เจ้านายที่ทรงแจกเครื่องเพชรพลอยแก่ชาววัง-ให้รางวัลคนทำดี แม้ของมีค่ามหาศาล

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ (ไม่ปรากฏแหล่งที่มา)

ในพระราชสํานักฝ่ายในเป็นสถานที่ที่มีแต่สตรีเพศ ซึ่งโดยวิสัยตามธรรมชาติ คือความรักสวยรักงาม ประกอบเข้ากับการที่ต้องมีหน้าที่ที่จะต้องอยู่รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท มีความจําเป็นต้องทําตนให้งดงามสดสวยอยู่ตลอดเวลา นับแต่การเลือกสรรผ้าผ่อนแพรพรรณอันงดงามมานุ่งห่ม สรรหาเครื่องสําอางประเทืองผิว อบร่ำเสื้อผ้าร่างกายให้หอมกรุ่นแล้ว การแสวงหาอัญมณีมาประดับประดาร่างกายเป็นเรื่องที่ชาววังทุกคนถือเป็นความจําเป็นในชีวิต โดยเฉพาะเครื่องเพชรนิลจินดา

เพราะนอกจากจะเป็นเครื่องประดับที่มีค่าแล้ว ยังถือว่ามีความเป็นสวัสดิมงคลแก่ผู้สวมใส่ตาม ลักษณะเฉพาะของอัญมณีแต่ละชนิดด้วย เช่น เพชร สวมใส่แล้วมีอํานาจวาสนาบารมี ทับทิม ทําให้พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน อุดมด้วยทรัพย์สินเงินทอง

มรกต สามารถป้องกันอันตรายและภัยจากสัตว์มีเขี้ยว บุษราคัม อายุจะยืนยาว โกเมน เป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป นิล ใส่แล้วจะประสบแต่ความสุขและสิ่งดีงาม มุกดาหาร ป้องกันสัตว์ร้ายและอสรพิษ เพทาย ใส่แล้วมีสิริมงคล ไพฑูรย์ ใส่แล้วจะมีแต่ชัยชนะ เพื่อให้ได้รับสิริมงคลครบทุกประการ จึงมีการนําอัญมณี ทั้ง 9 ชนิดมาประดิษฐ์เป็นเครื่องประดับต่างๆ เรียกกันว่า “นพเก้า”

มีทั้งที่ทําเป็นแหวน สายสร้อย สังวาล และเครื่องประดับอื่นๆ นพเก้าจึงเป็นเครื่องประดับที่ชาววังทุกคนต้องเสาะหามาไว้ประจําตัว นอกจากนี้ยังมีอัญมณีอื่นๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับความพอใจส่วนตัว หรือความต้องการเสริมสิริมงคลในด้านหนึ่งด้านใดที่ตนปรารถนาโดยเฉพาะ

เครื่องประดับตกแต่งที่บรรดาพระมเหสีเทวีมักต้องทรงมีไว้เป็นสมบัติส่วนพระองค์ก็คือ เครื่องอัญมณีสําหรับโสกันต์ ยิ่งพระมเหสีเทวีพระองค์ใดที่มีพระราชโอรสธิดา หรือพระประยูรญาติในพระอุปการะมากพระองค์ ก็ยิ่งต้องมีเครื่องอัญมณีสําหรับแต่งในพิธีโสกันต์หลายชุด คือมีตั้งแต่พระเกี้ยวเมาฟี (ครอบจุก) ปิ่น พาหุรัด ทองกร ข้อพระหัตถ์และพระบาท ปะวะหล่ำ กําไล แหวนรอบ จี้ สร้อยสังวาล สะอึ้ง ปั้นเหน่ง ธํามรงค์ ตลอดจนสายเข็มขัดเงินทองถักลายละเอียดแบบเก่า

เครื่องประดับเหล่านี้ทําด้วยทองฝังเพชรลูก เพชรซีก ทับทิม มรกต และอัญมณีอื่นๆ ตามความเหมาะสม กล่าวกันว่าในจํานวนพระมเหสีเทวีทั้งหมดนั้น สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงมีชุดสําหรับแต่งในพิธีโสกันต์มากที่สุด สามารถแต่งคราวเดียวกันได้ถึง 7 พระองค์ โดยไม่มีอะไรขาดตกบกพร่องเลย

พระมเหสีเทวีที่ได้ชื่อว่าโปรดปรานเครื่องเพชรพลอยและใฝ่พระทัยเสาะแสวงหาเพื่อจัดสรรให้ได้เป็นชุด เป็นเถา แต่ละชิ้นล้วนมีค่ามีราคาและมีเป็นจํานวนมหาศาลก็คือ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ

เครื่องประดับดังกล่าวมีทั้งที่ทรงซื้อด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ได้รับพระราชทานจากพระบรมราชสวามี ตลอดจนพ่อค้าคหบดีนํามาทูลเกล้าฯ ถวายในโอกาสต่างๆ แล้วยังทรงเป็นพระมเหสีเทวีเพียงพระองค์เดียวที่ทรงได้รับเครื่องอัญมณีเป็นของขวัญล้ำค่าจากพระราชาธิบดีและพระราชินีต่างประเทศที่ทรงฝากมาถวายอีกด้วย จนเป็นที่กล่าวขวัญกันว่า ไม่เคยมีพระมเหสีเทวีพระองค์ไหนในรัชกาลใดๆ แห่งราชวงศ์จักรีทั้งในอดีตและปัจจุบันจะได้เป็นเจ้าของราชาภรณ์ที่เป็นเพชรนิลจินดาค่าควรเมืองที่งดงามหลากสีหลายตระกูล ขนาดต่างๆ และนานาชนิดเหมือนของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถเลย

นางอมรดรุณารักษ์ อ. สุนทรเวช ผู้เคยเป็นข้าหลวงใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทได้บรรยายเกี่ยวกับเครื่องเพชรเฉพาะชุดใหญ่ๆ ที่มีความงามเป็นเยี่ยมและมีค่าควรเมืองไว้ในหนังสือพระราชประวัติ ชีวิตส่วนพระองค์ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไว้ดังนี้

“1. ชุดเพชรรูปกลม ประกอบด้วยสร้อยพระศอ เป็นเพชรลูกน้ำขาวเม็ดใหญ่ เหมือนเฟื่องระย้าซ้อนสองชั้น รัดเกล้ารูปดอกเบญจมาศเพชรคาดรอบ พระเศียร เข็มกลัดดอกเบญจมาศระย้าเพชรใหญ่สามดอกจัดเป็นช่อ พระวลัยกรเพชรลายละเอียดโปร่งทั้งสองข้าง และพระธํามรงค์เพชรเป็นชุดหนึ่ง

2. ชุดเพชรรูปกลมขนาดใหญ่ เป็นสร้อยสังวาลเฟื่องเพชรสามชั้น รอบพระศอเรียงกันตามลําดับเล็กใหญ่เป็นเถา สําหรับประดับเวลาทรงเครื่องเต็มยศอย่างขัตติยนารีตามแบบโบราณราชประเพณีของไทยเดิม

3. เพชรรูปน้ำหยด ประกอบด้วยสร้อยพระศอระย้าเพชรสลับกับไข่มุกล้วนแต่เม็ดใหญ่น้ำงามๆ โดยเฉพาะเม็ดเพชรน้ำหยดนั้น มีขนาดใหญ่พิเศษ บริสุทธิ์ กระบังเพชรรูปเพชรน้ำหยดกับไข่มุกและสร้อยพระสังวาลระย้าเพชร สลับไข่มุกเป็นรัศมีกว้างเต็มพระอุระเป็นชุดหนึ่ง

4. ชุดทับทิม เป็นทับทิมจากพม่าสีแดงสดเจียระไนเป็นรูปหัวใจบ้าง รูปไข่บ้าง และรูปสี่เหลี่ยมบ้าง ประกอบลวดลายมงคลเพชรรวมกันเป็นชุดใหญ่ มีทั้งตุ้มพระกรรณ สร้อยพระศอ สังวาลระย้าลายกนกเพชรประกอบ ทับทิม กําไลต้นพระพาหา พระวลัยกร หัวเข็มขัด และพระธํามรงค์ทับทิม มงคลเพชร เข็มกลัดรูปตัวแมลง และปิ่นปักผม

5. ชุดมรกต เป็นมรกตรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่น้ำเขียวขจีสดใส ประกอบด้วยสร้อยพระศอ พาหุรัดสวมต้นพระพาหา วลัยกร และพระธํามรงค์

