ชันสูตรประวัติศาสตร์ ช่วง “ไข้ห่า” สมัยรัชกาลที่ 2 มีพระราชพิธีอาพาธพินาศ ได้ผลอย่างไร

เรือนแพที่พักอาศัยชาวสยามในกรุงเทพฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สมัยรัชกาลที่ 2 ภาพวาดโดย ดร. จอร์ช ฟินเลย์สัน (George Finlayson) นักธรรมชาติวิทยาที่เข้ามาสำรวจสยามและเวียดนามใน พ.ศ. 2364 และ 2365 (2 ปีหลังเหตุการณ์ไข้ห่าระบาดใหญ่ในกรุงเทพฯ) ปัจจุบันเก็บอยู่ที่ British Library, Oriental and India office Collections, NHD5.WD972. (ภาพจาก THAI ART & CULTURE : Historic Manuscripts form Western Collections by Henry Ginsburg, Silkworm Books, 2000)

ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ในขณะนี้นั้น ที่เมืองไทยจะพยายามบอกให้ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”, ใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า, รักษาระยะห่างในสังคม ฯลฯ และมีอีกหลายประเทศที่ใช้แนวทางป้องกันเช่นเดียวกันนี้ แต่ก็มีบางประเทศที่ไม่ได้ใช้แนวคิดดังกล่าว

เว็บไซต์บีบีซี รายงานว่า เซอร์แพทริก วัลแลนซ์ หัวหน้าที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลอังกฤษ เสนอให้มีการสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” ในกลุ่มประชากรของประเทศ โดยการปล่อยให้ประชากรส่วนใหญ่ซึ่งอาจคิดเป็นจำนวนมากถึง 60% ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันในหมู่ผู้ที่หายป่วยและรอดชีวิต ซึ่งช่วยปกป้องกลุ่มคนไม่มีภูมิคุ้มกันจากเชื้อร้ายได้โดยอัตโนมัติ ทั้งยังป้องกันการกลับมาระบาดซ้ำของโรคในภายหลังด้วย

เกี่ยวกับเรื่องของโรคระบาดนี้ เมื่อประมาณ 200 กว่าปีก่อน ในสมัยรัชกาลที่ 2 เมืองไทยเกิด “ไข้ห่า” ระบาด การแพทย์สมัยนั้นรักษาอย่างไรไม่ทราบ แต่ทางการมีนโยบายสร้างขวัญกำลังใจกับประชาชน ด้วย “พระราชพิธีอาพาธพินาศ” ส่วนผลสำเร็จเรื่องนี้เป็นอย่างไรนั้น

แม่น้ำเจ้าพระยา มองเห็นพระบรมมหาราชวังและเรือนแพที่พักชาวสยาม ภาพเขียนหลังเหตุการณ์ไข้ห่าระบาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ในหนังสือของครอว์เฟิร์ด (ภาพจาก Journal of An Embassy to the Courts of Siam And Cochin China by John Crawfurd. Oxford University Press, 1967)

รศ. พิเศษ นพ.เอกชัย โควาวิสารัช โรงพยาบาลราชวิถี เขียนอธิบายไว้ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม”  ฉบับเดือนพฤษภาคม 2563  ในบทความที่ชื่อว่า ชันสูตรประวัติศาสตร์ : ไข้ห่าระบาดใหญ่ในสยามสมัยรัชกาลที่ 2 ‘จริงหรือที่หายเพราะพระราชพิธีอาพาธพินาศ

ไข้ห่า หรือโรคอหิวาต์ ระบาดใหญ่ในเวลานั้น (ปี 2363) ถ้าเทียบความรุนแรงกับปัจจุบันก็ต้องบอกว่า “กินขาด” เพราะในระยะเวลาประมาณ 15 วัน ประชาชนประมาณ 20% ต้องเสียชีวิตจากอหิวาต์

จิตรกรรมเขียนบนแผ่นไม้คอสอง ศาลาการเปรียญ วัดท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ เขียนราวรัชกาลที่ 4 เป็นภาพศพลอยน้ำโดยมีทั้งอีกาและปลามากินซาก ซึ่งน่าจะเป็นภาพสะท้อนไข้ห่าระบาดใหญ่ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์

