เผยแพร่ |
---|
การเสด็จฯ เลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในแต่ละรัชกาลที่มีรายละเอียดแตกต่างกันซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงได้หลายด้าน
ความเป็นมาของการเสด็จฯ เลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค ณัฏฐภัทร จันทวิช ผู้เขียนหนังสือ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” เมื่อครั้งมหาวโรกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ เมื่อพ.ศ. 2530 อธิบายว่า แต่โบราณมา เมื่อเสร็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จออกให้ประชาชนได้ชื่นชมพระบารมีด้วย เดิมคงจะเสด็จเข้ากระบวนรอบพระราชมณเฑียรที่ประทับ เพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทได้ร่วมกันถวายพระพรและชื่นชมพระบารมีเท่านั้น ที่จะเสด็จเป็นกระบวนพยุหยาตราออกนอกพระนครเชื่อว่าคงจะเฉพาะในเทศกาลถวายผ้าพระกฐินหรือเสด็จนมัสการพระพุทธบาท ซึ่งจัดเป็นกระบวนใหญ่อย่างกระบวนทัพ
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ครั้งรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 ได้เสด็จฯ เลียบพระนครเฉพาะกระบวนพยุหยาตราสถลมารค (ทางบก) ส่วนการเลียบพระนครทางน้ำนั้น เริ่มในครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
เมื่อสมัยรัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้จัดกระบวนแห่เสด็จฯ เลียบพระนคร พระองค์เสด็จขึ้นเกยพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ ทรงพระราชยาน โดยเสด็จออกประตูวิเศษไชยศรีเลี้ยวขวา หรือประทักษิณพระบรมมหาราชวัง เลี้ยวผ่านป้อมเผด็จดัษกร แล้วตรงไปถึงสะพานข้ามคลองตลาด แล้วเลี้ยวกลับขึ้นทางริมกําแพงพระนคร มาทางท้ายสนมเข้าถนนหน้าวังที่ท่าพระแล้วกลับเข้าพระบรมมหาราชวังทางประตูวิเศษไชยศรี โดยทรงโปรยเงินพระราชทานราษฎรซึ่งคอยถวายพระพรอยู่สองข้างถนนตลอตระยะทาง
ณัฏฐภัทร จันทวิช อธิบายด้วยว่า ในการนี้มีการปราบถนนโรยทราย ซื้อร้านโรงที่กีดขวางริมทางให้เรียบร้อยทั้งสองฟากถนนก่อน แล้วเจ้าพนักงานจัดตั้งราชวัตร ฉัตรเบญจรงค์ 7 ชั้น และ ร้านน้ำเป็นระยะในวันเสด็จเลียบพระนครนั้น พวกทหารอาสา 6 เหล่า ซ้ายขวา ตั้งกองจุกช่องรายทาง ตั้งปืนคู่ขานกยางทุกแพรกถนน ในริ้วกระบวนแห่มีทหารเหล่าต่าง ๆ เข้ากระบวนตามลําดับ ซึ่งกล่าวว่ามีจํานวนถึง 8,000 คน แบ่งเป็นกระบวนหน้า และกระบวนหลัง
กระบวนหน้าประกอบด้วยกำลังพลหลากหลาย อาทิ ฝรั่งแม่นปืน กองอาสาญี่ปุ่น พลอาสา พลล้อมวัง กระบวนขุนหมื่นตำรวจ
กระบวนหลังประกอบด้วยเจ้ากรม ปลัดกรม กรมทหารในพลพัน ไปจนถึงรักษาพระองค์
ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการเสด็จฯ เลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารคเช่นกัน กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 4 มีการเสด็จเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค และกระบวนพยุหยาตราชลมารค ถือว่ามีขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ เนื่องจากเดิมทีนั้นจัดเฉพาะกระบวนพยุหยาตราสถลมารค
กระบวนพยุหยาตราสถลมารคในสมัยรัชกาลที่ 4 มีข้อมูลบันทึกว่า ประกอบด้วยคนนับหมื่นแบ่งเดินเป็น 4 สาย ระหว่างทางยังมีการโปรยเงิน (เงินตรามงกุฎ เป็นเงินตราใหม่ที่สร้างขึ้นประจำรัชกาลที่ 4) ตลอดทาง
สมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้มีแต่การเสด็จฯ เลียบพระนครเฉพาะทางบกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อพ.ศ. 2411 ต่อมาเมื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2416 จึงมีการเสด็จเลียบพระนครทั้งทางบกและทางน้ำ
กระบวนเสด็จฯ เลียบพระนครสมัยรัชกาลที่ 5 ยังคงจัดเป็น 4 ตอนทำนองเดียวกันกับทุกรัชกาลที่มีมาก่อน ประกอบด้วย ตอน 1 เสนากรมต่างๆ ตอน 2 กระบวนหลวง ตอน 3 เสนากรมต่างๆ และตอนที่ 4 กระบวนเจ้านายทรงม้า และเสนาบดีนั่งเสลี่ยงหรือแคร่ตามบรรดาศักดิ์
ในสมัยรัชกาลที่ 6 เสด็จฯเลียบพระนครทางสถลมารค จัดกระบวนเช่นเดียวกับที่เคยทำมาในครั้งก่อน
ในสมัยรัชกาลที่ 7 เสด็จฯเลียบพระนครทั้งทางสถลมารค เมื่อ 1 มีนาคม พ.ศ. 2468 และทางชลมารคในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2468 เพื่อทรงนมัสการปูชนียวัตถุ ณ วัดอรุณราชวราราม
ส่วนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ไม่ได้เสด็จฯเลียบพระนคร
ทั้งนี้ หลังจากพิธีเสด็จฯเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราแล้ว จึงเป็นอันเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างสมบูรณ์แบบตามโบราณราชประเพณี
อ้างอิง
ณัฏฐภัทร จันทวิช. พระราชพิธีบรมราชาภิเษก. กรมศิลปากร จัดพิมพ์เนื่องในมหาวโรกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ พ.ศ. 2530
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก. กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิมพ์