เบื้องหลังปธน.อเมริกันเยือนสยามสมัยรัชกาลที่ 5 เผยวาระซ่อนเร้นบนเวทีการเมืองโลก

รัชกาลที่ 5 ทรงต้อนรับนายกร้านท์และภริยา ณ พลับพลาหน้าพระที่นั่ง ภายในพระบรมมหาราชวัง พ.ศ. 2422

กรุงรัตนโกสินทร์มีความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกมาหลายร้อยปี แต่ถ้าถามคนสมัยปัจจุบันว่าคนไทยคุ้นเคยกับฝรั่งชาติใดมากที่สุด คำตอบน่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา เพราะชาวอเมริกันแสดงความเป็นมิตรกับไทยมาตั้งแต่ต้นและไม่เคยแสดงท่าทีเบียดเบียนคนไทย

ทว่าในเชิงประวัติศาสตร์แล้วเรากลับรู้จักคนอเมริกันน้อยมาก ผู้นำประเทศที่เคยมาปรากฏตัวในราชสำนักไทยคนหนึ่ง เขาเป็นถึงประธานาธิบดี และเคยเดินทางเข้ามาแสดงสุนทรพจน์ต่อพระพักตร์รัชกาลที่ 5 มาแล้ว เขาเป็นใครและอะไรคือสาเหตุของการมา?

เมื่อเอ่ยชื่อคนอเมริกันต่อไปนี้ คนไทยจำนวนไม่น้อยอาจจะเคยได้ยินชื่อผ่านหูมาบ้าง เช่น หมอบรัดเลย์ (Dr. Bradley) หมอเฮ้าส์ (Dr. House) และหมอมัตตูน (Dr. Mattoon) 3 ท่านนี้เป็นหมอสอนศาสนาที่เราเรียกมิชชันนารี มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นผู้ริเริ่มการรักษาโรคแผนใหม่ เช่น การผ่าตัด การฉีดวัคซีน หมอบรัดเลย์ยังคิดสร้างเครื่องพิมพ์ดีดไทย และผลิตหนังสือพิมพ์ให้คนไทยได้อ่าน แต่คนกลุ่มนี้ก็เป็นเพียงสามัญชน ที่คลุกคลีอยู่กับประชาชนในระดับล่างเท่านั้น

ชาวอเมริกันชุดหลังที่เดินทางตามชุดแรกเข้ามาห่างกันครึ่งศตวรรษ หากมีบทบาทอย่างมากทางการเมือง มีอาทิ ดร. เอดเวิร์ด สโตรเบล (Dr. Edward Strobel) นายเวสเตนการ์ด (Jen I. Westengard) และ ดร. บี. แซร์ (Dr. Francis B. Sayre) แต่ 3 ท่านนี้ก็มิได้เป็นผู้เบิกทางตัวจริงในสมัยของท่าน ยังมีบุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งเป็นผู้บุกเบิกหนทางไว้ให้แก่คนรุ่นหลัง ท่านคือประธานาธิบดีคนที่ 18 ของสหรัฐ มีนามว่า ประธานาธิบดีกร้านท์ (President Ulysses S. Grant)

นายกร้านท์เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2422 (ค.ศ. 1879) และใช้เวลา 6 วันอยู่ที่นี่ ระหว่างวันที่ 11-16 เมษายน ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ต่อไปจะเรียกสั้นๆ ว่ารัชกาลที่ 5 – ผู้เขียน) และได้สร้างภาพพจน์แห่งมิตรภาพและความน่าเชื่อถือไว้จนพัฒนาเป็นบรรทัดฐานของความสัมพันธ์ระยะยาวในสมัยต่อๆ มา

กร้านท์ ก็คือ นายพลกร้านท์ (General Grant) อดีตแม่ทัพฝ่ายเหนือในสมัยของประธานาธิบดีลิงคอล์น กร้านท์สร้างวีรกรรมในฐานะวีรบุรุษแห่งชาติในสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐอเมริกันฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ อันเนื่องมาจากการขัดผลประโยชน์ระหว่างคน 2 ฝ่าย และความต้องการจะเลิกทาสของคนอเมริกันฝ่ายเหนือ ซึ่งตัดสินกันด้วยสงคราม โดยที่ฝ่ายเหนือเป็นผู้มีชัยชนะ ซึ่งนอกจากจะสามารถยกเลิกระบบทาสได้แล้ว ชาวภาคเหนือยังเป็นผู้ควบคุมนโยบายหลักของรัฐบาลกลางในการบริหารงานของประเทศทันทีที่สงครามยุติ [3]

เรือธงบริวาร นำเรือริชมอนด์ (ลำกลาง) ออกสู่ทะเล

ภาพลักษณ์และสาเหตุการมาเยือนของนายกร้านท์

ผู้เขียนสนใจเรื่องความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐมาเป็นเวลานาน และได้ค้นคว้าเรื่อยมาถึงความต่อเนื่อง ภายหลังที่ทราบว่าประธานาธิบดีอเมริกันคนหนึ่งก็เคยเดินทางเข้ามายังบางกอก ปัญหามีอยู่ว่าประวัติศาสตร์ไทยมิได้บันทึกเรื่องนี้เอาไว้เลย จึงได้เริ่มสืบหาข้อมูลจากต้นทางซึ่งน่าจะมีอยู่บ้าง ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีหนังสืออยู่ 4 เล่ม ที่เขียนเรื่องกร้านท์มาเยือนกรุงเทพฯ แต่ข้อมูลจำเพาะนี้ก็ระบุอยู่ภายใต้ประเด็นหลักของหนังสืออ้างถึงการเดินทางรอบโลกของเขา และมีอยู่เล่มเดียวเท่านั้นที่มีภาพประกอบ

“คำนำ” ของหนังสือทั้ง 4 เล่มเขียนตรงกันว่า มันเป็นเหตุการณ์สำคัญเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์โลกสมัยใหม่ โดยที่ตั้งแต่ยุคของพระเจ้านโปเลียนที่ 1 สิ้นสุดลงก็ยังไม่มีใครสามารถสร้างชื่อเสียงได้อีกเช่นกร้านท์ ชัยชนะของนายพลท่านนี้ได้ทำให้อเมริกาอยู่รอดปลอดภัย ท่านจึงเป็นที่ยกย่องสรรเสริญของชาวอเมริกันทั้งมวล [4]

เป็นครั้งแรกที่พรรคการเมืองยักษ์ใหญ่ของประเทศคือทั้งพรรคเดโมแครต (Democrat) และพรรครีพับลิกัน (Republican) ต่างพอใจส่งนายพลกร้านท์ แม่ทัพของฝ่ายเหนือเข้ารับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี เนื่องจากกร้านท์เป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ในฐานะผู้รักษาความเป็นเอกภาพในชาติ ทำให้เขาเรียกคะแนนนิยมสูงสุดจากประชาชนมาครองได้โดยง่าย ภาพลักษณ์ใหม่ในตำแหน่งผู้นำประเทศทำให้เขาถูกมองว่าเป็นผู้คุมชะตาโลกเช่นกันโดยไม่ลำบากนัก