6. ชุดนิลสีน้ำเงินแก่ เป็นนิลสีน้ำเงินเข้มมงคลเพชร ประกอบกันเข้าเป็นชุด

7. ไข่มุก ทรงมีทั้งชุดไข่มุกประกอบเพชร และไข่มุกหลายสีหลายขนาดตั้งแต่เล็กขึ้นไปจนถึงใหญ่ ทําเป็นเครื่องประดับลักษณะต่างๆ เช่น สร้อยพระสังวาลเพื่องไข่มุกเม็ดขนาดใหญ่ 3 ชั้น มีตุ้มเพชรห้อยเป็นระยะ หรือเป็นไข่มุกเม็ดขนาดกลางร้อยเป็นสายยาวพันรอบพระศอเป็นชั้นๆ ตั้งแต่ สั้นลงมาจนถึงบั้นพระองค์ 6-7 ชั้น ซึ่งจะต้องใช้ไข่มุกคัดที่มีสีและขนาดเท่าๆ กัน หรือลดหลั่นเข้าเถากันได้ไม่ต่ำกว่าพันๆ เม็ด และยังมีสร้อยพระศอไข่มุกสี กุหลาบอ่อน นอกจากนี้ยังทําเป็นเครื่องอาภรณ์แบบต่างๆ มีทั้งที่เป็นระย้าเพชร ประกอบไข่มุกติดเข็มกลัด”

เกี่ยวกับเครื่องประดับประเภทไข่มุกนี้ หมอสมิธ แพทย์ประจําพระองค์ ได้บันทึกไว้ว่า

“คืนนั้นข้าพเจ้าได้ทูลขอให้สมเด็จพระพันปีหลวงทรงนําสร้อยพระศอไข่มุกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเป็นของขวัญแก่พระองค์เมื่อคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ซึ่งมีมูลค่าถึง 100,000 ปอนด์ ออกมาให้ชม

แม้ว่าข้าพเจ้าจะเคยเห็นสร้อยพระศอเส้นนี้มาแล้วหลายครั้งในขณะที่พระองค์ทรงสวมอยู่ แต่ก็ยังไม่เคยได้เห็นและสัมผัสอย่างใกล้ชิด สร้อยพระศอเส้นดังกล่าว ถูกนําออกมาจากห้องที่อยู่ติดๆ กัน เกือบจะในทันที และเมื่อเห็น ข้าพเจ้าก็มิได้รู้สึกผิดหวังเลย ไข่มุกเม็ดที่จัดว่าเป็น “น้ำเอก” มีขนาดกําลังพอเหมาะประดับตกแต่งด้วยอัญมณีงดงาม ภายใต้แสงตะเกียงสลัวๆ ขณะปล่อยให้มันไหวตัวกลิ้งไปมาส่งประกายระยิบระยับอยู่ในอุ้งมือของข้าพเจ้า นับเป็นประสบการณ์ที่ไม่อาจลืมเลือน

ความยาวเต็มที่ของสร้อยที่ร้อยเข้าไว้ด้วยกันทั้งเส้นวัดได้เกือบ 5 ฟุต เวลาสวมสามารถจัดแต่งให้พันรอบพระศอได้เป็น 2 ทบ มุกเม็ดใหญ่ที่สุดขนาดเท่าลูกหินห้อยอยู่ตรงกลางของมุกแต่ละสาย-“

ความมากมายมหาศาลของเครื่องอัญมณีในสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ประจักษ์ชัดจากคําบรรยายของนางอมรดรุณารักษ์ ว่า “เครื่องเพชรพลอยดังกล่าวนี้ ถ้าชนิดไหนสร้างขึ้นเป็นชุดใหญ่ที่มีเครื่องทรงครบจะบรรจุไว้ในหีบหนัง ซึ่งทําขึ้นโดยเฉพาะพอเหมาะกับรูปร่างของเครื่องอาภรณ์นั้นๆ ภายในหีบกรุด้วยกํามะหยี่ ฝาสปริงปิดสนิทเป็นชุดๆ ตามขนาดต่างๆ เช่นชุดใหญ่ที่อาจจะมีสร้อยพระสังวาลระย้าเพชร วางตรงกลางหีบ และมีพระวลัยกร พระธํามรงค์ หรือตุ้มพระกรรณ และอื่นๆ อาจจะเป็นเข็มกลัดต่างๆ เป็นต้น

