ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2560 |
---|---|
ผู้เขียน | กำพล จำปาพันธ์ |
เผยแพร่ |
บทนำ
ในยุคการค้าทางทะเลช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 19 (พุทธศตวรรษที่ 24) สิ่งที่เติบโตในขอบเขตสากลคู่ขนานและตรงข้ามไปกับพ่อค้า ก็คือ “โจรสลัด” (Pirate) มีทั้งโจรดีมีอุดมการณ์ที่ปล้นคนรวยช่วยคนจน โจรกบฏต่อต้านอำนาจรัฐส่วนกลาง โจรผู้ร้ายที่ก่ออาชญากรรมเพื่อความมั่งคั่งส่วนตัว “การกระทำอันเป็นโจรสลัด” (Piracy) นั้นถือเป็นข้อหาร้ายแรงสำหรับยุคที่ผู้คนยังเดินทางไกลกันด้วยเรือเดินสมุทร
และด้วยเหตุที่มีข้อจำกัดประสิทธิภาพของเรือในยุคก่อนหน้าการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยมากมักต้องแล่นเลียบชายฝั่งไปในระยะที่มั่นใจได้ว่า หากคลื่นลมแรงหรือพลัดไปชนหินโสโครกจนเรือแตกลง จะได้มีผู้รอดชีวิต โดยปกติก็จะกำหนดไว้ที่ระยะราว 2 กิโลเมตรจากชายฝั่ง เมื่อถึงสถานที่อันเป็นบริเวณสำคัญ (Landmark) ก็อาจแวะจอดพักเทียบท่า หาเสบียงอาหารและความสุขสำราญ
นับแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 (พุทธศตวรรษที่ 22) ที่ราชวงศ์บ้านพลูหลวงของอยุธยา ได้หันมาเน้นการค้าทางฝั่งตะวันออก ที่มีจีน ญี่ปุ่น ริวกิว และเกาหลี เป็นคู่ค้าสำคัญ ก็ทำให้บ้านเมืองในแถบชายฝั่งทะเลตะวันออกบังเกิดความเจริญรุ่งเรืองตามมา เพราะมีจุดที่เรือสำเภาที่แล่นผ่านไปมาสามารถแวะพักได้
ประกอบกับเป็นหัวเมืองห่างไกลที่ไม่ค่อยถูกควบคุมจากอยุธยามากนัก เป็นเหตุให้บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกมักเป็นที่ตั้งของชุมชนที่เกิดขึ้นเองโดยไม่ผ่านการจัดตั้งจากรัฐส่วนกลาง ผู้คนมากหน้าหลายตาหลายชาติพันธุ์มาพบปะ และรวมตัวกันในพื้นที่ในรูปแบบที่เรียกว่า “ซ่อง” หรือ “ส้อง” คำภาษาจีนที่กลายมาเป็นคำนิยามแพร่หลายในท้องถิ่น อธิบายถึงการรวมตัวกันของกลุ่มที่มีแนวคิดและเป้าหมายเดียวกัน[1]
ในสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310 พระเจ้าตากกับพวกได้ฝ่าวงล้อมของพม่า2 เดินทัพมายังดินแดนเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก เพื่อรวบรวมผู้คน เสบียงอาหาร ยุทโธปกรณ์ ตลอดจนทุนทรัพย์และงบประมาณ ก่อนกลับมากู้กรุงศรีอยุธยาจากพม่า ตลอดระยะเวลาที่เดินทัพออกจากอยุธยามา พระเจ้าตากรบกับพม่าเพียง 3 ครั้ง คือ ที่บ้านโพสาวหาญ (อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) ที่บ้านพรานนก (อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) และพม่าที่ยกมาจากปากน้ำเจ้าโล้บริเวณท่ากระดาน ใกล้สำนักหนองน้ำ (บริเวณบ่อนางสิบสอง ตั้งอยู่บ้านหินดาษ ตำบลดงน้อย อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา ในปัจจุบัน)
ที่เหลือนอกนั้น การรบอีก 7 ครั้ง เป็นการรบกับผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ตั้งแต่ขุนหมื่นทนายที่บ้านดง (แขวงนครนายก) นายกล่ำหรือนายกลมที่บ้านนาเกลือ หลวงพลแสนหาญ ขุนจ่าเมือง ที่มาปล้นค่ายที่วัดลุ่ม (วัดลุ่มมหาชัยชุมพล อำเภอเมืองฯ จังหวัดระยอง) นายทองอยู่นกเล็กที่บางปลาสร้อย (ชลบุรี) ขุนรามหมื่นซ่องที่บ้านประแส พระยาจันทบุรี จีนเจียมนายสำเภาที่ทุ่งใหญ่ (ตราด) เป็นต้น
โดยเหตุที่พระเจ้าตากเมื่ออกจากค่ายวัดพิชัยที่อยุธยามานั้น อยุธยายังมิได้เสียแก่พม่า ต่อเมื่อมาถึงระยองแล้ว ซึ่งใช้เวลากว่า 17 วัน อยุธยาถึงได้เสียแก่พม่า จึงมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เหล่าขุนหมื่นทนายบ้านตลอดจนผู้มีชื่อในท้องถิ่นที่รบกับพระเจ้าตากนั้น อาจเป็นผู้ที่ยังจงรักภักดีต่อราชวงศ์บ้านพลูหลวง และสถานภาพของพระเจ้าตากกับพวกเวลานั้นคือ กบฏที่หนีหน้าที่ปกป้องกรุงศรีอยุธยามา บ้างก็ว่าเป็นพวกที่ยอมเข้ากับพม่า ตั้งตัวเป็นปรปักษ์ต่ออยุธยาและพระเจ้าตาก
แต่มีข้อมูลหลายอย่างน่าเชื่อว่าคนเหล่านี้มิได้เป็นฝ่ายที่ยังจงรักภักดีต่อราชสำนักอยุธยา หลายคนมิใช่ขุนนางที่ได้รับการแต่งตั้งจากอยุธยาเลยด้วยซ้ำ อีกทั้งยังไม่ใช่พวกยอมอ่อนน้อมต่อพม่าเช่นกัน (ยกเว้นกรณี “หลวงบางละมุง” ที่มีข้อมูลชัดว่า ยอมอ่อนน้อมต่อพม่า แต่ก็ได้เปลี่ยนข้างมาสนับสนุนพระเจ้าตาก) และพระเจ้าตากเอง (จากที่จะได้เห็นในเวลาต่อมา) ก็มาหัวเมืองตะวันออกเพื่อรวบรวมกำลังกลับไปกู้กรุงจริงๆ การณ์จึงเป็นตรงกันข้าม และมีปมปริศนาที่ชวนสงสัยในประเด็นที่ว่า กลุ่มต่อต้านพระเจ้าตากในหัวเมืองตะวันออกเหล่านี้ เป็นใคร มาจากไหน ถ้าไม่ใช่กลุ่มคนที่มีอาชีพทางการ “ปล้นสะดมทางทะเล” (Piracy) หรือ “โจรสลัด” (Pirate) ที่เกิดขึ้นทั่วไปตามแนวชายฝั่งทะเลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คริสต์ศตวรรษที่ 18 (พุทธศตวรรษที่ 23)
โจรสลัดกับโลกยุคการค้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
งานศึกษาของ โรเบิร์ต เจ. แอนโทนี (Robert J. Antony) ได้ชี้ให้เห็นว่า คำว่า “โจรสลัด” (Pirate) และ “การกระทำอันเป็นโจรสลัด” (Piracy) เป็นคำศัพท์ในมโนทัศน์ของชาวยุโรปในยุคล่าอาณานิคมปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19[3] (พุทธศตวรรษที่ 24) ก่อนหน้านั้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีคำพื้นเมืองอื่นๆ สำหรับใช้นิยามเรียกกลุ่มคนที่ทำงานปล้นเรือสินค้า ตลอดจนการลักขโมยทรัพย์สิ่งของ สัตว์เลี้ยง (เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ฯลฯ) ที่มาในขบวนพ่อค้า
คนเหล่านี้มักได้รับการนับหน้าถือตาในสังคม ไม่ได้เป็นผู้ร้ายในสายตาชาวพื้นเมือง เพราะวัฒนธรรมของย่านนี้ที่มักถือเอาความสามารถในการใช้กำลังความรุนแรงเป็นที่มาของอำนาจบารมี
ตัวอย่างอันรุ่งโรจน์ของวีรบุรุษโจรสลัด ได้แก่ “เจิ้งเฉิงกง” อดีตแม่ทัพราชวงศ์หมิง ผู้ต่อต้านราชวงศ์ชิง ยึดป้อมเมืองที่เกาะฟอร์โมซา (ไต้หวัน) ไปจากฮอลันดา ตั้งเป็นศูนย์กลางบัญชาการปล้นสะดมอยู่ตามชายฝั่งทะเลเอเชียตะวันออก หรือกลุ่มสมาพันธ์โจรสลัดกวางตุ้ง ภายใต้การนำของเจิ้งอี้ซาว ภรรยาหม้ายของเจิ้งอี้ ผู้ก่อตั้งสมาพันธ์ กับจางเป๋า เด็กหนุ่มผู้ทะเยอทะยาน และเป็นทั้งบุตรบุญธรรมของเจิ้งอี้และสามีลับๆ ของเจิ้งอี้ซาว
ทั้งสองคุมกองเรือใหญ่ถึง 6 กอง มีพลพรรคโจรสลัดอยู่ในสังกัดกว่า 40,000-60,000 คน ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ตั้งแต่ยุคเจิ้งอี้จนถึงเจิ้งอี้ซาวและจางเป๋า ถือเป็นยุครุ่งเรืองของโจรสลัดจีนและญี่ปุ่น ในขณะที่โจรสลัดตามชายฝั่งอื่นๆ เริ่มถูกปราบปรามโดยนาวิกโยธินของอังกฤษ ฮอลันดา และชาติพันธมิตร ซึ่งต้องการจัดระเบียบน่านน้ำให้เป็นเขตปลอดภัยแก่พ่อค้าและนักเดินทาง[4]
โจรสลัดที่พัฒนามาจาก “นักเลงท้องถิ่น” เหล่านี้ บ่อยครั้งเป็นกลุ่มที่ได้รับการอุปถัมภ์เลี้ยงดูปูเสื่อโดยชนชั้นนำ หลายคนได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษผู้มีความกล้าหาญและเสียสละ “การปล้นสะดม” ถือเป็นวิถีชีวิตอันแนบสนิทกับสงคราม การมีข้าทาสบริวาร และการค้า มันคือช่องทางหนึ่งในการเพิ่มอำนาจบารมีของเหล่านักรบและชนชั้นนำท้องถิ่น
นอกจากนี้การปล้นเรือยังทำให้คนในชุมชนมีโอกาสทำงานนอกเขตการปกครองของส่วนกลาง และทำการค้านอกแบบแผนของการค้าทั่วไป เป็นหนทางหนึ่งของไพร่สามัญชนและกบฏสังคมในการหลุดพ้นจากระบบเจ้าขุนมูลนาย ดำรงชีพอย่างอิสระ และสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจไปพร้อมกัน
ในขอบเขตโลกสากลของคริสต์ศตวรรษที่ 18 (พุทธศตวรรษที่ 23) อันถือเป็นยุครุ่งเรืองที่สุดของการโจรกรรมทางทะเล กล่าวได้ว่า “โจรสลัด” ก็คือพ่อค้าประเภทหนึ่ง ซึ่งหาสินค้าโดยวิธีการปล้น ไม่ได้ผลิตหรือการแลกเปลี่ยนมาโดยปกติ จนมีผู้กล่าวว่าในโลกการค้าของช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-18 นั้น “พ่อค้า” กับ “โจรสลัด” อาจอยู่ในตัวคนๆ เดียวกัน กล่าวคือ เมื่ออยู่บนฝั่งบนผืนแผ่นดิน เป็นพ่อค้า แต่เมื่อลอยเรืออยู่ในท้องทะเล พ่อค้าคนนั้นก็พร้อมจะปล้นยึดสินค้าจากเรือที่พบ เป็นหนทางเพิ่มพูนสินค้าและอัตรากำไร โดยมีความเสี่ยงอยู่ที่อันตรายจากการต่อสู้ที่อาจพิการหรือเสียชีวิต
แต่คนเหล่านี้ก็พร้อมเสี่ยงแบบไม่คิดชีวิตอย่างนั้นอยู่แล้ว อีกทั้งโลกการค้าก่อนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 (พุทธศตวรรษที่ 24) ยังมี “ตลาด” อยู่หลายแห่งทั้งในท้องถิ่นและดินแดนห่างไกลจากชุมชน ที่สามารถรับซื้อสินค้าโดยไม่สนใจที่มาของสินค้าเหล่านั้น ซึ่งจัดว่าได้กำไรงาม “โจรสลัด” จึงเป็นส่วนหนึ่งของโลกการค้าทางทะเลในชายฝั่งทะเลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จากบันทึกของพ่อค้าและนักเดินเรือ ก็จะพบว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยโจรสลัด มีทั้งโจรสลัดที่เป็นชาวจีน ชาวญี่ปุ่นที่เป็นโรนิน (ซามูไรไร้นาย) ชาวเวียดนาม เขมร มลายู ชวา เผ่าดายัคและซูลู หรืออย่างพ่อค้าและนักผจญภัยชาวยุโรป เช่น โปรตุเกส และสเปน ก็มีข้อมูลว่าประพฤติเป็นโจรสลัดในบางครั้ง เมื่อพบเรือศัตรูคู่แข่งขันหรือเรือชาติอื่นๆ เมื่อมีโอกาสเหมาะ เพราะในน่านน้ำห่างไกลเป็นเขตปลอดอำนาจรัฐและกฎหมายบ้านเมือง[5]
เรื่องราวของการกระทำอันมีลักษณะที่สามารถเทียบเคียงได้กับ “การกระทำอันเป็นโจรสลัด” ในประวัติศาสตร์อยุธยา มักพบว่าเป็นการกระทำที่เกี่ยวข้องกับขุนนางและแวดวงชนชั้นสูง เพราะขุนนางและชนชั้นสูงเท่านั้นที่จะสามารถคุมกำลังคนได้ในภาวะปกติ เช่น กรณีออกญาพิชิต (อับดุลรัซซัค) ขุนนางอยุธยาเชื้อสายเปอร์เซียในราชสำนักพระนารายณ์ ที่ปล้นสะดมเรือสินค้าของชาติคู่แข่ง อย่างเช่นฮอลันดา เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงทราบและไต่สวนได้ความเป็นสัตย์ ก็ให้ลงพระราชอาญาประหารชีวิต[6] เนื่องจากไม่ต้องการที่จะให้เกิดข้อครหาว่าทรงเลี้ยงโจรไว้ในความปกครอง อันจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ เพราะพระองค์ก็ทรงทำการค้า มีการส่งเรือสำเภาออกไปค้าขายต่างแดนเป็นประจำทุกปี[7]