พระราชินีวิกตอเรียทรงต้อนรับเขาในอังกฤษดั่งญาติสนิท และพี่น้องร่วมสายโลหิตแองโกล-แซ็กซัน จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ของยุโรป มหาราชาแห่งอินเดีย พระเจ้ากรุงสยาม และพระเจ้ากรุงญี่ปุ่น เป็นตัวอย่างของผู้ต้องการพบกร้านท์ และฝากตัวกับท่านประธานาธิบดี ในฐานะผู้นำชาติมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก

สาเหตุหลักของการมา ก็เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ตนเองต่อโลกภายนอกโดยการเที่ยวรอบโลก ภายหลังที่ต้องตรากตรำกับสงครามกลางเมืองยาวนานถึง 8 ปี และการที่ต้องรับภาระหนักในตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกันติดต่อกันถึง 2 สมัย อีก 8 ปี ระหว่าง ค.ศ. 1868-76 [2] และ [5]

ชาวอเมริกันหลายหมื่นคนมาส่งท่านที่ท่าเรืออย่างอาลัยอาวรณ์ และใจจดใจจ่ออยู่กับสถานที่ต่างๆ ที่ท่านจะนำธงชาติอเมริกันไปเยือน หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของอเมริกาคือ THE NEW YORK HERALD ได้ส่งนายยัง (John Russel Young) บรรณาธิการอาวุโสผู้มีชื่อเสียงให้ติดตามไปทำข่าวอย่างใกล้ชิด ตลอดแผนการเดินทาง 2 ปีเต็ม (ค.ศ. 1877-79) อันเป็นสิ่งที่ผู้นำโลกในอดีตไม่เคยกระทำมาก่อน

วันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1877 เรือโดยสารชื่อ Indiana นำกร้านท์และภริยาพร้อมด้วยผู้ติดตามกลุ่มหนึ่งออกเดินทางจากฟิลาเดลเฟีย ท่ามกลางเสียงปืนใหญ่ยิงสลุต 21 นัด เรือแล่นข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกสู่ไอร์แลนด์และอังกฤษ เพื่อต่อรถไฟท่องยุโรปในฐานะแขกของรัฐบาลเบลเยียม สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี อียิปต์ อิสราเอล ตุรกี กรีก ฮอลแลนด์ ปรัสเซีย (เยอรมนี) เดนมาร์ก นอร์เวย์-สวีเดน รัสเซีย ออสเตรีย-ฮังการี สเปน โปรตุเกส จากนั้นจึงต่อเรือเดินสมุทรอีกครั้งมุ่งหน้าสู่อินเดีย พม่า สิงคโปร์ สยาม จีน และญี่ปุ่น

เมื่อมาถึงสิงคโปร์ แผนเดิมคือจับเรือมุ่งหน้าตรงไปเมืองจีนเลย แต่พระราชสาส์นฉบับหนึ่งจากรัชกาลที่ 5 แห่งสยามส่งมายังกร้านท์ที่สิงคโปร์ ทำให้เขาเปลี่ยนแผนโดยกะทันหัน พระราชสาส์นฉบับนั้นเชื้อเชิญให้กร้านท์แวะมาเยือนบางกอกในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ ดังนั้นในวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1879 (พ.ศ. 2422) กร้านท์และคณะก็ได้มากับเรือโดยสารประจำทางชื่อ Kongsee (กงสี) สู่กรุงเทพฯ [4]

ที่ท่าราชวรดิฐ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ฯ ทรงรอต้อนรับคณะของกร้านท์ แล้วทรงนำท่านเข้าพัก ณ พระราชวังสราญรมย์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวัง ในวันรุ่งขึ้นกร้านท์มีกำหนดการเข้าเยี่ยมคำนับบุคคลผู้มากด้วยอิทธิพลทางการเมืองคนหนึ่งของประเทศสยาม เขาก็คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

กร้านท์เข้าเยี่ยมคำนับสมเด็จเจ้าพระยาฯ

การเยี่ยมเยือนสมเด็จเจ้าพระยาฯ หรืออดีตผู้สำเร็จราชการแผ่นดินระหว่าง 5 ปีแรกในรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2411-16 นับเป็นข้อมูลที่หาอ่านยากชิ้นหนึ่ง ในเวลานั้นสมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้หมดภาระหน้าที่ปกครองประเทศไปแล้ว ภายหลังรัชกาลที่ 5 ทรงบรรลุนิติภาวะมีพระชนมายุ 20 พรรษาบริบูรณ์ นับจากนี้ท่านจะมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินเท่านั้น แต่ก็ยังเป็นผู้มีอิทธิพลที่สุดในคณะรัฐบาล

ภารกิจและชื่อเสียงของท่านโด่งดังแค่ไหน นักประวัติศาสตร์หลายท่านก็เคยบรรยายไปมากแล้ว ในที่นี้จะกล่าวเพียงว่ากิตติศัพท์ของท่านยังเป็นที่รู้จักกันในต่างประเทศ ผู้นำชาวต่างชาติมักจะถือเป็นเกียรติที่จะขอเข้าเยี่ยมคำนับในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส และแน่นอนที่การพบปะแต่ละครั้งจะทำให้คนแปลกหน้าได้ “ข้อมูลเชิงลึก” ออกไป การมาของนายกร้านท์ ทำให้เราได้ทราบความรู้สึกของคนไทยโบราณที่มีต่อคนอเมริกัน

ประธานาธิบดีกร้านท์ (President Ulysees S. Grant) เป็นผู้นำประเทศสหรัฐอเมริกาถึง 2 สมัย ติดต่อกัน 8 ปี

ในปี พ.ศ. 2422 สมเด็จเจ้าพระยาฯ อยู่ในวัยชรา อายุ 72 ปีแล้ว แต่ก็ยังแข็งแรงและกระฉับกระเฉง ท่านได้แสดงวิสัยทัศน์ในฐานะนักการเมืองอาชีพได้หนักแน่นแม่นยำ เรายังเห็นได้ว่าการที่กร้านท์มาถึงบางกอกในเย็นวันแรก แล้วขอเข้าพบสมเด็จเจ้าพระยาฯ ทันทีในเช้าวันรุ่งขึ้นก่อนใครทั้งหมด ชี้ชัดว่าท่านเป็นผู้มีบารมีเพียงใดในสายตาของกร้านท์ บันทึกการเข้าพบเขียนไว้ในลักษณะ “การสัมภาษณ์” แบบพูดจาโต้ตอบกันของชนชั้นผู้นำที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นักข่าวอเมริกันเขียนว่า

…ชายชราผู้นี้เป็นคนสำคัญระดับแนวหน้าของประเทศทีเดียว เขาเป็นขุนนางในระบอบเก่าที่ทรงอิทธิพลที่สุด และเป็นสหายของพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อน (คือรัชกาลที่ 4) ในรัชกาลปัจจุบันเขาเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน (Regent) ในระยะ 5 ปีแรก และด้วยอิทธิพลของเขานี่เองทำให้รัชกาลปัจจุบันปราศจากเสี้ยนหนาม ทุกวันนี้เขาดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี ทั้งยังปกครองดูแลหลายจังหวัดทางภาคใต้ (คือ ราชบุรี เพชรบุรี และกาญจนบุรี เป็นต้น – ผู้เขียน) มีอาญาสิทธิ์ขาดสั่งให้คนไปตายได้ เสียงของเขาทำให้รัฐบาลต้องรับฟัง ครึ่งหนึ่งเป็นเพราะผ่านโลกมามาก อีกครึ่งหนึ่งเพราะความอาวุโสในหน้าที่การงาน

เรือของเราเคลื่อนเข้าเทียบท่าหน้าคฤหาสน์หลังใหญ่ของท่านรีเย้นท์ (คือผู้สำเร็จราชการฯ – ผู้เขียน) รอคอยอยู่ที่ท่าในชุดครึ่งยศประดับเหรียญตราเต็มหน้าอก ข้างหลังเขามีนายชานด์เลอร์ (Mr. Chandler) ชาวอเมริกันผู้อาศัยอยู่ในประเทศนี้เป็นเวลาหลายปี และรู้ภาษาไทยดี รีเย้นท์เป็นคนรูปร่างเล็กแต่ล่ำสัน ตัดผมเกรียนรอบศีรษะ เป็นผู้มีสีหน้าเคร่งขรึมอยู่เสมอ

รีเย้นท์เดินเข้ามาสัมผัสมือกับท่านกร้านท์ แล้วนำขึ้นไปยังห้องรับแขกอันหรูหรา ที่หน้าคฤหาสน์มีกองทหารจำนวนหนึ่งทำวันทยาวุธ มีกองดุริยางค์เล่นเพลงรักชาติของเรา (เพลง Star – Spangled Banner) ต่อด้วยเพลงชาติ (Hail, Columbia) เสียงดังกระหึ่มไปทั่วบริเวณ

รีเย้นท์เป็นคนมีวาจาสิทธิ์ พูดช้าๆ แต่หนักแน่น น้ำเสียงมีพลัง พูดไปพลาง คิดไปด้วย ในระหว่างการสนทนาเด็กรับใช้เสิร์ฟน้ำชาจีนอย่างดี และซิการ์คิวบาที่มีราคาแพง หลังจากครุ่นคิดอย่างรอบคอบอีกครั้ง รีเย้นท์ก็ได้กล่าวต้อนรับอย่างมั่นใจว่าชาวอเมริกันเป็นพันธมิตรของสยาม

ท่านกร้านท์กล่าวชมเชยความพยายามของผู้นำสยามที่ต้องการเปิดประเทศค้าขายกับชาวตะวันตกอย่างเสมอภาค รีเย้นท์รับฟังคำสดุดีอย่างแช่มชื่น ด้วยสีหน้าภาคภูมิใจแล้วจึงกล่าวตอบในลักษณะให้สัมภาษณ์ว่า

“สยามอาจจะแปลกประหลาดในสายตาคนภายนอก เราแทบจะไม่อยู่ในสายตาของผู้นำตะวันตกเลย เพราะเราไม่ได้อยู่บนเส้นทางผ่านของการพาณิชย์นาวี แต่เราก็เป็นชาติรักสงบ และไม่ชอบความก้าวร้าว จึงไม่มีนโยบายต่อต้านชาวตะวันตก เราตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างอิทธิพลของมหาอำนาจทั้ง 2 ชาติ คือ อังกฤษและฝรั่งเศส เราจึงผูกมิตรกับทั้งสองฝ่ายบนพื้นฐานแห่งมิตรภาพและภราดรภาพ

บางทีมันอาจดูเหมือนว่าเราอ่อนแอ แต่มันเป็นนโยบาย เราต้องการรักษาเอกราชและอธิปไตยของเราไว้ โดยมิต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้มันมา แต่คนภายนอกก็ต้องมีมานะกับเราบ้าง เราเป็นชาติโบราณ และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทันทีทันใดตามความต้องการของชาติมหาอำนาจ ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป เรามีความเชื่อเป็นของเราเอง แต่เราก็มีใจให้อเมริกาเสมอมา” [4]

เพิ่งไม่กี่ปีมานี่เองที่พระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินถูกจำกัดอำนาจลงภายหลังการก่อตั้งสภาองคมนตรี อันเป็นแนวคิดของรีเจ้นท์โดยตรง เพื่อประคับประคองและสนับสนุนพระเจ้าแผ่นดินในขณะที่ยังทรงพระเยาว์ เรารู้สึกได้ว่าอำนาจขององคมนตรียังมีอยู่ ก็ที่ตัวรีเจนท์นี่เอง [2] และ [5]

วาระซ่อนเร้นจากการมาเยือนของประธานาธิบดีอเมริกัน

มีข้อควรสังเกตเกี่ยวกับการมาของกร้านท์ในครั้งนี้คือ มันมิได้เป็นจุดประสงค์แต่แรกเริ่มของกร้านท์ที่จะแวะเยือนกรุงเทพฯ เลย แผนเดิมคือแล่นเรือตรงจากสิงคโปร์ไปฮ่องกง ดังข้อความในบันทึกการเดินทางระบุว่าการมาสยามเป็นโปรแกรมเยือนราชอาณาจักรที่ไม่มีความสำคัญเท่าใดนัก (An Insignificant Kingdom)

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งที่สนับสนุนความเข้าใจดังกล่าวคือ การที่เรือประจำตำแหน่ง (ชื่อเรือ Richmond) ต้องจอดรออยู่ที่ท่าสิงคโปร์เพื่อเตรียมตัวเดินทางไกลไปเมืองจีน ในขณะที่กร้านท์แยกมาลงเรือโดยสารขนาดเล็กชื่อ Kongsee ที่วิ่งประจำทางกรุงเทพฯ-สิงคโปร์เข้ามาแทน และท่านมีเวลาจำกัดเพียง 6 วันเท่านั้นในกรุงเทพฯ

โปรแกรมกรุงเทพฯ จึงเป็นโปรแกรมแทรกที่ฉุกละหุกและไม่น่าสนใจเท่าใดนัก โดยให้ลดสถานที่เที่ยวและลดการเลี้ยงรับรองลงเพื่อให้โปรแกรมกระชับที่สุด ดังนั้นถ้าพระราชสาส์นของรัชกาลที่ 5 ไม่ได้มาถึงมือกร้านท์ก่อน ท่านคงไม่คิดจะมา! จึงเป็นความกระตือรือร้นของคนไทยฝ่ายเดียวต่อการต้อนรับครั้งนี้

วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2422 เวลา 15.00 น. กร้านท์และคณะได้เข้าเฝ้ารัชกาลที่ 5 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม (องค์เก่า) ในวันนั้นราชรถม้าถูกส่งไปรับกร้านท์ถึงพระราชวังสราญรมย์ เพื่อนำเข้ามายังพระบรมมหาราชวัง รัชกาลที่ 5 ทรงรอรับกร้านท์ที่บันไดด้านหน้า (ดูภาพประกอบ) แล้วนำคณะเข้าสู่ท้องพระโรงกลางในบรรยากาศที่ชาวอเมริกันบันทึกว่าตกแต่งแบบฝรั่งเศสจนดูเหมือนอยู่ในพระราชวังลูฟวร์แห่งปารีส

สิ่งที่สะดุดตาคือรูปปั้นครึ่งตัว (Bust) ของบรรดาผู้นำโลกตกแต่งอยู่ภายใน มีรูปปั้นของกร้านท์อยู่ด้วย แต่ไม่ค่อยเหมือนตัวจริงนัก เข้าใจว่าเป็นฝีมือของช่างปั้นฝรั่งเศสหรืออังกฤษ ที่ถอดแบบจากภาพถ่าย รัชกาลที่ 5 ทรงเจริญพระชันษาเข้าวัยหนุ่ม พระชนมายุ 26 พรรษา ในทัศนะของกร้านท์ พระองค์เป็นคนว่องไว กระฉับกระเฉง และฉลาดล้ำลึก [5]

ตอนบ่ายวันรุ่งขึ้น รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ มาเยี่ยมตอบแทนกร้านท์ถึงพระราชวังสราญรมย์ การเยี่ยมตอบแทนมีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ เพราะไม่บ่อยนักที่พระเจ้าแผ่นดินจะต้องเสด็จฯ กลับมาเยือนพระราชอาคันตุกะของพระองค์ซ้ำสอง มันแสดงถึงการให้ความสำคัญแก่บุคคลนั้นเป็นกรณีพิเศษ ในการพบกันครั้งหลังมีพระราชปฏิสันถารกับกร้านท์ ดังที่มีผู้จดบันทึกไว้ว่า

กร้านท์ : ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้รับในครั้งนี้

รัชกาลที่ 5 : ข้าพเจ้าก็หวังว่าท่านประธานาธิบดีจะพอใจ และถ้าหากท่านมีประสงค์จะได้ชม หรือต้องการสิ่งใดในสยามแล้วก็โปรดแจ้งให้ทราบด้วย ข้าพเจ้าจะยินดีมากหากได้สนองความประสงค์นั้น

กร้านท์ : ข้าพระพุทธเจ้าขอขอบพระทัยในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อข้าพระพุทธเจ้าและคณะ

รัชกาลที่ 5 : การมาของท่านในครั้งนี้ นำความปลาบปลื้มมายังเรา เพราะมิใช่รัชกาลของเราเท่านั้น แต่ครั้งรัชกาลของพระบรมชนกนาถของเราแล้ว ที่สยามได้พึ่งพาประเทศของท่าน สยามมิได้มองเพียงว่าอเมริกาเป็นประเทศใหญ่เท่านั้น แต่ยังเป็นมิตรที่ยิ่งใหญ่อีกด้วย เนื่องจากอเมริกาไม่มีความทะเยอทะยานในทวีปเอเชียของเรา ทำให้คนในเขตนี้เบาใจเมื่อรำลึกถึงท่าน

อิทธิพลและผลงานของชาวอเมริกันในประเทศนี้มีบทบาทในทางที่ดีและมีคุณค่าสำหรับเราเสมอมา พวกมิชชันนารีให้ความรู้ทั้งศิลปะวิทยาการและทักษะด้านเครื่องจักรกล เป็นที่น่ายกย่อง เราภูมิใจที่จะกล่าวสรรเสริญกับท่านด้วยตนเอง

กร้านท์ : อเมริกาตั้งเป็นนโยบายมานานแล้วที่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของนานาประเทศ นโยบายดังกล่าวได้กลายเป็นประเพณีปฏิบัติของเรา ประสบการณ์ที่ผ่านมาสนับสนุนปรัชญาของเราเป็นอย่างดี อเมริกาต้องการพลังจากพลเมืองเพื่อการพัฒนาและสร้างความศิวิไลซ์บนโลกนี้ ผลพลอยได้จากการเปิดตลาดในตะวันออกไกลก็เป็นประโยชน์อย่างมหาศาลต่อสินค้าของเรา นอกเหนือจากเหตุผลด้านการค้าแล้ว เราก็มิได้มีความปรารถนาด้านการเมืองเลย

รัชกาลที่ 5 : ข้าพเจ้าหวังว่าการค้าและพาณิชย์ระหว่างประเทศของเราจะเพิ่มพูนต่อไปอีก สยามเป็นดินแดนที่มั่งคั่งด้วยทรัพยากร แต่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับความรู้ที่จะนำทรัพย์ในดินขึ้นมาใช้ เรามีเนื้อที่กว้างใหญ่ไพศาล แต่ประชากรเพียงน้อยนิด ทำให้การพัฒนาทรัพยากรเป็นไปอย่างเชื่องช้า และไม่มีประสิทธิภาพ

กร้านท์ : ข้าพระพุทธเจ้าเข้าใจปัญหานี้ดี และคิดว่าอุปสรรคน่าจะหมดไปถ้าใช้แรงงานที่มีคุณภาพเข้ามาดำเนินการ อย่างเช่น การทำเหมืองแร่ เรามีผู้ชำนาญงานจากรัฐเนวาดาและแคลิฟอร์เนีย ผู้สามารถชี้แหล่งแร่ธาตุได้ และมีเครื่องยนต์กลไกเฉพาะทางที่ทันสมัยที่สุดในแถบตะวันตก

รัชกาลที่ 5 : ตลอดเวลาที่ผ่านมาชาวสยามดำเนินชีวิตแบบอนุรักษนิยม และจะไตร่ตรองทุกๆ เรื่องด้วยความรอบคอบ นโยบายของเราด้านการต่างประเทศก็มิได้สลับซับซ้อนอะไร เราต้องการอยู่ร่วมกับประเทศมหาอำนาจอย่างสงบสุข และพัฒนาบ้านเมืองไปเรื่อยๆ เราไม่สามารถแข่งขันหรือเทียบชั้นกับชาติมหาอำนาจได้ เราจึงอยู่อย่างสงบเสงี่ยมเจียมตัว และเชื่อมั่นว่าประเทศมหาอำนาจจะให้ความยุติธรรมแก่เรา

สถานภาพเช่นนี้บางทีทำให้เกิดเข้าใจผิดว่า เราอ่อนแอและยอมไปหมดทุกเรื่อง ซึ่งไม่จริงเลย แต่ข้าพเจ้าคิดว่าเราได้เดินทางไปในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว ถ้ามองย้อนกลับไปเราก็ไม่มีอะไรต้องเสียใจเลย ชาติมหาอำนาจต่างก็เข้าใจในจุดยืนของเราดี และให้กำลังใจเราเสมอมา

รัชกาลที่ 5 : ข้าพเจ้ามีความสนใจเกี่ยวกับชาวจีนในอเมริกา พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไรบ้าง?

กร้านท์ : ในอเมริกา มีกลุ่มชนชาวจีนขนาดใหญ่อาศัยอยู่ ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงาน แต่คนอเมริกันเองก็มีความรู้สึกต่อชาวจีนแตกต่างกันไป บ้างก็ว่าพวกเขามีลักษณะเป็นทาสเช่นชาวแอฟริกัน บ้างก็ว่าพวกเขาเป็นแรงงานต่างด้าว

รัชกาลที่ 5 : ข้าพเจ้าอยากทราบว่าชาวจีนที่นั่นพาภรรยาและครอบครัวเข้ามายังอเมริกาด้วยหรือไม่ และมีความผูกพันกับแผ่นดินใหม่อย่างไร?

กร้านท์ : พวกที่มาส่วนใหญ่เป็นชายโสด ทำให้เกิดช่องว่างในสังคมทั่วไป ในฐานะผู้ใช้แรงงานพวกเขามีคุณภาพ และเราก็ต้องการแรงงานเช่นนี้ ในอเมริกามีงานมากมายรอพวกเขาอยู่

รัชกาลที่ 5 ขณะมีพระชนมายุ 26 พรรษา ทรงต้อนรับประธานาธิบดีกร้านท์ในกรุงเทพฯ พระราชสาส์นของพระองค์ทำให้กร้านท์ตัดสินใจเปลี่ยนแผนเดิม ในวันหนึ่งข้างหน้าพระองค์จะทรงวางแผนเสด็จประพาสอเมริกา ตามคำเชิญของกร้านท์

รัชกาลที่ 5 : ชาวจีนในประเทศสยามก็เช่นเดียวกัน พวกเขามิได้นำภรรยาหรือครอบครัวมาด้วย แต่พวกเขาก็มีลักษณะที่ดีติดตัวมา แล้วชาวจีนในอเมริกาต้องเสียภาษีให้รัฐบาลหรือไม่?

กร้านท์ : ในอเมริกาเราไม่เรียกเก็บภาษีจากชาวจีนผู้ใช้แรงงาน [แต่ในสยามชาวจีนต้องเสียภาษีแก่รัฐหรือที่เรียกผูกปี้ – ผู้เขียน] ในรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งมีชาวจีนอยู่มากข้าพเจ้าไม่แน่ใจ แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่า เราไม่เคยเก็บภาษีพวกเขา ในซานฟรานซิสโกพ่อค้าชาวจีนต้องเสียภาษีอากรและภาษีโรงเรือน ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่ความลำบากสำหรับพวกเขา เพราะพวกเขาไม่มีครอบครัวให้ต้องเป็นภาระ

กร้านท์ : ข้าพระพุทธเจ้าทราบว่าสยามจัดตั้งสถานทูตและสถานกงสุลในต่างประเทศหลายแห่ง จะเป็นความคิดที่ดีถ้าสยามจะแต่งตั้งผู้แทนในอเมริกาบ้าง

รัชกาลที่ 5 : ข้าพเจ้าเป็นกังวลในเรื่องนี้มานานแล้ว เพราะงบประมาณของเรามีจำกัดจนถึงเวลานี้ เราไม่สามารถจัดตั้งผู้แทนของเราในทุกๆ ประเทศที่เราติดต่อได้ดังเช่นประเทศที่ร่ำรวยกระทำ แต่เราก็จะดำเนินการกับรัฐบาลของท่านในไม่ช้า

กร้านท์ : ขณะนี้ข้าพระพุทธเจ้ามิได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ณ ทำเนียบ แต่ก็แน่ใจว่ารัฐบาลอเมริกันจะต้อนรับคณะทูตจากสยามด้วยความยินดียิ่ง

รัชกาลที่ 5 : ข้าพเจ้าพอใจกับข้อเสนอจากท่าน และเชื่อมั่นเสมอมาว่า ชาวอเมริกันเป็นชนชาติที่ไว้วางใจได้เสมอ

กร้านท์ : ข้าพระพุทธเจ้าหวังว่าพระองค์ท่านจะเสด็จฯ มาเยือนอเมริกาในอนาคตอันใกล้ และข้าพระพุทธเจ้าจะยินดีมากถ้าจะได้มีโอกาสรับเสด็จและตอบแทนความมีน้ำพระทัยของพระองค์

รัชกาลที่ 5 : ข้าพเจ้าขึ้นครองราชย์ในวัยเยาว์ และต้องรับภาระมากมายในการบริหารแผ่นดิน ทำให้ไม่มีโอกาสเดินทางไปไกลๆ ได้ แต่วันหนึ่งข้างหน้าข้าพเจ้าก็หวังว่าจะได้ไปเยือนอเมริกา

กร้านท์ : ข้าพระพุทธเจ้าทราบมาว่าพระองค์ท่านได้ส่งคนหนุ่มไปศึกษาต่อในเยอรมนีและอังกฤษ สยามน่าจะส่งพวกเขาไปยังอเมริกาบ้าง ผู้นำในประเทศแถบเอเชีย เช่น จีนและญี่ปุ่น ต่างก็ให้ความเชื่อมั่นในสถาบันการศึกษาของเรา

รัชกาลที่ 5 : ข้าพเจ้าตั้งใจว่าจะส่งคนหนุ่มไปศึกษาต่อในอเมริกาแน่นอน และเมื่อมีโอกาสก็จะระลึกถึงคำแนะนำของท่านเป็นอันดับแรก [5]

คำสนทนาของผู้นำประเทศที่ยิ่งใหญ่ทั้งสองเป็นการเปิดเผยท่าทีและนโยบายภายในของแต่ละฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเป็นชาติมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่จากตะวันตก อีกฝ่ายหนึ่งเป็นมหาอำนาจขนาดเล็กประจำภูมิภาค แต่ฝ่ายแรกก็กล้าให้ข้อมูลแบบเปิดอกพูด ในขณะที่ฝ่ายหลังก็กล้าขอข้อมูลแบบใสซื่อ โดยที่ต่างฝ่ายต่างไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ให้เป็นที่กังวลใจ

สิ่งที่ได้ก็คือข้อมูลที่กลั่นกรองแล้ว มีน้ำหนักและเที่ยงธรรม การเชื้อเชิญนายกร้านท์เข้ามา ทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ในแวดวงการเมือง กล่าวคือ การพบปะพูดคุยทำให้การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น เป็นการเปิดโอกาสให้สอบถามข้อมูลใหม่ เพื่อการสานผลประโยชน์ต่อกัน ซึ่งฝ่ายไทยไม่มีโอกาสได้กระทำมาก่อนกับชนชั้นผู้นำสูงสุดของประเทศจากตะวันตก

วิวเมืองบางกอก สมัย พ.ศ. 2422

สุนทรพจน์หน้าพระที่นั่ง

ความสำเร็จของการมาเยือน ได้รับการบันทึกไว้ในวันรุ่งขึ้นเมื่อรัชกาลที่ 5 พระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแก่นายกร้านท์ ภริยาและผู้ติดตามรวมทั้งทูตานุทูตชาวต่างชาติที่ได้รับเชิญมารวมทั้งสิ้น 40 ท่าน

การเลี้ยงส่งครั้งนี้ถูกรายงานว่า มีค่าใช้จ่ายถึง 10,000 ปอนด์ ถ้าจัดในอังกฤษ (ถ้าเทียบ 100 เท่าของค่าเงินปัจจุบัน เท่ากับ 5 ล้านบาทของเงินวันนี้) นับเป็นความอลังการและตื่นตาตื่นใจสำหรับสมัยนั้น ที่ควรกล่าวถึงคือสุนทรพจน์ที่ประมุขของทั้ง 2 ประเทศมีต่อกัน ถือว่าเป็นการประกาศจุดยืนของแต่ละฝ่าย ในสมัยปัจจุบันอาจเรียกว่าเป็นแถลงการณ์ร่วม ซึ่งไม่ค่อยมีปรากฏให้เห็นในอดีตกาล [4] และ [5]