เส้นทางการระบาดของโรคเริ่มจากเกาะหมาก เมืองไทร เข้ามายังเมืองสงขลาประมาณวันที่ 15 มีนาคม 2363  แพร่กระจายต่อถึงกรุงเทพฯ ประมาณวันที่ 23-29 พฤษภาคม 2363 ทำให้พลเมืองสยามล้มตายไปมากมาย ทางการจัดให้มีพิธียิงปืนและสวดพระสูตร ในวันที่ 22 พฤษภาคม และพระสงฆ์ประน้ำโปรยทรายในวันที่ 24 พฤษภาคม

ส่วนพระราชพิธีอาพาธพินาศนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้ทำพระราชพิธีอาพาธพินาศขึ้นในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม พ.ศ. 2354-55 เป็นเวลา 12 เดือน  รายละเอียดของพระราชพิธีอาพาธพินาศมีปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ดังความตอนหนึ่งว่า

ภาพพระราชพิธีอาพาธพินาศ จิตรกรรมฝาผนังหนึ่งในจิตรกรรมพระราชพิธีสิบสองเดือนในพระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เขียนในสมัยรัชกาลที่ 5 (บน) ภายในกำแพงพระบรมมหาราชวังจะเห็นฝ่ายในทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ (ซ้าย) พระสงฆ์กำลังขึ้นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท นัยว่าคงเตรียมขึ้นสวดอาฏานาฏิยปริตร (ล่าง) ด้านนอกกำแพงพระบรมมหาราชวัง เจ้าพนักงานกำลังยิงปืนใหญ่รอบพระนคร

“…พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ความไข้ซึ่งบังเกิดทั่วไปแก่สมณชีพราหมณ์แลไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินครั้งนี้เพื่อกรรมของสัตว์ ใช่จะเป็นแต่กรุงเทพมหานครก็หาไม่ เมืองต่างประเทศแลเกาะหมากเมืองไทรก็เป็นเหมือนกัน ซึ่งจะรักษาพยาบาลแก้ไขด้วยคุณยาเห็นจะไม่หาย

จึงให้ตั้งพระราชพิธีอาฏานาฏิยสูตร เมื่อ ณ วันจันทร์ เดือนเจ็ด ขึ้นสิบค่ำ ยิงปืนใหญ่รอบพระนครคืนยังรุ่ง แล้วเชิญพระแก้วมรกตแลพระบรมธาตุทั้งพระราชาคณะออกแห่โปรยทรายประน้ำปริตทั้งทางบกทางเรือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงศีล ทั้งพระราชวงศานุวงศ์ที่มีกรมหากรมมิได้ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายหน้าฝ่ายใน ก็โปรดสั่งมิให้เฝ้า ให้งดกิจราชการเสียมิให้ว่ามิให้ทำ ให้ตั้งใจทำบุญสวดมนต์ให้ทาน

บรรดาไพร่ซึ่งนอนเวรประจำของรักษาพระราชวังชั้นในแลชั้นนอก ก็ให้เลิกปล่อยไปบ้านเรือน โดยทรงพระเมตตาว่า ประเพณีสัตว์ทั่วกัน ภัยมาถึงก็ย่อมรักชีวิต บิดามารดาภรรยาแลบุตรญาติพี่น้องก็เป็นที่รักเหมือนกัน จะได้ไปรักษาพยาบาล ที่ผู้ใดมีกตัญญูอยู่รักษาพระองค์มิได้ไปนั้น ก็พระราชทานเงินตราให้ความชอบ

แลให้จัดซื้อปลาแลสัตว์สี่เท้าสองเท้าที่มีผู้จะฆ่าซื้อขายในท้องตลาดในจังหวัดกรุงเทพมหานคร ทรงปล่อยสิ้นพระราชทรัพย์เป็นอันมาก คนโทษที่ต้องเวรจำอยู่นั้นก็ปล่อยสิ้น เว้นแต่พม่าข้าศึก บรรดาประชาราษฎร์ทั้งปวง มีรับสั่งห้าม มิให้ไปเที่ยวฆ่าสัตว์ตัดชีวิต สัตว์ในน้ำแลบนบก ให้อยู่บ้านเรือน

ต่อเมื่อมีการร้อนควรจะต้องไปจึงให้ไป เดชะอานิสงส์ศีลแลทาน บารมีแห่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาแก่อาณาประชาราษฎร์ให้ทำดังนี้ มาจนถึง ณ วันเสาร์ เดือนเจ็ด แรมเจ็ดค่ำ ความไข้ก็ระงับเสื่อมลงโดยเร็ว

