เผยแพร่ |
---|
รายงานของ news.com.au สำนักข่าวออนไลน์จากออสเตรเลียเผยว่า ระหว่างการขุดสำรวจทางโบราณคดีที่เขตเชิงหยาง (Chengyang) ใกล้กับเมืองซินหยาง (Xinyang) มณฑลเหอหนานตอนกลางของประเทศจีน เมื่อ 12 ธันวาคม 2559 ได้มีการค้นพบซากภาชนะโบราณซึ่งภายในยังพบซากอาหารที่คาดว่าน่าจะเป็น “เกาหลาเนื้อ” เนื่องจากมีการพบกระดูกวัว และวัตถุดิบอื่นๆ
ขณะนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบโบราณวัตถุทั้งหมดที่เพิ่งค้นพบในครั้งนี้ และแม้ว่าจะยังไม่ได้ระบุอายุของมันเป็นที่แน่ชัด แต่การที่มันถูกพบในสุสานซึ่งอยู่ในยุคของรัฐโบราณแห่งแคว้นฉู่ซึ่งตั้งอยู่ในช่วง 700-200 ปี ก่อนคริสตกาล ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่ โบราณวัตถุรวมถึงซากเกาเหลาดังกล่าวจะมีอายุอย่างน้อยราว 2,000 ปี
ทั้งนี้ สำนักข่าวจากออสเตรเลียระบุว่า ข้อมูลทั้งหมดมาจากสถาบันด้านโบราณคดีประจำภูมิภาคของจีน ซึ่งได้เผยแพร่ภาพของเกาเหลาหน้าตาประหลาด (ในสายตาสื่อออสซี่) ผ่านทาง Weibo โซเชียลยอดนิยมของจีน
*หมายเหตุ เนื้อข่าวต้นทางที่เป็นภาษาอังกฤษใช้คำว่า “meat soup” ซึ่งคำว่า soup เป็นภาษาอังกฤษหมายถึงอาหารที่อยู่ในรูปของเหลว คาดว่าจะมีรากศัพท์จากภาษาฝรั่งเศสว่า soupe หรือละตินที่เรียกว่า suppa การแปลเป็นภาษาไทยจะใช้ทับศัพท์ว่า “ซุปเนื้อ” แทนก็สามารถทำได้ แต่การใช้คำว่า “เกาเหลาเนื้อ” ที่เป็นคำเรียก “อาหารจีน” ที่อยู่ในรูปของเหลวเช่นกัน [พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ฉบับของ เปลื้อง ณ นคร แปลว่า “แกงจีนเป็นลักษณะที่เรียกว่า แกงจืด”] น่าจะมีความเหมาะสมกับบริบทมากกว่า
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ:16 ธันวาคม 2559