พระราชดำรัสในรัชกาลที่ 5
ในงานพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ
ต้อนรับประธานาธิบดีแห่งสหรัฐ
(15 เมษายน พ.ศ. 2422)

พระบรมวงศานุวงศ์ ท่านสุภาพสตรี และสุภาพบุรุษ ข้าพเจ้าขอแสดงความปีติยินดีต่อการมาเยือนของอาคันตุกะผู้ทรงเกียรติของเราคือท่านประธานาธิบดีแห่งสหรัฐ ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาสยามได้รับประโยชน์มากมายจากสหรัฐ ชาวอเมริกันได้นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการช่างมายังราชอาณาจักรของเรา ตั้งแต่ก่อนที่เราจะเริ่มความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับทางยุโรปเสียอีก สายสัมพันธ์นี้พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นคุณูปการต่อสยาม

บัดนี้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสต้อนรับผู้นำของสหรัฐผู้มีชื่อเสียง ซึ่งข้าพเจ้าได้ยินกิตติศัพท์มานาน ท่านได้ให้เกียรติมาเยือนประเทศของเรา และสร้างความสนิทสนมกลมเกลียวให้เกิดขึ้นอีกเป็นทวีคูณ ข้าพเจ้าขอประกาศความเป็นมิตรและความร่วมมือกันในทุกๆ ด้านระหว่างประเทศของเรานับจากนี้และขอเชิญทุกท่าน ณ ที่นี้ ดื่มอวยพรแก่ท่านและชาวอเมริกันทั้งมวลให้มีความสุขความเจริญตลอดไป [4]

จากนั้นนายกร้านท์ได้ลุกขึ้นเพื่อกล่าวตอบ มีใจความว่า

สุนทรพจน์ของประธานาธิบดีกร้านท์
และแถลงการณ์ร่วม

ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกซาบซึ้งในพระราชดำรัสของพระองค์ และการต้อนรับอันอบอุ่นที่ได้รับ ข้าพระพุทธเจ้าถือเป็นโชคดีที่ได้มาเยือนสยาม ด้วยการเชื้อเชิญอันเต็มไปด้วยไมตรีจิต บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นและรู้จักประเทศของพระองค์ดีขึ้นมาก ข้าพระพุทธเจ้าจากบ้านเมืองมาเกือบ 2 ปีเต็ม การมาคราวนี้ได้เปิดหูเปิดตา ให้เห็นในสิ่งที่ควรเห็น และรู้จักสิ่งที่จำเป็นต้องรู้ ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกประทับใจกับความทรงจำที่ได้รับ และแน่ใจว่าความรู้สึกเช่นนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนของทั้ง 2 ประเทศมีต่อกันมาช้านาน

ข้าพระพุทธเจ้าหวังว่าจะได้เห็นสถานทูตอันเป็นผู้แทนของรัฐบาลสยาม และได้เห็นการค้าพาณิชย์ที่ขยายตัวยิ่งขึ้นในอนาคต ข้าพระพุทธเจ้าขอให้คำมั่นว่าอเมริกาจะสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือประเทศสยามในฐานะประเทศที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง และขอดื่มถวายพระพรให้แก่พระองค์ และความพัฒนาถาวรของประเทศและประชาชนชาวสยาม [4]

การฝักใฝ่สหรัฐของผู้นำเอเชีย และจุดยืนที่ไม่แน่นอนของลัทธิมอนโรในสมัยของกร้านท์

ผลจากการเดินทางของนายกร้านท์ในตะวันออกไกล และที่นักข่าวการเมืองให้น้ำหนักมากที่สุด คือการเปิดตัวนโยบายต่างประเทศของสหรัฐในจีนและญี่ปุ่น จีนเป็นดินแดนแห่งความมั่งคั่งและหัวใจของทวีปเอเชีย สหรัฐจำต้องแข่งขันกับมหาอำนาจยุโรปเพื่อให้ได้ส่วนแบ่งจากความร่ำรวยของจีน ในขณะที่ญี่ปุ่นก็เป็นมหาอำนาจขนาดเล็กประจำภูมิภาคที่ต้องเอาใจ สหรัฐไม่ต้องการขัดผลประโยชน์กับญี่ปุ่น แต่ต้องการใช้ญี่ปุ่นสนับสนุนนโยบายของสหรัฐ เพื่อกีดกันมหาอำนาจยุโรปออกไป

ระหว่างการเยือนญี่ปุ่นปลายปี ค.ศ. 1879 นั้นญี่ปุ่นผนวกหมู่เกาะริวกิว (Ryukyu Islands) ของจีนเข้าเป็นเมืองขึ้นของญี่ปุ่น จีนประท้วงอย่างรุนแรง จักรพรรดิมัตสุฮิโตของญี่ปุ่นทรงขอเสียงสนับสนุนทันทีจากนายกร้านท์ ซึ่งอยู่ในโอซากา ให้กร้านท์ช่วยตัดสิน กร้านท์ได้สลัดความเป็นกลาง และถือหางข้างญี่ปุ่น โดยแสดงความเห็นว่าญี่ปุ่นควรเป็นเจ้าของหมู่เกาะริวกิว [1]

ประธานาธิบดีกร้านท์เข้าเฝ้าจักรพรรดิมัตสุฮิโตแห่งญี่ปุ่น

ในญี่ปุ่นนี้เองที่กร้านท์ได้กล่าวสุนทรพจน์โจมตีนโยบายล่าเมืองขึ้นของมหาอำนาจยุโรป โดยพุ่งเป้าไปยังอังกฤษ ท่านกล่าวว่า

“ในทวีปเอเชีย ไม่มีสิ่งใดที่ข้าพเจ้าให้ความสนใจมากไปกว่าศึกษาการขยายอำนาจ และอิทธิพลของมหาอำนาจยุโรป ตั้งแต่ข้าพเจ้าออกมาจากอินเดีย มีหลายอย่างที่ทำให้เลือดในตัวข้าพเจ้าเดือดพล่าน ชาวยุโรปช่างดูถูกชาวเอเชียและพยายามทุกวิถีทางที่จะกำจัดอำนาจของผู้นำท้องถิ่นและลิดรอนเอกราชรวมทั้งอำนาจอธิปไตยของพวกเขา การกระทำเช่นนี้ต้องยุติโดยเร็ว…ข้าพเจ้าได้รายงานเรื่องอันเลวร้ายนี้ไปยังรัฐบาลของข้าพเจ้า ซึ่งชาวอเมริกันก็มีความคิดเห็นเช่นเดียวกับข้าพเจ้า” [2]

จากข้อความด้านบนนี้ จึงไม่เกินเลยความจริงที่จะกล่าวว่าการมาของนายกร้านท์ มีเหตุผลทางการเมืองเคลือบแฝงอยู่ การฝักใฝ่สหรัฐของผู้นำเอเชียที่มีขึ้นทุกหัวระแหง มีเหตุผลจากแรงจูงใจที่สหรัฐไม่เห็นด้วยกับนโยบายล่าเมืองขึ้นของยุโรป