บรรดาศพชายหญิงซึ่งหาญาติจะฝังจะเผามิได้นั้น พระราชทานเงินค่าจ้างแลฟืนให้พวกพม่าคนโทษเก็บเผาจนสิ้น แต่พระบรมญาติพระองค์เจ้าหญิงสองพระองค์สิ้นพระชนม์ พระราชวงศานุวงศ์แลข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายในที่เป็นผู้ใหญ่นั้นดีปรกติอยู่ ความไข้ทั้งนั้นผู้หญิงตายมากกว่าชายสองส่วน ได้ข่าวว่าไข้นั้นเดินขึ้นไปข้างบน

ฝ่ายทูตญวนเมื่อเวลาความไข้ชุกชุมนั้น ก็พระราชทานสิ่งของตอบแทนให้รีบกลับไป มีหนังสือเจ้าพระยาพระคลังบอกไปว่า ทูตที่จะให้ออกไปคำนับพระศพแลคำนับพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่นั้น ต่อความไข้สงบแล้วจึงจะออกไป...”

สรุปกิจกรรมหลักในพระราชพิธีอาพาธพินาศ ประกอบด้วย 1. ตั้งพระราชพิธีอาฏานาฏิยสูตร 2. ยิงปืนใหญ่รอบพระนครคืนยังรุ่ง 3. อัญเชิญพระแก้วมรกต พระบรมธาตุ และพระราชาคณะออกแห่และโปรยทรายประน้ำ 4. พระมหากษัตริย์ทรงศีล 5. ขุนนางตั้งใจทำบุญ สวดมนต์ ให้ทาน 6. ประชาราษฎร์ห้ามมิให้เที่ยวฆ่าสัตว์ ให้อยู่แต่ในบ้าน

เรียกว่าเป็นงานบุญที่ทุกคน ทุกสถาบัน มีส่วนร่วมด้วยกันทั้งสิ้น

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2  ยังบันทึกต่อไปว่า หลังพระราชพิธีอาฏานาฏิยสูตรแล้ว ชั่วเวลาเพียงแค่  13 วัน (วันจันทร์ เดือน 7 ขึ้น 10 ค่ำ – วันเสาร์ เดือน 7 แรม 7 ค่ำ)  ปรากฏว่า ความไข้ก็ระงับโดยเร็ว ซึ่งแสดงว่าพระราชพิธีอาพาธพินาศได้ผลดี

แต่รัชกาลที่ 5 กลับทรงเห็นว่าพระราชพิธีฯ นี้ไม่ได้ผล

ในพระราชนิพนธ์ “พระราชพิธีสิบสองเดือน” ของรัชกาลที่ 5 ตอนหนึ่งกล่าวว่า

“การพระราชพิธีจึงไม่ได้มีประโยชน์อันใด…คนที่เข้ากระบวนแห่และหามพระพุทธรูป และพระสงฆ์เดินไปกลางทางก็ล้มลงขาดใจตาย ที่มาถึงบ้านแล้วจึ่งตายก็มีมาก และตั้งแต่ตั้งพิธีแล้วโรคนั้นก็ยิ่งกำเริบร้ายแรงหนักขึ้น ด้วยอากาศยิ่งร้อนจัด หนักขึ้นตามธรรมดาฤดู คนทั้งปวงก็พากันลงว่าเพราะการพิธีนั้นสู้ผีไม่ได้ ผีมีกำลังมากกว่า…”

คราวนี้ก็ถึงการชันสูตร เริ่มจากแยกแยะ “สิ่งที่เหมือน-สิ่งที่ต่าง” จากหลักฐานเสียก่อน

สิ่งที่เหมือนกันระหว่างพระราชพิธีสิบสองเดือนและพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 คือ การระบาดอย่างรุนแรงของโรคอหิวาต์

สิ่งที่ต่างกันคือ พระราชพิธีสิบสองเดือนบอกว่า พระราชพิธีอาพาธพินาศไม่ได้ผล แต่พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 2 บอกว่า ภายใน 13 วันโรคระบาดนี้ดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อเขียนของครอว์เฟิร์ด (ทูตชาวอังกฤษในสมัยนั้น) ที่ว่า โรคระบาดนี้เกิดขึ้นประมาณ 15 วัน แต่ในพระราชพิธีสิบสองเดือนไม่ได้เขียนไว้ว่าโรคระบาดนี้เกิดขึ้นนานเพียงใด

ส่วนหลักฐานอื่น, พยานแวดล้อม, วิธีการชันสูตร, ข้อสรุปของนายแพทย์เอกชัยเป็นอย่างไร ขอได้โปรดติดตามใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนพฤษภาคมนี้