“พระพุทธสิหิงค์จากเชียงใหม่เคยประดิษฐานในกรุงศรีอยุธยา” ตอนที่ 1

ตอนที่ 1 พระพุทธสิหิงค์เคยประดิษฐานที่วัดใดในกรุงศรีอยุธยา

บทความของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เรื่อง “พระพุทธสิหิงค์ เคยอยู่ในวัดบรมพุทธาราม บ้านเดิมพระเพทราชา ในรั้ว มรภ. พระนครศรีอยุธยา” (สุจิตต์ 2559, ออนไลน์)

คุณสุจิตต์ยกหลักฐานจากศุภอักษรของอัครมหาเสนาบดีกรุงศรีอยุธยาที่มีไปถึงอัครมหาเสนาบดีกรุงลังกา พ.ศ. 2299 ว่าทูตลังกาที่มาจำทูลพระราชสาสน์ถวายสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เคยเห็นพระพุทธ    สิหิงค์ ประดิษฐานในมณฑปวัดบรมพุทธาราม ซึ่งมีข้อความดังนี้

40. …ทูตานุทูตอำมาตย์ได้เห็นพระพุทธสิหิงค์ในมณฑปน่ามโนรมย์ในวัดบรมพุทธารามวิหาร ประดับทองเงิน รัตนงามวิจิตร จึงพากันเจรจาเหตุที่ไม่ทราบเรื่องนั้นให้กันฟัง
41. ราชบุรุษจึงนำเรื่องนั้นมาเล่าให้ทูตานุทูตนั้นทราบชัด
42. ทูตานุทูตอำมาตย์ทั้งหลายต่างพากันพูดว่า ตำนานสิหิงคนิทานนี้ในกรุงศิริวัฒนนครไม่มี
43. เราจึงให้ราชบุรุษจารึกตำนานพระพุทธสิหิงคนิทาน ส่งมาให้ ขอท่านอัครมหาเสนาบดีได้นำตำนานสิหิงคนิทานนี้ ทูลพระเจ้ากรุงศิริวัฒน แล้วทูลว่าขอให้ทรงหวงแหนพระตำนานนี้ไว้ในกรุงศิริวัฒนบุรีด้วย(ดำรงราชานุภาพ 2546, 313)

ทั้งนี้ คุณสุจิตต์อธิบายว่าวัดบรมพุทธารามที่ปรากฏความในศุภอักษรข้างต้น เป็นแห่งเดียวกับวัดบรม   พุทธารามข้างมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา พระนิเวศน์เดิมของสมเด็จพระเพทราชาในย่านตำบลป่าตองนั้น อย่างไรก็ดี ในที่นี้มีความเห็นว่าวัดบรมพุทธารามในศุภอักษรดังกล่าวน่าจะได้แก่วัดพระศรีสรรเพชญ์ โดยพิจารณาจากข้อความในศุภอักษรเดียวกันที่กล่าวถึงพระอารามแห่งนี้ด้วยกัน 2 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1 กล่าวถึงตอนกระบวนแห่ปูชนียวัตถุที่ราชทูตลังกาเชิญมาถวายสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ คือ

6. …พระศิริทันตธาตุวลัญชนะ พระมณีพระพุทธรูปไว้ในวัดบรมพุทธาราม (วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์) อันประดิษฐานอยู่ใกล้พระราชวังชั้นใน (ดำรงราชานุภาพ 2546, 291)

ครั้งที่ 2 กล่าวย้ำอีกครั้งเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ

11. …โปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระศรีทันตธาตุวลัญชนะ แลพระมณีพระพุทธรูป ไว้ในวัดบรมพุทธารามอันประเสริฐ (วัดพระศรีสรรเพชญ์) อยู่ใกล้พระราชวังชั้นใน(ดำรงราชานุภาพ 2546, 295)

หากการแปลศุภอักษรของพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) ไม่คลาดเคลื่อน
วัดบรมพุทธารามดังกล่าวที่ศุภอักษรระบุว่าอยู่ใกล้กับพระราชวังชั้นใน ควรหมายถึงวัดพระศรีสรรเพชญ์ซึ่งตั้งขนานกับเขตพระราชฐานชั้นในของพระราชวังโบราณ มากกว่าจะเป็นวัดบรมพุทธารามที่สมเด็จพระเพทราชา ทรงสร้างขึ้นซึ่งอยู่ห่างจากพระราชวังโบราณราว 1 กิโลเมตร คำว่าบรมพุทธารามในที่นี้ จึงน่าจะเป็นความเปรียบถึงวัดพระศรีสรรเพชญ์ว่าเป็นพระอารามอันยิ่งใหญ่มากกว่าจะเป็นชื่อวัดจริงๆ

สมมติฐานที่ตามมาอีกก็คือ แล้วพระพุทธสิหิงค์องค์นี้เคยประดิษฐาน ณ สถานที่แห่งใดในวัดพระศรีสรรเพชญ์ เพราะศุภอักษรกล่าวแต่เพียงว่าประดิษฐานใน “มณฑปน่ามโนรมย์” ภายในวัดพระศรีสรรเพชญ์ และคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมเอกสารจากหอหลวง (2555, 40) ที่กล่าวว่าประดิษฐานใน “พระมหาวิหารยอดปรางค์ปราสาทในวัดพระศรีสรรเพชร”

ในที่นี้ขอเสนอความเป็นไปได้ของสถานที่ทั้งหมด 3 แห่ง เพื่อตั้งเป็นประเด็นไว้สำหรับการถกเถียงอภิปรายต่อไปในอนาคต ดังนี้

(1) มณฑป 3 องค์ระหว่างมหาเจดีย์ทรงลังกา 3 องค์

สร้างขึ้นทับลงบนบันไดทางขึ้นระหว่างพระมหาเจดีย์ทั้ง 3 องค์ มักเชื่อกันว่าเป็นผลงานในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 21 แต่จากฐานของมณฑปองค์กลางที่มีรูปสิงห์หรือครุฑแบกเป็นลักษณะเดียวกับฐานเบญจาหน้าพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงสร้างขึ้น ต่อมาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 23 มีการปฏิสังขรณ์ใหม่โดยก่อฐานบัวลูกแก้วอกไก่ครอบฐานเดิม ที่ตอนบนของฐานมีกำแพงแก้วเจาะเป็นช่องกากบาทคล้ายช่องแว่นในสถาปัตยกรรมล้านนาล้อมรอบ เป็นไปได้ที่มณฑปองค์หนึ่งจากทั้งหมดอาจเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์

(2) มณฑปน้อย

ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของมณฑปองค์กลางที่ตั้งอยู่ระหว่างพระมหาเจดีย์ทรงลังกา ขนาบด้วยเจดีย์รายทรงลังกาและวิหารราย ต้องสงสัยเช่นกันว่าอาจเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ แต่ขนาดและตำแหน่งที่อาจจะอยู่ลับหูลับตาไปหน่อย อาจจะไม่สมศักดิ์ศรีของพระพุทธรูปสำคัญ 1 ใน 8 องค์ที่เป็นหลักกรุงศรีอยุธยาไปสักหน่อย

(3) มณฑปหน้าวัด

อาจเป็นม้านอกสายตาไปเสียหน่อย เพราะได้รับการติดป้ายมาตั้งแต่แรกทำผังวัดว่าเป็นหอระฆัง เป็นมณฑปจัตุรมุขที่มีการปฏิสังขรณ์ซ้อนกันหลายครั้ง โดยต่อเติมขยายขนาดขึ้นทุกครั้ง ทั้งยังมีกำแพงแก้วและพะไลล้อมรอบเกินกว่าจะเป็นหอระฆังได้ (เว้นเสียแต่ว่าระฆังที่แขวนจะศักดิ์สิทธิ์จริงๆ)
รวมไปถึงภายในก็ค่อนข้างทึบและเตี้ยไม่เหมาะที่จะแขวนระฆังให้ตีดังกังวานไปไกล จึงเป็นสถานที่อีกแห่งที่เป็นไปได้ว่าน่าจะเคยเป็นมณฑปพระพุทธสิหิงค์มาก่อน (ปลาทองสยองเมือง 2554, ออนไลน์)

สำหรับพระวิหารหลวงพระศรีสรรเพชญ์ อาจมีความเป็นไปได้น้อยกว่าที่จะมีมณฑปประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์อยู่ภายใน ดังบันทึกของบาทหลวงตาชาร์ตที่เข้ามาในปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ กล่าวว่ามีฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูป 3 – 4 องค์ ด้านหน้าฐานชุกชีที่ประดิษฐานพระศรีสรรเพชญ์ (Tarchard 1985)

ฐานดังกล่าวก็ยังคงอยู่ให้เห็นจนปัจจุบัน ส่วนปราสาทจัตุรมุขด้านทางด้านทิศตะวันตกของวัดหรือที่นิยมเรียกกันว่าปราสาทพระนารายณ์ ก็เป็นที่ประดิษฐานปรางค์หรือเจดีย์ล้อมรอบด้วยพระพุทธรูปสี่อิริยาบถอยู่แล้ว ไม่น่าจะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ได้เช่นกัน

อนึ่ง เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาจากเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 2338 (ทิพากรวงศ์ฯ 2539, 155) ได้ทรงสร้างบุษบกจัตุรมุขยอดปรางค์พรหมพักตร์เป็นที่ประดิษฐาน (ภายหลังสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพย์ทรงเชิญไปประดิษฐานพระประธานในพระอุโบสถวัดไพชยนต์พลเสพย์) เป็นไปได้ว่าพระองค์หรือช่างที่ออกแบบอาจเคยทอดพระเนตรหรือเห็นมณฑปยอดปรางค์ทรงพระพุทธสิหิงค์ในวัดพระศรีสรรเพชญ์มาก่อนก็เป็นได้ จึงสร้างบุษบกทรงพระพุทธสิหิงค์ให้เป็นยอดปรางค์อย่างเดียวกัน พ้องกันกับคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมที่กล่าวว่าพระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานใน “พระมหาวิหารยอดปรางค์ปราสาทในวัดพระศรีสรรเพชร

บรรณานุกรม

คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง. 2555. พิมพ์ครังที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. 2546. เรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป. กรุงเทพฯ: มติชนและมูลนิธิสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล พระธิดา.

ทิพากรวงศ์ฯ, เจ้าพระยา. 2539. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับตัวเขียน. ประชุมพงศาวดารฉบับราษฎร์ ภาคที่ 1. นฤมล ธีรวัฒน์ ผู้ชำระต้นฉบับ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์วิชาการ.

ปลาทองสยองเมือง (นามแฝง). 2554. “พระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานอยู่ที่ไหนในอยุธยา.” http://www.bloggang.com/m/viewdiary.php?id=patisonii&month=09-2011&date=29&group=79&gblog=1(สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2559).

สุจิตต์ วงษ์เทศ. 2559. “พระพุทธสิหิงค์ เคยอยู่ในวัดบรมพุทธาราม บ้านเดิมพระเพทราชา ในรั้ว มรภ. พระนครศรีอยุธยา.” http://www.matichon.co.th/news/354354 (สืบค้นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2559).

Tarchard, Guy. 1985. A Realation of the Voyage to Siam. 2nd Reprinting. Bangkok: White Orchid Press.

(เรื่องนำมาจากเพจห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ https://www.facebook.com/ArtHistoryClassroom/?fref=ts)