ข้อหา “ประพฤติตนไม่เป็นอเมริกัน” กับการ “ล่าแม่มด” ในวงการ “ฮอลลีวูด”

(ซ้าย) ดาลตัน และคลีโอ ทรัมโบ ภรรยา ขณะรับฟังการสืบพยานของคณะกรรมการฯ, เอ็ดเวิร์ด เดอเมทริก ขณะให้การต่อคณะกรรมการฯ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง อิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์ค่อยๆ ครอบงำหลายพื้นที่ทั่วโลก ทำให้โลกเข้าสู่ยุคสงครามเย็นที่แม้จะยังไม่มีการใช้กำลังเข้าห่ำหั่นกันโดยตรงระหว่างสองขั้วอำนาจโลกเสรีและโลกคอมมิวนิสต์ แต่สงครามอุดมการณ์ภายในประเทศต่างๆ และสงครามตัวแทนก็ก่อให้เกิดความสูญเสียไม่น้อย

ประชาชนในดินแดนแห่งเสรีภาพอย่างสหรัฐฯ เองก็ได้รับผลกระทบจาก “ความหวาดกลัวต่อภัยแดง” เมื่อรัฐบาลเห็นว่า ภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นเหตุผลอันควรที่จะล่วงละเมิดเสรีภาพของประชาชน โดยมีคณะกรรมการพิจารณาพฤติกรรมที่ไม่เป็นอเมริกันแห่งสภาผู้แทนราษฎร (House Un-American Committee, HUAC) เป็นหัวหอกสำคัญในการเสาะหาผู้ที่ “ไม่จงรักภักดี” หรือจ้องล้มล้างรัฐบาล โดยเฉพาะบรรดาประชาชน ภาคเอกชน หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวพันกับขบวนการคอมมิวนิสต์

ในเดือนตุลาคม 1947 (พ.ศ.2490) HUAC เริ่มต้นการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ที่แทรกซึมอยู่ในวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูด ด้วยการเชิญตัวบรรดานักแสดง ผู้กำกับ นักเขียนบทภาพยนตร์ เจ้าของสตูดิโอต่างๆ มาให้ปากคำ โดยตั้งคำถามว่า “คุณเป็นหรือเคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์หรือไม่?” (ทั้งๆ ที่การเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในขณะนั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมาย) พร้อมกับบีบให้ผู้ที่ถูกเรียกตัวมาให้ปากคำ ต้องบอกชื่อเพื่อนร่วมงานของตนที่ “ต้องสงสัย” ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ให้กับคณะกรรมการฯ ด้วย

ในวันที่ 20 ตุลาคม 1947 หลุยส์ บ. เมเยอร์ (Louis B. Mayer) ประธานกลุ่ม Metro-Goldwyn-Mayer (MGM), แจ็ค วอร์เนอร์ (Jack Warner) รองประธานกลุ่มวอร์เนอร์บราเธอร์ส และ แซม วูด (Sam Wood) ประธานสมาพันธ์ภาพยนตร์เพื่อรักษาอุดมการณ์อเมริกัน ได้ถูกเรียกตัวมาให้ปากคำกับ HUAC

วูด ได้กล่าวประณามกลุ่มนักเขียนบทภาพยนตร์ และผู้กำกับที่เป็นคอมมิวนิสต์ “อย่างไม่ต้องสงสัย” ว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มอำนาจจากภายนอก พร้อมยืนยันว่ามีผู้ฝักใฝ่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ที่กำลังพยายามควบคุมอุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกันอยู่จริง โดยได้ระบุชื่อบุคคลที่เขาเชื่อว่าเป็นคอมมิวนิสต์ให้กับคณะกรรมการฯ ไปหลายคน

ด้าน วอร์เนอร์ ซึ่งพยายามหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่า “คอมมิวนิสต์” ได้กล่าวว่า วอร์เนอร์บราเธอร์สไม่ได้ต่อสัญญากับนักเขียนราว 10 คน เนื่องจากเห็นว่า คนกลุ่มนี้มีมุมมองที่ “ไม่เป็นอเมริกัน”

