ใครเป็นผู้ถวายน้ำอภิเษก? ในพระราชพิธีบรมราชภิเษก

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ประทับพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ทรงแปรพระพักตร์สู่ทิศบูรพาเป็นปฐม นายควง อภัยวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายน้ำอภิเษก (ภาพจากหนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กระทรวงวัฒนธรรม 2560)

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 นี้ ประกอบด้วยพิธีสรงน้ำพระมุรธาภิเษก, พิธีถวายน้ำอภิเษก, พิธีถวายสิริราชสมบัติและเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ฯลฯ  สำหรับ “น้ำ” ที่ต้องใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกต้องใช้น้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น

แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญนี้ได้แก่ น้ำจากสระ 4 แห่งที่เมืองสุพรรณบุรี คือ สระเกษ, สระแก้ว, สระคา และสระยมนา ซึ่งในพราราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชาธิบายว่า “…เป็นน้ำสำหรับบรมราชาภิเษกมาแต่ครั้งพระร่วงกรุงสุโขทัย…” ภายหลังมีการเพิ่มเติมน้ำจากแหล่งต่างๆ ตามแต่ละรัชกาล ดังเช่น

สมัยรัชกาลที่ 1-4 เพิ่มน้ำจากแม่น้ำสำคัญของประเทศอีก 5 สายที่สมมติว่าคือ  “เบญจสุทธิคงคา” ดังนี้ แม่น้ำบางปะกง บึงพระอาจารย์ แขวงเมืองนครนายก, แม่น้ำป่าสัก ตำบลท่าราบ แขวงเมืองสระบุรี, แม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลบางแก้ว แขวงเมืองอ่างทอง, แม่น้ำราชบุรี ตำบลดาวดึงส์ แขวงเมืองสมุทรสาคร, แม่น้ำเพชรบุรี ตำบลท่าไชย แขวงเมืองเพชรบุรี

ถึงรัชกาลที่ 5 นอกจากใช้น้ำสรงพระมุรธาภิเษกจากแหล่งน้ำดังที่กล่าวมาเพื่อทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกในปี พ.ศ. 2411 และเมื่อทรงทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2416 มีการนำน้ำจากปัญจมหานทีในอินเดียได้แก่ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมนา แม่น้ำมหิ แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู ที่ได้จากการเสด็จพระราชดำเนินไปประเทศอินเดียเมื่อปี พ.ศ.2415 นำมาเจือในน้ำที่ใช้สรงพระมุรธาภิเษก

ฯลฯ

เช่นเดียวกับผู้ถวายน้ำอภิเษกที่ปรับเปลี่ยนไปในแต่ละรัชกาล

การรับน้ำอภิเษกครั้งรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 พราหมณ์เป็นผู้ถวายน้ำอภิเษก รวมทั้งน้ำพระมหาสังข์ และน้ำเทพมนต์ ต่อมาในรัชกาลที่ 4 ทรงให้ราชบัณฑิตเข้ามาเป็นผู้ถวายน้ำอภิเษกเป็นครั้งแรก พราหมณ์พิธีถวายน้ำพระมหาสังข์ พราหมณ์พฤติบาศถวายน้ำเทพมนต์  โดยผู้ถวายน้ำได้แก่

1.กรมหมื่นนุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัติวงศ์ 2.พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าฤกษ์ 3.สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ 4.พระวรวงศ์เธอ กรมขุนรามอิศเรศ 5.พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนเดชอดิศร 6.พระเจ้าพี่นางเธอ กรมขุนพิพิธภูเบนทร์ 7. เจ้าพระยาคลัง ว่าที่สมุหพระกลาโหม 8.พระยาศรีพัฒนราชโกษา

และพราหมณ์ถวายน้ำสังข์อีก 7 คน  1.หลวงศรีสิทธิชัยหมอเฒ่า 2.พระมหาราชครูพิธี 3. พระครูอัษฎาจารย์ 4.หลวงจักรปาณี 5.หลวงราชมุนี 6.หลวงศิวาจารย์ 7.หลวงเทพาจารย์

ถึงรัชกาลที่ 9 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ประทับ ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์  แปรพระพักตร์สู่ทิศบูรพา(ทิศตะวันออก) เป็นปฐม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประจำทิศทั้ง 8 ถวายน้ำอภิเษก (เดิมคือราชบัณฑิต และพราหมณ์ถวาย)เป็นนัยแสดงถึง “พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย” ส่วนการถวายน้ำพระมหาสังข์และน้ำเทพมนต์ คงเป็นพราหมณ์ เช่นเดิม


ข้อมูลจาก

ณัฏฐภัทร จันทวิช. พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, กรมศิลปากรจัดพิมพ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ  ธันวาคม 2530

ดร.นนทพร อยู่มั่งมี, ผศ.ดร. พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์, เสวยราชสมบัติกษัตรา. สำนักพิมพ์มติชน มีนาคม 2562

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก. กระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. 2560