วิธีการอัญเชิญพระบรมศพรัชกาลที่ 2 ลงพระบรมโกศ (ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เราคิดกัน)

ภาพลายเส้นพระบรมโกศพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พระบวรราชวัง ในหนังสือพิมพ์ L'ILLUSTRATION ฉบับวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ.1867 (ภาพจาก คุณไกรฤกษ์ นานา)

จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ กล่าวถึงการทำสุกำพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งทำให้เห็นแบบแผนและวิธีการแต่ครั้งอดีต

ครั้นทรงเครื่องพระมหาสุกำเสร็จแล้ว หลวงพิพิธภูษาถวายบังคมแล้วเชิญพระปทุมปัตนิการทำด้วยเงินกาไหล่ทองวางลงเป็นพื้นรองพระบาทยุคล มีก้านพระปทุมปัตนิการขึ้นมารองรับพระหนุ แล้วถวายพันธิการด้วยพระกัปปาสิกะสูตรเป็นบ่วงขันธ์ห้าแต่พระบาทเป็นปฐมขึ้นไปตามลำดับ แล้วถวายซองพระศรีทองคำถมยาราชาวดีใส่เครื่องสักการะพระจุฬามณี แล้วเชิญพระกัปปาสิกะเศวตพัสตร์ยาวหกศอกปูซ้อนเป็นหกแฉก แล้วเชิญพระศพเสด็จทรงนั่งเหนือพระกัปปาสิกะเศวตพัสตร์หกชายหุ้มเป็นปริมณฑล รวบชายประชุมเป็นหนึ่งเหนือพระอุตมางคลักขณา แล้วพันธิการด้วยพระกัปปาสิกะเศวตสูตรเป็นขันธบาศ แต่อโธภาคลำดับมั่นทุกชั้น ตลอดถึงที่ประชุมชายพระกัปปาสิกะเศวตพัสตร์ แล้วเหลือเศษพระกัปปาสิกะเศวตสูตรไว้พอผูกผ้าโยงสดับปกรณ์ แล้วเชิญพระเศวตกัปปาสิกะพัสตร์พับขนบกว้างคืบหนึ่งโดยยาวตลอดตราเป็นมหาพันธิกา แต่พระบาทตลาเหลื่อมกลีบมั่นขึ้นไปทุกชั้นถึงที่พระกัณฐา เหน็บตราไว้เป็นมหันตพันธนาวสาน

 เสร็จราชการพาหิรโกศแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าและพระบรมวงศานุวงศ์ชาวมาลาคณการพร้อมกันกราบถวายบังคมพระบรมศพแล้วเชิญเสด็จเข้าประดิษฐานในลองพระสุพรรณโกศ หนุนพระปฤษฎางค์ข้างซ้ายขวาหน้าพระบรมศพด้วยพระเขนยนวมกันเอียง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าทรงถวายพระมหากฐินเป็นพระอาภรณ์พิไสยราชปฏิการ ตามบุราณราชประเพณีพระมหากษัตราธิราชเจ้าแต่ก่อนสืบมา

การทำสุกำพระบรมศพหรือพระศพจากข้อความข้างต้น

เริ่มจากการถวายเครื่องสำหรับค้ำพระเศียรคือ ไม้กาจับหลัก หรือ พระปทุมปัตนิการ รองที่พระบาท (เท้า) ซึ่งมีก้านออกมาค้ำพระหนุ (คาง) ให้พระเศียรอยู่ในท่าที่เหมาะสม อาจเพื่อให้พระเศียรไม่ก้มต่ำลงมาหรือขยับเขยื้อน ก่อนจะจัดพระอิริยาบถให้อยู่ในท่านั่งต่อไป

หลังจากถวายเครื่องค้ำพระเศียรแล้วจึงถวาย พระกัปปาสิกะสูตร (ด้ายสายสิญจน์หรือด้ายดิบ) ทำสุกำพระบรมศพหรือมัดตราสัง แล้วเตรียม ผ้าห่อเหมี้ยง หรือ พระกัปปาสิกะเศวตพัสตร์ (ผ้าฝ้ายสีขาว) ปูซ้อนกันเป็นรูปหกแฉก แล้วเชิญพระบรมศพให้ประทับในท่านั่งเหนือผ้านั้น แล้วรวบชายผ้าไว้เหนือพระเศียรซึ่งจะปล่อยชายผ้าไว้สำหรับผูกพระภูษาโยงสดับปกรณ์

จากนั้นห่อด้วยผ้าตั้งแต่พระบาท (เท้า) พันขึ้นไปจนถึงพระกัณฐา (คอ) แล้วเหน็บไว้ หลังจากนั้นจึงเชิญพระบรมศพลงพระโกศหนุนด้วยหมอนโดยรอบเพื่อกันเอียงเป็นเสร็จขั้นตอน

(คัดมาจากหนังสือ ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย เขียนโดย นนทพร อยู่มั่งมี. สำนักพิมพ์ มติชน. 2551)