ส่วน เมเยอร์ ยอมรับว่า ใน MGM มีการกล่าวถึงบุคคลที่เชื่อว่าเป็นคอมมิวนิสต์อยู่ในองค์กรราว 2-3 คน แต่ยืนยันว่าจากการตรวจสอบงานทั้งหมดของ MGM ซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่พบว่ามีภาพยนตร์ชิ้นใดที่เสนอเนื้อหาขัดต่อค่านิยมอเมริกัน รวมถึงภาพยนตร์เรื่อง “Song of Russia” (1944) ที่ถูกกล่าวหาจากคณะกรรมการฯ ว่ามีเนื้อหาบางส่วนเข้าลักษณะเป็นการโฆษณาชวนเชื่อของคอมมิวนิสต์ โดยเมเยอร์ชี้แจงว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำขึ้นเพื่อสนับสนุนโซเวียตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งขณะนั้นสหรัฐฯ และโซเวียตเป็นพันธมิตรกัน และผู้นำสหรัฐฯ ในช่วงเวลานั้นก็เรื่องร้องให้ประชาชนร่วมกันสนับสนุนโซเวียตที่กำลังเจอศึกหนักที่สตาลินกราด และบทภาพยนตร์ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ของ ชายหนุ่มหญิงสาวที่มีรัสเซียเป็นฉากประกอบ

ด้าน วอลต์ ดีสนีย์ ที่เข้าให้ปากคำในวันที่ 24 ตุลาคมปีเดียวกัน ได้กล่าวว่า ปัญหาการนัดหยุดงานของคนงานได้สร้างผลกระทบให้กับสตูดิโอของเขาซึ่งเป็นผลมาจากการปลุกปั่นของผู้นำสหภาพแรงงานที่มีอุดมการณ์คอมมิวนิสต์  พร้อมเผยชื่อบุคคลที่เขาเชื่อว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศให้พรรคคอมมิวนิสต์เป็นกลุ่มนอกกฎหมาย

“ผมไม่คิดว่า พรรคคอมมิวนิสต์เป็นพรรคการเมือง…มันคือขบวนการที่ตั้งขึ้นมาหลอกล่อพวกลูกจ้าง” ผู้สร้างการ์ตูนในตำนานกล่าว

แต่ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มผู้กำกับ และนักเขียนบทกลุ่มหนึ่ง ที่ยืนยันจะไม่ยอมให้การใดๆ ต่อ HUAC ซึ่งภายหลังถูกเรียกว่าเป็นกลุ่ม “ฮอลลีวูดเท็น” (Hollywood Ten, เดิมมี 11 คน รวมถึง นักเขียนบทชาวเยอรมัน เบอร์โทลต์ แบรชต์ [Bertolt Brecht] ด้วย แต่เขาได้หลบหนีออกนอกประเทศไปก่อนที่จะมีการพิจารณาความผิด) โดยพวกเขาให้เหตุผลว่า กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ขัดต่อกฎหมายและละเมิดสิทธิตามบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ 1 ของสหรัฐฯ ที่ให้ความคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

การกระทำดังกล่าวทำให้พวกเขาต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 1 ปี ฐานละเมิดอำนาจรัฐสภา แต่ระหว่างที่ถูกจองจำ เอ็ดเวิร์ด เดอเมทริก (Edward Dmytryk) หนึ่งในสมาชิกฮอลลีวูดเท็น ตัดสินใจแตกหักกับเพื่อนร่วมกลุ่ม และหันไปให้ความร่วมมือกับทางคณะกรรมการฯ โดยยอมรับว่าตนเคยเป็นคอมมิวนิสต์ พร้อมกับยอมเปิดเผยชื่อผู้ต้องสงสัย อีก 26 ราย

ด้วยเหตุนี้ นอกจากเดอเมทริกแล้ว สมาชิกอื่นๆ อีก 9 คนจึงถูกขึ้นบัญชีดำจนส่วนใหญ่หมดอนาคตไปจากวงการภาพยนตร์ บางคนที่ยังต้องการทำงานในแวดวงฮอลลีวูดก็ต้องใช้นามแฝงหากิน เช่น ดาลตัน ทรัมโบ (Dalton Trumbo) นักเขียนที่ภายหลังสร้างผลงานคุณภาพจนได้รับรางวัลออสการ์ภายใต้นามแฝง “โรเบิร์ต ริช” (Robert Rich) จากเรื่อง “The Bave One” (1956)

