ต่างชาติยกย่องพระปรีชาสามารถ ร.5 กษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์

ปริญญากิตติมศักดิ์ หรือ Honorary Degree หมายถึงปริญญาที่สถาบันระดับอุดมศึกษามอบให้แก่บุคคลที่ไม่ได้เป็นนักศึกษาปัจจุบันของสถาบันตามข้อกำหนดของมหาวิทยาลัย เพื่อยกย่องว่าบุคคลนั้นมีความรู้ ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ หรือประสบความสำเร็จในวิชาชีพนั้น ปริญญากิตติมศักดิ์มี 3 ระดับ คือ ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ปริญญากิตติมศักดิ์ที่มอบให้อาจเป็นปริญญาที่มีการเรียนการสอนในสถาบัน หรือปริญญาที่กำหนดเป็นปริญญากิตติมศักดิ์โดยเฉพาะ

ปัจจุบันมีคนไทยจำนวนมากที่มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และประสบความสำเร็จในวิชาชีพ จนได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ระดับต่าง ๆ ดังกล่าว ทั้งจากสถาบันอุดมศึกษาในประเทศและต่างประเทศ แต่พระมหากษัตริย์พระองค์แรกและอาจทรงเป็นคนไทยคนแรกด้วย ที่ทรงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ถึง 2 ปริญญา จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แห่งอังกฤษ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี

และพระมหากษัตริย์พระองค์นี้เองที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศเชิดชูพระเกียรติคุณให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก และเอกสารการบริหารราชการแผ่นดินในรัชสมัยตลอดจนบทพระราชนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ คณะกรรมการมรดกความทรงจำแห่งโลกก็ได้ขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกอีกด้วย

คำสดุดีพระเกียรติคุณในการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้ง 2 ครั้ง แม้ผู้เรียบเรียงสอบพบรายละเอียดเฉพาะของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แต่หากใช้มุมมองของคณะกรรมการนานาชาติ คือ คณะกรรมการยูเนสโกและคณะกรรมการมรดกความทรงจำแห่งโลก แม้จะเป็นมุมมองในอีกร้อยปีต่อมา และเมื่อเทียบเคียงกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทย ล้วนสอดคล้องต้องกันว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระปรีชาสามารถอันล้ำเลิศทัดเทียมกับบรรดาพระมหากษัตริย์ในนานาประเทศ ทั้งในยุโรปและเอเชียที่ร่วมสมัยกับพระองค์ และต้องทรงรับพระราชภารกิจที่เหนื่อยยากกว่าในการพัฒนาประเทศไปพร้อม ๆ กับการรักษาเอกราชของชาติให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางการทหาร เศรษฐกิจ และการเมืองในเวลาเดียวกันถึง 2 ประเทศ

ในรัชสมัยของพระองค์ นอกจากการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่าง ๆ ในยุโรปและเอเชีย เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาประเทศ ด้วยพระบุคลิกลักษณะ พระราชอัธยาศัย และพระปรีชาสามารถเฉพาะพระองค์ได้ก่อให้เกิดความประทับใจในหมู่พระประมุข ประมุข และราชสำนักยุโรป ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและระหว่างพระราชวงศ์ที่ได้ผลอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจทั้งสองที่กล่าวถึงข้างต้น คือ อังกฤษและฝรั่งเศส

ที่สำคัญคือการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกในอังกฤษถึง 2 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

ภาพมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในอดีต (ภาพจาก www.ox.ac.uk)

การทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย
ปริญญากิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยือนอังกฤษครั้งแรกในพุทธศักราช 2440 ได้ทรงพบกับสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย และทรงเยี่ยมชมสถานที่สำคัญ ๆ รวมทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยือนมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เมื่อวันที่ 28 กันยายน พุทธศักราช 2440 ที่มหาวิทยาลัยนี้ ได้ทอดพระเนตรวิทยาลัยศาสนศาสตร์ (Divinity School) ห้องสมุดบอดเลียน (Bodleian Library) ซึ่งมีหนังสือไทยอยู่มาก ทั้งพระราชสาส์นสมัยกรุงศรีอยุธยา หนังสือขอมใบลาน พระไตรปิฎก แล้ว ดร. แมกราท (Doctor Magrath) รองอธิการบดีถวายพระกระยาหารกลางวันที่วิทยาลัยเบลเลียล (Balliol College) พร้อมทั้งกล่าวสุนทรพจน์ว่า ได้เคยมีการเลี้ยงที่สำคัญ ๆ ที่วิทยาลัยนี้มาแล้วเป็นอันมาก แต่ไม่เคยมีการเลี้ยงเป็นเกียรติยศใหญ่ยิ่งเหมือนครั้งนี้ “ด้วยเปนสิ่งสำคัญซึ่งเชื่อมวิทยาลัยฝ่ายตะวันตกให้ติดกับพระนครฝ่ายตะวันออก”

อีก 2 เดือนต่อมา หลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงประเทศไทยแล้ว มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย “ดีกรีอย่างสูง” โดยส่งผ่านสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน ดังความตอนหนึ่งในหนังสือของพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) เอกอัครราชทูตไทย ลงวันที่ 3 ธันวาคม รัตนโกสินทร์ศก 116 พุทธศักราช 2440 กราบทูลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงเทววงษ์วโรปการ (พระยศขณะนั้น) เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งน่าจะเป็นการประมวลสรุปจากคำสดุดีพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดว่า


ที่ 67

The Siamese Legation
23, Ashburn Place,
London, S.W.

วันที่ 3 ธันวาคม รัตนโกสินทรศก30 116

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ อรรคราชทูตวิเสศสยาม กรุงลอนดอน ขอพระราชทานกราบทูล พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทววงษ์วโรประการ เสนาบดีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ทราบใต้ฝ่าละอองพระบาท

ด้วยที่ปฤกษาการในออกซเฟิดยูนิเวอซิตี ประชุมพร้อมกันเห็นควรจะถวายดิกรีอย่างสูงของออกซเฟิดแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเปนพระเกียรติยศในการที่ได้เสด็จพระราชดำเนิรมาเยี่ยมเยือน เปนพระผู้มีเดชานุภาพ และพระเกียรติคุณอันประเสริฐพระองค์หนึ่งซึ่งเขาได้พบ ทั้งได้มีพระมหากรุณาทรงจัดการศึกษาสรรพวิทยาให้แพร่หลายแก่ประชากรกุลบุตรในพระราชอาณาเขตรของพระองค์ให้รุ่งเรืองขึ้น จึงให้เจ้าพนักงานบาญชีส่งปกาสนียบัตรสำหรับดิกรีนั้นมายังสถานทูตนี้ ขอให้นำส่งมาขอพระราชทานทูนเกล้าถวาย ข้าพระพุทธเจ้าได้ให้เจ้าพนักงานในสถานทูตนี้แปลปกาสนียบัตรนั้นจากภาษาแลตินออกเปนภาษาอังกฤศด้วยฉบับหนึ่ง และรวมบรรจุหีบส่งมาทางปาเซลโปสต์ในพระนามใต้ฝ่าละอองพระบาทด้วยแล้ว ขอได้โปรดนำขึ้นทูนเกล้าถวายในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า
วิสุทธสุริยศักดิ์1
(
สะกดการันต์ตามต้นฉบับ)


 

“ปกาสนียบัตร” หรือปริญญาบัตร และคำสดุดีพระเกียรติคุณที่แนบมากับเอกสารข้างต้น ผู้เรียบเรียงยังตรวจสอบไม่พบ

การทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย
ริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

ในการเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ในพุทธศักราช 2450 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปประเทศอังกฤษอีกครั้งหนึ่ง ได้ทรงพบกับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 และทอดพระเนตรสถานที่สำคัญรวมทั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พุทธศักราช 2450 มหาวิทยาลัยได้จัดพิธีทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (LL.D.) อย่างใหญ่โต พิธีจัดขึ้นในห้องบอลรูมที่เดวอนไชร์เฮ้าส์ ซึ่งเป็นที่พำนักของดยุคแห่งเดวอนไชร์ที่ 8 อธิการบดีมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับพระราชโอรสที่โรงเรียนอีตัน คราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พ.ศ. 2450

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล่าถึงการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ครั้งนั้น พระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล เป็นพระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 24 ลงวันที่ 25 มิถุนายน รัตนโกสินทร์ศก 126 พุทธศักราช 2450 ในพระราชนิพนธ์เรื่อง ไกลบ้าน ว่า

“…ไปเดวอนไชรเฮาส์สำหรับรับดีกรี ถึงเข้ายังไม่มีใคร ออกจะโตง ๆ เตง ๆ อย่างพิธีฝรั่ง สักครู่หนึ่งเจ้าพนักงานจึงมาแต่งตัวให้ สวมกาวน์แลหมวก ดุ๊กออฟเดเวนไชรชานเซลเลอเจ็บ ไวสชานเซลเลอเปนผู้ที่จะทำพิธีแทน จึงเข้ามานัดหมาย แล้วไปตั้งกระบวนแห่แต่ห้องชั้นล่างขึ้นไปห้องชั้นบน สักครู่หนึ่งจึ่งมีพนักงานที่ถือไม้เงินสองคน สวมกาวน์ดำแลหมวกสี่เหลี่ยมมานำขึ้นกระไดไปชั้นบนเปนห้องใหญ่ที่ประชุม ในห้องนั้นตั้งเก้าอี้สองแถวอย่างเช่นในวัด มีพวกเสื้อดำหมวกเหลี่ยมนั่งอยู่ข้างน่า พวกเราแลคนอื่นนั่งอยู่ข้างหลังทั้งสองข้าง ไวสชานเซลเลอห่มผ้าสีแดงขลิบขนคลุมยาวลงมาตลอดเท้า สวมหมวกดำสี่เหลี่ยม มีผู้ช่วยสวมกาวน์ดำยืนอยู่ข้างหลังสองคน ปับลิกออเรเตอสวมกาวน์แดง ยืนอยู่ข้างซ้าย พ่อยืนอยู่ตรงหน้า แล้วอ่านหนังสือเปนภาษาลติน จบแล้วไวสชานเซลเลอยื่นมือมาจับมือพ่อ ว่าภาษาลตินอิกยาว แล้วเชิญให้ขึ้นนั่งบนเก้าอี้ข้างขวา ผู้ที่อยู่ข้างล่างตบมือ แล้วเปนเสร็จพิธีกันเท่านั้น

ตั้งกระบวนแห่กลับลงมาข้างล่าง พ่อเดินข้างขวาไวสชานเซลเลอ ลงมาถึงห้องที่แต่งตัว แล้วมอบสำเนาคำสปีชภาษาลติน 6 ฉบับ แปลเปนภาษาอังกฤษ 6 ฉบับให้ กับคัตตาลอค เอตโนโลยิกัล คอเล็กชั่นแหลมมลายู คอเล็กชั่นของมิสเตอสกีตให้ เสร็จแล้วก็กลับ ได้ไปถ่ายรูปแต่งเครื่องหมอกฎหมายตามดีกรีที่เขาให้ ที่กรมดำรงขอให้ถ่าย อากาศมันช่างมืดมัว ถ่ายช้าเหลือเกิน ตั้งห้าหกเซกันด์ กลับมาถึงลิเคชั่นเวลาบ่าย 4 โมง ฝนตกตั้งแต่เช้ามาไม่ได้หยุดเลยจนหนาวเยือกเย็น…” (สะกดการันต์ตามต้นฉบับ)

ฉลองพระองค์กาวน์ที่ทรงในพิธีทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์นั้น ตัดด้วยผ้าสักหลาดสีเลือดหมู ด้านหน้ามีแถบผ้าไหมสีแดงอ่อน ทรงพระมาลาแบบบอนเนตกำมะหยี่สีดำ ปีกกว้าง สายรัดพระมาลาและพู่สีทอง2 พระบรมฉายาลักษณ์ในฉลองพระองค์กาวน์ปริญญาองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอัดถวายเจ้านายในราชสำนักยุโรปเป็นที่ระลึกด้วย

คำสดุดีพระเกียรติคุณในพิธีทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ยกย่องว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ไม่เหมือนกับกษัตริย์พระองค์ก่อน ๆ ของสยาม ทรงเป็นผู้ทำการปฏิรูประบบภาษีอากร เลิกทาส ทรงปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการศึกษาของประชาชนของพระองค์ และโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จไปทรงศึกษาหาความรู้ที่โรงเรียนในอังกฤษ เช่น โรงเรียนฮาร์โรว์ ตลอดจนโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีชื่อเสียง คำสดุดีพระเกียรติคุณนั้น กราบบังคมทูลเป็นภาษาละติน ซึ่งมีคำแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย ดังความบางตอนว่า