ส่วนเครื่องเพชรที่เป็นชิ้นปลีกย่อยก็จะบรรจุ เรียงรายกลึงติดไว้ในถาดกํามะหยี่สี่เหลี่ยมเหมือนลิ้นชัก ภายในกรุกํามะหยี่สีน้ำเงินหุ้มนวมอ่อนนุ่ม และลิ้นชักนี้วางซ้อนกันได้ 2-3 ชั้น โดยไม่ต้องกลัวจะกดทับเครื่องเพชรข้างในให้เสียหาย เวลาเอาถาดเหล่านี้ออกเรียงกันแล้วจะแลดูงามวาววับจับตา-“

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงบรรยายเกี่ยวกับเรื่องเครื่องเพชรของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ครั้งประทับอยู่ ณ วัง พญาไท ในหนังสือเกิดวังปารุสก์ ความว่า

“—สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ เห็นจะต้องเป็นพระกษัตรีไทยพระองค์หนึ่งที่ใครๆ จะต้องยอมรับกันทั่วไปว่า ท่านทรงมีเครื่องเพชรมากมายเหลือเกิน -ถ้าจะเสด็จไปในงานใด ข้าหลวงจะต้องเอาเครื่องเพชรของท่านมาถวายทั้งหมดให้ทรงเลือก นอกจากเครื่องใหญ่จริงๆ จึงไม่มีเก็บไว้ที่พญาไท เพราะเครื่องชุดใหญ่ๆ นั้นเก็บรักษาไว้ที่ในพระบรมมหาราชวัง ถึงกระนั้นเครื่องย่อยๆ ของท่านก็ดูคล้ายๆ กับร้านขายเครื่องเพชรร้านใหญ่ในมหานครหลวงในยุโรป ข้าหลวงต้องขนมาเป็นถาดๆ หลายๆ ถาด บางทีถาดเดียวจะมีแต่พระธํามรงค์เพชรพลอยต่างๆ ตั้ง 60 วง-“

ในส่วนเจ้านายพระองค์อื่นๆ ก็ทรงมีและสะสมเครื่องอัญมณีไว้เป็นสมบัติของแต่ละพระองค์ เพราะจะต้องใช้ประดับพระองค์เนื่องในโอกาสต่างๆ แต่ไม่ใคร่มีหลักฐานปรากฏ เพราะถือเป็นเรื่องส่วนพระองค์ จะมีก็แต่เรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมาถึงความอลังการมหาศาลของทรัพย์สมบัตินั้น เพราะเป็นความตื่นตาตื่นใจของคนธรรมดาสามัญทั่วไป ดังที่ ม.ล.เนื่อง นิลรัตน์ เล่าถึงเรื่องเครื่องอัญมณีส่วนหนึ่งของพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ไว้ว่า

“เมื่อหลายวันก่อน พระวิมาดา เธอทรงเรียกช่างทองมาแกะเพชรแกะทองออกจากเครื่องชุดโกนจุกของเจ้านายเล็กๆ ที่เลิกใช้แล้ว-ท่านเลยสั่งให้ซื้อเครื่องเพชรทองที่ประดับไว้กับเครื่องแต่งตัวโกนจุกทุกชิ้น แกะเพชรลูก เพชรซีก และอัญมณีต่างสีออกมาให้หมดแยกส่วนที่เป็นทองคำไว้ต่างหาก

วันนั้นพวกข้าหลวงใหญ่มีพี่หละอยู่ด้วย ถูกตามตัวไปล้างเพชรที่แคะออกมา เอาเพชรใส่ชามกะละมังเคลือบสีขาว ล้าวซาวด้วยแอลกอฮอล์แล้วตักมาวางบนผ้าสีดำ—คัดเลือกเพชรทุกขนาด แต่ละอย่างห่อด้วยกระดาษสีชมพู จดจำนวนจดขนาดของเพชรไว้หน้าห่อเพชรที่แคะออกมาจากทองคำ คนนั่งล้างเป็นแถวหลายชาม ถ้าเอามาเทรวมกันแล้ว เห็นจะได้สักกะละมังกินข้าว-ส่วนอัญมณีสีต่างๆ เป็นต้น ทับทิม มรกต เครื่องฝังนพเก้า ก็ล้างให้สะอาดทุกเม็ด ห่อกระดาษ จดชื่ออัญมณีชนิดนั้นไว้หน้าห่อ ทั้งจดจํานวนด้วยว่ามีกี่เม็ด พลอยสีที่เจียระไนเป็นหลังเบี้ยก็มี ที่เจียระไนเป็นเหลี่ยมส่งแสงแวววาวก็มี-เมื่อห่อกระดาษสีชมพู จดขนาดจดจํานวนเรียบร้อยแล้ว ก็เอาลงเรียงเก็บในกล่องกํามะหยี่สีแดงรูปสี่เหลี่ยมใบโต เอาเข้าไปเก็บไว้ในห้องเซฟ-“