นอกจากภาพลักษณ์ทางการเมืองที่ติดตัวท่านไปทุกหนแห่งแล้ว นายกร้านท์ยังมีภารกิจลับของประเทศที่เปิดเผยไม่ได้อีกด้วย กล่าวคือ ท่านเป็นประธานโครงการขุดคลองที่จะเป็นทางลัดเชื่อมต่อมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรแอตแลนติกเข้าด้วยกัน ท่านจึงมีกำหนดที่จะตรงไปยุโรปก่อนเอเชียเพื่อหาข่าวและดูท่าทีรัฐบาลยุโรปต่อโครงการนี้ เพราะต้องได้รับความเห็นชอบและสนับสนุนจากประชาคมยุโรปเป็นประการสำคัญ

หากทำสำเร็จคลองลัดนี้ก็จะช่วยย่นเวลาและทุ่นค่าใช้จ่ายสำหรับเรือเดินสมุทรทั้งในยามสงบและยามสงครามระหว่าง 2 ซีกโลก และจะทำให้ที่ตั้งของทวีปอเมริกาเหนือมีความสำคัญด้านยุทธศาสตร์ทันที ขณะนั้นสหรัฐวางแผนที่จะขุดคลองผ่านรัฐนิการากัว แต่ท้ายที่สุดต้องหันไปขุดในเขตของรัฐปานามาแทน จึงเรียกคลองปานามานับแต่นั้น

คลองปานามา (Panama Canal) นี้เอง เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ผู้นำสหรัฐต้องรีบปรับนโยบายต่างประเทศโดยเร่งด่วน หากยังต้องการจะรักษาอิทธิพลของตนไว้ต่อไปในทวีปอเมริกา แต่อุปสรรคที่บังคับให้สหรัฐปิดตัวเองจากโลกภายนอกจนเกิดกรณีเรื่องคลองปานามาก็คือปฏิญญามอนโร (Monroe Doctrine)(1)

นับตั้งแต่การประกาศเอกราช จนใกล้จะสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 สหรัฐหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องการพัฒนาภายในประเทศของตน และทำสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ จึงมิได้ก้าวก่ายหรือยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางยุโรปทั้งยังเตือนยุโรปไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องภายในอเมริกาเหนืออีกด้วยโดยประกาศปฏิญญามอนโร ใน ค.ศ. 1823 (พ.ศ. 2366) มีใจความว่า

สหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่มีสิทธิครอบครองผลประโยชน์ของทวีปอเมริกา มหาอำนาจยุโรปจะต้องปล่อยให้สหรัฐอเมริกาอยู่ตามลำพังโดยเลิกเกี่ยวข้องกับประเทศเล็กประเทศน้อยในโลกใหม่ คำประกาศนี้แม้ไม่อาจจะยับยั้งการเข้าไปวุ่นวายแสวงหาประโยชน์ของชาติมหาอำนาจได้เด็ดขาดก็ตาม แต่ยุโรปก็ตระหนักว่าบัดนี้ตนกำลังมีคู่แข่งที่น่าวิตกเพิ่มขึ้นอีกชาติหนึ่ง

ในระยะที่ไม่มีมหาอำนาจอื่นใดเข้าไปข้องแวะกับสหรัฐนั้น สหรัฐก็สามารถสร้างฐานอำนาจของตนเองจนมั่นคง จึงมีผลประโยชน์อยู่ทั้งในน่านน้ำแปซิฟิกและทะเลแคริบเบียน สหรัฐใฝ่ฝันจะสร้างคลองลัดผ่านคอคอดในอเมริกากลาง เพื่อจะได้ย่นระยะทางเรือเดินสมุทรจากแอตแลนติกไปแปซิฟิกลงถึง 2 ใน 3 ของเส้นทางเดิม โดยที่ไม่ต้องอ้อมทวีปอเมริกาใต้ และแน่นอนที่คลองลัดนี้จะเป็นจุดยุทธศาสตร์และประตูบานใหม่ที่นำไปสู่ทวีปเอเชีย

ทว่าตามสนธิสัญญาเคลตัน-บุลเวอร์ (Clayton-Bulwer Treaty) ที่ทำใน ค.ศ. 1850 ระบุว่าทั้งอังกฤษและสหรัฐมีสิทธิเท่าเทียมกันในคลองที่จะตัดผ่านคอคอดในอเมริกากลางเท่าๆ กัน แต่สหรัฐก็ปรารถนาจะขจัดอำนาจของยุโรปให้พ้นไปจากทวีปของตน จึงต้องการจะแก้ไขสัญญานี้ให้อังกฤษยอมรับว่าคลองที่จะขุดขึ้นนี้ เป็นของสหรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว

ความต้องการที่จะรักษาสวัสดิภาพของคลองปานามาไว้ ทำให้สหรัฐอเมริกาไม่พอใจที่เห็นประเทศทางยุโรปเข้ามายุ่งเกี่ยวกับบรรดาประเทศในละตินอเมริกา ซึ่งส่วนมากมักจะขาดเสถียรภาพทั้งการเงินและการเมืองจนต้องก่อหนี้สิ้นไว้กับประเทศต่างๆ ในยุโรป ผู้นำอเมริกันเกรงว่าถ้าเกิดมีประเทศใดในบรรดาประเทศลูกหนี้เหล่านี้ ไม่สามารถจะใช้หนี้ของตนได้ก็อาจเป็นสาเหตุให้ประเทศเจ้าหนี้ในยุโรปถือโอกาสแล่นเรือรบเข้ามาทวงหนี้ แล้วอาจเลยยึดครองประเทศนั้นๆ เป็นอาณานิคมของตนเสียเลย เสถียรภาพของสหรัฐอเมริกาก็จะพลอยได้รับความกระทบกระเทือนไปด้วย ผู้นำรุ่นใหม่ภายหลังประธานาธิบดีกร้านท์ จึงตัดสินใจจะสกัดกั้นอำนาจของยุโรปจากทวีปอเมริกาดังที่ปฏิญญามอนโรระบุไว้ โดยการเข้าแทรกแซงกิจการภายในของบรรดาประเทศในละตินอเมริกาเสียเอง

แต่การที่สหรัฐยังเคร่งเครียดอยู่กับปฏิญญามอนโร ในขณะเดียวกันก็ต้องการรักษาฐานอำนาจของตนในอเมริกากลางและใต้ ตลอดจนอยู่เกาะแปซิฟิกต่อไป ทำให้สหรัฐต้องเผชิญหน้ากับมหาอำนาจยุโรปอย่างไม่มีทางเลี่ยง ปฏิญญามอนโรมิใช่ทางออกที่จะขจัดปัญหาต่างๆ ให้หมดสิ้นไป จึงไม่ใช่นโยบายที่มีประโยชน์เมื่อสภาวการณ์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง สำหรับสหรัฐ การปรับตัวเองเสียใหม่ หากทำได้อย่างสง่างามก็ย่อมจะเพิ่มพูนอิทธิบารมีของตนเองให้ยิ่งใหญ่ขึ้นกว่าเดิม

