ธรรมเนียมถวายสิบสองพระกำนัล-สิบสองพระคลัง ในพระราชพิธีโบราณ

*บทความเรื่องนี้ อาจารย์สมบัติ พลายน้อย ได้เขียนไว้ตั้งแต่หลายสิบปีก่อน ต่อมาได้รวมพิมพ์อยู่ในหนังสือแลไปข้างหลัง (พิมพ์ครั้งแรก ๒๔ มิถุนายน ๒๕๐๐) กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมเห็นว่ายังมีข้อมูลที่น่าสนใจและมีค่า จึงได้นำมาลงพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในที่นี้ (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2559) และได้เพิ่มเติมเชิงอรรถไว้บางจุด


 

นางพนักงานในราชสำนักนั้น เรียกนางกำนัล ถ้าจะถามว่าทำไมจึงเรียกว่านางกำนัล ก็ต้องอธิบายในเรื่องรูปของคำ ท่านผู้รู้บอกว่า กำนัล นี้ มาจาก คำนัล ซึ่งหมายถึงสิ่งที่ให้พร้อมกับไหว้ (ตัว ก. กับตัว ค. แผลงกันได้) ประเพณีในรั้วในวังเวลาจะถวายของหรือเข้าเฝ้าก็ต้องไหว้เสียก่อน และโดยเฉพาะนางกำนัลด้วยแล้วนับว่าเป็นผู้ใกล้ชิดมาก ใครจะส่งของอะไรมาถวาย นางกำนัลก็เป็นผู้นำถวาย อีกทางหนึ่งเข้าใจว่า ในสมัยก่อนโน้นเขามักนิยมเสาะหาหญิงที่มีรูปทรงดี แลเป็นผู้ดีส่งเข้าไปถวายรับใช้ในวัง การที่ส่งหญิงเข้าไปในวังเช่นนั้น เปรียบเหมือนส่งของกำนัลก็ว่าได้ จึงเรียกหญิงพวกนั้นว่านางกำนัล คือนางที่เป็นของกำนัลนั่นเอง นี่เป็นเรื่องวินิจฉัย ไม่มีหลักฐานอะไรแน่ชัด

นางกำนัลนี้มีด้วยกันทั้งหมด ๑๒ นาง โบราณเรียกว่า พระสนมสิบสองพระกำนัล ในหนังสือกาพย์ขับไม้เรื่องพระรถ กล่าวไว้ว่า

กำนัลรับพระหัตถ์ น้ำเนื้อเชื้อกษัตริย์ วรวงศ์พงษา สรสรวยสอดเปลา สคราญลำเภา ผุดผาดชายา สะศรีสมสา โรชพิศดูหน้า หน้าเพียงสาวสวรรค์

กำนัลพระขันหมาก โฉมนางงามหลาก กว่านางกำนัล ยะยองยั่วเยา ยะยังคิ้วเจ้า พ่างเพียงคิ้วกัน ยะยับแสงฟัน ยะยิ้มหมายมั่น นิ่มเนื้อนวลนม

กำนัลน้ำเสวย จะร่ำไฉนเลย ลักษณเลิศอุดม งามรูปงามทรง งามอ้างามองค์ อ่อนแอ้นเอวกลม งามคิ้วงามคม งามสระงามสม คือเนื้อจำปา

กำนัลพัชนี ใครลักแลศรี ศรีสวัสดิพักตรา โนเนนงนุช สิเนื้อนวลบุษป หนุ่มน้อยโสภา นะแน่งแนวนา พิศนมสมหน้า พ่างเพียงบูรณจันทร์

กำนัลพระสำอาง อ่าองค์รางชาง ลออองค์เอวอัน กล้องแกล้งกลเกลา กลิ่นเกลี้ยงกลเอา เอาใจทุกอัน คิ้วก่งเกาทัณฑ์ ตราตรูม่ายมัน มุ่งเมิลคือศร

กำนัลพระมาลา น่ารักพักตรา พ่างเพียงสินธร ผะผ่องผิวเนื้อ เนื้อนวลอะเคื้อ ศรีสังข์บวร กล้องแกล้งองค์อร แช่มช้าอรชร ให้ชายเปรมปรีดิ์