หรืออย่างกรณีเหตุการณ์ก่อนเกิดสงครามเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310 มีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างอยุธยากับอังวะที่เมืองท่ามะริด เมื่อฝ่ายอยุธยาได้นำกำลังเข้ายึดเรือสินค้าของพม่า โดยอ้างว่าพม่าได้ทำผิดสัญญาการค้า โดยที่ราชสำนักพระเจ้าเอกทัศน์ก็ไม่ได้มีการไต่สวน เรื่องนี้ส่งผลทำให้พระเจ้าอลองพญาทรงพระพิโรธมาก เพราะถือว่าอยุธยามิได้ให้เกียรติพระองค์ ซึ่งเพิ่งก่อตั้งราชวงศ์คองบองและกอบกู้อาณาจักรพม่าขึ้นมาใหม่ จึงประกาศสงครามกับอยุธยา นอกเหนือจากที่มีปณิธานที่จะเป็นจักรพรรดิราชแผ่บารมีเหมือนอย่างพระเจ้าบุเรงนอง เมื่อพระเจ้าอลองพญาสวรรคต พระเจ้ามังระ พระราชโอรสของพระองค์ก็ได้สืบสานปณิธานทำสงครามกับอยุธยาต่อมาจนชนะใน พ.ศ. 2310[8]
พ.ศ. 2310 ในระหว่างที่พม่ากำลังกระชับวงล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้น เจ้าศรีสังข์ พระโอรสของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (กุ้ง) ก็ได้เสด็จหลบหนีไปเขมร และอาศัยอยู่กับชุมชนคนเข้ารีต (นับถือคริสต์) ที่หลบหนีมาก่อนหน้า เจ้าศรีสังข์ปรารถนาจะเดินทางต่อไปยุโรป แต่ได้รับคำเตือนจากบาทหลวงฝรั่งเศสท่านหนึ่งว่า
“หนทางที่จะเสด็จนั้นใกล้จริงแต่น่ากลัวอันตรายมาก เพราะมีพวกโจรสลัดทั้งญวนและแขกมลายู ได้ไล่จับเรือเจ้าศรีสังข์ คลื่นก็ใหญ่มาก”[9]
เรื่องราวที่ปรากฏในพงศาวดารญวน[10] กล่าวถึงการยึดเรือหรือปล้นสินค้าของสยามสมัยธนบุรี โดยกลุ่มสลัดชาวเวียดนาม พระเจ้าตากสินในขณะนั้นยังเพิ่งตั้งตัวตั้งกรุงธนบุรีขึ้นใหม่ ไม่ต้องการพิพาทกับเวียดนาม จึงใช้วิธีทางการทูตเจรจาขอคืนสินค้า ให้ทางการเวียดนามช่วยติดตามสินค้ากลับคืนมาให้แก่ชาวสยาม แต่ก็ไม่เป็นผล เนื่องจากทางการเวียดนามเองก็ประสบปัญหาการติดตามสินค้าจากการโจรกรรมทางทะเลอยู่เช่นกัน
แต่โดยมากแล้ว เรื่องราวของโจรสลัดและการกระทำอันเป็นโจรสลัด มักไม่พบในเอกสารทางการอย่างพระราชพงศาวดาร เพราะเป็นเรื่องที่เกิดตามแนวชายฝั่งทะเล ห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจในกรณีของสยามอยุธยา แต่พบร่องรอยอยู่บ้างในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าตาก เพราะทรงเดินทัพจากอยุธยามายังเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก ก่อนกลับมากู้กรุงศรีอยุธยาและสถาปนากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ใน พ.ศ. 2310
การตามรอยพระเจ้าตากจึงทำให้ได้พบเรื่องราวของอีกกลุ่มคนซึ่งไม่ปรากฏในพระราชพงศาวดารยุคของกษัตริย์พระองค์อื่นเท่าใดนัก จากนิยามข้างต้น ร่องรอยหนึ่งที่เราจะพบจากบันทึกหลักฐานไทยและเอกสารต่างชาติแวดล้อม จะพบคำศัพท์อันมีความหมายที่สามารถเทียบเคียงได้กับ “โจรสลัด” ก็คือ “นายซ่อง” หรือที่เรียกรวมกันว่า “นายโจรนายซ่อง” และคำว่า “ปล้นสะดม” หรือ “ยึดเรือ” ก็มีความหมายเทียบเท่ากับ “การกระทำอันเป็นโจรสลัด” นั่นเอง
นอกจากนี้ภาษาจีนยังมีคำว่า “พวกแคระนอกกฎหมาย” หรือ “วอเกา” (Wokou) หรือ “วาโกะ” (Wako) สำหรับเรียกโจรสลัดญี่ปุ่นอย่างดูถูกเหยียดหยาม แต่ต่อมาได้กลายเป็นคำนิยามเรียกการกระทำอันเป็นโจรสลัดทั่วไป ไม่เว้นทั้งชาวจีน ชาวยุโรป ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เนื่องจากความหลากหลายของวิถีโจรสลัด บางกลุ่มมีอุดมการณ์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ทางการจีนจึงจำแนกกลุ่มโจรสลัดที่ต่อต้านราชวงศ์ชิงว่า “ไฮ้นี่” (Haini) หมายถึง “กบฏทะเล” หรือกบฏที่อยู่ตามชายฝั่งและท้องทะเล ส่วนพวกที่เป็นโจรผู้ร้ายปล้นเพื่อความมั่งคั่ง ไม่ได้คิดสะสมทุนไปก่อกบฏต่อต้านราชวงศ์ ก็นิยามเรียกว่า “อี้เฟย” (Eifei) หรือโจรสลัดป่าเถื่อน/อนารยชน หรือเรียกตรงว่า “หยางเต้า” (โจรทะเล)[11] อันเป็นวิธีการจำแนกแยกแยะประเภทของโจรผู้ร้ายที่ก่อการอยู่ตามแนวชายฝั่งทะเลของราชสำนักต้าชิง
กลุ่มไฮ้นี่มักได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษ ต้าชิงจัดการโดยละมุนม่อม ใช้การเจรจาและแยกสลายมวลชนหรือประชาชนที่ให้การสนับสนุน ส่วนพวกอี้เฟยหรือหยางเต้า ถือเป็นพวกชั้นต่ำที่ไม่จำเป็นต้องเจรจาประนีประนอมใดๆ ซึ่งเราจะพบต่อไปว่า พระเจ้าตากก็ใช้การจัดจำแนกประเภทตลอดจนวิธีการข้างต้นในการจัดการกับกลุ่มโจรสลัดในชายฝั่งทะเลตะวันออก คือกลุ่มนายทองอยู่นกเล็กที่บางปลาสร้อย และกลุ่มขุนรามหมื่นซ่องที่ชุมชนปากน้ำบ้านประแส เป็นต้น
ระบอบนายซ่องในเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก
ดินแดนชายฝั่งทะเลตะวันออก อันเต็มไปด้วยทรัพยากรมีค่า ตั้งแต่ดีบุก พลอย มุกดา ไพลิน ทับทิม บุษราคัม ครั่ง พริกไทย เร่ว กระวาน กานพลู ไม้ฝาง ของทะเล และของป่านานาชนิด เป็นสินค้าที่ต้องการกันในตลาดการค้าของช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 19 (พุทธศตวรรษที่ 24) อีกทั้งยังเป็นอาณาบริเวณที่อยู่ระหว่างทางเดินเรือไปค้าขายและส่งเครื่องราชบรรณาการแก่จีน ประกอบกับสภาพภูมิประเทศที่มีทั้งเขตชายหาด ชายฝั่งหินโสโครก ป่าชายเลน เกาะแก่ง และภูเขาใกล้ทะเลเป็นแนวทอดยาวเข้าไปในผืนแผ่นดิน และโดยลมมรสุมช่วงระยองถึงจันทบุรี ยังเป็นที่ที่สามารถแล่นเรือข้ามอ่าวสยามไปยังคาบสมุทรมลายูได้อีกด้วย[12]
ดินแดนแถบนี้จึงเป็นที่หมายตาและสถานที่ก่อเหตุของการโจรกรรมทางทะเล มีโจรสลัดมากหน้าหลายตาเข้ามาในพื้นที่ ทั้งโจรจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม เขมร มลายู จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 สังฆราชปาลเลกัวซ์ยังมีบันทึกกล่าวถึงภัยทางทะเล อันเกิดจากกลุ่มโจรสลัดชาวมลายูมักนำเรือมาลอบดักปล้นเรือบรรทุกสินค้าของชาติตะวันตกที่บริเวณเกาะเสม็ด[13]
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มโจรพื้นถิ่นที่ลักลอบก่อการอยู่ตามแนวชายฝั่ง ทั้งโจรอิสระและกลุ่มที่มีการรวมตัวกันเป็น “ซ่อง” มีหัวหน้าหรือ “นายซ่อง” ของตนเอง นายซ่องเหล่านี้ไม่เพียงไม่ถูกกีดกันออกจากสังคมท้องถิ่น หากแต่ยังมักเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นนั้นๆ เสียเอง เพราะยังเป็นดินแดนที่อำนาจรัฐส่วนกลางเข้าไปไม่ถึงเท่าไรนัก
เมื่อเดินทัพมาถึงระยอง พระเจ้าตากกับพวกก็ได้สัมผัสกับการเมืองของเหล่าบรรดานายซ่องที่มีอิทธิพลอยู่ในแถบเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก ได้แก่ นายทองอยู่นกเล็กที่บางปลาสร้อย (ชลบุรี) ขุนรามหมื่นซ่องที่ปากน้ำประแส หลวงพลแสนหาญ และขุนจ่าเมือง ที่แขวงเมืองระยอง นายบุญมี บางละมุง (บางแห่งเรียก “หลวงบางละมุง”) และยังมีซ่องเล็กซ่องน้อยต่างๆ ที่ไม่ปรากฏชื่อ บางซ่องยอมอ่อนน้อมเข้าเป็นพวกพระเจ้าตากแต่โดยดี บางซ่องก็ไม่ยอมถึงขั้นต้องกำราบปราบปรามกันก็มี
ในจำนวนนี้ซ่องที่ใหญ่และมีอิทธิพลมาก คือ “ขุนรามหมื่นซ่อง” ที่ปากน้ำประแส และ “นายทองอยู่นกเล็ก” ที่บางปลาสร้อย กลายเป็นว่าพระเจ้าตาก ณ ขณะที่อยู่ที่ระยองนั้น มาอยู่ท่ามกลางและถูกขนาบระหว่างนายซ่องใหญ่ถึง 2 แห่ง คือ นายทองอยู่นกเล็กและขุนรามหมื่นซ่อง ทั้งสองคุมพื้นที่ที่มีขนาดกว้างขวางใหญ่โตกว่าบางชุมนุม เช่น ชุมนุมพระยาจันทบุรี ชุมนุมสุกี้พระนายกอง และแม้แต่ชุมนุมพระเจ้าตากที่ระยองเองด้วยซ้ำ
ในขณะเดียวกันกล่าวได้ว่า พระเจ้าตากเองสถานะเมื่อมาอยู่ที่ระยองนานนับเดือนนั้น ก็จัดเป็นนายซ่องใหญ่อีกแห่งหนึ่ง “พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา” กล่าวถึงพระเจ้าตากในช่วงนี้ว่า
“กิตติศัพท์เลื่องลือไปทุกหัวเมืองว่าเจ้าตากเสด็จยกกองทัพมา จะช่วยคุ้มครองป้องกันประชาราษฎรในหัวเมืองตะวันออกทั้งปวงให้พ้นภัยพม่าข้าศึก บรรดาไทยจีนซึ่งเป็นนายซ่องนายชุมนุมอยู่ในบ้านในป่าแขวงหัวเมืองทุกตำบล ก็พาสมัครพรรคพวกเป็นกองๆ มาสวามิภักดิ์เป็นข้าขอพึ่งพระบารมีเป็นอันมาก”[14]
การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ต่างทรงนิยมใช้คำว่า “ซ่อง” สำหรับนิยามการตั้งตนเป็นอิสระไม่ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาของกลุ่มชุมนุมต่างๆ อาทิ เจ้าพระฝาง เจ้าพิมาย เจ้าพิษณุโลก เจ้านครศรีธรรมราช[15] แทนที่จะใช้คำว่า “ชุมนุม” เหมือนเช่นนักประวัติศาสตร์ท่านอื่น ก็เป็นการวิพากษ์โดยนัยว่า พระองค์เห็นคำว่า “ซ่อง” (ซ่องสุมกำลังคน) เป็นคำที่เหมาะสมที่จะนิยามกลุ่มต่างๆ ข้างต้น สอดคล้องกับศัพท์การเมืองของยุคสมัยอยุธยาตอนปลายถึงธนบุรี
แต่อย่างไรก็ตาม การคงไว้ซึ่งคำว่า “ชุมนุม” สำหรับกรณีทั้งสี่ข้างต้น ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อแยกความแตกต่างระหว่างกลุ่มทางการเมืองบนผืนแผ่นดิน กับขบวนการ (ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองและกลุ่มที่ไม่มีอุดมการณ์) ที่กุมอำนาจอยู่ตามชายฝั่งทะเลและผืนน้ำ
“นายซ่อง” เหล่านี้มีลักษณะเป็นผู้มีอิทธิพลประจำถิ่น และมีอยู่ก่อนหน้าที่อยุธยาจะแตกพ่ายต่อพม่า มีทั้งซ่องที่ขึ้นกับทางการและซ่องที่ไม่อ่อนน้อมต่อเจ้าเมืองในท้องถิ่น เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการศึกสงคราม ช่วงที่พม่าล้อมกรุงอยู่นั้น รัฐบาลพระเจ้าเอกทัศน์ก็ได้เชิญชวนให้เหล่าบรรดาผู้มีฝีมือหลายกลุ่มซ่องให้มาช่วยขับไล่พม่า
“ที่สุดจนขุนนางจีน ขุนนางแขก ขุนนางฝรั่ง ขุนนางมอญ ขุนนางลาว แลนายโจรนายซ่อง ก็ชวนกันออกอาสาตีกองพม่าที่ล้อมกรุงทั้งแปดทิศ ก็มิได้ชนะ พม่ากลับฆ่าฟันล้มตายแตกเข้ามาทั้งสิ้น”[16]
