ที่มาของสดับปกรณ์

พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ในการบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (ภาพจาก จดหมายเหตุงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี. กรมศิลปากร, 2541.)

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในสาส์นสมเด็จถึงที่มาของการ บังสุกุล และสดับปกรณ์ ว่ามาจากพุทธประวัติความว่า

“ขอทูลเปนเรื่องปกิรณกะต่อไปอีกเรื่อง 1 วันหม่อมฉันไปทำบุญที่หน้าพระศพสมเด็จกรมพระสวัสดิฯไปนึกขึ้นว่าการที่พระสงฆ์ชักผ้าสวด “อนิจจา วัฏสังขารา” นั้นเราเรียกเปน 2 อย่าง

Advertisement

ถ้าพระศพเจ้านายเรียกเปนราชาศัพท์ว่า สดัปกรณ์” ถ้ามิใช่ศพเจ้าเรียกว่า “บังสกุล” ที่จริงผิดถนัดทีเดียว เพราะบังสกุลกับสดัปกรณ์เปนการต่างกัน

บังสกุลเกิดแต่พระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุสงฆ์เที่ยวเก็บผ้าที่ผู้อื่นเขาทิ้งเสียแล้วเรียกว่า ผ้าเปื้อน มาตัดเปนเครื่องนุ่งห่ม ผ้าที่เขาใช้ห่อศพหรือคลุมศพ ที่เขาทิ้งเสียเมื่อเผาศพแล้ว อยู่ในจำพวกผ้าบังสกุลจึงไปเนื่องกับศพ ทีหลังมาเมื่อพระพุทธสาสนารุ่งเรือง เอาการที่พระภิกษุเก็บผ้าบังสุกุลนั้นมาประกอบในการกุศลที่บำเพ็ญให้แก่ผู้มรณ เอาผ้าที่ดีไปทอดที่ศพแล้วนิมนต์พระสงฆ์ไปชักเรียกว่า มหาบังสกุล” และต่อมามีผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาจะบำเพ็ญการกุศลเช่นนั้นให้ทันตาเห็นเอง จึงเอาผ้าทอดที่ตัวของตนเองเพื่อให้พระชักบังสกุลเรียกว่า “บังสกุลเปน

การบังสุกุลรวมอยู่ในชักผ้าทุกสถานสดัปกรณ์นั้น มูลเกิดแต่พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ประทานเทศนา สดัปกรณ์ คือ พระธรรม 7 คัมภีร์ สนองพระคุณพระพุทธมารดาอยู่พรรษาหนึ่งด้วยความกตัญญู คนทั้งหลายจึงถือว่าการสวดสตปกรณ เป็นการบำเพ็ญกุศลด้วยความกตัญญู เวลาญาติสิ้นชีพก็นิมนต์พระมาสวดสตปกรณ ถ้าทำโดยพิสดารก็ตั้งเตียงนิมนต์คณะสงฆ์ 4 รูป ถ้าทำแต่โดยย่อก็นิมนต์พระสงฆ์ที่ชักบังสกุลนั้นให้สวดสตปกรณด้วย เพราะนั้นจึงควรเรียกว่า สดัปกรณ” แต่เฉพาะสวดพระธรรม 7 คัมภีร์นำ เช่นที่เรียกว่าสดัปกรณ์รายร้อย ถ้าเปนแต่ชักผ้าสวดแต่อนิจจาควรเรียกว่า “บังสุกุล” ไม่เลือกว่ายศศักดิ์ชั้นใดจึงจะถูกต้อง”

ไม่เพียงเท่านั้น สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ก็ทรงมีพระวินิจฉัยถึงที่มาและอักขรวิธีของคำสดับปกรณ์ ไว้ในสาส์นสมเด็จ ด้วยเช่นกัน ดังนี้

“พระวิจารณ์ในเรื่อง”บังสกุล” และ “สดัปกรณ์” นั้นดีหนัก ถูกที่สุดไม่มีข้อใดที่จะค้านเลย แต่จะขอทูลต่อทางอักขรวิธีในคำ “สดัปกรณ์” ให้ทรงทราบต่อไปอีกหน่อยคือคำว่า “สดัปกรณ์” นั้น แต่ก่อนเขียนกันหลายอย่าง “สดัปกรณ์” ก็มี “สดับปกรณ์” ก็มี “สตปกรณ” ก็มี “สะบัดปกรณ์” ก็มี และยังอย่างอื่นอีก ทำเอาเวียนสีสะไม่รู้จะเขียนอย่างไร จึงได้ไปทูลปรึกษากรมพระสมมตว่าควรจะเขียนอย่างไร

ท่านทรงวินิจฉัยว่าไม่มีที่สงสัย คำ “สดัปกรณ์” นั้นมาแต่คำ “สตฺตปฺปกรณ” ในภาษาบาลีเปนแน่นอน ซึ่งแปลว่าปกรณเจ็ด หมายถึงพระธรรมเจ็ดคัมภีร์ แต่เรามาพูดกันเพี้ยนเสียงไม่ตรงตามคำบาลี จึงเปนทางที่ผู้รู้คิดเขียนยักย้าย โดยประสงค์จะให้เข้าได้ทั้งคำเดิมและเสียงพูด ลางคนก็เขียนหนักไปทางคำเดิม ลางคนก็เขียนหนักมาทางคำพูด ส่วนพระองค์ท่านทรงพระดำริเห็นว่าต้องเอาคำพูดเปนใหญ่ จะเอาคำเดิมเปนหลักนั้นขวาง ทรงแนะนำให้เขียน “สดับปกรณ์” จะว่าตัดบาลี เขียน สัต เปน ส แปลว่า ปกรณเจ็ด ตามเดิมก็ได้ หรือจะให้แปลเปนภาษาไทยไปว่า ฟังปกรณ ก็ได้ เกล้ากระหม่อมเห็นชอบด้วยพระดำรินั้นเปนอย่างยิ่ง จึงได้เขียน “สดับปกรณ์” ตั้งแต่นั้นมาจนกระทั่งบัดนี้”

ด้วยเหตุจากที่มาของคำทั้งสองต่างกันคำ

บังสุกุล หมายถึงการบำเพ็ญกุศลด้วยการชักผ้าหรือทอดผ้าบังสุกุล

ส่วนสดับปกรณ์ จึงหมายถึงการสวดพระธรรม ๗ คัมภีร์ เพื่อแสดงความกตัญญูต่อผู้ล่วงลับโดยอาศัยเหตุการณ์ตามพุทธประวัติเป็นการบำเพ็ญกุศล

แต่กระนั้นก็ยังมีความนิยมในการเรียกพิธีทั้งการทอดผ้าและการสวดพระอภิธรรมของเจ้านายว่า สดับปกรณ์

(คัดมาจากหนังสือ ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย เขียนโดย นนทพร อยู่มั่งมี. สำนักพิมพ์ มติชน. 2551)