กำนัลพระบังคน สมประกอบชอบกล แก้วกูรู้ใจดี ใจดีมีลักษณ ลักษณเลิศกษัตรี หนุ่มน้อยมีศรี ศรีสวัสดิเนื้อนวลดี นวลเนื้อเยาวมาลย์

กำนัลพระไสยาสน์ เนื้อนมคือมาศ แม้นเฉลาฉลักปาน ฉลักปานปูนศรี รูปนั้นงามดี ประเหมือนรูปนางคราญ นงคราญเภาพาล พาลคื้นหืนกาล อยู่บำเรอภักดี

กำนัลทิพยรส พักตร์คือบงกช เบิกบานใสศรี ไสศรีสีเนื้อ ไพฑูรย์ชาติเชื้อ เชื้อชาติกษัตรี กษัตรีใดมี มาแล้วดุจนี้ บรางจะมีถึงสอง

กำนัลพระโภชน์ เคียมคำมาโนช อ่วนอมฤตสารสนอง สารสนองสนองใคร ใครฟังพิสมัย พิสวาทใจปอง ใจปองสมพอง สมเสพใครต้อง นอนเพียงฝนฝัน

กำนัลพระโอษฐ์ แน่งเนื้อนวลโนช เหมือนเพียงโฉมสวรรค์ โฉมสวรรค์สรรแล้ว ไป่ปานโฉมแก้ว เทียบแท้เทียมทัน เทียมทันโฉมอัน เนรมิตมานั้น ก็พ่างเพียงอับอาย

กำนัลทาพระองค์ เมื่อพิศโฉมยง ยิ่งนางทั้งหลาย ทั้งหลายงามจริง งามแทบงามถึง ทั้งรู้อภิปราย อภิปรายถึงชาย ชายรัก บ รู้หน่าย บ วางตาตาดู ฯ”

ที่ยกเอากาพย์มาให้ดูทั้งหมดนั้น ก็เพื่อให้ผู้อ่านเห็นว่า นางกำนัลทุกคนนั้นต้องเป็นคนสวย คนดีมีมารยาท ซึ่งในสมัยโบราณ เขาจะจัดหาคนที่มีคุณสมบัติอย่างนี้เข้าไปถวาย เดี๋ยวนี้ลางอย่างก็พ้นสมัยไปแล้ว

จิตรกรรมลายรดน้ำ “ผู้รักษาสิบสองพระคลัง ประกอบด้วยพานหมากเครื่องยศกระโถน มือขวาอุ้มขันน้ำ มือซ้ายถือแหวน ประกอบด้วยถุงเงิน ถุงทอง กำปั่นเงิน กำปั่นทอง ส่วนล่างมีลูกคิด เป็นผู้รักษาพระราชทรัพย์ถือกุญแจ” ภาพนี้เขียนสมัยรัชกาลที่ ๓ อยู่ที่ตอนล่างของบานแบะประตูด้านหลังช่องทิศเหนือของพระอุโบสถวัดนางนองวรวิหาร

สิ่งที่เป็นคู่กับสิบสองพระกำนัลก็คือสิบสองพระคลัง ในสมัยโบราณมีคลังมาก คลังเหล่านี้เป็นที่เก็บทรัพย์สมบัติและข้าวของพัสดุต่างๆ ของพระราชา รายชื่อสิบสองพระคลัง เท่าที่มีปรากฏอยู่ในหนังสือต้นราชภาษาและนามต่างๆ” ซึ่งหม่อมราโชทัย ได้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ จ.ศ. ๑๒๕๐ มีชื่อดังต่อไปนี้

๑. คลังทอง ๒. คลังมหาสมบัติ ๓. คลังสินค้า ๔. คลังวิเศษ ๕. คลังในซ้าย ๖. คลังขวา ๗. คลังราชการ ๘. คลังพิมานอากาศ ๙. คลังป่าจาก ๑๐. คลังสรรพยุทธ ๑๑. คลังวังไชย ๑๒. คลังศุภรัต

สำหรับความหมายของแต่ละคลังนั้น เท่าที่ค้นคว้าจากหนังสือต่างๆ พอจะจับเค้าได้ว่า คลังทอง กับคลังมหาสมบัตินั้น เป็นที่เก็บพระราชทรัพย์ มีแก้วแหวนเงินทองของกษัตริย์ คลังสินค้าก็คงเนื่องด้วยสินค้าต่างๆ คลังวิเศษ (บางแห่งเขียนวิเสท) เป็นคลังเก็บผ้าขาว (ในหมายรับสั่งรัชกาลที่ ๑ พระราชพิธีโสกันต์ กำหนดไว้ว่าให้ชาวพระคลังวิเสทจ่ายผ้าขาวหางเหยี่ยวให้แก่โหร สำหรับปูรองศาล) คลังในซ้ายเก็บด้ายดิบ คลังขวาเก็บเสื่อ พรม คลังราชการเก็บน้ำมันมะพร้าว เสื่ออ่อน คลังพิมานอากาศเก็บกระจกและเครื่องแก้ว คลังป่าจาก (บางแห่งว่าสวน) มีเครื่องสวน เช่น ผลไม้ ใบตอง คลังสรรพยุทธเก็บอาวุธ คลังวังไชย (ในภูมิสถานกรุงศรีอยุธยา มีชื่อคุกวังไชย เป็นคุกสำหรับพวกเรือ เข้าใจว่าจะเป็นคลังเกี่ยวกับการต่อเรือโดยเฉพาะ ดังจะได้สันนิษฐานต่อไปข้างหน้า) คลังศุภรัตเก็บสบงจีวร

ในสมัยโบราณเมื่อมีพระบรมราชาภิเษก สมุหพระกลาโหม สมุหนายก และเสนาบดีเวียง วัง คลัง นา ซึ่งเรียกว่าจตุสดมภ์ ต่างถวายราชสมบัติอันอยู่ในหน้าที่ของตน เป็นต้นว่า (ในรัชกาลที่ ๒) สมุหพระกลาโหมถวายรถหลวง เรือหลวง ศัสตราวุธ และหัวเมืองขึ้นกลาโหม สมุหนายกถวายพระยาช้างต้น ม้าต้น พลเรือน และหัวเมืองขึ้นมหาดไทย เสนาบดีคลังถวายราชพัทธยากรและราชสมบัติทั้งสิบสองท้องพระคลัง สำหรับฝ่ายในนั้น ท้าววรจันทร์ถวายสิบสองพระกำนัล แต่ธรรมเนียมนี้ได้เลิกไปตั้งแต่รัชกาลที่ ๖ ในรัชกาลที่ ๗ ได้เติมการทรงสถาปนาพระชายา ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินีแทน

อนึ่งใคร่จะสันนิษฐานว่า คลังเหล่านี้เป็นชื่อที่ใช้เรียกตึกสำหรับเก็บสิ่งของต่างๆ บางแห่งก็เรียกตามสถานที่ตั้ง อย่างคลังป่าจากและคลังวังไชย เป็นต้น คลังเหล่านี้คงเป็นที่มิดชิดแห่งหนึ่งสามารถจะเป็นที่คุมขังนักโทษก็ได้ ดังปรากฏว่า ในแผ่นดินสมเด็จกรมขุนพรพินิต เกิดจับเจ้าสามกรมกันขึ้น ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า “จึงให้กุมเอากรมหมื่นสุนทรเทพไปจำไว้ ณ หอพระมนเทียรธรรม ให้กุมเอากรมหมื่นเสพภักดีไปจำไว้ ณ ตึกคลังศุภรัต ให้กุมเอากรมหมื่นจิตรสุนทรไปจำไว้ ณ ตึกพระคลังวิเศษ” และผลที่สุด “จึงมีพระบัณฑูรสั่งให้ลงพระราชอาญาสำเร็จโทษเจ้าสามกรม ณ พระคลังวิเศษแห่งเดียวกัน”

