ร.5 กับพระราชวิจารณ์วิถีปกครอง-ทำงานแบบอังกฤษ “ถ้าเราเอาอย่างเข้า..เป็นยับกัน”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินหลายประเทศในยุโรป โดยเฉพาะในช่วงเสด็จประพาสทั้ง 2 ครั้ง วัตถุประสงค์ของการเสด็จพระราชดำเนินแต่ละครั้งอาจมีส่วนแตกต่างกัน ที่น่าสนใจคือพระองค์ทรงมีพระราชวิจารณ์เกี่ยวกับสิ่งที่พระองค์ได้พบเห็น และครั้งหนึ่งพระองค์ทรงมีพระราชวิจารณ์เรื่องวิถีการปกครองแบบอังกฤษที่แทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน

พระราชวิจารณ์ดังกล่าวปรากฏในพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน ซึ่งเป็นลายพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดลฯ เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป รัตนโกสินทรศก 126 ตรงกับปีพุทธศักราช 2450 เนื้อหาตอนหนึ่งมีดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำใหม่ – กองบรรณาธิการ)

“ข้างฝ่ายชาติอังกฤษมีวิธีปกครองบ้านเมืองด้วยการประชุมราษฎรแลผู้มีบรรดาศักดิ์ ลงรเบียบเรียบร้อยมาเสียหลายร้อยปีแล้ว จนถึงไม่มีเจ้าแผ่นดินปกครองเมืองเองได้ก็มี เจ้าแผ่นดินมีน่าที่รวบยอดอันหนึ่ง ซึ่งเป็นหัวน่าพนักงานฝ่ายข้างที่จะจัดการให้สําเร็จตามความเห็นขอบพร้อมกัน คือฝ่ายข้างการปกครองเจ้าแผ่นดินต้องปล่อยการงานให้ชาวเมืองเขาทําตามชอบใจ ถ้าขวางกันเข้าก็เลยเกะกะจนถึงฆ่าเจ้าแผ่นดินเสียก็ได้ เพราะฉนั้น ความเอาใจกันจึงมีมาก

ขั้นแรก ๆ พวกอังกฤษไม่ใคร่จะชอบ เกลียดว่าเป็นเยอรมัน ก็ค่อยเอาใจทําเป็นอังกฤษมากขึ้นทุกชั้นมา จนทีหลังเจ้าแผ่นดินยิ่งถ่อมตัว ทํากว้างขวางอารีเป็นฉันมิตรสหายกับชาวเมืองมากขึ้น จนถึงเจ้าแผ่นดินองค์นี้เป็นที่ชอบใจกันมาก เพราะ ทักทายปราไสยไม่เลือก อย่างเช่นเวลารับแขกไม่ต้องเคร่งครัดประหยัดกาย ใครจะเข้ามาเฝ้ามาแหนพูดทักทายกันได้เหมือนรับแขกธรรมดา ไม่ใคร่ใช้แต่งตัวเต็มยศ นอกจากเวลาที่เป็นการงานสําหรับเมือง เช่นเลวี เต้นรําประจําปี

ถ้าเป็นการจรฤาตามปรกติก็แต่งธรรมดา เป็นที่พอใจของพวกชาวอังกฤษจะว่าข้างความสบาย ดูน่าจะสบายมาก แต่ต้องเป็นผู้ที่ไม่ฝักฝ่ายในการที่จะทําอะไรทําตามชอบใจตัว ปล่อยให้เขาทํา เขาคิดจะทําอย่างไรเขา มาบอกให้รู้ ถ้ามีความเห็นอย่างอื่นจะโต้ทานบ้างก็ได้ แต่ถ้าความเห็นยืนดันกันไปคนละทางเป็นต้องยอมแพ้เขาเสีย อย่าไปดึงดันให้ถึงเกิดวิวาทกันขึ้น การที่จะวางได้เช่นนี้ ก็เฉภาะเมืองอังกฤษเป็นอย่างวิเศษ ด้วยการปกครองเรียบเดินเครื่องจักร์มาเสียช้านานแล้ว ถ้าหากว่าอย่างเช่นเราไปเอาอย่างเข้าบ้างก็ได้หกคะเมนกัน