แม้อัญมณีเหล่านี้จะเป็นสิ่งมีค่า มีราคา แต่ในความรู้สึกของเจ้านายสมัยนั้น ค่าหรือราคาของอัญมณีเหล่านั้นมิได้มีมากไปกว่าค่าของคน ทรงแบ่งปันแจกจ่ายให้เป็นความสวยงามแก่ผู้ที่อยู่ใกล้ชิด หรือเป็นรางวัลแก่ผู้ที่ทําความดี ดังที่ ม.ล.เนื่องเล่าไว้ว่า

“—พระวิมาดาเธอรับสั่งใช้ให้เอาเพชรลูกไปประทานคุณจอมเหม พระมารดาเสด็จองค์เหมวดี เอาไปให้ท่านเลือกหลายห่อ ให้คุณจอมเหมเอาไว้ทําสร้อยคอเพชร ทําเข็มกลัดเพชรไว้กลัดตอนแต่งตัวเต็มยศสะพายแพรบนบ่า จะได้เอาไว้กลัดแพรที่บ่า ยิ่งกลัดเข็มอันโตยาวยิ่งสวย-“

หรืออย่างเมื่อโปรดประทานตุ้มหูเพชรเป็นรางวัลแก่ข้าหลวงชื่อปยง ที่นําห่อเพชรซึ่งพลัดเข้าไปอยู่ใต้ตู้มาถวาย ม.ล.เนื่องเล่าไว้ว่า

“แล้วปยงก็เอาห่อเพชรเข้าไปถวายคืน พระวิมาดาเธอทรงชื่นชมกับความซื่อสัตย์ของปยงมาก ทรงสั่งท่านหญิงโอภาษให้หยิบต่างหูเพชรลูกเม็ดโตพอสมควร มาประทานรางวัลให้ปยง 1 คู่ เขาก็ใส่ฉับพลันทันทีเดินหน้าตาเบิกบานไปเชียว-“

หรือในโอกาสพิเศษอื่นๆ เช่น วันเกิด เมื่อหม่อมเจ้าสะบายมีชันษาครบ 60 ปี พระวิมาดาเธอโปรดประทานแหวนเพชรลูกใส่นิ้วก้อย “เพชรเม็ดใหญ่เม็ดเดียว น้ำสุกใส โตเต็มนิ้วก้อย—“

ม.ล.เนื่อง นิลรัตน์ บรรยายถึง ความรู้สึกในพระเมตตาของพระวิมาดา เธอว่า “—พระวิมาดาเธอท่านพระทัยประเสริฐจริงๆ ข้าหลวงทุกคนใส่เพชร ใส่ทองกันให้เต็มตัวด้วยของประทานให้ สมแล้วที่ท่านทรงมีทั้งอํานาจ วาสนา ทรัพย์สินเงินตรา ข้าทาสหญิงชาย ที่เต็มไปด้วยความจงรักภักดี กลัวเกรง ชื่อสัตย์ แทบจะถวายชีวิตได้-“

การออกเรือนของสาวชาววังก็ถือเป็นโอกาสสําคัญที่เจ้านายจะต้องประทานข้าวของเครื่องประดับให้แก่ข้าหลวงในสํานักนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดิน บรรยายถึงของที่เสด็จประทานแก่พลอยครั้งออกเรือน ดังนี้

“— พลอยก้มลงกราบรับของประทานจากพระหัตถ์ด้วยมืออันสั่นรัวและคอหอยที่ตื้นตันเท่าที่จะมองลอดน้ำตาไปได้ พลอยก็เห็นว่าของที่ประทานนั้นมีราคาอยู่มิใช่ของเล็กน้อยอย่างที่เสด็จรับสั่ง อันหนึ่งเป็นเข็มกลัดสําหรับกลัดกับแพรสะพาย ทําเป็นช่อกุหลาบทําด้วยเพชรกับทับทิม สาย สร้อยอีก 2 เส้นนั้นก็ฝังเพชรกับทับทิมสลับกัน—“