การเชิญชวนแม้กระทั่ง “นายโจรนายซ่อง” ให้มาร่วมด้วยช่วยกันในศึกครั้งนี้ ย่อมเป็นสิ่งสะท้อนว่ารัฐบาลขณะนั้นอยู่ในสภาพเรียกได้ว่า “สิ้นไร้ไม้ตอก” แล้ว จน “ไม่แคร์” ว่าจะเป็นโจรหรือเป็นใครก็ตาม ขอเพียงให้ช่วยขับไล่อริราชศัตรูนี้ให้ได้เป็นพอ ขณะเดียวกันนั่นย่อมเป็นสิ่งแสดงให้เห็นโดยปริยายว่า “นายโจรนายซ่อง” เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการศึกสงครามเทียบเทียมขุนนางต่างชาติ (จีน แขก ฝรั่ง มอญ ลาว เป็นต้น) โดยที่ขุนนางต่างชาติเหล่านี้ล้วนเป็นพ่อค้าทางบกและทางทะเลด้วย
ข้อแตกต่างระหว่างสถานะของซ่องก่อนและหลังการเสียกรุง ก็คือหลังเสียกรุง กลุ่มนายซ่องดูจะเป็นผู้มีอำนาจที่จะสามารถคุ้มครองผู้คนได้ ในท่ามกลางการแตกสลายของอำนาจรัฐส่วนกลาง การยอมรับศักยภาพของนายซ่องนี้มีมาก จนกระทั่งทำให้นายซ่องบางแห่งได้อำนาจการนำระดับหัวเมือง กล่าวคือ นายซ่องมีสถานะเป็นเจ้าเมืองที่ไม่จำเป็นต้องมาจากการแต่งตั้งจากอยุธยา นายซ่องบางแห่งตั้งตัวเป็นเจ้าเมืองโดยความยอมรับของราษฎรในท้องถิ่น เช่น พระยาจันทบุรีก็เพิ่งได้เป็นเจ้าเมืองโดยราษฎรเลือกให้เป็นก่อนเสียกรุงเพียงไม่นาน บางแห่งเป็นชุมชนใหญ่ผู้นำซ่องไม่ได้ประกาศเป็นเจ้าเมือง แต่มีอำนาจมาก เช่น ขุนรามหมื่นซ่อง เป็นต้น กล่าวได้ว่าการเมืองและสังคมของเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออกขณะนั้นมีลักษณะที่เรียกได้ว่า “ระบอบนายซ่อง” เกิดจากสาเหตุปัจจัย 2 ประการใหญ่ๆ คือ
ประการแรก หัวเมืองเหล่านี้ได้รับความเสียหายและบอบช้ำจากการเกณฑ์กองทัพของกรมหมื่นเทพพิพิธ โดยก่อนหน้าที่พระเจ้าตากจะเดินทัพมา ขณะพม่ายกทัพมาตีอยุธยายังไม่แตกอยู่นั้น กรมหมื่นเทพพิพิธได้มาย่านนี้และเกณฑ์กำลังไพร่พลจากจันทบุรี ระยอง บางปลาสร้อย (ชลบุรี) บางคล้า (ฉะเชิงเทรา) บ้านนา (นครนายก) บางคาง (ปราจีนบุรี) บวกกับขุนนางและผู้คนที่หลบหนีออกจากอยุธยามาเข้าร่วม จัดตั้งเป็นกองทัพได้กว่า 10,000 คน ยกไปตั้งค่ายรบกับพม่าที่ปากน้ำโยทะกา (บริเวณจุดบรรจบกันระหว่างแม่น้ำนครนายก แม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำบางปะกง) หมายจะกู้กรุงจากการถูกพม่าล้อม แต่ปรากฏว่ากรมหมื่นเทพพิพิธกลับแตกพ่ายแล้วหลบหนีไปนครราชสีมา[17]
กลุ่มคนชนชั้นที่ไปเข้าร่วมกับกรมหมื่นเทพพิพิธครั้งนั้น คงเป็นเหล่าบรรดาเจ้าเมืองกรมการทั้งหลายหรือก็คือขุนนางฝ่ายปกครองที่ได้รับการแต่งตั้งจากราชสำนักอยุธยา ด้วยเพราะกรมหมื่นเทพพิพิธเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศและเป็นพระราชอนุชาของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ จึงมีผู้เข้าร่วมด้วยมาก โดยเฉพาะเหล่าขุนนางกรมการที่หวังตำแหน่งลาภยศความก้าวหน้าในราชการ ฝ่ายกรมการที่ไม่ได้เข้าร่วมก็หมดบทบาท เนื่องจากกำลังคนประจำการส่วนใหญ่ได้ถูกแบ่งไปเข้าร่วมกับกรมหมื่นเทพพิพิธ จึงเหลือแต่กลุ่มคนที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นิยามว่า “ผู้นำโดยธรรมชาติ” ซึ่งก็คือเหล่าบรรดานายซ่องต่างๆ เมื่อคนเหล่านี้ปกติจะมีบทบาทอยู่เบื้องหลังและเป็นระดับรองลงมาอย่างนายบ้าน แต่สถานการณ์ผลักดันให้เป็นคนคุมกำลังระดับเมืองแทนชนชั้นนำที่ได้รับการแต่งตั้งจากทางการ[1]
ประการที่ 2 ถึงแม้ว่าเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออกจะเป็นดินแดนห่างไกลจากสมรภูมิสงครามระหว่างอยุธยากับอังวะ แต่ทว่าการที่พม่าสามารถบุกทะลวงตีหัวเมืองชั้นในต่างๆ อย่างเช่น กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี นครสวรรค์ กำแพงเพชร ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี นนทบุรี ปทุมธานี บางกอก (หรือธนบุรี) กล่าวได้ว่าคนในเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออกที่มีเส้นทางติดต่อกับภาคกลางสะดวก ในตอนนั้นย่อมต้องหวาดหวั่นภัยอันตรายจากพม่าด้วยอยู่แล้ว จึงมีคนจำนวนมากหลบหนีไปอยู่ป่าเขา ห่างไกลจากย่านตัวเมืองเดิม ไม่ว่าจะเป็นเขาอ่างฤาไน เขาเขียว เขาบรรทัด เขาชะเม เขาสอยดาว เขาสระบาป เป็นต้น
ทิ้งเมืองให้กับอีกกลุ่มคนที่ไม่ได้หวาดกลัวภัยอันตรายจากพม่า คือกลุ่มพวกนายซ่อง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่เพียงสามารถป้องกันตนเอง หากแต่ยังสามารถต่อสู้และปล้นสะดมเรือสำเภาตลอดจนถึงปล้นค่ายทหาร กรณีหลวงพลแสนหาญและขุนจ่าเมือง นำกำลังมาปล้นค่ายพระเจ้าตากที่วัดลุ่มอย่างองอาจ ย่อมแสดงอยู่โดยนัยถึงศักยภาพในข้อนี้ของกลุ่มนายซ่องนายโจรในย่าน ที่มิได้มีความหวาดกลัวกองทัพจากส่วนกลางแต่อย่างใด
เมื่อผู้นำที่เป็นทางการสูญหายหรือหมดบทบาทไปจากพื้นที่ ก็เปิดโอกาสให้แก่ผู้มีอิทธิพลจากกลุ่มอื่นเข้ามามีอำนาจและแสดงบทบาทแทนที่ เช่น พระระยอง พระยาจันทบุรี จีนเจียมที่ทุ่งใหญ่ ต่างก็เป็นจีนแต้จิ๋ว ที่เพิ่งจะเป็นใหญ่หลังพม่าบุกอยุธยาไม่นาน โดยที่ต่างก็มีสายสัมพันธ์เชิงเครือญาติและเครือข่ายอุปถัมภ์กับนายซ่องในท้องถิ่น
ในการกอบกู้ราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา โจทย์แรกที่ท้าทายต่อพระเจ้าตากเมื่อมาถึงเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก และตั้งค่ายพักแรมอยู่ที่ระยอง ในตอนนั้นจึงได้แก่ การที่ต้องกำจัดอำนาจและอิทธิพลของนายซ่องเหล่านี้ให้ได้เสียก่อน เพราะกำลังคนส่วนใหญ่อยู่สังกัดนายซ่องต่างๆ เหล่านี้ พบว่าพระเจ้าตากดำเนินแผนการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน (คล้ายคลึงกับที่ต้าชิงจัดการกับโจรทะเลในแถบมณฑลทางใต้ของจีน) ดังจะกล่าวรายละเอียดต่อไปข้างหน้า
นายทองอยู่นกเล็ก บางปลาสร้อย
ตั้งแต่บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำบางปะกง ลุ่มน้ำพานทองตอนล่าง เขาบางทราย เลียบชายฝั่งไปจนอ่างศิลา เขาสามมุข และเกาะสีชัง ใน พ.ศ. 2310 นั้นถือเป็นเขตอิทธิพลของนายทองอยู่นกเล็ก ผู้ซึ่งพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า “เป็นนายซ่องสุมผู้คนอยู่ ณ เมืองชลบุรี ประพฤติพาลทุจริตหยาบช้า ข่มเหงอาณาประชาราษฎรผู้หาที่พึ่งมิได้”[19]
แม้จะเป็นนายซ่องที่เข้มแข็งอยู่ แต่ก็จัดว่ายังเป็นรอง เมื่อเทียบกับขุนรามหมื่นซ่องที่ปากน้ำประแส พระเจ้าตากถึงแม้ได้เมืองระยอง แต่ยังมีกำลังน้อย อีกทั้งการตีขุนรามหมื่นซ่องยังเป็นเรื่องยาก เพราะขุนรามหมื่นซ่องมีสมัครพรรคพวกอยู่ตั้งแต่บ้านเก่า บ้านค่าย บ้านแลง บ้านกล่ำ บ้านทะเลน้อย ไปจนถึงปากน้ำประแส แขวงจันทบุรี (ในตอนนั้น)[20]
พระเจ้าตากเลือกที่จะจัดการกับนายทองอยู่นกเล็กก่อน โดยยกทัพจากระยองแบ่งเป็น 2 กอง กองหลวงตั้งค่ายอยู่ที่หนองมน กองหน้าตั้งค่ายอยู่ที่วัดหลวง (วัดใหญ่อินทาราม อำเภอเมืองฯ จังหวัดชลบุรี ในปัจจุบัน) ห่างจากที่ตั้งค่ายของนายทองอยู่นกเล็กเพียง 100 เส้น (แสดงว่าค่ายนายทองอยู่นกเล็กตอนนั้นอยู่ที่บริเวณเขาบางทราย ซึ่งยากแก่การโจมตีทั้งทางบกและทางทะเล)[21] ระหว่างนั้นก็เปิดการเจรจาต่อรองกับนายทองอยู่นกเล็ก โดยให้นายบุญรอดแขนอ่อนและนายชื่นบ้านค่าย ซึ่งเป็นสหายรู้จักกันกับนายทองอยู่นกเล็ก เป็นตัวแทนไปเจรจา นายทองอยู่นกเล็กก็ยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี มิได้สู้รบกันในตอนนั้น[22]
พระเจ้าตากมีภูมิหลังเป็นพ่อค้า ย่อมไม่ไว้ใจพวกนายซ่องนายโจร แต่เนื่องจากมีศึกใหญ่รออยู่ข้างหน้า จึงทรงเลือกใช้หนทางประนีประนอม เจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับนายทองอยู่นกเล็ก เพื่อว่าเมื่อพระองค์ยกไปตีขุนรามหมื่นซ่อง นายทองอยู่นกเล็กจะได้ไม่ลอบไปปล้นเมืองระยอง ซึ่งเป็นฐานของพระองค์ในเวลานั้น นายทองอยู่นกเล็กยอมอ่อนน้อมแต่มีเงื่อนไข ผลประโยชน์ที่ทรงให้แก่นายทองอยู่นกเล็กนั้น สะท้อนความมักใหญ่ใฝ่สูงของนายทองอยู่นกเล็กไม่น้อย
กล่าวคือต้องทรงรับรองสถานภาพการเป็นเจ้าเมืองชลบุรีให้แก่นายทองอยู่นกเล็ก โดยการแต่งตั้งเป็น “พระยาอนุราชบุรีศรีมหาสมุทร” ตั้งลูกน้องนายทองอยู่นกเล็ก เป็นขุนนางกรมการตามอย่างวัฒนธรรมอยุธยา อีกทั้งยังพระราชทานทรัพย์สิ่งของมีค่าให้ อันได้แก่ กระบี่บั้งเงิน เสื้อเข้มขาบดอกใหญ่พื้นแดงดุมทองเก้าเม็ด เข็มขัดทองประดับพลอย เงินอีกกว่า 2 ชั่ง เป็นต้น พร้อมทั้งได้พระราชทานโอวาทสั่งสอนว่า
“แต่ก่อนท่านประพฤติการอันเป็นอาธรรมทุจริตนั้น จงละเสีย ประพฤติกุศลสุจริตให้สมควรด้วยฐานาศักดิ์แห่งท่าน จะได้เป็นเกียรติยศสืบไปในกาลเบื้องหน้า จะเป็นวาสนาติดตามไปในอนาคต…ผู้ใดจงใจจะอยู่ในสำนักท่านๆ จงโอบอ้อมอารีเลี้ยงดูไว้ให้เป็นผล ถ้าผู้ใดมีน้ำใจสามิภักดิ์จะตามเราออกไป ท่านจงอย่ามีใจอิจฉาเกียดกันไว้ ช่วยส่งผู้นั้นออกไปให้ถึงสำนักเรา อย่าให้เป็นเหตุการณ์ประการใดได้ แลท่านจงบำรุงพระบวรพุทธศาสนาอาณาประชาราษฎรให้ทำมาหากินตามลำเนา อย่าให้มีโจรผู้ร้ายเบียดเบียนแก่กันได้”[23]
ทั้งที่ก็ทรงน่าจะตระหนักอยู่ว่า ลำพังผลประโยชน์และโอวาทข้างต้นนี้ คงไม่เป็นผลทำให้นายโจรผู้เป็นใหญ่ในเมืองท่าชายฝั่งทะเล ยอมเปลี่ยนใจหันมาประพฤติตัวเป็นขุนนางที่ดีดังหวัง แต่ ณ ขณะนั้นเป็นช่วงที่ยังไม่ได้เมืองจันทบุรี อีกทั้งยังมีขุนรามหมื่นซ่องตั้งขวางอยู่ การประนีประนอมกับนายทองอยู่นกเล็กจึงเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ให้เกิดความสูญเสียก่อนที่ศึกใหญ่จะมาถึง
ในทางกลับกันการที่ทรงสามารถแต่งตั้งและรับรองสถานภาพของนายซ่องให้เป็นขุนนางได้ตามวัฒนธรรมอยุธยา ย่อมสร้างแรงจูงใจให้แก่นายซ่องระดับรองลงมา ที่หวังเข้ารับราชการได้มาอ่อนน้อมต่อพระองค์ อาศัยอำนาจบารมีของพระองค์ตั้งตนเป็นใหญ่ในท้องถิ่นได้ต่อไป
ฝ่ายนายทองอยู่นกเล็ก การอ่อนน้อมต่อพระเจ้าตาก คงเป็นเพียงกุศโลบาย “อยู่เป็น” โดยการตีสองหน้า ได้การรับรองอย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกันก็ยังคงเป็นนายซ่องแอบปล้นสะดมทางทะเลอยู่ต่อไป โดยที่ผลประโยชน์ที่นายทองอยู่นกเล็กได้รับจากพระเจ้าตากนั้น ทำให้ในทางเป็นจริงแล้ว กลุ่มนายทองอยู่นกเล็กยังคงเป็นซ่องอิสระ ไม่ได้ขึ้นกับพระเจ้าตากแต่อย่างใด
อีกทั้งสถานะของพระเจ้าตากในขณะนั้นที่ยังไม่ผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อเทียบกับนายทองอยู่นกเล็กที่มีอิทธิพลในท้องถิ่นมาแต่เดิม ก็ทำให้นายทองอยู่นกเล็กดูเหนือกว่าอยู่กลายๆ แต่ที่ไม่เปิดศึกกับพระเจ้าตาก น่าจะเพราะขามเกรงฝีมือการรบด้วยชนะพม่ามาหลายหนจนมีกิตติศัพท์เลื่องลือมากกว่าอย่างอื่น อีกทั้งยังอาจเป็นช่องได้อาศัยบารมีไปคานอิทธิพลของขุนรามหมื่นซ่อง ซึ่งเป็นคู่แข่งตั้งอยู่อีกฟากหนึ่งด้วยในตัว
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่นายทองอยู่นกเล็กมีพฤติการณ์ “อยู่เป็น” แบบนี้ ฝ่ายพระเจ้าตากก็ทรงทราบดี แต่เก็บความไม่พอใจเอาไว้ก่อน เมื่อตีขุนรามหมื่นซ่องและเมืองจันทบุรีได้แล้ว ระหว่างยกทัพเรือจากจันทบุรีจะไปกู้กรุงศรีอยุธยา ก็ได้แวะมา “คิดบัญชี” กับนายทองอยู่นกเล็กหรือพระยาอนุราชกับสมัครพรรคพวก จับกุมมาไต่สวนและประหารชีวิตไปในฐานประพฤติเป็นโจรสลัด พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า
“เพลาเช้า 2 โมงเศษถึงเมืองชลบุรี จึงมีพระราชบริหารให้พิพากษาโทษพระยาอนุราช, หลวงพล, ขุนอินเชียง ซึ่งกระทำความผิดด้วยโจรกรรม ตีชิงสำเภาลูกค้าวาณิช กระทำทุจริตให้เสียพระเกียรติยศ พระราชสิริสวัสดิ์นั้นตามกฎพระอัยการ แล้วตั้งผู้รั้งกรมการตามฐานะศักดิคุณานุรูปความชอบให้รักษาเมืองชลบุรี”[24]
“พระราชพงศาวดาร ฉบับหมอบรัดเล” กล่าวถึงเหตุการณ์ปราบนายทองอยู่นกเล็กกับพวก โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประหารมากขึ้น และอธิบายว่านายทองอยู่นกเล็กคงกระพันชาตรีฟันแทงไม่เข้า มิใช่คนธรรมดาสามัญ
“ครั้นถึง ณ เดือนสิบเอ็ดในปีกุนนพศกนั้น จึงเสด็จยาตราพลทัพเรือร้อยเศษ พลทหารประมาณห้าพันยกจากเมืองจันทบุรีมาทางทะเล ได้ทราบข่าวว่าพระยาอนุราฐเจ้าเมืองชลบุรี กับหลวงพล ขุนอินเชียง มิได้ละพยศอันร้าย กลับกระทำโจรกรรมออกตีชิงสำเภาและเรือลูกค้าวานิชเหมือนแต่ก่อน มิได้ตั้งอยู่ในธรรมโอวาท ซึ่งมีพระประสาทสั่งสอนนั้น จึงให้หยุดทัพเรือเข้าประทับ ณ เมืองชลบุรี แล้วให้หาพระยาอนุราฐลงมาเฝ้า ณ เรือพระที่นั่ง ตรัสถามก็รับเป็นสัตย์ จึงสั่งให้ขุนนางนายทหารไทยจีนจับพระยาอนุราฐประหารชีวิตเสีย แต่พระยาอนุราฐคงกระพันในตัว แทงฟันหาเข้าไม่ เพราะด้วยสะดือเป็นทองแดง จึงให้พันธนาการแล้วเอาลงถ่วงน้ำเสียในทะเลก็ถึงแก่กรรม แล้วให้จับหลวงพลและขุนอินเชียง ซึ่งร่วมคิดกระทำโจรกรรมด้วยกันนั้นประหารชีวิตเสีย จึงตั้งผู้มีความชอบเป็นเจ้าเมืองกรมการขึ้นใหม่ให้อยู่รักษาเมืองชลบุรี แล้วเสด็จยกพลทัพเรือเข้ามาทางปากน้ำเมืองสมุทรปราการ ถึงเมืองธนบุรี”[25]
การแวะจัดการกับนายทองอยู่นกเล็กกับพรรคพวก ก่อนเข้าตีฝ่ายพม่าที่ธนบุรีและโพธิ์สามต้น นอกจากมีเหตุเพราะความไม่เชื่อฟังโอวาทที่เคยให้ไว้ คือยังเที่ยวปล้นสะดมเรือสำเภาของพ่อค้าวาณิชเหมือนดังแต่ก่อน ยังมีเหตุน่าเชื่อว่าพระเจ้าตากตอนนั้นทรงต้องการเป็นใหญ่เหนือเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออกอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่เพียงกลุ่มของพระองค์เท่านั้น เพราะหากเพลี่ยงพล้ำเสียทีแก่พม่า จะได้สามารถล่าถอยกลับมาตั้งหลักและตั้งตัวได้ใหม่ ไม่ปล่อยให้มีเสี้ยนหนามซึ่งเป็นพวกสองหน้าและ “อยู่เป็น” มาเป็นอุปสรรคขัดขวางได้อีก
ความคิดที่จะถอยกลับ เผื่อไว้เป็นทางเลือกนั้น คงมีอยู่แน่ๆ ดังจะเห็นได้จากที่พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) มีบันทึกว่า เมื่อครั้งเสร็จศึกโพธิ์สามต้นแล้ว เสด็จเลียบพระนครสำรวจตรวจตราดูสภาพความเสียหายของกรุงศรีอยุธยา ครั้งนั้น
“ทอดพระเนตรเห็นอัฏฐิกเรวฬะคนทั้งปวงอันถึงพิบัติชีพตายด้วยทุพภิกขะ โจระ โรคะ สุมกองอยู่ดุจหนึ่งภูเขา แลเห็นประชาชนซึ่งลำบากอดอยากอาหาร มีรูปร่างดุจหนึ่งเปรตปีศาจพึงเกลียด ทรงพระสังเวชประดุจมีพระทัยเหนื่อยหน่ายในราชสมบัติจะเสด็จไปเมืองจันทบูร จึงสมณพราหมณาจารย์เสนาบดีประชาราษฎรชวนกันกราบทูลอาราธนาวิงวอนสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวพระบรมหน่อพุทธางกูร ตรัสเห็นประโยชน์เป็นปัจจัยแก่พระปรามาภิเษกสมโพธิญาณนั้นก็รับอาราธนา จึงเสด็จยับยั้งอยู่ ณ พระตำหนักเมืองธนบุรี”[26]
ส่วนข้อที่ว่านายทองอยู่นกเล็กขัดขวางมิให้ “ผู้ใดซึ่งมีใจภักดีจะออกมาพึ่งพระบารมีก็มามิได้ นายทองอยู่เป็นเสี้ยนหนามคอยสกัดตัดทางสัญจรคนทั้งปวงไว้ มิให้ไปมาโดยสะดวก”[27] คงไม่เป็นจริงตามนั้น เพราะอย่างกรณีนายสุดจินดา (“บุญมา” หรือพระยาสุรสีห์ วังหน้ารัชกาลที่ 1 ในกาลต่อมา) ยังสามารถแล่นเรือเดินทางจากอัมพวา แขวงราชบุรี ไปหาพระเจ้าตากที่เมืองจันทบุรีได้ โดยที่ไปรับเอานางนกเอี้ยง พระราชมารดาของพระเจ้าตากที่ลี้ภัยไปพำนักอยู่บ้านแหลม เพชรบุรี ไปส่งให้พระเจ้าตากด้วย ตามคำแนะนำของหลวงยกกระบัตรราชบุรี ผู้เป็นพี่ชาย (คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ในกาลต่อมา) โดยนายสุดจินดาจะต้องแวะเข้าสืบหาพระเจ้าตากที่เมืองชลบุรีด้วยแน่ เพราะทั้งนายสุดจินดาและหลวงยกกระบัตรต่างก็เข้าใจไปว่าพระเจ้าตากตั้งซ่องสุมกำลังอยู่ที่ชลบุรี[28]
ทั้งนายสุดจินดา นางนกเอี้ยง และไพร่พลที่ติดตาม ต่างก็เดินทางมาถึงชลบุรี และผ่านไปถึงจันทบุรีโดยสวัสดิภาพ ก็แสดงว่าไม่มีอุปสรรคขัดขวางอันเกิดจากนายทองอยู่นกเล็กแต่อย่างใด
ขุนรามหมื่นซ่อง ปากน้ำประแส
นายซ่องผู้มีอิทธิพลและเป็นอริที่ตัวฉกรรจ์ของพระเจ้าตาก เมื่อมาตั้งซ่องสุมกำลังผู้คนในเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก ก็คือ “ขุนรามหมื่นซ่อง” ที่ปากน้ำประแส พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาเขียนว่า “ขุนราม หมื่นซ่อง” แยกเป็นคนละคน แต่ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ ต่างเขียนว่า “ขุนรามหมื่นซ่อง” หรือ “ขุนรามหมื่นส้อง” เป็นคนเดียวกัน “หมื่นซ่อง” เป็นสร้อยสมญานาม ไม่ใช่ชื่อตำแหน่ง จากลักษณะที่เป็นผู้มีอิทธิพลคุมหลายบ้านหลายซ่อง ตลอดลำน้ำคลองบ้านค่ายไปจนถึงปากน้ำประแส ซึ่งเป็นย่านชุมชนเก่า มีผู้คนอยู่อาศัยกันหนาแน่น
อนึ่ง “แม่น้ำประแส” เป็นลำน้ำสายสำคัญของฝั่งทะเลตะวันออก เป็นที่ตั้งของชุมชนสำคัญของประชาชนที่ทำการค้าและประมง คู่ขนานกับ “คลองใหญ่” หรือ “แม่น้ำระยอง” ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ และ “แม่น้ำจันทบุรี” ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เดิมเขตแขวงบ้านประแสตลอดจนเมืองแกลงนั้นขึ้นกับเมืองจันทบุรี ใน พ.ศ. 2451 สมัยรัชกาลที่ 5 ได้โอนย้ายเมืองแกลงมาขึ้นกับระยอง บ้านประแสซึ่งขึ้นกับแกลงก็จึงย้ายมาขึ้นกับระยองเช่นกัน[29] นั่นหมายความว่าสมัยต้นรัตนโกสินทร์ร่นขึ้นไปถึงสมัยพระเจ้าตาก บ้านประแสและเมืองแกลงยังเป็นเขตแขวงขึ้นกับเมืองจันทบุรี
พระราชพงศาวดารบางฉบับระบุว่า พระเจ้าตากมาตีขุนรามหมื่นซ่องก่อนนายทองอยู่นกเล็ก[30] แต่การไปตีขุนรามหมื่นซ่องที่อยู่ปากน้ำประแสและติดตามไล่ล่าไปจนถึงเมืองจันทบุรี โดยที่มิได้จัดการกับนายทองอยู่นกเล็กที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองระยอง อันเป็นฐานของพระองค์เมื่อแรกเข้ามาตั้งมั่นในชายฝั่งทะเลนั้น เป็นเรื่องที่ไม่อาจเป็นไปได้สำหรับนักยุทธศาสตร์เช่นพระเจ้าตาก
เนื่องจากทรงตระหนักดีถึงอิทธิพลและฐานกำลังของขุนรามหมื่นซ่อง พระเจ้าตากจึงไม่ได้ยกทัพไปตีขุนรามหมื่นซ่องที่บ้านประแสโดยทันที หากแต่ยกอ้อมไปตามลำน้ำจากคลองบ้านค่ายทางทิศเหนือของเมืองระยอง ผ่านบ้านเก่า บ้านค่าย บ้านแลง เขาสำเภา บ้านกล่ำ บ้านทะเลน้อย เพื่อเกลี้ยกล่อมชาวบ้านตามรายทาง ให้เห็นด้วยหรืออยู่ข้างพระองค์เสียก่อน ค่อยยกไปตีขุนรามหมื่นซ่องทีหลัง คล้ายคลึงกับวิธีที่ต้าชิงใช้กับพวกไฮ้นี่ (กบฏทะเล)
นอกจากนี้การเดินทัพอ้อมไปดังนั้นอาจมีสาเหตุจากลักษณะเส้นทางทางบกเลียบคลองบ้านค่ายนั้นมีแนวต่อไปจนถึงปากน้ำบ้านประแส เป็นทางสะดวกในกรณีที่ยังไม่มีกองเรือที่เข้มแข็ง ที่จะสามารถเลียบชายฝั่งไปได้ พระเจ้าตากได้กองเรือก็เมื่อยึดเมืองจันทบุรีได้แล้ว
โดยในระหว่างเดินทัพไปตั้งเกลี้ยกล่อมอยู่บ้านต่างๆ นั้น ขุนรามหมื่นซ่องก็ไม่ได้นิ่งเฉย รอให้พระเจ้าตากเดินทัพมาถึง พระราชพงศาวดาร ฉบับหมอบรัดเลกล่าวว่า ขุนรามหมื่นซ่องได้ให้สมัครพรรคพวกบริวาร “ลักลอบเข้ามาลักโคกระบือช้างม้าเนืองๆ”[31]
ขณะที่พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาก็กล่าวทำนองเดียวกันว่า “ฝ่ายขุนราม หมื่นซ่อง…คุมสมัครพรรคพวกไปตั้งอยู่ ณ บ้านประแส แขวงเมืองจันทบูร ให้ไพร่พลลอบเข้ามาลักโค กระบือ ช้างม้า ณ กองทัพหลวง”[32] ทั้งนี้ก็เพื่อตัดกำลังทัพพระเจ้าตาก แต่ก็ไม่เป็นผล กองโจรที่ลอบเข้ามามักจะถูกตีกลับไปเสมอ จนเดินทัพถึงบ้านทะเลน้อย ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากปากน้ำประแส จึงได้เปิดการรบขั้นตัดสินกับขุนรามหมื่นซ่อง
ยุทธวิธีที่ทรงใช้ในการปราบขุนรามหมื่นซ่องนี้ จะเห็นได้ว่าแตกต่างอย่างมากกับกรณีการปราบนายทองอยู่นกเล็ก เพราะกรณีกลุ่มนายทองอยู่นกเล็กทรงดำเนินการกดดันต่อผู้นำซ่องโดยตรง แต่ขุนรามหมื่นซ่องต้องทำตรงกันข้าม คือต้องวางแผนรบระยะยาวนานนับเดือน ค่อยๆ เกลี้ยกล่อมแยกสลายมวลชนของขุนรามหมื่นซ่องให้เอาใจออกห่างเสียก่อน ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะขุนรามหมื่นซ่องเป็นผู้นำซ่องที่มิได้ปรารถนาจะเป็นเจ้าเมืองหรือขุนนางอยุธยาเหมือนอย่างนายทองอยู่นกเล็ก จึงไม่อาจซื้อได้ด้วยผลประโยชน์อย่างที่เคยให้แก่นายทองอยู่นกเล็ก
อีกทั้งยังเป็นนายซ่องเข้มแข็งยิ่งกว่านายทองอยู่นกเล็กมาก ขุนรามหมื่นซ่องไม่ใช่พวกเล่นบท “อยู่เป็น” หรือประเภทที่จะ “ตีสองหน้า” เอาตัวรอดเฉพาะหน้าไปเท่านั้น ดูเหมือนเขาจะพอใจการเป็นนายซ่อง คอยดักปล้นและเก็บส่วยพ่อค้าและผู้เดินทางผ่านไปมาในย่าน ไม่ปรารถนาให้อำนาจส่วนกลางที่กรุงศรีอยุธยาเข้ามายุ่มย่ามในเขตอิทธิพลของตน แต่ตรงนี้ก็เป็นจุดที่ทำให้กลุ่มพระเจ้าตากสามารถนำไปใช้โจมตีขุนรามหมื่นซ่อง ว่าเป็นพวกเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน “เป็นคนอาสัจอาธรรม”[33] ไม่มีอุดมการณ์สร้างบ้านแปลงเมืองเหมือนอย่างพวกพระองค์ แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะจัดการกับคนซึ่งไม่อาจซื้อได้ด้วยผลประโยชน์จากราชการ ในเมื่อขุนรามหมื่นซ่องเป็นผู้นำซ่องที่มีฐานมวลชนหนุนหลัง
เมื่อแผนการตัดกำลังแยกสลายมวลชนของขุนรามหมื่นซ่องบรรลุผลจนมั่นใจว่าชาวบ้านในเขตแขวงจากบ้านเก่าไปจนถึงบ้านประแส จะไม่ช่วยเหลือเป็นกำลังของขุนรามหมื่นซ่องในการต่อต้านพระองค์ ก็ทรงเปิดฉากการรบปราบปรามขุนรามหมื่นซ่องอย่างเต็มรูปแบบ โดยยกทัพไปตั้งค่ายที่บ้านทะเลน้อย (บริเวณวัดราชบัลลังก์ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ในปัจจุบัน) ถึงแม้ว่าผลการรบ ฝ่ายพระเจ้าตากจะได้รับชัยชนะ แต่ก็สูญเสียทหารไทยจีนที่ร่วมเดินทัพมากับพระองค์มากถึง 400 คน ยังความเศร้าพระทัยและโกรธแค้นต่อขุนรามหมื่นซ่องมาก ตรัสว่า
“ทั้งนี้ก็เป็นผลวิบากให้เกิดเป็นคนอาสัจอาธรรมฉะนี้ จะละไว้มิได้”[34]
ฝ่ายขุนรามหมื่นซ่อง เมื่อพ่ายแพ้ที่ศึกบ้านทะเลน้อยและบ้านประแส ก็หลบหนีไปเมืองจันทบุรี พระยาจันทบุรีก็ให้การต้อนรับขุนรามหมื่นซ่องเป็นอย่างดี ด้วยเป็นคนรู้จักมักคุ้นกันมาก่อน จนอาจเป็นบุคคลสำคัญที่เคยหนุนให้พระยาจันทบุรีผู้นี้ได้เป็นเจ้าเมืองผ่านการเลือกภายในเขตแขวงเมืองจันทบุรี เมื่อเจ้าเมืองเดิมสูญหายไปกับทัพกรมหมื่นเทพพิพิธ หรือเพราะเหตุอื่นไม่ทราบแน่ชัด
ก่อนหน้าที่ขุนรามหมื่นซ่องจะหนีไปจันทบุรี พระยาจันทบุรีเคยแสดงท่าทีอ่อนน้อมต่อพระเจ้าตาก โดยส่งข้าวมาให้ที่ระยอง 4 เกวียน และถึงขั้นมีสาส์นเชิญให้เสด็จมาที่จันทบุรี จะได้ช่วยกันคิดการแก้ทางพม่ากอบกู้กรุงศรี[35] แต่เมื่อขุนรามหมื่นซ่องหนีไปหา พระยาจันทบุรีก็เปลี่ยนท่าทีหันมาเป็นปฏิปักษ์ต่อพระเจ้าตาก การณ์เดิมที่ทรงคาดหวังว่าจะได้เมืองจันทบุรีโดยไม่เสียเลือดเนื้อนั้น เป็นเรื่องที่ไม่อาจเป็นไปได้เสียแล้ว เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สะท้อนอิทธิพลของขุนรามหมื่นซ่องผู้นี้อย่างมาก
ประกอบกับเวลานั้นเป็นช่วงหลังจากที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าไปแล้ว พระยาจันทบุรีจึงคิดตั้งตัวเป็นชุมนุมอิสระ เป็นใหญ่ในเขตแขวงของตนเอง เหมือนอย่างชุมนุมพระพิษณุโลก ชุมนุมเจ้าพระฝาง ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช ชุมนุมเจ้าพิมาย ชุมนุมสุกี้พระนายกอง เป็นต้น เพราะก่อนนี้ไม่นาน เป็นช่วงเดียวกับที่พระเจ้าตากเพิ่งมาถึงระยอง นายบุญเรือง ผู้รั้งเมืองบางละมุง หรือ “หลวงบางละมุง” (ตามพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา) ผู้ซึ่งได้เข้าหาพม่า และได้ถือคำสั่งจากสุกี้ไปถึงพระยาจันทบุรี ให้ส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายตนที่ค่ายโพธิ์สามต้น[36] อันเป็นความพยายามแสดงบทบาทอำนาจของสุกี้ ในฐานะผู้สืบทอดอำนาจบารมีของกษัตริย์อยุธยา แต่พระยาจันทบุรีหาได้ยอมอ่อนน้อมต่อสุกี้ไม่
เมื่อได้ขุนรามหมื่นซ่องมาเป็นนายทัพ พระยาจันทบุรีก็ให้ “ตกแต่งป้อมค่ายคูประตูหอรบเชิงเทิน ตระเตรียมโยธาทหารสรรพด้วยเครื่องศัตราวุธปืนใหญ่น้อยเสร็จ”[37] เมื่อกองทัพพระเจ้าตากมาถึง ก็ได้ใช้กลอุบายให้พระสงฆ์เชิญเข้าเมือง แต่พระเจ้าตากขณะนั้นทรงทราบแล้วว่า พระยาจันทบุรีคิดอ่านจะจับกุมพระองค์ จึงเล่นบทบ่ายเบี่ยงอ้างธรรมเนียมว่า
“ผู้น้อยควรจะกระทำสัมมาคารวะแก่ผู้ใหญ่ จึงจะชอบเป็นมงคลแก่ตัว และจะให้เราเป็นผู้ใหญ่เข้าไปหาท่านอันเป็นผู้น้อยก่อนนั้นมิบังควรแก่พระยาจันทบุรีเลย เรายังไม่เข้าไปก่อนให้พระยาจันทบุรีออกมาหาเรา เราจะได้แจ้งเนื้อความซึ่งขัดข้องในใจเรา ด้วยขุนรามหมื่นซ่องอันเป็นปัจจามิตรเราเข้าไปอยู่ด้วยพระยาจันทบุรี”[38]
พระเจ้าตากส่งคนไปเจรจาขอให้พระยาจันทบุรีส่งตัวขุนรามหมื่นซ่องมาให้ ถึงขั้นเสนอว่าจะไม่ตีเมืองด้วยซ้ำ “แม้นพระยาจันทบุรีจะมิออกมาหาเราก็ดี จงส่งแต่ขุนรามหมื่นซ่องออกมากระทำความสัตย์แก่เราแล้ว เราจะเข้าไปด้วยมิได้แคลง”[39]
พระยาจันทบุรีก็หาได้ยอมส่งตัวขุนรามหมื่นซ่องมาให้พระองค์ไม่ จนกระทั่งต้องรบกัน จากเดิมที่เคยเป็นไมตรีต่อกัน เมื่อเมืองจันทบุรีแตก พระยาจันทบุรีได้พาครอบครัวหลบหนีไปเมืองพุทไธมาศ จากนั้นก็ไม่มีหลักฐานกล่าวถึงขุนรามหมื่นซ่องอีกเลย จู่ๆ ก็หายไปจากหน้าพระราชพงศาวดาร จะได้หนีไปพร้อมกับพระยาจันทบุรี หรือถูกจับแล้วโดนประหารชีวิตไปอย่างไร ก็ไม่ปรากฏ นับเป็นอีกเรื่องที่น่าประหลาดใจ สำหรับคนซึ่งมีบทบาทมากอย่างขุนรามหมื่นซ่อง แต่กลับไม่มีภาพฉากสุดท้ายเหมือนอย่างคนอื่นๆ
ยุทธศาสตร์การค้านำการทหารและการสร้าง “ขื่อแป” ของบ้านเมือง
ความเสียหายของเมืองท่าชายฝั่งตะวันออก ทั้งจากการเกณฑ์กองทัพของกรมหมื่นเทพพิพิธและจากการแตกสลายของอำนาจรัฐส่วนกลางที่มามีผลกระทบต่อความเสื่อมอำนาจของชนชั้นนำเดิมในท้องถิ่น ถึงแม้พระเจ้าตากจะได้ทั้งเมืองระยอง ประแส จันทบุรี ส่วนบางปลาสร้อยนั้นอยู่ภายใต้นายทองอยู่นกเล็ก ก็ยังได้กำลังพลไม่มาก เมื่อเทียบกับกรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งเคยจัดตั้งกองทัพได้ถึง 10,000 คน แต่พระเจ้าตากเมื่อยกทัพจากจันทบุรีมากู้กรุงนั้น ตัวเลขที่ปรากฏอยู่ที่ราว 5,000 คน โดยเมื่อแรกตั้งตัวอยู่เมืองจันทบุรีนั้นพระเจ้าตากมีกำลังพลเพียง 1,000 คนเท่านั้น[40] เพราะผู้คนต่างทิ้งเมืองหนีหาย จนบ้านเมืองโรยรา
จนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ก็มีตัวเลขจากบันทึกของสังฆราชปาลเลกัวซ์ ว่าเมืองจันทบุรีในช่วงเวลาหลังกรุงแตกเป็นต้นมามีประชากรหลงเหลืออยู่เพียง 6,000 คน ในขณะที่เมืองในแถบนี้ที่มีประชากรมากถึง 10,000 คนนั้น คือเมืองแปดริ้ว (ฉะเชิงเทราที่บางคล้า–บ้านโสธร) แต่ก็เป็นช่วงเวลาหลังจากมีการขุดคลองบางขนาก (หรือคลองแสนแสบ) เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยามายังปากน้ำโยทะกาแล้ว[41] กำลังไพร่พลที่พระเจ้าตากเกลี้ยกล่อมได้มานั้น หนึ่งส่วนสามเป็นผู้คนตามชุมชนที่เดินทัพผ่านมาตลอดเส้นทางนั่นเอง[42]
อีกตัวอย่างความเสียหายอันน่าเหลือเชื่อเกี่ยวกับสภาพบ้านเมืองในย่านตะวันออก ทั้งที่ไม่ได้เผชิญศึกสงครามกับพม่า ก็อย่างเช่นกรณีบางปลาสร้อย (ชลบุรี) เมื่อนายทองอยู่นกเล็กยอมอ่อนน้อมแล้ว ทรงจัดการฟื้นฟูเมืองโดยพระราชทานเงินสำหรับสงเคราะห์แก่ “ประชาราษฎรผู้ยากไร้เข็ญใจซึ่งขัดสนด้วยข้าวปลาอาหาร…พระราชทานเงินตราอาหารแก่สัปเหร่อ ให้ค้นทรากศพ คนอันอดอยากอาหารตายนั้นเผาเสีย แล้วพระราชทานบังสุกุลทาน และพระราชทานเงินตราอาหารแก่ยาจกวณิพกในเมืองชลบุรีเป็นอันมาก”[43]
เมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออกถึงแม้จะไม่ได้เผชิญศึกสงครามโดยตรง แต่ก็ได้รับผลกระทบ กล่าวคือบ้านเมืองซึ่งเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ตลอดช่วงศตวรรษสุดท้ายของราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา[44] อันเนื่องจากความเฟื่องฟูของการค้ากับทางฝั่งเอเชียตะวันออก ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้รับการสนับสนุนโดยราชวงศ์บ้านพลูหลวง พ่อค้าจีน ญี่ปุ่น ฮอลันดา เปอร์เซีย ฯลฯ ที่เดินเรือไปมาระหว่างสยามอยุธยากับเอเชียตะวันออก ต่างแวะเวียนเข้ามาจอดเรือเทียบท่าตามหัวเมืองชายฝั่งทะเล[45]
แต่เมื่อเกิดสงครามขึ้นที่อยุธยา การค้าที่เคยคึกคักก็พลอยซบเซา ชุมชนเมืองท่าชายฝั่งก็พลอยเผชิญปัญหาความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นชุมชนเมืองที่เติบโตเพราะการค้า สงครามเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310 มิได้ส่งผลต่อการพังทลายถูกเผากลายเป็นซากของวัดและวังบางแห่ง หากแต่เกิดการพังทลายของระบบเศรษฐกิจการค้าในภาพรวมของราชอาณาจักร[46]
สภาพที่เคยคึกคักมีเรือพ่อค้าต่างชาติเข้ามาปีละนับพันลำ ครั้นพอถึงช่วงกองทัพอังวะบุก ก็พบความเสื่อมถอย มีเรือเข้ามาได้เพียงเล็กน้อย “วันนี้จะเข้ามาสักสิบลำหรือสิบสองลำก็แทบจะไม่มี”[47]
ยุทธศาสตร์การสงครามของพม่าในช่วง พ.ศ. 2309-10 เองก็เป็นยุทธศาสตร์ระยะยาว เริ่มตั้งแต่ให้มีกองลาดตระเวน ออกเที่ยวปล้นสะดมตัวเมืองรอบนอกไปทั่ว กระทั่งการเข้ายึดชัยภูมิลำน้ำสำคัญ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา การที่พระยาราชาเศรษฐี เจ้าเมืองพุทไธมาศ ส่งเรือบรรทุกอาหารและกำลังคนจำนวนหนึ่งเพื่อจะมาช่วยอยุธยา ตามคำร้องขอของราชสำนักพระเจ้าเอกทัศน์ แต่เมื่อมาถึงธนบุรี เรือก็ไม่สามารถแล่นต่อไปได้ เพราะมีทัพพม่าขวางอยู่ในตอนนั้นแล้ว อีกทั้งภายหลังยึดอยุธยาได้แล้ว พม่ายังตั้งให้นายทองอินมาเป็นเจ้าเมืองรักษาธนบุรีไว้ ก็สะท้อนให้เห็นยุทธศาสตร์ที่ต้องการกุมเส้นทางคมนาคมกับโลกภายนอกของอยุธยาโดยกองทัพพม่า
ทางด้านแม่น้ำบางปะกง การที่มีทัพพม่ายกจากปากน้ำเจ้าโล้ (บางคล้า ฉะเชิงเทรา) มาปะทะกับกองทัพพระเจ้าตากในขณะเดินทัพมาเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก ก่อนถูกพระเจ้าตากตีแตกพ่ายไป ย่อมเป็นเครื่องยืนยันว่าพม่าเห็นความสำคัญของลุ่มน้ำบางปะกง ในฐานะเส้นทางยุทธศาสตร์ที่หัวเมืองรอบนอกตลอดจนพันธมิตรจากดินแดนโพ้นทะเล อาจส่งความช่วยเหลือแก่กรุงศรีอยุธยาได้ ประกอบกับมีข้อพิจารณาเพิ่มเติมว่า ก่อนพม่าจะบุกอยุธยานั้น หุยตองจา เจ้าเมืองทวาย ที่เป็นกบฏต่ออังวะและหลบหนีมาอยุธยา พระเจ้าเอกทัศน์ทรงให้มาอยู่ชลบุรี[48] จึงเป็นไปได้ว่ากองทัพพม่าที่ยกจากปากน้ำเจ้าโล้ไปปะทะกับพระเจ้าตากนั้น เป็นกองที่มาติดตามหุยตองจากับพวกในแถบชลบุรี ก่อนลาดขึ้นไปตามลำน้ำบางปะกงจนถึงบางคล้า
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า แม้เป็นศึกที่มีเป้าหมายพิชิตอยุธยา แต่ก็เป็นครั้งแรกที่พม่ายกมาก่อกวนหัวเมืองฝั่งตะวันออกถึงลุ่มน้ำบางปะกง โดยที่อยุธยาไม่เพียงไม่สามารถปกป้องหัวเมืองจากการรุกรานนี้ได้เท่านั้น นโยบายอยุธยายังเป็นในรูปแบบเน้นการป้องกันที่เมืองหลวงเป็นหลักอีกด้วย จึงไม่แปลกที่จะเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยหรือ “ระส่ำระสาย” ไปทั่วหัวเมืองต่างๆ
นอกจากฟื้นฟูราชอาณาจักรที่ส่วนกลาง จึงเห็นได้ว่าเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออกในตอนนั้นก็ต้องการการฟื้นฟูทั้งในด้านเศรษฐกิจและขวัญกำลังใจดุจเดียวกัน การฟื้นฟูเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก ซึ่งกลายมาเป็นประสบการณ์และบทเรียนต่อการปรับปรุงและฟื้นฟูราชอาณาจักรในกาลต่อมา อาจกล่าวโดยสรุปรวบรัดได้ว่า พระเจ้าตากใช้ยุทธศาสตร์ 2 อย่างไปพร้อมกัน คือ การสร้างขื่อแปให้กับบ้านเมืองด้วยวิธีการค้านำการทหาร การปราบปรามนายซ่องในเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก กลายเป็นประสบการณ์และบทเรียนในการปราบเจ้าชุมนุมต่างๆ ที่ตั้งตนเป็นใหญ่หลังเสียกรุง
โจรผู้ร้ายในแถบชายฝั่งทะเลตะวันออกคงมีมาแต่เดิม แต่เมื่อบ้านเมืองแตกสลาย ชนชั้นนำเดิมเสื่อมอำนาจบ้างก็พลัดหายไปกับการศึกที่ปากน้ำโยทะกาและที่อยุธยา ก็เป็นเหตุให้มีเหล่าบรรดา “นายซ่อง” ตั้งตนเป็นใหญ่เพิ่มมากขึ้น จดหมายของมองซิเออร์อาโตด์ บาทหลวงชาวฝรั่งเศส ซึ่งได้หลบหนีภัยพม่าออกจากอยุธยามาจันทบุรี ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 2308 แต่เมื่อมาถึงจันทบุรีอยู่ได้สักพักก็ต้องหนีต่อไปอยู่เขมร เพราะพบว่า “โจรผู้ร้ายในเมืองจันทบุรีชุกชุมมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า เพราะในเวลานั้นพวกผู้ร้ายหมดความกลัวด้วยบ้านเมืองกำลังระส่ำระสาย”[49]
โจรเหล่านี้ที่มีอำนาจและเป็นใหญ่อย่างแท้จริง มีอำนาจยิ่งกว่าเจ้าเมืองกรมการ ก็คือ “โจรทะเล” แต่ในบรรดาโจรทะเลเหล่านี้ ก็เป็นไปได้ที่จะมี “นาย” ที่มีอุดมการณ์ ทำเพื่อพวกพ้องตลอดจนไพร่ราษฎร สภาพความอดอยากยากแค้น จนมีผู้อดอาหารตายให้พระเจ้าตากต้องพระราชทานเงินแก่สัปเหร่อไปค้นหามาทำพิธีศพตามธรรมเนียม ในเมืองใหญ่อย่างชลบุรี ก็เป็นสิ่งสะท้อนอยู่โดยนัยว่า นายทองอยู่นกเล็กอาจจะใช้สภาพการณ์ดังกล่าวเป็นข้ออ้างในการปล้นสะดม เมื่อพระเจ้าตากมาถึงก็จึงต้องแสดงพระมหากรุณาธิคุณ
พระเจ้าตากจึงต้องแสดงความเมตตากรุณาและอบรมสั่งสอนให้ตั้งอยู่ในศีลธรรม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่ปฏิบัติเสียแล้ว สำหรับซ่องที่พัฒนามาจากการเป็นซ่องเพื่อปล้นสะดม ตำแหน่งขุนนางแม้เป็นระดับเจ้าเมือง ก็ไม่เป็นหลักประกันความมั่นคง เมื่อเห็นได้ชัดในตอนนั้นแล้วว่าส่วนกลางไม่มีอำนาจปกแผ่มาถึงถิ่นฐานบ้านช่องของพวกตนอยู่ในตอนนั้น ในยามที่บ้านเมืองพบความวิบัติล่มสลาย หนทางแห่งโจรก็กลายเป็นคำตอบสำหรับผู้มีกำลังอำนาจและพรรคพวกบริวาร
จากสถานการณ์ข้างต้นก็เห็นได้ว่าเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออกขณะนั้นเองก็ไม่พร้อมที่จะเป็นฐานให้กับการกอบกู้กรุงศรีอยุธยา เพราะสถานการณ์ภายในของเมืองท่าชายฝั่งทะเลแถบนี้ ก็มีความสลับซับซ้อน กำลังผู้คนชายฉกรรจ์ส่วนใหญ่สังกัดอยู่ภายใต้นายซ่องต่างๆ ไม่ได้อยู่ภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์และมูลนายของอยุธยา
การตั้งตัวเป็นใหญ่ของพระเจ้าตากในดินแดนแถบนี้ ด้านหนึ่งพระเจ้าตากต้องแสดงตนเป็นผู้รักษาระเบียบแบบแผนเก่าของอยุธยา แต่อีกด้านก็คือการสถาปนาตนเป็นนายซ่องใหญ่ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างแท้จริงในหัวเมือง อันเป็นหลักประกันว่าจะได้กำลังคนเข้าร่วมขบวนการ
แต่แม้จะได้เมืองระยองและจันทบุรีแล้ว พระเจ้าตากก็ยังไม่มีทุนรอนและกำลังพอที่จะนำทัพกลับไปกอบกู้กรุงศรี แม้ระยองกับจันทบุรีจะเป็นเมืองที่มีสินค้าของป่ามาก แต่องค์กรและกลุ่มคนที่จัดการการค้าได้สูญหายหรือยุติบทบาทไป ทว่าความสำคัญของจันทบุรีในฐานะเมืองยุทธศาสตร์ ก็ทำให้พระเจ้าตากได้มีโอกาสได้ติดต่อกับโลกภายนอก นับตั้งแต่ออกจากอยุธยามาระยองและเข้าตีเมืองจันทบุรี แต่ละศึกที่เอาชนะมาได้นั้น โดยมากก็อาศัยคนน้อยชนะคนมากแทบจะทั้งสิ้น และถึงแม้ว่าหากตั้งมั่นอยู่ที่จันทบุรีต่ออีกสักช่วงหนึ่ง ก็อาจสะสมอำนาจบารมีและความมั่งคั่งขึ้นมาได้ แต่นั่นสุกี้และเจ้าชุมนุมต่างๆ ก็จะมีโอกาสได้ตั้งตัวและมีกำลังกล้าแข็งขึ้นทุกวันเช่นกัน
เมื่อไม่อาจต่อเรือได้ทันท่วงทีตามจำนวนที่ต้องการ อีกทั้งไม่มีทุนรอนเป็นค่าใช้จ่ายมากพอ การปล้นสำเภาของพ่อค้าจีนจึงเป็นคำตอบ สำหรับการได้มาซึ่งเรือที่จะใช้ในการสงครามกู้กรุง หลังจากได้เมืองจันทบุรีไม่นาน เมื่อพิจารณาเห็นแล้วว่าลำพังเมืองระยองกับจันทบุรี และแม้ชลบุรีเอง ต่างก็มีความเสียหาย แต่สภาพดังกล่าวนั้นกลับไม่พบในเมืองตราด ตรงข้ามเมืองตราดกลับเป็นแหล่งชุมนุมของกองเรือสำเภาพ่อค้าต่างชาติ ที่คอยท่าว่าเหตุการณ์สงครามระหว่างอยุธยากับอังวะจบสิ้นลงเมื่อไหร่ ก็จะเดินเรือไปยังภาคกลาง พระเจ้าตากจึงมีบัญชาให้พระพิชัยและหลวงราชนรินทร์ เป็นแม่ทัพคุมเรือประมาณ 50 ลำเศษ โดยพระองค์จะนำทัพหลวงตามไปสมทบทางบก เพื่อไปยึดบ้านทุ่งใหญ่ (ตราด) ล้อมเมืองอยู่คืนหนึ่ง
“ฝ่ายวาณิชพ่อค้านายสำเภาทั้งปวงก็ยังมิได้อ่อนน้อม ครั้นเพลารุ่งเช้าจึงดำรัสสั่งนายทัพนายกอง ให้ยกเข้าตีสำเภาอยู่ประมาณกึ่งวัน ข้าศึกลูกค้าชาวสำเภาต้านทานมิได้ ก็อัปราชัยพ่ายแพ้ทัพหลวง ได้ทรัพย์สิ่งของและหิรัญสุวรรณวัตถาลังกาภรณ์เป็นอันมาก ฝ่ายจีนเจียมผู้เป็นใหญ่กว่าชาวสำเภาทั้งปวงยอมสามิภักดิ์”[50]
เมื่อได้ทุนรอนและเรือมากขึ้นแล้ว “ก็เสด็จกลับมา ณ เมืองจันทบูร ยับยั้งอยู่ต่อเรือรบได้ 100 เศษ”[51] การได้เมืองตราดจึงเป็นหมุดหมายสำคัญอย่างแท้จริง ที่ทำให้พระเจ้าตากมีศักยภาพที่จะกอบกู้กรุงศรีอยุธยาได้ เมืองตราดยังเป็นเขตต่อแดนกับเมืองพุทไธมาศ ที่อยู่ในความปกครองดูแลของพระยาราชาเศรษฐีหรือ “ม่อซือหลิน” พันธมิตรแต้จิ๋วคนสำคัญของพระองค์อีกด้วย การติดต่อประสานงานและขอความช่วยเหลือก็สามารถทำได้ง่าย หากเพลี่ยงพล้ำต่อพม่า ก็อาจถอยกลับมาตั้งหลักได้อีก โดยที่ไม่ถูกรบกวนจากดินแดนข้างเคียง
การเดินทัพมาเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก ได้ชัยชนะพม่าที่ยกติดตามมา กระทั่งสามารถปราบปรามนายซ่องต่างๆ จนเป็นใหญ่ในดินแดนเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก มีอำนาจบารมีเหนือกว่านายซ่องคนอื่นๆ อีกทั้งยังมีนโยบายกู้กรุงศรีอยุธยาชัดเจนยิ่งกว่าบรรดานายซ่องและเจ้าชุมนุมอื่นในตอนนั้น คงเป็นข่าวที่แพร่สะพัดไปไกลพอสมควร แม้แต่หลวงยกกระบัตรราชบุรี (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ รัชกาลที่ 1 ในเวลาต่อมา) ซึ่งขณะนั้นหลบซ่อนอยู่ในป่าเขา ก็ยังพบหลักฐานความทรงจำบอกเล่าสืบมาจนถึงช่วงรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 ว่าครั้งนั้นตรัสชี้แนะแก่นายสุดจินดา (บุญมา/พระยาสุรสีห์) ให้ไปเข้าร่วมกับกลุ่มพระยาตาก ดังมีข้อความดังนี้
“ข้ารู้ข่าวว่า พระยาตากสินเขารวบรวมราษฎรได้มาก บัดนี้เขาไปตั้งค่ายมั่นพักพลอยู่ที่เมืองชลบุรี แล้วเขาจะยกกองทัพมาตีพม่าที่รักษากรุงนั้น เขาจะแก้ฝีมือพม่า จะกู้กรุงศรีอยุธยา เห็นท่วงทีสมประสงค์ของเขา ด้วยชาวเมืองฝ่ายชายทะเลรักใคร่นับถือเขามาก…ถ้าเจ้าอุตสาหะไปรับมารดาพระยาตากสินได้แล้ว นำไปส่งให้เขาเปนของกำนันแก่พระยาตากสินๆ จะมีความยินดีพ้นที่จะเปรียบ เจ้าเล่าก็จะอยู่ที่เมืองชลบุรีจะได้พึ่งพาหาฤากับพระยาตากสินด้วย ในเวลาว่างกษัตริย์เช่นนี้พระยาตากเขาจะมีบุญบารมีอำนาจเสมอพระเจ้าแผ่นดิน เจ้าจะได้เปนที่พึ่งสืบต่อไปตามกาลเวลาที่ควร เจ้าจงเชื่อคำข้าอุตสาหะไปเถิดฯ”[52]
พื้นภูมิหลังที่มาจากพ่อค้าจีน ทำให้พระเจ้าตากตระหนักถึงความสำคัญของการค้าและเรื่องเศรษฐกิจปากท้องต้องมาก่อน จดหมายเหตุบาทหลวงฝรั่งเศสได้กล่าวถึงลักษณะการเกลี้ยกล่อมผู้คนระหว่างเดินทัพว่า “เมื่อพระยาตากยกทัพไปถึงตำบลใด ก็ได้แจกจ่ายเงินทองทั่วไปทุกแห่ง กองทัพพระยาตากจึงมีจำนวนคนเพิ่มขึ้นทุกวัน เมื่อพระยาตากได้เกลี้ยกล่อมผู้คนไว้ได้มากแล้ว จึงได้ตั้งต้นคิดการใหญ่ต่อไป”[53]
นอกจากกำลังทัพที่เข้มแข็ง เอาชนะพม่าได้หลายครั้ง การปราบปรามโจรสลัดที่ตั้งตนเป็นใหญ่อยู่ตามเมืองท่าชายฝั่งทะเล พร้อมกันนั้นพระเจ้าตากยังแสดงให้เห็นว่าขบวนการกู้กรุงศรีของพระองค์นั้น เป็นขบวนการที่มีเศรษฐกิจการค้าที่มั่งคั่งอีกด้วย นอกจากนี้การปราบปรามโจรสลัดจนนำมาสู่การประหารชีวิตนายทองอยู่นกเล็ก ทั้งๆ ที่นายทองอยู่นกเล็กได้สวามิภักดิ์ต่อพระองค์ ยังอาจเกี่ยวข้องกับการพยายามเอาใจทางการจีน ซึ่งไม่พอใจเหล่าโจรสลัดที่กำลัง “ต้านชิง–กู้หมิง” อยู่ในขณะนั้น อย่างไรก็ตาม การปราบปรามโจรสลัดของพระเจ้าตาก ทำให้ในทางประวัติศาสตร์เรื่องราวของพระองค์ตลอดจนสยามในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ได้มีประเด็นร่วมกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโลกสากล
บทสรุปและส่งท้าย
สำหรับชาวเมืองท่าฝั่งทะเลตะวันออก พระเจ้าตากถือเป็นตัวแทนจากส่วนกลาง ที่มาพร้อมระเบียบกฎเกณฑ์อย่างเก่าของกรุงศรีอยุธยา ขณะที่นายซ่องบางคน เช่น “ขุนรามหมื่นซ่อง” แม้ไม่ถึงกับจะเป็นกบฏไพร่ แต่ก็มิได้ต้องการกลับไปเป็นอย่างเก่า ถึงแม้พระเจ้าตากจะยื่นผลประโยชน์ให้โดยมีนายทองอยู่นกเล็กเป็นตัวอย่าง อย่างเช่นการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมือง ขุนรามหมื่นซ่องก็มิได้ปรารถนาจะเป็นเจ้าเมือง การรบต่อต้านพระเจ้าตากก็มิใช่กระทำไปเพราะยังจงรักภักดีต่อราชวงศ์บ้านพลูหลวง หรือเพราะด้วยเหตุผลว่าพระเจ้าตากเป็นกบฏที่หนีการศึกมาแต่อย่างใด
ระเบียบแบบแผนอย่างใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในแถบเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออกตอนนั้น สืบเนื่องมาจากความเจริญเติบโตของการค้าทางทะเลที่มียาวนานกว่า 2 ศตวรรษเป็นอย่างน้อย ผู้คนในแถบชายฝั่งทะเลนอกจากมีอาชีพหลักคือประมงและการค้าขาย ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ประกอบอาชีพเป็นโจรสลัด คอยดักปล้นสะดมเรือสำเภาสินค้าที่เดินทางไปมาในทะเลละแวกย่าน เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกพ่ายต่อพม่า ก็ได้คนจำนวนหนึ่งตั้งตนเป็นใหญ่ในรูปแบบที่เรียกว่า “นายซ่อง” โดยมีซ่องใหญ่อยู่ 2 แห่ง คือ “นายทองอยู่นกเล็ก” ที่มีศูนย์กลางอยู่ย่านบางปลาสร้อย กับ “ขุนรามหมื่นซ่อง” ที่มีศูนย์กลางตั้งอยู่บ้านประแส ภายหลังได้หลบหนีไปอยู่กับพระยาจันทบุรี
ถึงแม้ว่านายซ่องเหล่านี้จะให้ความรู้สึกปลอดภัยและการได้รับการคุ้มครองดูแลได้ระดับหนึ่ง แต่การดำรงอยู่ของระบอบนายซ่องที่ขยายใหญ่โตภายหลังจากการเสียกรุงเอง ก็เป็นสิ่งสะท้อนความเสื่อมสลายและยิ่งซ้ำเติมให้บ้านเมืองบอบช้ำหนักขึ้น เพราะพ่อค้าต่างชาติย่อมงดเว้นการเดินเรือเข้ามาค้าขายกับดินแดนนี้ ที่เต็มไปด้วยชายฉกรรจ์ที่พร้อมจะบุกยึดเอาสินค้าและข้าวของมีค่าภายในเรือไปได้ โดยที่ทางการปราศจากผู้มีอำนาจที่จะปกป้องและเรียกคืนความเป็นธรรมให้แก่พวกตน
เมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออกในช่วงแรกเริ่มที่พระเจ้าตากเดินทัพมาถึงและตั้งค่ายอยู่ที่ระยองนั้น ไม่ใช่ดินแดนที่สงบราบเรียบและมั่งคั่งบริบูรณ์พร้อมแก่การเป็นฐานทรัพยากรสำหรับการกอบกู้กรุงศรีอยุธยา เพราะเต็มไปด้วยโจรผู้ร้าย อันเนื่องจากความเสื่อมสลายของอำนาจปกครองเดิม ถึงแม้ไม่อยู่ในสมรภูมิสงครามกับพม่า ก็ได้รับผลกระทบจนเกือบจะกลายเป็นสภาพไร้ขื่อแป ดังนั้นโจทย์แรกของพระเจ้าตาก ก็คือการปราบปรามเหล่าโจรผู้ร้าย ที่ซ้ำเติมบ้านเมืองให้วิบัติเสื่อมโทรมมากขึ้น โจทย์ที่ 2 คือ การทำให้ดินแดนนี้กลับมาพบความสงบ มีขื่อแป เป็นที่ดึงดูดแก่พ่อค้าต่างชาติ และเป็นจุดหมายของคนที่ต้องการจะกอบกู้กรุงศรีอยุธยา
พระเจ้าตากเมื่อมาถึงชายฝั่งทะเลตะวันออก ตั้งอยู่ที่เมืองระยอง ว่ากันตามระบอบนายซ่องของเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออกที่เป็นอยู่ ณ ขณะนั้น จึงเท่ากับพระองค์เข้ามาอยู่ตรงกลางระหว่างสองนายซ่องผู้ยิ่งใหญ่ ภารกิจแรกเริ่มก่อนที่จะไปกอบกู้กรุงศรีอยุธยา จึงคือการปราบปรามนายซ่องเหล่านี้ เพราะกำลังคนที่พร้อมสู้รบในขณะนั้น ในเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก ต่างก็อยู่ในสังกัดนายซ่องเหล่านี้ พระเจ้าตากใช้หลากหลายวิธี ตั้งแต่การเจรจาประนีประนอม ให้ผลประโยชน์ และทั้งการยกทัพไปโจมตีโดยตรง
แต่การจะปราบนายซ่องและทำให้เหล่าโจรสลัดกลับมาเป็นกำลังสำคัญให้แก่บ้านเมือง ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสัมพันธ์กับยุคสมัยที่มีผลประโยชน์จากการค้าทางทะเลเป็นตัวนำ ในขณะที่การเสื่อมสลายของกรุงศรีอยุธยาในเชิงอำนาจบารมี นำมาซึ่งการเสื่อมสูญของระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ลำพังการกอบกู้กรุงศรีแต่เพียงขับไล่ข้าศึกศัตรูให้พ้นแผ่นดินนั้น ไม่อาจบรรลุผลในแง่นี้ได้
พระเจ้าตากในฐานะพ่อค้าเก่า จึงทรงทราบเป็นอย่างดีว่า การณ์นี้จำเป็นต้องฟื้นฟูระเบียบแบบแผนที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย สร้างขื่อแปและกฎเกณฑ์ที่เป็นธรรมต่อการค้ากับต่างชาติ เมื่อต่างชาติสามารถแล่นเรือเข้ามาค้าขายได้โดยปลอดภัย ก็เป็นเงื่อนไขให้เกิดความเชื่อมั่น และความรุ่งเรืองก็จะเกิดตามมา การปราบขุนรามหมื่นซ่อง การประหารชีวิตนายทองอยู่นกเล็ก ตลอดจนการกวาดล้างนายซ่องต่างๆ ที่ตั้งตัวเป็นใหญ่และมี “การกระทำอันเป็นโจรสลัด” มีความหมายเท่ากับทรงแสดงให้เห็นว่าทรง “เอาจริง” ในการฟื้นฟูระเบียบแบบแผนหรือขื่อแปของบ้านเมืองให้กลับคืนมา สร้างความเชื่อมั่นต่อพ่อค้าต่างชาติที่จะเข้ามาทางทะเล โดยเฉพาะต่อรัฐบาลต้าชิงที่ก็กำลังเผชิญปัญหาและการสู้รบปราบปรามกับกองโจรสลัดในมณฑลทางใต้อยู่ในขณะนั้น
เส้นทางจากอยุธยาสู่บ้านเมืองในชายฝั่งทะเลตะวันออก ที่ทรงแปรเปลี่ยนให้เป็นเส้นทางกอบกู้ราชอาณาจักรนั้น เดิมก็เป็นเส้นทางการค้าสำคัญของราชอาณาจักร ที่ต้องการการปกป้องคุ้มครอง โดยรัฐที่เข้มแข็งและยึดมั่นในขื่อแปอยู่พอสมควร การสร้างขื่อแปจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวด ยิ่งกว่าชัยชนะในสมรภูมิสงครามใดๆ ตลอดยุคสมัยของพระองค์ ความสำเร็จในเรื่องนี้ของพระเจ้าตากนั้น แม้แต่พระราชพงศาวดารซึ่งชำระโดยฝ่ายตรงข้ามของพระองค์ ก็ยังกล่าวยกย่องเอาไว้ ดังจะเห็นได้จากข้อความต่อไปนี้
“ในขณะนั้นบรรดานายชุมนุมทั้งปวง ซึ่งคุมพรรคพวกตั้งอยู่ในแขวงอำเภอหัวเมืองต่างๆ และรบพุ่งชิงอาหารกันอยู่แต่ก่อนนั้น ก็สงบราบคาบลงทุกๆ แห่ง มิได้เบียดเบียนแก่กันสืบไป ต่างเข้ามาถวายตัวเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาท ได้รับพระราชทานเงินทองและเสื้อผ้า และโปรดชุบเลี้ยงให้เป็นขุนนางในกรุงและหัวเมืองบ้าง บ้านเมืองก็สงบปราศจากโจรผู้ร้าย และราษฎรก็ได้ตั้งทำไร่นาลูกค้าวานิชก็ไปมาค้าขายทำมาหากินเป็นสุข ข้าวปลาอาหารก็ค่อยบริบูรณ์ขึ้น คนทั้งหลายก็ค่อยได้บำเพ็ญการกุศลต่างๆ ฝ่ายสมณสากยบุตรในพระพุทธศาสนาก็ได้รับบิณฑบาตจตุปัจจัย ค่อยได้ความสุขบริบูรณ์”[54]
*บทความนี้หากจะเกิดคุณประโยชน์ใดๆ ก็ตาม ผู้เขียนขอยกให้เป็นเกียรติแด่ รศ. ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เนื่องในโอกาสเกษียณอายุราชการ เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา อาจารย์ได้มีส่วนส่งเสริมและยุยงให้ผู้เขียนสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ของคนธรรมดาสามัญชนในหลากหลายรูปแบบและแนวทางอยู่เสมอ
เชิงอรรถ
[1] พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายความหมายของคำว่า “ซ่อง” หรือ “ส้อง” ว่าหมายถึง “ที่มั่วสุมกันอย่างลับๆ (มักใช้ในทางไม่ดี) เช่น ซ่องการพนัน, ซ่องโจรผู้ร้าย, ซ่องนางโลม, ซ่องโสเภณี, ซ่องสุมกำลังคน เป็นต้น” ที่ใช้ในที่นี้ซึ่งอิงตามข้อความในเอกสารหลักฐาน จะตรงกับคำว่า “ซ่องสุมกำลังคน” โดยมีหัวหน้าเรียกว่า “นายซ่อง” เป็นต้น “ซ่อง” เป็นหน่วยรองลงมาจาก “ชุมนุม” หลายซ่องรวมกันเป็นชุมนุม เพราะซ่องในที่นี้มักอิงตามชุมชนบ้านที่สังกัด พระราชพงศาวดารทุกฉบับอธิบายจุดมุ่งหมายของพระเจ้าตากในการไปเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออกนั้น ก็เพื่อ “ซ่องสุมกำลังคน” ก่อนกลับไปกู้กรุงศรีอยุธยา “ซ่อง” จึงมิได้ใช้ในความหมายแง่ลบเท่านั้น มีความหมายในเชิงบวกได้ด้วย ขึ้นกับว่า “ซ่อง” นั้นมีอุดมการณ์อะไรขับเคลื่อนไหม หรือเป็นเพียงกลุ่มโจรสลัดเที่ยวปล้นเรือสำเภาค้าขายที่แล่นผ่านชุมชนของตนเท่านั้น
[2] ที่ใช้ “พระเจ้าตาก” ไม่ใช้ “พระยาตาก” หรือ “พระยากำแพงเพชร” ก็เพราะว่าตามความในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อเดินทัพมาถึงบ้านพรานนก ได้รบกับพม่าที่ยกติดตามมามากถึง 2,000 คน แต่ฝ่ายพระยาตากซึ่งมีกำลังน้อยกว่ามาก กลับตีแตกพ่ายไปอย่างง่ายดาย พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวถึงเหตุการณ์นี้อย่างมีนัยสำคัญว่า พระยาตากตั้งตนเป็น “กษัตริย์” ภายหลังจากช่วงเวลานั้นเป็นต้นไป “ฝ่ายทแกล้วทหารเห็นกำลังบุญฤทธิ์เป็นอัศจรรย์ดังนี้ ก็ยกย่องว่าเป็นจอมกษัตริย์สมมติวงศ์” (น. 37)
ขณะที่พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุสถานที่ตั้งตัวเป็น “เจ้า” ว่าเกิดขึ้นเมื่อมาถึงแขวงเมืองระยองแล้ว เช่นว่า “ถึงตำบลหินโขงและน้ำเก่าเข้าแขวงเมืองระยอง หยุดทัพแรมแห่งละคืนตามระยะทางมา พระยากำแพงเพชรจึงปรึกษากับนายทหารและรี้พลทั้งปวงว่า กรุงเทพมหานครคงจะเสียแก่พม่าเป็นแท้
ตัวเราคิดจะซ่องสุมประชาราษฎรในแขวงหัวเมืองตะวันออกทั้งปวงให้ได้มากแล้ว จะยกกลับเข้าไปกู้กรุงให้คงคืนเป็นราชธานีดังเก่า แล้วจักทำนุบำรุงสมณพราหมณาประชาราษฎรซึ่งอนาถาหาที่พำนักบ่มิได้ให้ร่มเย็นเป็นสุขานุสุข และจะยอยกพระบวรพุทธศาสนาให้โชตนาการไพบูลย์ขึ้นเหมือนอย่างแต่ก่อน เราจะตั้งตัวเป็นเจ้าขึ้น ให้คนทั้งหลายนับถือยำเกรงจงมาก การซึ่งจะก่อกู้แผ่นดินจึงจะสำเร็จโดยง่าย ท่านทั้งหลายจะเห็นประการใด นายทหารและไพร่พลทั้งปวงก็เห็นชอบด้วยพร้อมกัน จึงยกพระยากำแพงเพชรขึ้นเป็นเจ้าเรียกว่าเจ้าตากตามนามเดิม” (น. 154)