ในจำนวนพระคลังเหล่านี้มีอยู่ ๒ พระคลัง ที่นักโบราณคดีบางท่านไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร คือ คลังพิมานอากาศกับคลังวังไชย ชื่อคลังพิมานอากาศ เป็นชื่อแปลก ผู้เขียนเข้าใจว่าจะเอาแบบมาจากเขมร เพราะที่นครวัดมีปราสาทอยู่หลังหนึ่งชื่อว่า ปราสาทพิมานอากาศ ปรากฏว่า พระหรรษวรมัน (รุทรโลก) ซึ่งเสวยราชย์อยู่ใน พ.ศ. ๑๔๕๓ ทรงสร้างขึ้น ไทยเราคงได้ชื่อมาจากนั้น พระคลังนี้เป็นที่เก็บกระจกเครื่องแก้ว เรียกในหนังสือเก่าว่ากระจกเทศ ในหนังสือเสภาศรีธนญชัยเชียงเมี่ยง กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “เครื่องแก้วตั้งคลังพิมานอากาศจัดศุภรัตขนผ้าไตรอุดตลุด” ส่วนคลังวังไชยนั้นเห็นจะเป็นชื่อเรียกตามสถานที่ คือเดิมคงอยู่ในวังไชย ซึ่งเป็นชื่อวังเดิมของสมเด็จพระมมหาจักรพรรดิ ประทับอยู่แต่ก่อนทรงผนวช ต่อมาสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง คลังวังไชยเป็นคลังสำหรับเก็บเครื่องเกี่ยวกับเรืออย่างแน่นอน ในบัญชีตราโคมวิสาขบูชาในรัชกาลที่ ๔ ปรากฏว่าหลวงวิสูตรสมบัติซึ่งเป็นตำแหน่งพระคลัง ได้ทำโคมเป็นรูปโรงเรือมีเรือลำหนึ่ง ซึ่งเป็นตราของคลังวังไชย แสดงว่าเป็นคลังที่เกี่ยวกับเรือแน่นอน

ในสมัยโบราณ กษัตริย์ที่จะเป็นผู้มีอำนาจ หรือบุญญาภินิหารนั้น นอกจากจะมีเงินทองเต็มสิบสองท้องพระคลังแล้ว ยังต้องประกอบด้วยเบญจมพละ ๕ ประการ คือ

๑. มีบ่อแก้ว ๒. มีช้างแก้ว ๓. มีนางแก้ว ๔. มีขุนพลแก้ว ๕. มีขุนคลังแก้ว

กษัตริย์ไทยมีครบทั้ง ๕ ประการนี้ คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังมีปรากฏอยู่ในพระบรมราชปุจฉาปัญหา พระราชทานแด่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส อธิบดีสงฆ์ในวัดพระเชตุพนว่า

๑. ที่โยมว่า มีบ่อแก้วนั้น คือ ไอ้ภู่ (อธิบายว่าพระยาราชมนตรี ชื่อ ภู่)

๒. ที่โยมว่า มีช้างแก้วนั้น คือ พระยาช้างเผือกของปู่และของโยมเอง (คือ พระเทพกุญชร ๑ พระยาเศวตรกุญชร ๑ พระยากุญชรคชพงศ์ ๑)

๓. ที่โยมว่า มีนางแก้วนั้น คือ โยมมีพระราชธิดาพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิลาศ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เป็นพระบวรราชปิยธิดาเสน่หาอเนกผลของพระราชบิดา

๔. ที่โยมว่า มีขุนพลแก้วนั้น คือ พี่บดินทรเดชา แม่ทัพผู้ป้องกันพระราชอาณาเขตประเทศสยาม

๕. ที่โยมว่า มีขุนคลังแก้วนั้น คือ เจ้าศรีทองเพ็ง

ตอนต้นพูดถึงการไหว้ ทำให้คิดเห็นถึงวิธีการไหว้หรือการแสดงความเคารพของชนเผ่าต่างๆ ว่ามีผิดแผกแตกต่างกันอยู่น่าจะนำมาเล่าสู่กันฟังเป็นเครื่องประเทืองใจ รู้ไว้คงไม่เสียประโยชน์เป็นแน่

