็มี เครื่องใช้ไม่มีโต๊ะ เก้าอี้และม้านั่ง ใช้แต่พรม กับเสื่อหวายปูพื้น ประชาชนนับถือเซกก่า (พุทธศาสนา) ผู้ชายบวชเป็นเจง (พระภิกษุ) ผู้หญิงบวชเป็นหนี (นางชี) ไปอยู่ตามวัด ผู้ที่มียศศักดิ์และมั่งมีนั้น เคารพหุด (นับถือพระภิกษุที่สำเร็จ) มีเงินทองถึงร้อยก็ทำทานกึ่งหนึ่งด้วยไม่มีความเสียดาย

แม้ชาวชนถึงแก่ความตาย ก็เอาน้ำปรอทกรอกปากแล้วจึงเอาไปฝัง ศพคนจนเอาไปทิ้งไว้ที่ฝั่งทะเล ในทันใดก็มีกาหมู่หนึ่งมาจิกกิน บัดเดี๋ยวหนึ่งก็ศูนย์สิ้น ญาติพี่น้องของผู้ตายร้องไห้ เอากระดูกทิ้งลงในทะเล เรียกว่าเนี้ยวจึ่ง (ฝังศพกับนก) การซื้อขายใช้เบี้ยแทนตั้งจี๋ (กะแปะทองเหลือง) ปีใดไม่ใช้เบี้ยแล้วความไข้ก็เกิดชุกชุม

ขุนนางและราษฎรที่มีเงินจะใช้จ่ายแต่ลำพังนั้นไม่ได้ ต้องเอาเงินส่งไปเมืองหลวง ให้เจ้าพนักงานหลอมหล่อเป็นเมล็ด (คือเงินพดด้วง) เอาตราเหล็กที่มีอักษรอยู่ข้างบนแล้วจึงใช้จ่ายได้เงิน 100 ตำลึงต้องเสียค่าภาษีให้หลวง 6 สลึง ถ้าเงินที่ใช้จ่ายไม่มีอักษรตราก็จับผู้เจ้าของเงินลงโทษว่าทำเงินปลอม จับได้ครั้งแรกตัดนิ้วมือขวา ครั้ง 2 ตัดนิ้วมือซ้าย ครั้ง 3 โทษถึงตาย การใช้จ่ายเงินทองสุดแล้วแต่ผู้หญิง ด้วยผู้หญิงมีสติปัญญา ผู้ชายที่เป็นสามีก็ต้องเชื่อฟัง

ชาวชนเสี้ยมหลอก๊กมีชื่อไม่มีแซ่ ถ้าเป็นขุนนางเรียกว่า อกมั่ง (ออกนั้นๆ) ผู้ที่มั่งมีเรียกว่านายม้ง ยากจนเรียกว่า อ้ายม้ง ขนบธรรมเนียมของชาวชนนั้นแข็งกระด้าง การรบศึกสงครามชำนาญทางเรือ ไต้เจี่ยง (นายทหารใหญ่) ดาบและจี่เอาเซ่งทิ (เครื่องราง) พันกายสำหรับป้องกันหอก ดาบ และจี่ (ลูกธนู) เซ่งทินั้นกระดูกศีรษะผี ว่ายิงฟันแทงไม่เป็นอันตราย

สิ่งของที่มีในประเทศ อำพันทองที่หอม ไม้หอมสีทอง ไม้หอมสีเงิน เนื้อไม้ ไม้ฝาง ไม้แก่นดำ งาช้าง หอระดาน กระวาน พริกไทย ไต้ปึงจื่อ (ผลไม้) เฉียงหมุยโล่ว (น้ำลูกไม้กลั่น) ไซรเอี๋ยเซียม (แพรมาจากเมืองพุทเกด) แพรลายทอง สิ่งของที่กล่าวนี้เคยเอามาถวายเป็นเครื่องบรรณาการ

ทองคำและหินสีต่างๆ ที่มีในประเทศ ทองคำก้อน ทองคำทราย ป๊อเจียะ (พลอยหินต่างๆ) ตะกั่วแข็ง

สัตว์สี่เท้า สัตว์สองเท้า สัตว์มีเกล็ด ที่มีในประเทศ แรด ช้าง นกยูง นกแก้วห้าสี ลกจูกกู (เต่าหกเท้า)

ผลไม้และต้นไม้ที่มีในประเทศ ไม้ไผ่ใหญ่ ไม้ไผ่สีสุก ไม้ไผ่เลี้ยง ผลทับทิม แตง ฟัก

สิ่งของมีกลิ่นหอม กฤษณา ไม้หอม กานพลู หลอฮก (ละโว้เครื่องยา) แต่หลอฮกนั้นกลิ่นหอมคล้ายกฤษณา นามประเทศคงจะตั้งตามชื่อของสิ่งนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] หมายความว่า เมื่อสมัยไทยแรกตั้งกรุงสุโขทัยเป็นอิสสระขึ้นข้างฝ่ายเหนือ พวกเชื้อสายขอมยังปกครองกรุงละโว้อยู่ข้างฝ่ายใต้

[2] ชื่อเมืองที่ 3-8-9 ภาษาจีนเสียงห่างไกล ลงอธิบายตามกฎมนเฑียรบาล

[3] ตามเรืองพงศาวดาร ว่าก่อเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ


อ้างอิง :

พระเจนจีนอักษร (สุดใจ ตัณฑากาศ). ประเทศไทยในตำนานจีน, ที่ระลึกเนื่องเนื่องในงานถวายผ้าพระกฐินประทานของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ณ วัดโพธิทัตตาราม (สังกัดคณะสงฆ์จีนนิกาย) อําเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี วันที่อาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม 2560


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 พฤษภาคม 2563