ความผิดกันในระหว่างเรากับอังกฤษมันขันจริง ๆ ข้างฝ่ายอังกฤษการมันเดินจากผู้น้อย ผู้น้อยกลับจะต้องเป็นผู้นําผู้ใหญ่ให้ทําเช่นนั้นเช่นนี้ ผู้ใหญ่จะทําอะไรออกจะต้องถามผู้น้อยว่าจะเอาเช่นนั้นฤาอย่างนี้ถ้า ผู้น้อยต้องพุ้ยผู้ใหญ่ ไม่ว่าการอะไร ๆ มันต่อกันขึ้นมาเป็นชั้น ๆ เช่นไปขี่รถจะไปทางไหนผู้จะบัญชาออกสั่งแกมหาฤา เจ้าของท้องที่ฤาคนขับรถ ต้องเสนอขึ้นมาว่าอย่างนั้นดี ไปทางนั้นดี แก้ไขกันเล็กน้อยก็ตกลงได้ เช่นนี้เป็นตัวอย่าง ดูเป็นไปตามลําดับทุก ๆ ชั้นที่สุดนายทหารสัญญาบัตร นายสิบก็มาบอกได้ว่าน่าที่ต้องทําเช่นนั้น ๆ เป็นน่าประหลาดว่าคนพวกนั้นทําไมมันไม่ขี้เกียจฤาไม่เหลว

ส่วนของเรามันตรงกันข้าม ถ้าหัวน่าหยุดแล้วก็หยุดตามกันลงไปเป็นแถว งานมันเดินด้วยหัวน่า ข้างอังกฤษมันเดินข้างปลายขึ้นมา ด้วยเหตุฉนั้นเป็นเจ้าแผ่นดินอังกฤษ ถึงจะไม่ธุระอะไรด้วยการงานเลย คอยแต่พยักอย่างเดียว การก็ไม่มีเสีย ถ้าทําอะไรได้บ้างก็ยิ่งดีขึ้น พ่อจึงได้กล่าวว่าสบายดี แต่ถ้าเราเอาอย่างเข้าเมื่อไรเป็นยับกันเมื่อนั้น

เจ้าแผ่นดินอังกฤษองค์นี้นับว่าเป็นอย่างดี ด้วยรู้ท่วงทีในการที่จะผ่อนผันไม่มีข้อขัดขวางกันกับชาวเมือง ทั้งมีสติปัญญาพอจะให้เป็นที่น่าเลื่อมใสแลการงานสําเร็จได้ด้วยลําภังพระองค์บ้าง ทั้งไว้ตัวเป็นอังกฤษ ไม่เป็นเยอรมันอย่างแต่ก่อน แต่ในหมู่ราชวงษ์ยังรับสั่งภาษาเยอรมันชัดเจนสนิท จะว่าดีกว่าอังกฤษก็แทบได้ เพราะเชื้อวงษ์คงจะเนื่องพัวพันกันอยู่ในหมู่เยอรมัน เหมือนอย่างเติมเชื้ออยู่เสมอ ไม่มีเวลาที่จะจางได้ พระมเหษีกับลูกสาวพูดกันแต่ลําภังก็ใช้ภาษาเดนิช ความสามัคคีรักใคร่ในราชวงษ์อยู่ข้างสนิทสนมกันดีมาก อัธยาไศรยเปนนักเลงกว้างขวาง พูดจาเล่นก็สนุกสนาน พ่อมีความเลื่อมใสเห็นสมควรเป็นที่ชอบของคนทั่วไป”

 


แก้ไขเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 11 มกราคม 2563