เผยแพร่ |
---|
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเขียนถึงที่มาของการเฉลิมพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ก่อนพิธีบรมราชาภิเษกไว้ใน พระราชบันทึกเรื่อง ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 ว่า
“…เมื่อทูลกระหม่อมได้สวรรคตลงแล้วนั้น ได้เกิดโจทย์กันขึ้นว่าจะควรใช้ออกชื่อฉันว่ากระไร พวกเจ้านายรุ่นใหม่ มีกรมนครชัยศรี เปนต้น ร้องว่าไม่เห็นมีปัญหาอะไร ควรเรียกว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” แต่ท่านพวกเจ้านายผู้ใหญ่ มีกรมหลวงเทววงศ์ และกรมหลวงนเรศร์ เปนต้น กล่าวแย้งว่า ธรรมเนียมเก่าต้องรอให้บรมราชาภิษกแล้วจึ่งเรียก “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” กรมนครชัยศรีถามว่า “ถ้าเช่นนั้นแปลว่าในเวลานี้ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินฉนั้นหรือ? ท่านผู้ใหญ่ก็ตอบอ้อมแอ้มอะไรกัน จำไม่ได้ กรมนครชัยศรีจึ่งได้กล่าวขึ้นว่า ธรรมเนียมเก่าจะเปนอย่างไรไม่ทราบ แต่ในสมัยนี้จะปล่อยลังเลไว้เช่นนั้นไม่ได้ ชาวต่างประเทศเขาจะเห็นแปลกนัก เพราะเปนธรรมเนียมที่รู้อยู่ทั่วกันในยุโรปว่าในประเทศที่มีลักษณะปกครองเปนแบบราชาธิปตัย พระราชาต้องมีอยู่เสมอ จนถึงแก่มีธรรมเนียมในราชสำนัก เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตลงเมื่อใด ก็เปนน่าที่เสนาบดีกระทรวงวัง หรือผู้ที่เปนหัวน่าราชเสวก ออกมาร้องประกาศแก่เสนาบดีและข้าราชการผู้ใหญ่ว่า “Messeigneurs et Messeieurs Le Roi et Mort Vive le Roi” (“ใต้เท้าทั้งหลายและท่านทั้งหลาย สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตแล้ว ขอให้สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงพระเจริญยิ่งๆ) ในเวลาดึกวันที่ ๒๓ นั้นจึ่งได้ไกล่เกลี่ยกันว่า ในประกาศภาษาไทยให้ใช้ออกชื่อฉันว่า “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ผู้ทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน” แต่ในหนังสือที่มีบอกไปยังพวกฑูตใช้เปนภาษาอังกฤษว่า “His Majesty the king” กรมนครชัยศรีว่าดึกแล้วขี้เกียจเถียงซักความยาวสาวความยืดต่อไป แต่พระองค์ท่านเองไม่ยอมเรียกฉันว่าอย่างอื่นนอกจากว่า “พระเจ้าอยู่หัว”…
ครั้นเวลาบ่าย ๕ นาฬิกา วันที่ ๒๕ ตุลาคม ฉันได้นัดประชุมพิเศษเปนครั้งแรกที่พระโรงมุขตวันตกแห่งพระที่นั่งจักรี, มีผู้ที่ได้… เพื่อปรึกษาข้อราชการและวางระเบียบที่จะได้ดำเนิรต่อไป แต่ก่อนที่จะพูดเรื่องอื่นๆ ได้กล่าวกันถึงเรื่องเรียกตำแหน่งของฉัน กรมหลวงเทววงศ์ตรัสว่าแก้ปัญหาตกแล้ว คือไปค้นในหนังสือแสดงกิจจานุกิจของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ที่เรียกกันว่า “กรมท่าตามืด”) ได้ความว่า เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าเสด็จสวรรคตแล้วนั้น ได้กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า เรียกว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” กรมพระราชวังบวร” ทันที หาได้รอจนเมื่อกระทำพิธีบรมราชาภิเษกแล้วไม่ ที่มาเกิดมีรอไว้ไม่เรียกว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ก็คือตั้งแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเสด็จขึ้นทรงราชย์ เมื่อก่อนที่กระทำพิธีราชาภิเษกหาได้ออกพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ไม่ ต่อมาจึ่งกลายเปนธรรมเนียมไป แต่เมื่อปรากฏว่าเคยได้มีธรรมเนียมเรียกว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” พระองค์ ๑ แล้ว ก็เปนอันว่าในครั้งนี้ควรให้เปนไปเช่นกัน ไม่ต้องรอราชาภิเษก แต่คำว่า “มีพระบรมราชโองการ” ควรให้รอไว้ก่อน ให้ใช้ว่า “มีพระราชดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม” ไปพลาง ส่วนข้อที่ได้ใช้ในคำประกาศว่า “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชผู้ทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน” พลาดมาแล้วนั้นเพื่อจะแก้ตัวกับฝรั่ง กรมหลวงเทววงศ์ทรงรับรองว่าจะไปกล่าวแก้ไขว่ารอไว้จนกว่าจะถือน้ำแล้วเท่านั้น.
การที่ได้ตกลงกันไปเสียได้เช่นนั้นทำให้ฉันโล่งมาก เพราะก่อนนั้นรู้สึกไม่เปนที่เรียบร้อย ดูราวกับฉันเปนผู้ที่ฉวยอำนาจไว้ได้แล้ว แต่ยังต้องรอรับเลือกของใครๆ ต่อไปอีกก่อนจึ่งจะได้เปนพระเจ้าแผ่านดินจริงๆ พวกฝรั่งได้ร้องถามว่า การที่ยังไม่เรียกฉันว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” นั้น แปลว่ายังไม่แน่ว่าจะได้เปนฉนั้นหรือ? อาจจะมีองค์อื่น “เคลม” ได้อีกด้วยหรือ? พูดกันอย่างแสลงเช่น เว็สเต็นการ์ จึ่งได้รู้สึกเดือดร้อน และไปทูลท้วงแก่เสด็จลุง อย่างแขงแรง ส่วนเสด็จลุงเองท่านจะได้มีความคิดอยู่ในพระทัยอย่างไรบ้างฉันก็หาทราบไม่ แต่ฉันนึกเดาเอาว่า ที่ท่านยังไม่ให้เรียกฉันว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” นั้น ดูเหมือนจะเกิดความวิตกไปว่า ผู้อื่นเขาจะนินทาได้ว่าพระองค์ท่านเห่อแหนหลาน ซึ่งเปนธรรมดาของเสด็จลุงต้องชอบถ่อมไว้เช่นนั้นเสมอ แต่แท้จริงเมื่อคำนึงดูแล้ว ก็ควรจะต้องเห็นว่า ครั้งฉันนี้ผิดกันกับครั้งก่อนๆ ทีเดียว เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าทรงพระประชวรหนักนั้น มิได้มีเวลาที่จะทรงสั่งไว้ว่าให้ผู้ใดเปนพระเจ้าแผ่นดินต่อพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าในเวลานั้นทรงพระผนวชอยู่ และมีพระชนมายุเพียง ๒๐ แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเปนพระเจ้าลูกยาเธอผู้ใหญ่และเปนผู้กำกับราชการอยู่หลายตำแหน่ง พอพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าเสด็จสวรรคต ท่านก็ทรงฉวยอำนาจไว้ได้หมด ฉนั้นท่านจึ่งมิได้ให้ผู้ใดเรียกพระองค์ท่านว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” จนกว่าจะได้กระทำพิธีราชาภิเษกแล้ว…”