ปัญหา “สุขภาพจิต” เบื้องหลังบุคลิกภาพของพระวิไชยเยนทร์ คืออะไร?

ออกญาวิไชเยนทร์ ภาพเขียน
ออกญาวิไชเยนทร์ (บ้างเรียกพระยาวิไชยเยนทร์) หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน

พระยาวิไชยเยนทร์ หรือฟอลคอน ชาวต่างชาติที่กินตำแหน่งเสนาบดีใหญ่ในราชสำนัก สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่เรารู้จักจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ หรือจากภาพยนตร์ก็ดี หากเบื้องหลังบุคลิกภาพที่แสดงออกมานั้น มีเหตุผลทาง “จิตวิทยา” รองรับและอธิบายได้

ผู้ที่อธิบายได้ก็คือนักวิชาการทางจิตวิทยาที่ใช้นามปากกาว่า ส.สีมา เขียนถึงพฤติกรรมของพระยาวิไชยเยนทร์ไว้ในบทความ “บุคลิกภาพสองซ้อน และโรคเศร้าของพระยาวิไชยเยนทร์” โดยใช้ข้อมูลอ้างอิงจากนักวิชาการ 2 ท่าน ที่กล่าวหาว่าพระยาวิไชยเยนทร์มีปัญหาพฤติกรรมทางสุขภาพจิตรุนแรง

หนึ่งคือ ฮัตชินสัน (E.W.Hutchinson) ในหนังสือ Adventures in Siam in the Seventeenth Century หนึ่งคือศาสตราจารย์ขจร สุขพาณิช ในหนังสือ ออกญาวิไชยเยนทร์ (องค์การค้าคุรุสภาจัดพิมพ์)

มุมมองที่ทั้งสองเสนอเกี่ยวกับปัญหาของพระยาวิไชยเยนทร์คือ

ฮัตชินสัน เสนอว่า พระยาวิไชยเยนทร์ มีพฤติกรรมหรืออารมณ์แบบเมแลงคอลลี (Melancholy) ที่ปัจจุบันเรียกว่า “โรคอารมณ์เศร้า” ซึ่งเป็นโรคที่รู้จักกันมาแต่โบราณ ฮิปโปเครติส แพทย์ชาวกรีกอธิบายสาเหตุของโรคว่ามาจาก น้ำดีดำ (Black Bile) ไม่ปกติ จึงเรียกว่า Melancholia หมายถึงความซีดจาง ดำสกปรก หรือไม่สดใส ซึ่งส่วนใหญ่จะปรากฏในระหว่างวัยผู้ใหญ่-ผู้สูงวัย

นักวิชาการมีความเห็นว่า “คนอารมณ์เศร้ามักจะถูกระตุ้นย้ำเตือนชีวิตที่ผิดพลาดที่ผ่านมาเนื่อง ๆ ประกอบกับความทรุดเสื่อมของร่างกายที่เคยโหมใช้งานอย่างหนักมาก่อน ไม่มีเวลาหยุดพักอย่างเพียงพอ พระยาวิไชยเยนทร์ถือว่าตนเป็นคนบ้านเดียวกันกับโอดิสซีอุส เจ้าเมืองอิทากะ ในเทพนิยายกรีก ผู้ปราดเปรื่องและเก่งทุกเรื่อง เขาเองจะต้องมีความสามารถเช่นนั้นด้วย

กรณีของพระยาวิไชยเยนทร์ [ร่างกาย] น่าจะทรุดเสื่อมก่อนวัย อารมณ์สะวิงกลับไปข้างร่าเริงเร่าร้อนแทนอารมณ์สองขั้วที่แตกต่างจะหมุนเวียนเปลี่ยนกลับไปกลับมาเป็น folie maniac-melancolique หรือ folie circulaire คืออารมณ์สุขหมุนเวียนเปลี่ยนเป็นอารมณ์เศร้า เป็นวงเวียนที่ดิ้นรนหลุดออกไปได้ยาก”

แน่นอนว่าพระยาวิไชยเยนทร์คงพยายาม “เก็บอาการ” ของเขาอย่างมิดชิด

วิธีการหนึ่งที่พระยาวิไชยเยนทร์เลือกใช้ คือ “การสวดมนต์” เมื่อเปลี่ยนมาเป็นคาทอลิก ทุกเช้าพระยาวิไชยเยนทร์ไปโรงสวดใกล้บ้าน เพื่อสวดมนต์ประมาณหนึ่งชั่วโมงอย่างสม่ำเสมอ นับเป็นวิธีการเจริญสติ, ผ่อนคลายความเครียด และเยียวยาอารมณ์ที่เร่าร้อนให้สงบเย็น โดยเฉพาะช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่มีข่าวลือเกี่ยวกับการปฏิวัติรัฐประหารหนาหู ย่อมทำให้พระยาวิไชยเยนทร์อารมณ์เร่าร้อนฟุ้งซ่านยิ่งขึ้น จนหลงกลและเสียที่ฝ่ายตรงข้าม

ส่วนศาสตราจารย์ขจร สุขพาณิช เสนอว่า พระยาวิไชยเยนทร์มี “บุคลิกภาพสองซ้อน” ซึ่งจริงบุคลิกภาพอาจจะแตกแยกออกไปเป็นสอง เป็นสาม หรือมากกว่านั้นได้ การแตกบุคลิกภาพมากกว่าสองมักพบในผู้ป่วยในโรงพยาบาลจิตเวช หรือพวกคนทรง ทางจิตวิทยาคลินิกจึงเรียกว่า Multiple Personality

บุคลิกภาพที่แตกออกไปจะเป็นอิสระจากบุคลิกภาพเดิม (คนเดิม) ซึ่งบุคคลนั้นจะไม่รับรู้บุคลิกภาพใหม่ที่เกิดขึ้นนั้น เช่น คนทรง ที่เอะอะทำร้ายตัวเอง เมื่อเลิกกิจกรรมนั้น ก็จะไม่รู้เลยว่าก่อนหน้าตนทำอะไรไปบ้าง

กรณีของพระยาวิไชยเยนทร์ ที่เดินเข้าสู่หลักประหารที่วัดซาก ได้อย่างไม่สะทกสะท้าน เพราะขณะนั้น พระยาวิไชยเยนทร์ได้แตกบุคลิกภาพ (Dissociated) จากตัวเอง เป็นคนอื่นหรือบุคลิกภาพอื่นที่ไม่กลัวตาย

ส.สีมา อธิบายว่า “บุคลิกภาพของคนเราจะแตกเป็นสองหรือมากกว่า เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่มีความเครียดจัดมาก (hi-stress) จิตใจจะถูกกดดันอย่างมากอารมณ์ขัดแย้งอย่างสุดเหวี่ยงและมีความรู้สึกคับข้องใจอย่างหนัก จนสุดที่จะทนทานได้”

พระยาวิไชยเยนทร์เมื่อรู้ว่ากองทัพฝรั่งเศสจากป้อมบางกอกไม่ขึ้นมาลพบุรี แผนการยึดอำนาจของตนล้มเหลว ความฝันที่ตั้งไว้พังทลาย จึงเกิดความเครียดอย่างสูง ช่วงเวลาเขาถูกจับ ถูกทรมาน และการเดินทางไปสู่หลักประหาร เป็นเวลาที่มากพอที่จะทำให้บุคลิกภาพแตกแบ่งออกไปได้


ข้อมูลจาก

ส.สีมา. “บุคลิกภาพสองซ้อน และโรคเศร้าของพระยาวิไชยเยนทร์” ใน, ศิลปวัฒนธรรม มีนาคม 2556


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 28 เมษายน 2563