สหรัฐไม่สามารถจะครองตัวอยู่โดดเดี่ยวโดยปราศจากพันธะใดๆ ได้นาน ใน ค.ศ. 1897 (พ.ศ. 2440) สหรัฐอเมริกาถูกเร่งเร้าให้เจรจาทำสนธิสัญญาผนวกฮาวาย ผลก็คือได้รับการต่อต้านเต็มที่จากญี่ปุ่น และใน ค.ศ. 1898 (พ.ศ. 2441) เรือรบของสหรัฐอเมริกาชื่อเมน (Maine) ซึ่งสหรัฐส่งเข้าไปช่วยพิทักษ์ทรัพย์สินและให้ความปลอดภัยแก่คนอเมริกันในกรุงฮาวานา เมืองหลวงของคิวบาเกิดระเบิดขึ้น เป็นผลให้ทหารอเมริกันและลูกเรือ 258 คนเสียชีวิต คนอเมริกันเห็นว่ารัฐบาลสเปนอยู่เบื้องหลัง จึงสนับสนุนให้รัฐบาลของตนตอบโต้และประกาศสงครามกับสเปน นักการเมืองส่วนใหญ่ช่วยกันโฆษณาว่าสงครามจะเปิดโอกาสให้สหรัฐได้สร้างฐานทัพเรือในทะเลแคริบเบียนและมหาสมุทรแปซิฟิก และยิ่งเมื่อสหรัฐดำริจะสร้างคลองลัดผ่านคอคอดในอเมริกากลางด้วยแล้ว ยิ่งจำเป็นจะต้องมีฐานทัพเรือไว้คอยคุ้มครองเส้นทางเข้าคลองนี้

คนอเมริกันส่วนใหญ่เห็นด้วยกับความคิดดังกล่าว ประธานาธิบดีแม็คคินลีย์ (Mac-Kinley) จึงเสนอสารประกาศสงครามกับสเปนต่อรัฐสภาอเมริกันในเดือนเมษายน ค.ศ. 1898 นั่นเอง แล้วส่งกองทัพเรือเข้าโจมตีคิวบาและฟิลิปปินส์ของสเปน รัฐบาลเยอรมันทราบข่าวก็รีบส่งทัพเรือที่ใหญ่กว่าของสหรัฐอเมริกามุ่งตรงไปยังมะนิลา และหวังจะผนวกฟิลิปปินส์เช่นเดียวกับสหรัฐ รัฐบาลอังกฤษ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่นต่างจับตาดูสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สเปนยอมจำนนต่อกองทัพเรืออเมริกันในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1898 ชัยชนะต่อสเปนครั้งนี้ทำให้คนอเมริกันตื่นเต้นและกระหายที่จะได้ลิ้มรสของการล่าเมืองขึ้นอีก แต่ที่สำคัญคือปฏิญญามอนโรถึงกาลอวสานไปโดยปริยาย [1]

ท่าทีของไทยต่อการมาเยือนของกร้านท์

หากพิจารณาจากสมมุติฐานของความน่าจะเป็นก็จะได้ข้อสรุปดังนี้ กร้านท์มิได้เห็นความสำคัญเร่งด่วนในการมาเมืองไทย แต่ในมุมมองตรงกันข้าม การฉวยโอกาสของฝ่ายไทยตีสนิทกับประธานาธิบดีอเมริกัน เป็นนาทีทองของนโยบายเร่งด่วนของการสร้างความสัมพันธ์ในเวลาอันสั้น ถึงแม้ว่าในปี ค.ศ. 1879 (พ.ศ. 2422) ที่กร้านท์เข้ามากรุงเทพฯ นั้นท่านจะพ้นตำแหน่งประธานาธิบดีไปแล้ว

ประวัติศาสตร์ก็ระบุว่าทันทีที่กร้านท์เดินทางกลับถึงสหรัฐ ในต้นปี ค.ศ. 1880 (พ.ศ. 2423) กร้านท์ก็เริ่มกระบวนการหาเสียงครั้งใหม่ทันที เพื่อส่งตัวเองลงสมัครเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 3 ก็ด้วยความเชื่อมั่นว่าผลงานที่ผ่านมาคือคะแนนนิยมของท่านเป็นส่วนตัว ในสายตาของชาวสยามและชาวเอเชียทั่วไปกร้านท์เป็นวีรบุรุษนักสู้ เป็นนักประชาธิปไตยตัวยง จึงเป็นความหวังของคนหมู่มากที่รู้จักท่าน 

เรือของประธานาธิบดีกร้านท์อำลาญี่ปุ่น

การเดินทางมากรุงเทพฯ ของนายกร้านท์เป็นการเปิดศักราชใหม่ของการติดต่อระหว่าง 2 ประเทศที่ขาดตอนไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 และถึงแม้นายกร้านท์จะมาแบบกึ่งราชการในฐานะราษฎรเต็มขั้น แต่อิทธิพลทางการเมืองของท่านก็ยังคงมีอยู่ กล่าวคือ อีก 3 ปีต่อมารัฐบาลสหรัฐอเมริกาตัดสินใจส่งนายพลฮัลเตอร์มันต์ (John A. Huldermund) เข้ามาเป็นทูตอเมริกันประจำประเทศสยามคนแรก ใน ค.ศ. 1882 (พ.ศ. 2425) ตามคำแนะนำของนายพลกร้านท์ ซึ่งเท่ากับเป็นการยกย่องและให้ความสำคัญแก่สยามอย่างมาก

ต่อมาใน ค.ศ. 1884 (พ.ศ. 2427) รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์เป็นราชทูตพิเศษแทนพระองค์ ไปเจริญสัมพันธไมตรีถึงสหรัฐอเมริกา เป็นการตอบแทน นับจากนี้การเมืองระหว่างประเทศทั้งสองก็ดำเนินไปอย่างเข้มข้นและจริงจัง

ทว่าใน ค.ศ. 1901 (พ.ศ. 2444) เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงวางโครงการเสด็จประพาสอเมริกาอย่างเป็นทางการเพื่อเดินทางไปกระชับความสัมพันธ์ด้วยพระองค์เอง ตอบแทนที่อดีตประธานาธิบดีกร้านท์เข้ามากรุงเทพฯ ข่าวการเสด็จฯ ได้รับการตีแผ่อย่างครึกโครมในสหรัฐ แต่แล้วแผนการเสด็จฯ ก็ถูกระงับไปโดยกะทันหัน เพราะประธานาธิบดีอเมริกันในขณะนั้นคือ แม็คคินลีย์ (President Mckinley) ถูกลอบสังหารเสียก่อน [1]

 


เอกสารประกอบการค้นคว้า

[1] ไกรฤกษ์ นานา. เรื่องข่าวใหญ่ที่ไม่ได้ขึ้นหน้าหนึ่ง – แผนรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสอเมริกา, ใน สยามกู้อิสรภาพตนเอง ทางออกและวิธีแก้ปัญหาชาติบ้านเมือง เกิดจากพระราชกุศโลบายของพระเจ้าแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550.

[2] J.T. Headley. The Travels of General Grant. Philadelphia : New World Publishing Co., Ltd, 1881.

[3] L.T. Remlap. Gen. U.S. Grants Tour Around The World. New York : J. Fairbanks & Co., 1879.

[4] McCABE, James Dabney. A Tour Around The World by Gen. Grant. Philadelphia : The National Publishing Co., 1879.

[5] Young, John Russell . Around The World with Gen. Grant. New York : The American News Compay, 1879.


หมายเหตุ : บทความในนิตยสารชื่อ ค้นหารัตนโกสินทร์ ประธานาธิบดีอเมริกันในราชสำนักไทย

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มกราคม 2563