ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2543 |
---|---|
ผู้เขียน | ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย |
เผยแพร่ |
คําว่า “เข้าเฝ้า” ที่ทุกคนรู้จักและเข้าใจกันในปัจจุบัน คือการเข้าพบพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชวงศ์ชั้นสูง เพื่อกิจธุระบางประการ เช่น “เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบถวายบังคมลาไปศึกษาต่อ” หรือ “เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย” หรือ “เข้าเฝ้าเพื่อถวายพระราชสารตราตั้ง” ดังนี้เป็นต้น ผู้ที่เข้าเฝ้าจะต้องผ่านขั้นตอนการขอพระบรมราชานุญาตตามระเบียบสํานักพระราชวังแล้วแต่กรณีตามลําดับ
การเข้าเฝ้าถือเป็นระเบียบปฏิบัติของผู้มีหน้าที่หรือผู้มีกิจธุระเนื่องในพระองค์ ตั้งแต่ครั้งที่ไทยเราเริ่มรวบรวมเป็นแว่นแคว้นประเทศชาติและมีการปกครองเป็นปึกแผ่นมั่นคง
ในสมัยโบราณการเข้าเฝ้าหรือบางครั้งเรียกว่าขึ้นเฝ้าในกรณีที่อาจประทับอยู่บนพระที่นั่งหรือที่รโหฐานส่วนพระองค์ ถือเป็นหน้าที่หรือกิจวัตรประจําของข้าราชสํานักทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ข้าราชสํานักฝ่ายหน้าเข้าเฝ้าในท้องพระโรง หรือสถานที่ทรงกําหนดตามเวลาที่ปรากฏในพระราชานุกิจของแต่ละรัชกาล หรือเวลาที่ทรงกําหนดขึ้นใหม่ ส่วนข้าราชสํานักฝ่ายในนั้นก็มีเวลาเฝ้าที่แน่นอนเช่นกัน ซึ่งมักเป็นเวลาก่อนหรือหลังเสด็จออกฝ่ายหน้า หรือเวลาที่ทรงสําราญพระราชอิริยาบถเป็นการส่วนพระองค์
การเข้าเฝ้าหรือขึ้นเฝ้าของข้าราชสํานักฝ่ายในมีทั้งเข้าเฝ้าเนื่องในโอกาสพิเศษต่าง ๆ และเข้าเฝ้าเพื่อถวายงานรับใช้ตามหน้าที่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีที่ข้าราชสํานักฝ่ายในมีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประการหนึ่ง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งประทับในพระบรมมหาราชวัง การขึ้นเฝ้าหรือเข้าเฝ้าของข้าราชสํานักฝ่ายในมักมีสองเวลาคือ เวลาบรรทมตื่นและเวลาเสด็จกลับจากการปฏิบัติพระราชกิจฝ่ายหน้า
เวลาตื่นพระบรรทมโดยปกติจะเป็นเวลาค่อนข้างสาย ชาววังสังเกตได้จากพระบัญชร ถ้าพระบัญชรเปิดก็แสดงว่าตื่นพระบรรทมแล้ว ดังที่หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล ทรงเขียนเล่าเรื่องนี้ไว้ว่า
“…ในตอนใกล้เวลาบรรทมตื่น ข้าหลวงและพระเจ้าลูกเธอจะมาคอยดู ถ้าเห็นหน้าพระบัญชรเปิด ต่างคนก็จะวิ่งไปทูลเจ้านายของตน และเจ้านายก็จะเสด็จขึ้นเฝ้า…”
หม่อมศรีพรหมา กฤดากร ได้เขียนบรรยายภาพการขึ้นเฝ้าของพระเจ้าลูกเธอและข้าราชสํานักฝ่ายในไว้ว่า
“…พระเจ้าลูกเธอที่เป็นสาวแล้ว คือทรงสะพักแล้ว จะเสด็จทยอยกันเสด็จผ่านที่บน เลี้ยวเข้าชานชาลาอัฒจันทร์พนักงานระหว่างข้างห้องหม่อมเจ้ากับศาลาว่าการกรมโขลน ขึ้นอัฒจันทร์พนักงานขึ้นเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ยังไว้พระเมาฟี ไม่ได้ทรงดําเนินเอง ถัดมาก็เจ้าจอมห้องเหลืองทยอยมา เจ้าจอมมารดาที่ลูกสิ้นไปแล้วก็ต้องมา เช่น เจ้าดารารัศมีพระราชชายา…”
การเข้าเฝ้าครั้งแรกของวันเป็นการเข้าเฝ้าในเวลาเสวย ห้องเสวยคือห้องเขียว ในพระที่นั่งบรมราชสถิตมโหฬาร ที่เสวยเป็นโต๊ะสี่เหลี่ยมสําหรับทอดพระกระยาเสวย มีพระเก้าอี้ยาวซึ่งจะประทับเอนพระองค์ หรือจะประทับห้อยพระบาทก็ได้ตั้งอยู่ข้างโต๊ะเสวย
ผู้ที่เข้าเฝ้าในห้องนี้โดยมากเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท เช่น พระมเหสีเทวี เจ้าจอมมารดา เจ้าจอมผู้มีหน้าที่ถวายงานปรนนิบัติในเวลาเสวย เช่น ถวายอยู่งานพัด ถวายอยู่งานพระแส้
พลตรีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช บรรยายเกี่ยว กับบรรยากาศการเข้าเฝ้าในห้องเสวย ไว้ในนวนิยายอมตะเรื่องสีแผ่นดิน ความว่า “…คุณเจ้าจอมทุกคนมีที่นั่งประจําของตน และตลอดจนเจ้านายที่มาเฝ้าก็ดี หรือมีหน้าที่คอยปฏิบัติรับใช้ก็ดี ดูเหมือนจะมีที่ประทับเป็นประจําไม่สับสนปะปนกัน… ก่อนที่จะเสด็จลงห้องเขียว บรรดาคนในที่นั้นก็พูดคุยกันด้วยเสียงเบา ๆ แต่พอเสด็จลงประทับพระเก้าอี้แล้ว เสียงพูดคุยกันเองก็หายเงียบไปสิ้น คงเหลือแต่เสียงพระราชดํารัส และเสียงกราบบังคมทูลตอบของแต่ละคน ที่มีพระราชดํารัสด้วย สลับด้วยเสียงหัวเราะเบา ๆ ทั่วไปเป็นครั้งคราวในเมื่อมีเรื่องขบขัน…”
และหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล ทรงเล่าถึงการตามเสด็จขึ้นเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะข้าหลวงรุ่นเยาว์ ซึ่งต้องรอเจ้านายของตนบริเวณใกล้ ๆ พระที่นั่งว่า
“…สมเด็จหญิงเสด็จขึ้นเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เราก็ตามเสด็จขึ้นไปด้วย ต่างพระองค์ต่างก็มีเด็กที่เลี้ยงติดตามไปด้วย เป็นที่แห่งหนึ่งที่ได้พบกันมาก ๆ เจ้านายท่านก็ทรงสนุกอยู่กับเจ้านาย เราเด็กก็สนุกกับเด็ก…”
อาจกล่าวได้ว่าเวลาเข้าเฝ้านั้นเป็นเวลาที่ทุกคนมีความสุข ผู้ใหญ่มีความสุข ที่ได้ถวายงานอันเป็นหน้าที่ที่ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ และตระหนักถึงคุณค่าของตัวเอง นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสให้ได้พบปะพูดคุยและรับฟังเรื่องราวต่าง ๆ ทําให้รู้เห็นความเป็นไปของผู้คนทั้งภายในและภายนอกราชสํานัก ตลอดจนเรื่องราวของบ้านเมือง ส่วนเด็ก ๆ ก็ได้พบปะเล่นหัวเป็นที่สนุกสุขสําราญในแต่ละวันของแต่ละคน
การเสวยใช้เวลานานเพราะจะทรงมีพระราชปฏิสันถารเรื่องต่าง ๆ กับผู้เข้าเฝ้า และทรงงานไปด้วย เช่นรับสั่งให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร หรือที่เรียกขานกันเป็นสามัญในสมัยนั้นว่า “ทูลกระหม่อมพระองค์หญิง” ให้ทรงเขียนตามพระราชดํารัสสั่งงาน พระราชธิดาบางพระองค์ที่ไม่ทรงมีหน้าที่ประจํามักมีงานฝีมือ เช่น เครื่องถักต่าง ๆ มี โครเชต์ แทตติ้ง ติดพระองค์มาทรงทําไปด้วย
เมื่อเสวยเสร็จแล้วหากต้องทรงงานที่ค้างอยู่ก็จะเสด็จประทับ ณ พระที่นั่งบรรณาคมสรณีย์ ในตอนนี้เป็นหน้าที่ของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี จะต้องเข้าเฝ้าเพื่อเขียนหนังสือถวายตามรับสั่งในหน้าที่ราชเลขานุการิณี และเมื่อเสร็จงานจะเสด็จฝ่ายหน้า ก็เป็นหน้าที่ของเจ้าจอมมารดาวาด จะต้องเข้าเฝ้าถวายงานเชิญพระภูษา ส่งต่อให้เจ้าจอมมารดาชุ่มทําหน้าที่แต่งพระองค์ถวาย เมื่อเสด็จออกฝ่ายหน้าผ่านห้องโถงซึ่งเรียกกันว่า “ห้องเหลือง” เป็นที่ที่พระบรมวงศานุวงศ์ เจ้าจอมมารดา เจ้าจอม ที่ไม่มีหน้าที่ถวายงานประจํา ขึ้นเฝ้า ณ ห้องนี้ เพราะเป็นห้องที่มีพระทวารเปิดออกไปยังอัฒจันทร์สําหรับออกฝ่ายหน้า
