ค้นกำเนิดวิธีปลูกฝีป้องกันโรคฝีดาษ โดยใช้เชื้อไวรัสฝีดาษเอง มาจากฤาษีเต๋าในจีน?

ประชาชนเข้ารับวัคซีนป้องกันฝีดาษ เมื่อธ.ค. 1961 ที่ปารีส ฝรั่งเศส (ภาพจาก STF / AFP)

ในโลกใบนี้นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีโรคระบาดมากมายหลายชนิดที่คร่าชีวิตผู้คนไปนับไม่ถ้วน รวมทั้งสร้างความเสียหายที่กระทบต่อมนุษยชาติโดยตรง เช่น การอพยพย้ายถิ่นฐานเพื่อหนีโรคระบาด แต่ใช่ว่าในอดีตจะไม่มีการต่อสู้กับโรคร้ายทั้งหลายเหล่านี้ มนุษย์ย่อมคิดหาทางรักษาโรคด้วยวิธีต่างๆ และการป้องกันไม่ให้เกิดโรคนั้นๆ

โรคติดต่อที่มีอันตรายมากโรคหนึ่งในอดีตคือโรค “ฝีดาษ” หรือ “ไข้ทรพิษ” พบร่องรอยของโรคนี้ในมัมมี่อียิปต์สมัยราชวงศ์ที่ 20 ในศตวรรษที่ 10 จากหลักฐานจะเห็นได้ว่าโรคระบาดนี้อยู่กับมนุษย์มายาวนาน

เพื่อความอยู่รอด มนุษย์ในอดีตคงหาวิธีต่อสู้กับโรคนี้มากพอสมควร และพบว่ามีวิธีหนึ่งที่สามารถต่อสู้กับโรคฝีดาษได้ซึ่งไม่ใช่การรักษาแต่เป็นการป้องกัน นั่นคือ “การปลูกฝี”

โรเบิร์ต เทมเพิล นักวิชาการผู้ศึกษาประวัติศาสตร์จีน และผู้เขียนหนังสือ “ต้นกำเนิด 100 สิ่งแรกของโลก” หรือ The Genius of China” ระบุถึงต้นกำเนิดของวิธีการปลูกฝีว่า อยู่ที่ประเทศจีนจุดเริ่มต้นนั้นค่อนข้างลึกลับอยู่พอสมควรเพราะผู้ที่คิดค้นวิธีการปลูกฝีใช้ชีวิตอยู่ในถ้ำดุจกับฤาษี

ในหนังสือดังกล่าวระบุว่า การปลูกฝีมีต้นกำเนิดอยู่ในมณฑลซื่อชวนซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของจีน ขณะที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลนี้มีภูเขาอันโด่งดังชื่อ “เอ๋อเหมยซาน” เป็นที่รู้จักกันในฐานะที่มีความสัมพันธ์กับทั้งศาสนาพุทธและลัทธิเต๋า นักประสมแร่แปรธาตุลัทธิเต๋าอาศัยอยู่ในถ้ำที่ภูเขาลูกนี้ เป็นเจ้าของความลับของการปลูกฝีโรคฝีดาษในช่วงศตวรรษที่ 10

การปลูกฝีเป็นที่สนใจครั้งแรกเมื่อบุตรชายคนโตของอัครมหาเสนาบดีหวังต้าน (ปี 957 – 1017) เสียชีวิตด้วยโรคฝีดาษ หวังต้าน ไม่อยากให้โรคนี้เกิดขึ้นกับคนอื่นๆ ในครอบครัวอีก เขาจึงรวบรวมแพทย์ผู้รู้และผู้ที่มีวิชาอาคมจากทั่วอาณาจักรเพื่อหาทางรักษาโรคฝีดาษ ฤาษีเต๋าท่านหนึ่งเดินทางมาจากเอ๋อเหมยซาน ซึ่งมีคนกล่าวขานตั้งสมญาให้เขาต่างๆ นานา และได้นำเอาเทคนิคการปลูกฝีมาเผยแพร่ให้ผู้คนได้รู้จัก

การปลูกฝีไม่ได้ให้ประโยชน์ด้านเดียวแต่ก็แฝงอันตรายด้วยเช่นกัน การปลูกฝีให้กับคนคนหนึ่งนั่นหมายความว่าคนคนนั้นจะได้รับการฝังไวรัสเข้าไปในร่างกาย เมื่อกระบวนการประสบความสำเร็จ เขาจะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต

แม้เชื้อไวรัสที่นำมาใช้ปลูกฝีจะมีอันตรายถึงตายได้ แต่ด้วยเทคนิคอันพิเศษจากแพทย์จีน ได้ทำให้เชื่อไวรัสนั้นอ่อนกำลังลงก่อนเพื่อลดโอกาสการเป็นโรคให้เหลือน้อยที่สุด และเพิ่มโอกาสการเกิดภูมิคุ้มกันให้มากที่สุด

การปลูกฝีห้ามทำโดยนำเนื้อเยื่อฝีดาษมาจากผู้ที่เป็นโรคนี้อย่างเด็ดขาดซึ่งจะกลายเป็นการแพร่กระจายของเชื้อโรค พวกเขาเข้าใจว่าการปลูกฝีคือการ “ปลูกถ่าย” เนื้อเยื่อฝี ที่จินตนาการเหมือนดั่งต้นถั่วงอกที่เพิ่งแตกหน่อ

วิธีทำคือนำเนื้อเยื่อฝีใส่ในก้อนสำลี จากนั้นสอดเข้าไปในจมูก ฝีจะถูกดูดซับเข้าไปทางเยื่อบุผิวในช่องจมูกและทางการหายใจ

ตามหลักการ หมอจะไม่เลือกใช้เนื้อเยื่อฝีจากผู้ป่วยโรคฝีดาษ แต่จะเลือกจากผู้ที่ได้รับการปลูกฝี และเกิดเป็นแผลตกสะเก็ดเล็กน้อย พวกเขายังรู้จักฝีดาษสองชนิดคือ วาริโอล่า เมเจอร์ (Variola major) และ วาริโอล่า ไมเนอร์ (Variola minor) และเลือกใช้เนื้อเยื่อฝีจากชนิดหลังซึ่งมีพิษรุนแรงน้อยกว่า

ความจริงแล้วแหล่งเนื้อเยื่อฝีที่เป็นที่ต้องการคือสะเก็ดแผลจากคนที่ได้รับการปลูกฝีด้วยเนื้อเยื่อจากคนที่ได้รับการปลูกฝีอีกที่ ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ผ่านการทำให้อ่อนกำลังลงหลายรุ่นด้วยวิธีการปลูกฝีหลายครั้ง

การทำให้เชื้อไวรัสอ่อนกำลังลงยังมีวิธีอื่นๆ อีก ดังที่ จางเหยี่ยน ได้เขียนเรื่อง Transplanting the Smallpox” เมื่อปี 1741 ว่า

“วิธีการเก็บเนื้อเยื่อ ห่อสะเก็ดอย่างระมัดระวังด้วยกระดาษและใส่ในขวดขนาดเล็ก ปิดจุกให้แน่นเพื่อไม่ให้ปฏิกิริยาแพร่กระจายออกไป ขวดต้องไม่ถูกแสงแดดหรือความร้อนจากกองไฟ จะดีที่สุดหากพกคิดตัวไปด้วยระยะหนึ่ง เพื่อให้สะเก็ดแห้งลงช้าๆ ตามธรรมชาติ ควรระบุวันที่เก็บเนื้อเยื่อจากผู้ป่วยไว้บนขวดให้ชัดเจน

ในฤดูหนาว เนื้อเยื่อจะมีพลังหยางอยู่ภายใน ดังนั้น จึงยังคงมีปฏิกิริยาอยู่แม้จะเก็บไว้สามสิบถึงสี่สิบวันแล้ว แต่ในฤดูร้อน พลังหยางจะหายไปภายในเวลาประมาณยี่สิบวัน เนื้อเยื่อที่ดีที่สุดคือเนื้อเยื่อที่ไม่ถูกเก็บไว้นานเกินไป ในขณะที่พลังหยางมีมาก มันจะ ‘จับ’ เก้าคนในสิบคน แต่เมื่อมันเก่าลง จะค่อยๆ สูญเสียปฏิกิริยา จนบางที ‘จับ’ เพียงห้าในสิบคน-ในที่สุดจะไม่มีปฏิกิริยาโดยสินเชิงและจะใช้ไม่ได้เลย ในสถานการณ์ที่สะเก็ดใหม่หายากและความต้องการสูง ก็เป็นไปได้ที่จะผสมสะเก็ดใหม่เข้ากับสะเก็ดที่มีอายุมากแล้ว แต่ในกรณีนี้ควรเป่าผงเข้าไปทางรูจมูกมากขึ้นเมื่อปลูกฝีเสร็จแล้ว”