“Of all the Kings of the Siamese land he is the first to have made it a rule of life not merely to live for himself but to serve the interests of his whole people… and stood further as nurturer, preserver, liberator and educator of his whole people;

in whose reign, firstly, no one was born a slave, nor any later made a slave; secondly human beings, in their natural state sober, were preserved from the temptations of foreign intemperance; thirdly, all taxes were reduced to the best level;

and finally the royal princes themselves on whom for so many years the fortune of the house in established, were time and again sent to Harrow and other distinguished schools and to our ancient Universities…” 

“ในบรรดาพระมหากษัตริย์แห่งสยามประเทศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ตั้งพระราชปณิธานในการดำรงพระชนมชีพว่าจะบำเพ็ญพระราชกรณียกิจทั้งปวงเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรของพระองค์ มิใช่เพื่อพระองค์เอง… มีพระมหากรุณาธิคุณทำนุบำรุงราษฎร ปกปักรักษา ตลอดจนพระราชทานเสรีภาพและการศึกษาแก่อาณาประชาราษฎร์

สิ่งสำคัญประการแรกในรัชสมัยของพระองค์คือ จะต้องไม่มีผู้ใดเกิดเป็นทาส หรือถูกบังคับให้เป็นทาสในภายหลัง ประการที่สอง มนุษย์ทุกคนที่มีสติรู้ตัวเป็นปกติตามธรรมชาติ จักต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการใช้เล่ห์เพทุบายนานา โดยชาวต่างชาติที่ขาดสติลืมตัว ประการที่สาม การเรียกเก็บภาษีทุกชนิดจักได้รับการลดทอนลงถึงระดับที่เหมาะสมที่สุด

และประการสุดท้าย พระราชโอรสของพระองค์ซึ่งทรงพระเกษมสำราญใต้ร่มบารมีของพระบรมราชจักรีวงศ์มายาวนาน ก็ยังถูกส่งไปศึกษาต่อ โรงเรียนฮาร์โรว์ รวมทั้งโรงเรียนอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียง ตลอดจนมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของเราอีกหลายแห่งอยู่เนือง ๆ …” (คุณหญิงรัตนาภรณ์ ฉัตรพงษ์ แปล)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ขณะประทับที่วิลลาโนเบล เมืองซันเรโม ประเทศอิตาลี เมื่อคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ เพื่อรักษาพระอาการประชวร (ภาพจากหนังสือสมุดภาพ “ให้ดำรง ครั้งไกลบ้าน”, พ.ศ. ๒๕๔๐)

ร้อยปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการประกาศพระเกียรติคุณในระดับนานาชาติอีกครั้งหนึ่ง เมื่อองค์การยูเนสโกถวายพระเกียรติยศให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก กับเมื่อคณะกรรมการมรดกความทรงจำแห่งโลกยกย่องเอกสารสำคัญของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก แม้จะเป็นคนละช่วงเวลา แต่คำสดุดีพระเกียรติคุณทั้ง 4 คราวนั้นล้วนสนับสนุนซึ่งกันและกันในการเชิดชูพระเกียรติยศอย่างใหญ่หลวงทั้งสิ้น

ทั้งนี้ องค์การยูเนสโกได้ประกาศถวายพระเกียรติยศให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ทางด้านการศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และการพัฒนาสังคม เมื่อพุทธศักราช 2546 สาระแห่งคำประกาศพระเกียรติคุณนั้นมีว่า ในรัชสมัยของพระองค์ ประเทศชาติได้พัฒนาในทุกด้าน ทรงปฏิรูปการเมืองการปกครอง ทรงปรับปรุงกฎหมายและการศาล การแพทย์และการสาธารณสุข การคมนาคม เศรษฐกิจการคลัง การศึกษา การศาสนา ทรงปฏิรูปสังคม เปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ

ตลอดจนการสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศ เพื่อให้ชาติตะวันตกยอมรับ โดยเฉพาะทรงเลิกทาสให้ทุกคนเป็นไท ประชาชนชาวไทยจึงมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน ทรงนำพาประเทศไทยให้รอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก ทรงยอมเสียดินแดนบางส่วนเพื่อแลกกับอธิปไตยของชาติ จนทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญา พระปิยมหาราช”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นคนไทยลำดับที่ 13 ที่ทรงได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในโอกาสฉลองวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพครบ 150 ปี เมื่อวันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2546 และเมื่อพุทธศักราช 2552 คณะกรรมการมรดกความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World) ขององค์การยูเนสโก ก็ได้ถวายพระเกียรติยศอีกครั้งหนึ่งด้วยมติเป็นเอกฉันท์ให้เอกสารสำคัญของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ด้วยเป็นเอกสารที่แสดงการปฏิรูประบบราชการแผ่นดินครั้งสำคัญของประเทศไทย ระหว่างพุทธศักราช 2411 ถึงพุทธศักราช 2453 ซึ่งเป็นช่วงเวลาในรัชสมัยของพระองค์

พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์กาวน์ปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เมื่อพุทธศักราช 2540 ทรงอัดถวายเจ้านายในราชสำนักยุโรปและไทย

เอกสารสำคัญดังกล่าวเป็นเอกสารจดหมายเหตุที่จัดเก็บรักษาอยู่ที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติและสำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เป็นเอกสารการบริหารราชการแผ่นดินและเอกสารสมุดไทยดำ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเลิกทาส การจัดระบบการศึกษาแบบใหม่ ระบบการสาธารณสุข ระบบการสาธารณูปโภค การประปา ไฟฟ้า ระบบการคมนาคม การปฏิรูประบบการบริหารราชการเปลี่ยนจากระบบจตุสดมภ์ เวียง วัง คลัง นา เป็นกระทรวง 12 กระทรวง การปฏิรูประบบเศรษฐกิจและระบบการจัดเก็บภาษี การปฏิรูประบบกองทัพไทย การปฏิรูประบบศาลสถิตยุติธรรม และพระอัจฉริยภาพด้านวรรณกรรมในพระราชนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ

เอกสารเหล่านี้มีลักษณะเป็นหนังสือโต้ตอบราชการของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ รายงานข้อราชการจากหัวเมือง รายงานการตรวจราชการ รายงานการประชุมเสนาบดีสภา และพระบรมราชวินิจฉัยในราชการเหล่านั้น ซึ่งนับว่าเป็นหลักฐานแห่งการพัฒนาระบบการบริหารราชการอันนำไปสู่การพัฒนาประเทศในทุก ๆ ด้าน และแสดงการรับอิทธิพลด้านแนวคิดและอารยธรรมจากตะวันตก อันเป็นผลจากการเสด็จพระราชดำเนินประพาสประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปและเอเชียเพื่อศึกษาความเจริญของประเทศเหล่านั้น และการส่งนักเรียนไทยทั้งเจ้านายและบุตรหลานข้าราชการไปศึกษาต่อในต่างประเทศเพื่อกลับมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศของพระองค์

การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกทั้ง 2 ครั้ง จึงเป็นเครื่องยืนยันถึงพระเกียรติคุณอันเป็นที่ประจักษ์ในนานาประเทศขณะนั้น และสอดคล้องต้องกันกับการถวายพระเกียรติยศขององค์การยูเนสโกและคณะกรรมการมรดกความทรงจำแห่งโลก ในอีกร้อยปีต่อมาได้เป็นอย่างดี

 


ขอขอบคุณ ห้องสมุดเฉพาะสำนักราชเลขาธิการ เอื้อเฟื้อเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับคำกราบบังคมทูลในพิธีถวายปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เมื่อพุทธศักราช 2450

เชิงอรรถ :

1 สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงการต่างประเทศ . 11.1 เสด็จต่างประเทศ ยุโรป.
2 รายละเอียดฉลอมพระองค์กาวน์ ผู้เรียบเรียงตรวจสอบจากจดหมาย นาย เอ. คลาก ผู้ช่วยรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ถึงเอกอัครราชทูตไทย กรุงลอนดอน ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน คริสต์ศักราช 1973.


หมายเหตุ บทความเดิมในนิตยสารชื่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงได้รับ ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กันยายน 2562