“ที่มาถนน” ในเส้นทางการเสด็จฯ เลียบพระนคร

ภาพการซ้อมใหญ่ครั้งแรก ริ้วขบวนเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค วันที่ 17 เมษายน 2562 (ภาพจากhttps://www.prachachat.net)

“เส้นทาง และที่มาถนน” การเสด็จฯ เลียบพระนคร

กำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ 5 พฤษภาคม เวลา 16.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค จากพระบรมมหาราชวังไปยังวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

หน่วยงานราชการประกาศว่าประชาชนสามารถร่วมรับเสด็จได้ตามเส้นทางที่เสด็จฯผ่าน ดังนี้

ขบวนออกจากพระบรมมหาราชวังทางประตูวิเศษไชยศรี เลี้ยวขวาเข้าถนนหน้าพระลาน เลี้ยวซ้ายเข้าถนนราชดำเนินใน ไปถึงแยกผ่านพิภพแล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนราชดำเนินกลางแยกคอกวัว แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนตะนาว ไปถึงวงเวียนสิบสามห้าง แล้วตรงไปตามถนนสิบสามห้าง จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าถนนพระสุเมรุ แล้วเลี้ยวขวาเข้าวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ระยะทาง 1.84 ก.ม.

จากวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เลี้ยวขวาไปตามถนนพระสุเมรุ ผ่านแยกวันชาติ ตรงไปจนถึงแยกป้อมมหากาฬ เลี้ยวขวาเข้าถนนราชดำเนินกลาง ตรงไปถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตรงไปจนถึงแยกผ่านพิภพลีลา แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนอัษฎางค์ ตรงไปจนถึงแยกสะพานช้างโรงสีเลี้ยวซ้ายเข้าถนนบำรุงเมือง ตรงไปถึงสี่กั๊กเสาชิงช้า เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนเฟื่องนคร แล้วเลี้ยวขวาเข้าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ระยะทาง 2.78 ก.ม.

จากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหารขวา เลี้ยวขวาเข้าถนนเฟื่องนคร ตรงไปถึงสี่กั๊กพระยาศรี เลี้ยวขวาเข้าถนนเจริญกรุง ตรงผ่านแยกสะพานมอญ ข้ามแยกวงเวียน รด. เข้าสู่ถนนท้ายวัง ตรงไปยังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ระยะทาง 860 ม.

จากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนท้ายวัง ตรงไปถึงแยกท่าเตียน แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนมหาราช ตรงไปถึงแยกท่าช้าง เลี้ยวขวาเข้าถนนหน้าพระลาน แล้วเลี้ยวขวาเข้าประตูวิเศษไชยศรีพระบรมมหาราชวัง ระยะทาง 1.11 ก.ม.

โดยถนนต่างๆ นั้นมีประวัติความเป็นมาดังนี้

ถนนหน้าพระลาน (เชื่อมถนนราชดำเนินใน- ถนนมหาราช)เป็นถนนที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น โดยขยายจากถนนเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่รัชกาลที่ 1 แต่เป็นถนนนูนดินสูง เหตุที่ชื่อถนนหน้าพระลานเพราะเป็นถนนที่อยู่หน้าพระลานพระบรมมหาราชวัง

ถนนราชดำเนิน เป็นถนนที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2442 เพื่อเป็นที่เสด็จพระราชดำเนินระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังดุสิต เพื่อความสง่างามของบ้านเมืองและเพื่อให้ประชาชนได้เดินเที่ยวพักผ่อน จึงมีพระราชประสงค์ให้สร้างถนนราชดำเนินให้กว้างที่สุด และให้สองฟากถนนเป็นที่ตั้งวังและสถานที่ราชการใหญ่ ๆ มิให้สร้างตึกแถวหรือร้านเล็ก ๆ ซึ่งจะทำให้กลายเป็นย่านการค้า

ประกอบด้วยถนน 3 สาย ได้แก่ 1. ถนนราชดำเนินใน (ตั้งแต่ถนนหน้าพระลาน-สะพานผ่านพิภพลีลา) 2. ถนนราชดำเนินกลาง (ตั้งแต่สะพานผ่านพิภพลีลา-สะพานผ่านฟ้าลีลาศ) 3. ถนนราชดำเนินนอก (ตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ-แยกมัฆวาน ถนนกรุงเกษม) พระราชพิธีครั้งนี้จะเสด็จพระราชดำเนินผ่านถนนราชดำเนินใน และถนนราชดําเนินกลาง