การไหว้ของไทยมีหลายวิธี วิธีหนึ่งเอาฝ่ามือประกบกันแล้วยกขึ้นจดหว่างคิ้ว (เดี๋ยวนี้นิยมยกเพียงแค่คางเป็นอย่างเก๋) บางทีก็ประนมเพียงอกเป็นใช้ได้ วิธีหนึ่งยกเลยหัวขึ้นไป แบบเปรตขอส่วนบุญ นี่เป็นไหว้ธรรมดา ถ้าจะให้สุภาพก็ควรเป็นอย่างแรก ไม่ใช่อย่างหลัง

การเคารพที่สูงกว่าการไหว้ คือการถวายบังคม การเคารพแบบนี้เป็นพิธีหลวง เป็นประเพณีที่ใช้กันมาแต่สมัยโบราณ วิธีการไหว้ก็คือเอามือวางข้างตัว (นั่งคุกเข่า ก้นบนส้นเท้า) แล้วโน้มตัวไปข้างหน้า รูดมือยกขึ้นไปบรรจบกันที่หน้าผากพร้อมกับเอนหลังนิดหน่อย เสร็จแล้วลดมือมาประนมที่อกแล้วก็วางไว้ข้างตัว ทำอย่างข้างต้นนั้นครบ ๓ ครั้ง เป็นเสร็จพิธี นี่เรียกว่า ถวายบังคม ใช้เฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน

ส่วนการไหว้พระนั้น นิยมใช้แบบเบญจางคประดิษฐ์ คือกราบวางองค์ห้าลงถึงพื้น กล่าวคือ มือสอง เข่าสอง ศีรษะหนึ่ง

ธรรมเนียมจีนเขาถือว่า เมื่อจะทำคำนับไหว้เจ้าและจะเข้าไปหาเจ้านายก็ต้องสวมเครื่องแต่งกายให้ครบชุด มีหมวก เสื้อ รองเท้า จึงจะไหว้พระไหว้เจ้านายได้ ถ้าขาดหมวก ขาดรองเท้า ก็แสดงว่าไม่เคารพ ซึ่งผิดกับของฝรั่ง ถ้าใครสวมหมวกอยู่ก็แสดงว่าไม่เคารพ เมื่อจะคำนับก็ต้องถอดหมวกออกโบก ธรรมเนียมอย่างนี้เหมือนกับของไทยที่ให้ถอดหมวกหรือไม่ให้โพกผ้า เวลาทำความเคารพ ยิ่งเป็นรองเท้าและอาวุธด้วยแล้ว เป็นสวมหรือถืออยู่ไม่ได้ทีเดียว เวลาจะเข้าเคารพต้องปลดอาวุธออกหมดแล้วจึงจะเข้าเฝ้าเคารพได้

เวลาคนแก่ๆ เข้าวัด มักจะนั่งแล้วยกมือขึ้นประสานที่หน้า ปากก็ภาวนาพึมพำ เคยถามว่าภาวนาอะไร ก็ได้รับคำตอบว่า ขอขมาวัด คนโบราณถือว่าบริเวณวัดเป็นแดนศักดิ์สิทธิ์ เมื่อเข้ามาก็ควรคารวะ คำขอขมานั้นว่าดังนี้ “วันทามิ อาราเม พัทธเสมายัง โพธิรุกขัง เจติยัง สัพเมโทสัง ขะมะถะเมภันเต สาธุ อนุโมทามิ” นี่เป็นการไหว้วัด พัทธเสมา ต้นโพธิ์ และเจดีย์

แต่ในการไหว้เทวดาอารักษ์ หรือต้นไม้ใหญ่ๆ ซึ่งถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์นั้น เขาไม่นิยมไหว้แบบไหว้พระ แต่เขาใช้ยกมือขวาเอางานแล้ว ภาวนาว่า “ภวตํ จิตฺตํ ปรมํสุขํ” ท่านว่าเทวดาไม่ทำร้าย

การยกมือขวาเอางานนั้นก็คือ แบบที่ผู้ใหญ่รับไหว้เด็กนั่นแล


เชิงอรรถ

พระยาราชมนตรี (ภู่) ต้นสกุล ภมรมนตรี ได้ชื่อว่ามั่งคั่งมากในสมัยรัชกาลที่ ๓ – บรรณาธิการ

เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ต้นสกุลสิงหเสนี

พระยาศรีสหภาพ (ทองเพ็ง) ต้นสกุลศรีเพ็ญ