ในส่วนของเจ้าจอมนั้น เครื่องเพชรพลอยที่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง คือจากฐานะดั้งเดิมถ้าร่ำรวยเป็นลูกสาวเจ้าสัวหรือคหบดีก็จะมีเครื่องเพชรพลอยเป็นสมบัติติดตัวมา และเมื่อถวายตัวอยู่ในสํานักใดสํานักหนึ่งก็จะได้รับประทานเครื่องประดับจําพวกเพชร ทอง นาก จากเจ้านายที่ตนสังกัด

ม.ล.เนื่องเล่าถึงผู้ที่เข้าถวายตัวในสํานักสมเด็จพระวิมาดาเธอว่า “—ลูกหม่อมเจ้า ลูกพระยา วันแรกที่เข้ามาถวายตัวเป็นข้าหลวง สิ่งแรกที่ต้องประทานให้ คือเข็มขัดนาก สร้อยคอทองคําห้อยเหรียญพระนาม–ส่วนเครื่องแต่งตัวชิ้นอื่นๆ จะได้ตามมาภายหลังเมื่ออยู่ไปนานแล้ว”

และเมื่อข้าหลวงคนใดได้รับพระเมตตาตั้งเป็นเจ้าจอม ก็จะมีโอกาสได้รับพระราชทานข้าวของเครื่องประดับอีกมากน้อยตามแต่จะโปรดปราน ม.ร.ว.สดับเป็นเจ้าจอมท่านหนึ่งที่มีโอกาสได้รับพระราชทานเครื่องเพชรนิลจินดาเป็นจํานวนมาก ดังที่ท่านเล่าไว้ในประวัติส่วนตัวของท่านว่า “เมื่อเสด็จกลับจากยุโรปก็ทรงพระมหากรุณาพระราชทานเครื่องเพชรจํานวนมหาศาล มีพระราชประสงค์ให้เป็นหลักทรัพย์เลี้ยงชีพในอนาคต”

แต่ต่อมาอีกไม่นานเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เครื่องเพชรเหล่านี้ก็ทําให้เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับเกิดปัญหาลําบากใจเป็นที่เพ่งเล็งเพราะ “นอกจากจะมีรูปสมบัติแล้วยังอุดมไปด้วยทรัพย์สมบัติ คือเพชรนิลจินดาเครื่องประดับที่ได้รับพระราชทานไว้มากมาย จะเป็น สาเหตุให้มีผู้หมายปองแล้วใช้เล่ห์กลทําให้ลุ่มหลงไปในทางที่ผิดจนอาจเกิดความเสื่อมเสียถึงพระเกียรติยศ-“

ด้วยเหตุดังกล่าว เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับจึงถวายเครื่องเพชรทองคืนสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ซึ่งก็ทรงขายนําเงินที่ได้มาสมทบทุนสร้าง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นสมัยที่ไทยยอมรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาใช้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องการแต่งกาย ทําให้เครื่องประดับหลายชนิดพ้นสมัย เพราะการแต่งกายแบบตะวันตกไม่นิยมเครื่องประดับมาก

สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ทรงเป็นเจ้านายพระองค์หนึ่งที่ทรงนําสมัยเรื่องการแต่งกาย พระองค์ไม่โปรดเครื่องประดับชิ้นใหญ่ แม้จะทรงมีเครื่องเพชรจํานวนมาก จะโปรดเฉพาะชิ้นเล็ก ๆ ซึ่งดูเหมาะสมกับฉลองพระองค์แต่ละชุด และแม้แต่เด็ก ๆ ในพระอุปถัมภ์ก็จะไม่ทรงปล่อยให้ “เชย” ดังที่ ม.จ.พิไลยเลขาทรงเขียนเล่าไว้ว่า เมื่อโรงเรียนราชินีมงานออกร้านขายของนั้นโปรดให้ ม.จ.พิไลยเลขามาช่วยขายของให้เจ้านายต่างประเทศ รับสั่งให้ถอดเครื่องเพชรที่แต่งอยู่ออกให้หมด เหลือเพียงจี้เพชรอย่างเดียว แล้วตรัสว่า “เด็กฝรั่งเขาไม่แต่งเพชรมากๆ”

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กรกฎาคม 2562 จัดย่อหน้าใหม่โดยกองบรรณาธิการ