“เพนนิซิลลิน” ยาปฏิชีวนะเพื่อมนุษยชาติ ที่เกิดท่ามกลางสงคราม

ขวดและหลอดบรรจุเพนนิซิลลิน (ภาพจาก 100 สิ่งของสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2)

หนึ่งในสิ่งที่ถือว่าขัดแย้งกันเองมากที่สุดของสงครามก็คือ บ่อยครั้งมันนําไปสู่ความก้าวหน้าครั้งสําคัญด้านเทคโนโลยีและการแพทย์ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติอย่างมาก และบางกรณีก็เป็นประโยชน์ต่อสัตว์ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างที่โดดเด่นของสิ่งนี้ก็คือ การพัฒนายาเพนนิซิลลิน (Penicillin)

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งต้นทศวรรษ 1940 นั้น การติดเชื้อจากแบคทีเรีย ซึ่งเป็นผลจากการบาดเจ็บหรือเชื้อโรคมักได้รับการรักษาด้วยซัลโฟนาไมด์ ซึ่งมีประสิทธิภาพเมื่อใช้รักษาคนไข้ในบางสภาวะ แต่ไม่ใช่ในกรณีติดเชื้อแบคทีเรียสเต็ปโตคอกคัส จึงมีการทําวิจัยเพื่อพัฒนายาตัวใหม่ซึ่งทํางานบนหลักการที่ว่าจุลินทรีย์บางชนิดอาจฆ่าจุลินทรีย์ชนิดอื่น

ในปี 1939 ศาสตราจารย์วิลเลี่ยม ฟลอรีย์ และแอร์นส์ต เชน (ผู้ลี้ภัยชาวยิวจากนาซีเยอรมนี) จากสถาบันพยาธิวิทยาออกซ์ฟอร์ด เริ่มสํารวจสิ่งที่มีคุณสมบัติต่อต้านแบคทีเรียในสารอินทรีย์หลายชนิด รวมทั้ง เพนนิซิลลิน โนทาตัม ที่อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่ง ได้บันทึกเอาไว้เป็นคนแรกเมื่อ 10 ปีก่อนหน้านี้

ในฐานะหัวหน้าทีมของหมู่แพทย์ทหารบกอังกฤษ เฟลมมิ่งได้เห็นทหารจํานวนมากเสียชีวิตจากการที่บาด แผลติดเชื้อในสงครามโลกครั้งที่ 1 เขาเห็นว่ายาฆ่าเชื้อโรคได้ฆ่าระบบป้องกันตามธรรมชาติของมนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าที่จะฆ่าแบคทีเรีย โดยเฉพาะในบาดแผลที่ลึก หลังสงคราม เฟลมมิ่งกลับไปยังโรงพยาบาลเซนต์แมรี่ในลอนดอน ซึ่งต่อมาในปี 1928 เขากลายเป็นศาสตราจารย์ด้านแบคทีเรียวิทยาของโรงพยาบาลแห่งนี้ และที่นี่เองซึ่งเขาเล่าให้ฟังในภายหลังว่าเขาค้นพบยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียโดยบังเอิญ

เมื่อกลับจากการหยุดพักผ่อนเขาสังเกตเห็นว่าในกลุ่มของเชื้อจุลินทรีย์สเตฟิโลค็อกคัสที่เขาเพาะขึ้นมาบนโต๊ะทําการทดลองของเขา ถาดเพาะเลี้ยงถาดหนึ่งปนเปื้อนเชื้อราที่ฆ่าสเตฟิโลค็อกคัส เขาระบุว่าเชื้อราดังกล่าวมาจากตระกูลเพนนิซิลเลียม (Penicillium) ในตอนแรกเขาเรียกรานี้ว่า “น้ำรา” แต่ต่อมาในวันที่ 7 มีนาคม 1929 เขาตั้งชื่อมัน ว่าเพนนิซิลลิน