อย่างไรก็ตาม การเดินทัพออกจากกรุงมาตลอด 17 วัน ก่อนถึงระยอง โดยที่สมัครพรรคพวกที่ร่วมมาในขบวนนั้น มิได้ตระหนักแน่ชัดถึงสถานภาพของผู้นำขบวนของตนว่าเป็น “ผู้มีบุญ” ถึงเพียงใดนั้น เป็นเรื่องยากที่จะเชื่อได้ อีกทั้งระหว่างทางยังพบว่าผู้นำขบวนทัพได้แสดงอาญาสิทธิ์ที่ส่อนัยว่าถึงการใช้อำนาจแบบกษัตริย์อยู่หลายหนแล้ว จนกระทั่งการแต่งตั้งเจ้าเมืองชลบุรี ซึ่งไม่อยู่ในวิสัยที่แม่ทัพธรรมดาสามัญชนคนหนึ่งจะสามารถกระทำได้ ข้อความตามพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ และฉบับหมอบรัดเล ที่กล่าวถึงเหตุการณ์บ้านพรานนกตรงกันนั้น มีความสมเหตุสมผลควรรับเชื่อได้อยู่
[3] โรเบิร์ต เจ. แอนโทนี. คู่มือศึกษาโจรสลัด : ข้อเท็จจริง เอกสาร และการตีความทางประวัติศาสตร์. แปลโดย ประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล. (กรุงเทพฯ : คบไฟ, 2555), น. 54-68.
[4] See this detail in Dian H. Murray. Pirates of the South China Coast, 1790-1810. (Stanford : Stanford University Press, 1987).
[5] See that many details in Derek Johnson and Mark Valencia. (ed.). Piracy in Southeast Asia : Status, Issues, and Responses. (Singapore : The Institution of Southeast Asia Studies, 2005); Carolin Liss and Ted Biggs. (ed.). Piracy in Southeast Asia : Trends, Hot Spots and Responses. (London : Routledge, 2017); John Kleinen and Manon Osseweijer. (ed.). Pirates, Ports, and Coasts in Asia : Historical and Contemporary Perspectives. (Singapore : Institute of Southeast Asian Studies, 2010).
[6] จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์. ขุนนางกรมท่าขวา : การศึกษาบทบาทและหน้าที่ในสมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2153-2435. (กรุงเทพฯ : คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546), น. 174-175.
[7] ดูรายละเอียดใน กำพล จำปาพันธ์. อยุธยา : จากสังคมเมืองท่านานาชาติ สู่มรดกโลก. (นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, 2559), บทที่ 3.
[8] หม่องทินอ่อง. ประวัติศาสตร์พม่า. แปลโดย เพ็ชรี สุมิตร. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2551), น. 175-176.
[9] จดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยา ตอนแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศกับครั้งกรุงธนบุรีและครั้งกรุงรัตนโกสินทรตอนต้น ภาค 6, (กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2511), น. 276.
[10] พ่ามกง กุ๊กฟา. กิ่งพงศาวดารญวน สำนวนเก่า. (ธนบุรี : โรงพิมพ์ประยูรวงศ์, 2511).
[11] โรเบิร์ต เจ. แอนโทนี. คู่มือศึกษาโจรสลัด : ข้อเท็จจริง เอกสาร และการตีความทางประวัติศาสตร์. น. 44-49.
[12] นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2536), น. 123.
[13] มงเซเญอร์ ปาลเลกัวซ์. เล่าเรื่องกรุงสยาม. (นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2552), น. 68.
[14] พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2548), น. 155.
[15] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์. เจ้าชีวิต. (กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2514), น. 116.
[16] พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์. (กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2505), น. 653-654; พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหมอบรัดเล. (กรุงเทพฯ : โฆษิต, 2549), น. 431-432.
[17] พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), จดหมายรายวันทัพ, อภินิหารบรรพบุรุษ และเอกสารอื่น. (นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2551), น. 58.
[18] นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. น. 150-156.
[19] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2, น. 157.
[20] พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบรัดเล. (กรุงเทพฯ : โฆษิต, 2551), น. 17.
[21] บริเวณหน้าเขาบางทรายไปจนถึงหลังวัดเขาบางทราย เป็นที่ตั้งของเมืองศรีพโล เมืองโบราณสมัยทวารวดีถึงอยุธยาตอนต้น มีแนวกำแพงเมือง และคูเมืองโบราณ ตลอดจนภูเขาริมทะเล เหมาะแก่การตั้งค่าย สามารถตั้งด่านเก็บภาษีปากเรือที่ผ่านไปมา และเป็นสถานที่ติดตามได้ยาก เมื่อสู้รบทางทะเลที่อยู่หน้าเขา แล้วหลบหนีไปตามแนวเขาบางทรายต่อเขาเขียว รายละเอียดที่ตั้งและศิลปกรรมเกี่ยวกับเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีถึงอยุธยาตอนต้นในเขตพื้นที่เมืองชลบุรี ผู้เขียนอธิบายไว้ใน กำพล จำปาพันธ์. “ประวัติศาสตร์บริเวณชลบุรีก่อนสมัยอยุธยา,” ใน วารสารวิจัยราชภัฏพระนคร สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. ปีที่ 11 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม–ธันวาคม 2559), น. 215-226.
[22] พระราชพงศาวดารกรุงสยาม : จากต้นฉบับที่เป็นสมบัติของบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน. (กรุงเทพฯ : ก้าวหน้า, 2507), น. 653.
[23] พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), น. 46-47.
[24] เรื่องเดียวกัน, น. 52.
[25] พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบรัดเล, น. 30.
[26] พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), น. 54 ในส่วนนี้พระราชพงศาวดารฉบับอื่น เช่น ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ ฉบับบริติชมิวเซียม ฉบับพระราชหัตถเลขา ต่างเสริมเติมความให้มีเรื่องน่าตื่นเต้นราวนิยาย อย่างการเล่าว่าทรงไปบรรทมอยู่ที่พระที่นั่งทรงปืนในพระราชวังหลวงอยุธยา แล้วฝันเห็นอดีตพระมหากษัตริย์มาไล่ให้ไปอยู่ที่อื่น ตื่นบรรทมเลยปรึกษาเหล่านายทัพนายกอง ย้ายไปตั้งกรุงธนบุรี อย่างไรก็ตาม เรื่องการย้ายมาตั้งกรุงธนบุรีนี้เป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าจะมีเหตุเพียงจากฝันของบุคคล แม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นพระเจ้ากรุงธนบุรีในเวลาต่อมาก็ตาม
[27] พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2, น. 157.
[28] บุญเตือน ศรีวรพจน์. สุจิตต์ วงษ์เทศ, บรรณาธิการ. อภินิหารบรรพบุรุษและปฐมวงศ์. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2545), น. 412-413.
[29] กำพล จำปาพันธ์. “ราย็อง (ระยอง) : เมืองชองบนเส้นทางอารยธรรมฝั่งทะเลตะวันออก,” ใน วารสารสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ. ปีที่ 18 ฉบับที่ 1 (กรกฎาคม–ธันวาคม 2559), น. 9-14.
[30] พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบรัดเล, น. 17-18.
[31] เรื่องเดียวกัน, น. 17.
[32] พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2, น. 157.
[33] พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), น. 44-45.
[34] เรื่องเดียวกัน, น. 44.
[35] พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบรัดเล, น. 16.
[36] เรื่องเดียวกัน, น. 16.
[37] เรื่องเดียวกัน, น. 20.
[38] เรื่องเดียวกัน, น. 21.
[39] เรื่องเดียวกัน.
[40] พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), น. 50; จดหมายความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) ระบุตัวเลขกำลังคนของพระเจ้าตากเมื่อแรกออกจากกรุงศรีอยุธยามาอยู่ที่ 500 คน ล้มตายระหว่างทางไปมาก ส่วนใหญ่เข้ามาร่วมภายหลัง เป็นคนจากชุมชนย่านต่างๆ ที่เดินทัพผ่านไปตลอดเส้นทาง
[41] มงเซเญอร์ ปาลเลกัวซ์. เล่าเรื่องกรุงสยาม, น. 68-69.
[42] กำพล จำปาพันธ์. “สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ กับอัตลักษณ์ความเป็นชาติ ในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นพระนครศรีอยุธยา,” ใน วารสารวิชาการอยุธยาศึกษา. ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 (มกราคม–มิถุนายน 2558), น. 40-54.
[43] พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), น. 46-47.
[44] David K. Wyatt. “Borommakot and Chinese,” in Siam in Mind. (Chiangmai : Silkworm Books, 2002), pp. 46-50.
[45] Adisorn Muakpimai. “Chantaburi : A gateway for the coastal trade of Ayudhya in the eighteenth century,” in Kajit Jittasevi. (ed.). Proceedings for the International Workshop Ayudhya and Asia 18-20 December 1995. (Bangkok : Thammasat University and Kyoto University, 1995), pp. 163-179.
[46] ดังที่ปรามินทร์ได้แสดงให้เห็นไว้ชัดเจนใน ปรามินทร์ เครือทอง. “เศรษฐกิจสยาม ยามกรุงแตก” ใน ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, บรรณาธิการ. ด้วยรัก เล่มที่ 3 ความเป็นครอบครัวและชุมชนในสังคมไทย. (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์, 2556), น. 89-108.
[47] ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง. ประวัติศาสตร์แห่งพระราชอาณาจักรสยาม. แปลโดย ปอล ซาเวียร์. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2539), น. 119.
[48] พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์, น. 644.
[49] จดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศสฯ, น. 273.
[50] พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), น. 51.
[51] เรื่องเดียวกัน, น. 52.
[52] อภินิหารบรรพบุรุษและปฐมวงศ์, น. 431.
[53] จดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศสฯ, น. 285.
[54] พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา. (กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2516), น. 327.
หมายเหตุ : บทความในนิตยสารชื่อ พระเจ้าตากกับการปราบปรามโจรสลัดในชายฝั่งทะเลตะวันออก
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มีนาคม 2563