ในทศวรรษที่ 1950, HUAC ได้ทำการกวาดล้างคอมมิวนิสต์จากวงการภาพยนตร์ครั้งใหญ่อีกครั้ง หลังความหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์ได้ก้าวสู่จุดสูงสุดเมื่อฝ่ายคอมมิวนิสต์เริ่มมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองตามมาด้วยเหตุการณ์สงครามเกาหลี คณะกรรมการฯ จึงได้เรียกกลุ่มบุคคลในวงการฮอลลีวูดหลายร้อยคนมาให้ปากคำ ซึ่งมีอยู่ราว 200 คนที่ปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือ พวกเขาจึงถูกขึ้นบัญชีดำ ส่วนใครที่มาให้การแต่ไม่อาจทำให้คณะกรรมการฯ สิ้นสงสัยได้ก็ถูกขึ้นบัญชีสีเทาแทน ซึ่งผู้ที่ถูกขึ้นบัญชีทั้งสองบัญชีต่างก็หมดอนาคตจากวงการบันเทิงไม่ต่างกันเท่าใดนัก

การล่าแม่มดในวงการฮอลลีวูดเริ่มคลี่คลายเมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 1960 หลังวุฒิสมาชิกโจเซฟ แม็คคาร์ธี (Joseph McCarthy) ตัวตั้งตัวตีคนสำคัญในการตามล่าคอมมิวนิสต์เสียชีวิตลงในปี 1957 ขณะที่ขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองกำลังเติบโตอย่างเข้มแข็ง ส่วนองค์กรพิทักษ์ “ค่านิยมอเมริกัน” อย่าง HUAC เองก็ถูกประณามจากอดีตประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมน (ดำรงตำแหน่ง 1945-1953) ในปี 1959 ว่าเป็น “สิ่งที่ไม่เป็นอเมริกันมากที่สุดของประเทศในขณะนี้” และ HUAC ก็ค่อยๆ หมดบทบาทลงแม้จะพยายาม “รีแบรนด์” ในปี 1969 แต่สุดท้ายก็ถูกยุบทิ้งไปในปี 1975

เมื่อบรรยากาศการล่าแม่มดค่อยๆ จางหายไป ศิลปินหลายคนที่เคยถูกขึ้นบัญชีดำจึงกลับมาได้รับการว่าจ้างในวงการบันเทิงอีกครั้ง ทรัมโบ หนึ่งในฮอลลีวูดเท็น ที่เคยต้องใช้นามแฝงในการเขียนงานของเขาก็หันมาใช้ชื่อจริง โดยได้รับเครดิตในผลงานที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในปี 1960 จากภาพยนตร์เรื่อง Exodus และ Spartacus ที่ดัดแปลงมาจากนิยายของเขา ซึ่งนับเป็นสัญลักษณ์แห่งการสิ้นสุดลงของยุคขึ้นบัญชีดำผู้เห็นต่างทางการเมืองของฮอลลีวูด

 


อ้างอิง :

1. “Hollywood Ten”. Encyclopædia Britannica. Encyclopædia Britannica Online. Encyclopædia Britannica Inc., 2016. Web. 20 Oct. 2016 <https://global.britannica.com/topic/Hollywood-Ten>.

2. “Film Men Admit Activity by Reds: Hold It Is Foiled”. The New York Times. <http://query.nytimes.com/mem/archive-free/pdf?res=9C05E3DE133AE233A25752C2A9669D946693D6CF>

3. “Critics of Film Inquiry Assailed; Disney Denounces ‘Communists’”. The New York Times. <http://query.nytimes.com/mem/archive-free/pdf?res=9402E4DA133AE233A25756C2A9669D946693D6CF>

4. “Hollywood Accused”. Roger Hudson. History Today. <http://www.historytoday.com/roger-hudson/hollywood-accused>

5. “Dalton Trumbo”. Encyclopædia Britannica. Encyclopædia Britannica Online. Encyclopædia Britannica Inc., 2016. Web. 20 Oct. 2016 <https://global.britannica.com/biography/Dalton-Trumbo>.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ตุลาคม 2559