เฟลมมิ่งตีพิมพ์การค้นพบของเขาในปีเดียวกันนั้น แต่บทความของเขาได้รับความสนใจเพียงเล็กน้อย

ในเดือนพฤษภาคม 1940 ผลที่ได้จากการค้นคว้าของฟลอรีย์และเชนและผู้ช่วยของเขา เกี่ยวกับฤทธิ์ของเพนนิซิลลิน ที่มีต่อการรักษาภาวะติดเชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตค็อกคัสนั้น เพียงพอที่จะทําให้พวกเขามีกำลังใจที่จะดําเนินการขั้นต่อไป นั่นคือทําการทดลองทางคลินิก สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าแม้แต่การติดเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรงที่สุด ก็สามารถควบคุมได้ด้วยเพนนิซิลลินโดยไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย

แต่โชคไม่ดีที่ในห้องทดลองนั้นสามารถผลิตเพนนิซิลลินได้ในปริมาณน้อยมาก ขณะที่การติดเชื้อแบคทีเรียในร่างกายเพียงเคสเดียว อาจจําเป็นที่อวัยวะต้องผลิตเพนนิซิลลินออกมา 650 ลิตร (440 แกลลอน) หนทางเดียวที่จะผลิตยาให้ได้ในปริมาณเพียงพอคือต้องใช้ทรัพยากรของระบบอุตสาหกรรม

แต่ตอนนี้ความสามารถสูงสุดทางอุตสาหกรรมของอังกฤษทํางานเต็มกําลังแล้วในการผลิตเวชภัณฑ์และยาเพื่อตอบสนองความต้องการในช่วงสงคราม โชคดีที่การติดต่อทาบทามไปยังมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ของสหรัฐนําไปสู่การพบผู้ผลิตยาที่เหมาะสม เมื่อถึงปี 1942 มีการผลิตเพนนิซิลลินเต็มกําลังในสหรัฐ และมันถูกนํามาใช้ในภาคสนามครั้งแรกที่แอฟริกาเหนือเมื่อปี 1943

การใช้เพนนิซิลลินมีผลกระทบสําคัญต่อขั้นตอนการผ่าตัดในสนามรบ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 คืบหน้าไป ในบางสนามรบนั้น เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศ (เช่นพม่า) และความห่างไกล หรือความเร็วของสงครามทั้งที่เคลื่อนไปข้างหน้าหรือถอยหลัง อย่างเช่นสนามรบในแอฟริกาทําให้ยากที่จะผ่าตัดผู้บาดเจ็บในสนาม จนกว่าจะเคลื่อนย้ายพวกเขาไปยังโรงพยาบาลของฐานเสียก่อน

ในพม่าการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บอาจใช้เครื่องบินชนิดเบา แต่อากาศที่เลวร้ายหรือการโจมตีของศัตรูอาจทําให้ผู้บาดเจ็บไปถึงโรงพยาบาลล่าช้ามาก ดังนั้น จําเป็นต้องดําเนินการผ่าตัดในระดับที่เพียงพอที่สนามก่อนเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะทรงตัวพอที่จะสามารถรอดชีวิตระหว่างการเดินทางไปโรงพยาบาล ยาปฏิชีวนะช่วยให้ผู้บาดเจ็บไม่ติดเชื้อ ขณะที่ผู้ป่วยกําลังรอการเคลื่อนย้ายหรือระหว่างเดินทางไปโรงพยาบาล

อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่ง และฮาวเวิร์ด ฟลอรีย์ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ด้านสรีรวิทยา ในปี 1945 ร่วมกับแอร์นส์ต เชน

 


ข้อมูลจาก

พลลตรีจูเลียน ทอมป์สัน และดร.แอลแลน อาร์. มิลเลตต์ เขียน, นงนุช สิงหะเดชะ แปล. 100 สิ่งของสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2, สำนักพิมพ์มติชน, 2556


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2562