นีดแฮม ผู้ที่มีความชื่นชอบและศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับจีนให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อความนี้ในลักษณะเดียวกันว่า

“ดังนั้น ระบบทั่วไปคือการเก็บตัวอย่างฝีเป็นเวลาหนึ่งเดือนหรือนานกว่านั้น ที่อุณหภูมิร่างกาย (37 องศาเซลเซียส) หรือน่าจะต่ำกว่า ซึ่งจะมีผลให้ไวรัสประมาณร้อยละ 80 ที่มีชีวิตอยู่ไม่มีปฏิกิริยาทางความร้อน แต่เนื่องจากโปรตีนที่ตายแล้วของมันยังคงอยู่ จึงจะต้องให้สารกระตุ้นเข้มข้นเพื่อไปกระตุ้นผลผลิตอินเตอร์ฟีรอนและแอนติเจนที่ก่อตัวขึ้นเมื่อปลูกฝีเสร็จแล้ว”

สรุปแล้ว ร้อยละ 80 ของเชื้อไวรัสฝีดาษที่ชาวจีนใช้ปลูกฝี เป็นเชื้อที่ตายไปแล้วไม่สามารถทำให้คนเป็นโรคฝีดาษได้ แต่พวกเขาจะกระตุ้นร่างกายให้ผลิตแอนติบอดี้มาต่อต้านโรคฝีดาษและสารอิเตอร์ฟีรอน ซึ่งช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันโดยรวม

ดังนั้น มีเชื้อไวรัสเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่ยังมีชีวิตอยู่ และเป็นชนิดที่ทำให้อ่อนลงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ รวมทั้งเป็นเชื้อโรคที่ไม่รุนแรง การปลูกฝีแบบเดิมของจีนจึงปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และเชื้อทุกก้อนที่จะนำมาปลูกได้ถูกลดทอนให้อ่อนลงมาก

การปลูกฝีป้องกันโรคฝีดาษในประเทศจีนเป็นที่รู้จักและมีการปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายในช่วงปี 1567 – 1572 ต่อมาพบบทบรรยายสมจริงเรื่องการรักษาที่บันทึกไว้โดย “อวี้ชาง” ในหนังสือของเขาชื่อ “Miscellaneous Ideas in Medicine” เมื่อปี 1643

เทมเพิล บรรยายต่อมาว่า ศตวรรษที่ 17 การปลูกฝีแพร่กระจายสู่พื้นที่แถบตุรกี ซึ่งทำให้ชาวยุโรปได้พบเห็นและให้ความสนใจ ท่านผู้หญิงแมรี่ วอร์ทลีย์ มอตากู (ปี 1689 – 1762) ภริยาทูตอังกฤษประจำเมืองคอนสแตนติโนเปิล ยอมให้ครอบครัวได้รับการ “วางเชื้อ” (Variolated) เมื่อปี 1718 ซึ่งสี่ปีก่อนหน้านั้น อี. ทีโมนี่ ได้ตีพิมพ์เรื่องราวเกี่ยวกับการปลูกฝีเผยแพร่ในกรุงลอนดอน สองปีให้หลัง เจ. พิลารินี่ ก็ตีพิมพ์เรื่องราวเพิ่มเติมที่มาจากแหล่งเดียวกัน ดังนั้น จึงมีการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ในกรุงลอนดอน และท่านผู้หญิงแมรี่คงได้แรงบัลดาลใจจากที่นั่นจึงกล้าตัดสินใจดังกล่าว

ปี 1721 การวางเชื้อ (ตอนนั้นเรียกว่า ‘การปลูกถ่ายเชื้อ’) เริ่มปฏิบัติกันอย่างกว้างขวางในยุโรปเพื่อป้องกันโรคฝีดาษ การมีวัคซีนป้องกันและวิทยาศาสตร์ด้านภูมิคุ้มกันวิทยาที่ได้รับการพัฒนาขึ้นภายหลัง เทมเพิล เชื่อว่า คงได้รับเทคนิควิธี ความรู้จากการปลูกฝีที่ถ่ายทอดมาจากประเทศจีนอยู่ไม่น้อย


อ้างอิง : เทมเพิล, โรเบิร์ต. ต้นกำเนิด 100 สิ่งแรกของโลก – The Genius of China. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554. พงศาล มีคุณสมบัติ, ผู้แปล.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2563