พระเต้าเบญจคัพย์ใหญ่ เครื่องพระมุรธาภิเษก ของเก่าสมัย ร.1 มาจากไหน?

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะมีพิธีปลีกย่อยหลายพิธี หนึ่งในนั้นคือ “พิธีสรงพระมุรธาภิเษก” ซึ่งถือเป็นพิธีที่มีความสำคัญมากที่สุดในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เนื่องจากมีคติว่าพระมหากษัตริย์จะได้รับการแต่งตั้งโดยการรดน้ำศักดิ์สิทธิ์ตามคติพราหมรณ์และเปลี่ยนสถานภาพเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์

โดยหนึ่งในเครื่องพระมุรธาภิเษกที่ใช้ประกอบในพิธีนี้ที่สำคัญคือ “พระเต้าเบญจคัพย์ใหญ่” (อ่านว่า เบ็น-จะ-คับ) หรือบางแห่งเขียนว่า “เบญจครรภ” เป็นพระเต้าสำหรับบรรจุน้ำพระพุทธมนต์ และน้ำเทพมนตร์ ถวายพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น พระเต้าองค์นี้สามารถใช้กับพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นได้ก็ต่อเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้พระราชทานน้ำด้วยพระหัตถ์พระองค์เองเท่านั้น

พระเต้าเบญจคัพย์ใหญ่เป็นเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศบนพระแท่นมณฑลบรมราชาภิเษก หมวดเครื่องพระมุรธาภิเษก โดยพระเต้าประเภทนี้มีหลายองค์ด้วยกัน และทำด้วยศิลาสีต่าง ๆ เช่น พระเต้าเบญจคัพย์ใหญ่ พระเต้าเบญจคัพย์รอง (รัชกาลที่ 4) และพระเต้าเบญจคัพย์ห้าห้อง (รัชกาลที่ 4) เป็นต้น

ในหนังสือ “พระราชพิธีสิบสองเดือน” พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชาภิปรายถึงความสำคัญของพระเต้าองค์นี้ว่า

“—พระเต้าเบญจคัพย์ใหญ่ ใช้ต่อเมื่อเวลาสรงมุรธาภิเษกเป็นการใหญ่ การประจําปีใช้แต่วันเถลิงศกและเฉลิมพระชนมพรรษา ถ้าสรงมุรธาภิเษก สุริยุปราคา จันทรุปราคา ใช้พระเต้าเบญจคัพย์น้อย—“

เหตุที่เรียกพระเต้าองค์นี้ว่าเบญจคัพย์นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับรูปลักษณ์ภายนอกของพระเต้า หรือว่าภายในพระเต้าแบ่งออกเป็น 5 ห้องแต่อย่างใด (เบญจหมายถึงห้า) แต่เนื่องมาจากพระเต้านี้มีแผ่นทองคําลงยันต์กลมๆ 5 แผ่นแช่อยู่ในน้ำก้นพระเต้า

การที่ชื่อพระเต้าไม่ถูกกันกับพระเต้านี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดําริว่าของเดิมอาจทำพระเต้าให้มี 5 ห้อง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทำพระเต้าขึ้นอีกองค์หนึ่งที่คล้ายกัน มีดอกนพเก้าอยู่กลาง ภายใต้ดอกนพเก้ามีขายื่นลงไปห้าขา ใช้โลหะขาละอย่าง ลงยันต์ตามขาทั้งห้าขา อันเป็นคติ “ห้ากษัตริย์”

พระเต้าเบญจคัพย์ใหญ่ทำจากโมราสีเหลือง (อัญมณีชนิดหนึ่ง) ทั้งแท่งมีหูในตัว ทรวดทรงสัณฐานนั้นก็เป็นอย่างแขกหรืออย่างฝรั่ง ที่ขอบฝาและตัวพระเต้ามีเฟื่องประดับด้วยเพชรและทับทิม พระเต้าองค์นี้จัดซื้อเข้ามาพร้อมเครื่องราชูปโภคอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ตั้งแต่รัชมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โดยรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า “—ดูก็เป็นอัศจรรย์อยู่ ที่บ้านเมืองเวลานั้นไม่ปรกติเรียบร้อย เหตุใดสิ่งของซึ่งมีราคามากงดงามถึงเพียงนั้นจึงได้เข้ามาขายถึงกรุงเทพฯ—“

“—พระเต้านี้มีมาแต่ประเทศอินเดีย พ่อค้าแขกผู้หนึ่งได้รับพระบรมราชานุญาตไปจัดซื้อมาพร้อมกับเครื่องราชูปโภคอื่นๆ หลายอย่าง พิเคราะห์ดูฝีมือที่ทำไม่ใช่เป็นฝีมือแขก เห็นจะมาแต่ประเทศยุโรป จะเป็นมหารายาในประเทศอินเดียองค์ใดองค์หนึ่งสั่งให้ทํา แต่ภายหลังจะมีเหตุขัดสนอย่างไรจึงได้ซื้อขายเป็นการเลหลังมา—“

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 พฤษภาคม 2562