ตอนเสด็จผ่าน “ห้องเหลือง” นี้ ในนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดินบรรยายถึงบรรยากาศภายในห้องเหลืองไว้ว่า “…พอถึงเวลาเสด็จพระราชดําเนินผ่านห้องเหลือง เสียงต่าง ๆ ก็เงียบกริบลง ทุกคนลงหมอบเฝ้าอย่างสงบเสงี่ยม บางครั้งก็ทรงทักทายหรือมีพระราชดํารัสกับบางท่านที่เฝ้าอยู่ ณ ที่นั้นบ้าง บางครั้งก็เสด็จผ่านไปเฉย ๆ และพอเสด็จผ่านไปแล้วเสียงพูดจาขยับเขยื้อนกายก็กลับมีขึ้นอีก…”
หลังจากนั้นข้าราชสํานักฝ่ายในที่เข้าเฝ้าช่วงนี้ บางพระองค์บางท่านก็กลับที่พัก และไม่ได้กลับมาเฝ้าอีก จนกว่าจะวันรุ่งขึ้น เป็นการเสร็จสิ้นภารกิจการขึ้นเฝ้าครั้งแรกของวัน หม่อมศรีพรหมาบรรยายภาพการเสด็จกลับและการกลับจากการขึ้นเฝ้าไว้ว่า
“…พอพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกขุนนางแล้ว ราวบ่าย 4 โมง เจ้านายพระเจ้าลูกเธอที่ทรงสะพักแล้ว มีกรมขุนสุพรรณฯ เวลานั้นยังเป็นพระองค์เจ้าศรีวิลัยฯ ทรงนําเพราะพระชันษาอาวุโสกว่า แล้วจะเสด็จทรงดําเนินตามลําดับพระชันษาลงมา ราวสัก 9-10 พระองค์ จะทรงสะพักแพรจีบ ทรงผ้าลายขัดมันหมดราวกับนัดกันไว้ ผ่านห้องหม่อมเจ้าไปเป็นชุดแรก พระองค์เจ้าที่ยังต้องอุ้มก็อุ้มกัน พร้อมเจ้าจอมมารดารวมกัน มาเป็นชุดที่ 2 ชุดที่สาม ห้องเหลือง…”
เมื่อเสด็จกลับฝ่ายในอีกครั้งก็เป็นเวลาค่ำ ผ่านห้องเหลืองก็จะมีพระบรมราชวงศ์ และเจ้าจอมที่ไม่มีหน้าที่อยู่งานประจํารอเฝ้าอยู่ ระหว่างนี้พระมเหสีเทวี เจ้าจอมมารดา เจ้าจอม ที่มีหน้าที่อยู่งานถวายการ ปรนนิบัติ เริ่มปฏิบัติงานเข้าประจําที่เหมือนการเข้าเฝ้าครั้งแรก เสด็จออกเสวยพระกระยาหารมื้อเย็นโดยมากจะเป็นเวลาที่ดึกมาก เสร็จจากเสวยก็จะเข้าที่ประทับในพระที่นั่งบรรณาคมสรณีย์ มีสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าเข้าเฝ้าถวายการรับใช้เพื่อทรงงาน
เรื่องนี้หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล ทรงเขียนบรรยายไว้ว่า “เข้าที่ประทับในพระที่นั่งบรรณาคมสรณีย์ บรรทมบนพระยี่ภูลาดไว้บนพรม มีพระเขนย โคมไฟฟ้า 1 ดวง และหนังสือราชการแผ่นดินวางอยู่ข้างพระยี่ภู่–สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ ทรงหมอบเขียนหนังสือตามรับสั่งจนตลอดรุ่ง เพราะทรงเป็นราชเลขานุการิณี มีเจ้าจอมเอิบ เจ้าจอมอาบ เจ้าจอมเอี่ยม เจ้าจอมเอื้อน นั่งที่พระเฉลียงคอยรับใช้ระหว่างนี้จนกว่าจะเข้าพระที่ บางทีกว่าจะเสด็จขึ้นเข้าพระที่ก็ราวเวลา 6 น. …”
การขึ้นเฝ้าหรือเข้าเฝ้าในลักษณะนี้นับเป็นพระบรมราโชบายที่ลึกซึ้งนุ่มนวล ก่อให้เกิดประโยชน์นานัปการ ประการสําคัญที่สุดก็คือความสมัครสมานสามัคคีในหมู่พระมเหสีเทวี เจ้าจอมมารดา เจ้าจอม และพระราชธิดาต่างพระราชมารดา พระมารดา แต่ทุกพระองค์ทุกคนต่างก็มีศูนย์รวมจิตใจอยู่ที่องค์พระประมุข
การเข้าเฝ้าทุกวันทําให้ทุกท่านมีส่วนร่วมรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ทั้งที่เป็นส่วนตัวภายในครอบครัว และเรื่อง ของประเทศชาติ ทําให้เกิดสํานึกแห่งความร่วมทุกข์ร่วมสุขเป็นอันหนึ่งอันเดียว มีแนวคิดเห็นและวิถีปฏิบัติเป็นอย่างเดียวกัน ทําให้เกิดพลังสําคัญคือ พลังแห่งความจงรักภักดี ซึ่งมีคุณประโยชน์อเนกอนันต์ต่อพระราชบัลลังก์โดยตรงและประเทศชาติโดยอ้อม
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กันยายน 2562