ถนนตะนาว  (เริ่มจากถนนบำรุงเมืองที่สี่กั๊กเสาชิงช้า-จดแยกที่ถนนบวรนิเวศน์ ถนนสิบสามห้าง และถนนตานีบรรจบกัน) เดิมเป็นส่วนหนึ่งของถนนเฟื่องนครที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อช่วงพ.ศ. 2406–2407 มีการสันนิษฐานว่าชื่อถนนตะนาวน่าจะตั้งตามชาวตะนาวศรีที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้มาตั้งถิ่นฐาน เรียกกันว่า ถนนบ้านตะนาวศรี ถนนบ้านตะนาวหรือถนนตะนาว

ถนนสิบสามห้าง (เชื่อมถนนพระสุเมรุ-วงเวียนบางลำภู) เป็นถนนสายเล็ก ๆ ตั้งอยู่ในย่านบางลำพู แขวงตลาดยอด เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นถนนที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีที่มาจากกลุ่มพ่อค้ากลุ่มหนึ่งในมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ซึ่งเริ่มต้นมีห้างร้านอยู่ทั้งสิ้น 13 ห้าง ได้รวมตัวกันเพื่อเข้าช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านการค้าและอื่น ๆ มีตึกทำการอยู่ที่มณฑลกวางตุ้ง

ถนนพระสุเมรุ  (จากบริเวณข้างป้อมพระสุเมรุ-ถนนพระอาทิตย์) ชื่อที่ตั้งขึ้นตาม “ป้อมพระสุเมรุ” ซึ่งเป็น 1 ใน 14 ป้อมปราการที่สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ถนนอัษฎางค์ (เชื่อมถนนราชดำเนินใน ด้านสนามหลวง กับถนนจักรเพชร ด้านปากคลองตลาด) เป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตัดขึ้นในแบบตะวันตก หลังจากเสด็จประพาสชวา โดยทรงให้สร้างถนนริมกำแพงรอบพระนครใหม่ ซึ่งแต่เดิมเป็นทางเดินเล็ก ๆ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อแล้วเสร็จจึงพระราชทานนามว่า “ถนนอัษฎางค์” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติของ สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง[

ถนนเฟื่องนคร (จากถนนบำรุงเมือง-ถนนเจริญกรุง) เป็นถนนที่สร้างในรัชกาลที่ 4 และเป็นถนนรุ่นแรกที่ใช้เทคนิคการสร้างตามแบบตะวันตก โดยเริ่มทำพร้อมถนนบำรุงเมืองใน พ.ศ. 2406 และสร้างเสร็จใน พ.ศ. 2407 จากนั้นได้พระราชทานนามว่า “ถนนเฟื่องนคร” ซึ่งมีความหมายเกี่ยวกับความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง และสอดคล้องกับชื่อถนนเจริญกรุง และถนนบำรุงเมือง

ถนนท้ายวัง (จากถนนสนามไชย-ท่าเตียน) เป็นถนนที่อยู่ด้านหลังของพระบรมหมาราชวังกับวัดพระเชตุพยวิมลมังคราราม

ถนนมหาราช (อยู่ต่อจากถนนจักรเพชร-ถนนพระจันทร์) เป็นถนนดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่แรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เดิมเป็นถนนข้างกำแพงพระราชวังหลวงด้านตะวันตก เป็นถนนที่ตัดล้อมพระราชวังเช่นเดียวกับถนนหน้าพระลาน, ถนนท้ายวัง และถนนสนามไชย โดยเป็นทางเดินแคบ ๆ ที่ปูด้วยอิฐรูแผ่นใหญ่ ต่อมาในรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนในแนวดังกล่าว เป็นถนนเลียบกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านทิศตะวันตก พระราชทานนามว่า “ถนนมหาราช” ซึ่งสันนิษฐานว่ามาจากส่วนหนึ่งของคำว่าพระบรมมหาราชวัง

ถนนหน้าพระลาน (ถนนราชดำเนินใน-ท่าช้างวังหลวง ถนนมหาราช)เป็นถนนที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น โดยขยายจากถนนเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แต่เป็นถนนนูนดินสูง เหตุที่ชื่อถนนหน้าพระลานเพราะเป็นถนนที่อยู่หน้าพระลานพระบรมมหาราชวัง