เผยแพร่ |
---|
มัสญิด* คือศาสนสถานที่ชาวมุสลิมใช้ปฏิบัติ “นมาซ” เพื่อแสดงความเคารพสักการะและรำลึกถึงอัลลอฮฺ ในบางประเทศจะเรียกมัสญิดว่า “สุเหร่า” ก็มี โดยมัสญิดสำคัญของอิสลามมี 3 แห่งด้วยกันคือ มัสญิดอัลฮะรอม ในนครมักก๊ะฮฺ ซึ่งเป็นที่ตั้งของก๊ะอฺบ๊ะฮฺ, มัสญิดนะบะวีย์ หรือมัสญิดของท่านนบีมุฮัมมัด ซึ่งตั้งอยู่ที่นครมะดีนะฮฺ และมัสญิดอัลอักซอ ตั้งอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็ม ประเทศอิสราเอล ซึ่งมัสญิดอัลอักซอ นี้เองที่เกิดเพลิงไหม้ในเวลาไล่เลี่ยกับเหตุเพลิงไหม้วิหารนอเทรอดาม ในกรุงปารีส ฝรั่งเศส
ก่อนจะทำความรู้จักมัสญิดอัลอักซอ ซึ่งเกิดเพลิงไหม้ ควรทำความรู้จักสถานที่สำคัญอีก 2 แห่งพร้อมกันไปด้วย
มัสญิด นะบะวีย์
มัสญิดของท่านนบีมุฮัมมัดในนครมะดีนะฮฺ ถือเป็นมัสญิดที่มีความสําคัญเป็นอันดับสองของโลกอิสลาม
มัสญิดนะบะวีย์ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกโดยท่านนบีมุฮัมมัดเอง หลังจากที่ท่านได้อพยพมาถึงนครมะดีนะฮฺแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากมุสลิมจําเป็นต้องมีศาสนสถานเป็นศูนย์กลางทางด้านจิตใจและสถานที่สําหรับทํานมาซ เมื่อท่านคิดจะสร้างมัสญิด มีชาวมะดีนะฮฺหลายคนเสนอที่จะยกที่ดินให้แก่ท่าน แต่เพื่อมิให้เกิดข้อครหาว่าท่านลําเอียงรักชอบใครเป็นพิเศษ ท่านจึงได้ขอแก่ชาวเมืองว่าท่านจะปล่อยให้อูฐของท่านเดินไปอย่างเป็นอิสระ หากอูฐของท่านไปหยุดที่ตรงไหน ท่านก็จะขอใช้ที่ตรงนั้นสร้างมัสญิด
ปรากฏว่าอูฐไปหยุดตรงที่ดินของเด็กกําพร้าสองคน และเมื่อท่านตัดสินใจสร้างมัสญิดตรงนั้น เด็กกําพร้าทั้งสองคนก็ยินดียกที่ดินให้แก่ท่าน แต่เพราะเห็นว่าเป็นเด็กกําพร้า ท่านจึงไม่ยอมรับ แต่ได้ขอซื้อที่ดินจากเด็กกําพร้าทั้งสองโดยอบูบักรฺเป็นผู้จ่ายค่าที่ดินให้
เมื่อแรกสร้างนั้น มัสญิดของท่านมีขนาดไม่ใหญ่นัก วัสดุก่อสร้างก็เป็นวัสดุง่าย ๆ ที่หาได้ในบริเวณนั้น เช่น เสาของมัสญิดก็ใช้ต้นอินทผลัม กําแพงทําจากดินโคลนที่นํามาตากแห้งเป็นก้อน หลังคามุงด้วยกิ่งอินทผลัม ท่านได้สร้างบ้านของท่านติดอยู่กับบริเวณมัสญิดด้วย
มัสญิดแห่งนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นสถานที่สําหรับนมาซเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่สําหรับการศึกษาอบรม สถานที่ต้อนรับแขก ประชุมปรึกษาหารือในกิจการต่างๆ ตัดสินคดีความ เป็นกองบัญชาการสําหรับการส่งกองทัพไปทำสงคราม และที่สําคัญคือมัสยิดแห่งนี้ยังเป็นที่ฝังศพของท่านนบีฯ อีกด้วย
มัสญิด อัลอักซอ
มัสญิดที่มีความสําคัญเป็นอันดับสามของโลกอิสลาม ตั้งอยู่บนพื้นที่บริเวณมหาวิหารเดิมในกรุงเยรูซาเล็ม
ความหมายของคําว่ามัสญิดอัลอักซอ คือ “สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันไกลโพ้น” และคํานี้มีกล่าวไว้ในคัมภีร์กุรอาน 17.1 ว่า : “มหาบริสุทธิ์ยิ่งแต่พระองค์ผู้ทรงนําบ่าวของพระองค์เดินทางในตอนกลางคืนจากมัสยิดอัลฮะรอมยังมัสญิดอัลอักซอ ซึ่งเราได้ประทานความจําเริญรอบ ๆ มัสญิดนั้นเพื่อเราจะได้แสดงสัญญาณบางอย่างของเราแก่เขา”
นักประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งกล่าวว่ามัสญิดอัลอักซอถูกสร้างขึ้นครั้งแรกโดยนบีสุลัยมาน แต่ก็มีนักประวัติศาสตร์อิสลามส่วนหนึ่งโต้แย้งโดยอ้างหลักฐานจากบันทึกคําพูดของท่านนบีมุฮัมมัดว่า ครั้งหนึ่งท่านถูกสาวกถามว่ามัสญิดแห่งใดเป็นมัสญิดที่ถูกสร้างแห่งที่สองหลังจากมัสญิดฮะรอม ท่านนบีฯ จึงได้ตอบว่า “มัสยิดอัลอักซอ” สาวกจึงได้ถามต่อไปว่า “ระยะเวลาการสร้างมัสญิดทั้งสองห่างกันเท่าใด” ท่านนบีฯ จึงตอบว่า “สี่สิบปี” ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่มัสยิดอัลอักซอจะถูกสร้างในสมัยนบีสุลัยมาน เพราะช่วงระยะเวลาระหว่างนบีอิบรอฮีมผู้สร้างก๊ะอฺบ๊ะฮฺกับนบีสุลัยมานนั้นห่างกันเป็นพันปี
ดังนั้น นักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งจึงสรุปความเห็นที่ขัดแย้งกันว่าหากเป็นเช่นนั้น นบีอาดัมก็คงจะเป็นผู้สร้างมัสญิดทั้งสองแห่งไว้ และมัสญิดทั้งสองแห่งได้ผุพังไปตามกาลเวลา จนกระทั่งนบีอิบรอฮีมได้มาฟื้นฟูบูรณะมัสยิดอัลฮะรอม ส่วนนบีสุลัยมานนั้นได้มาฟื้นฟูบูรณะมัสญิดอัลอักซอ
มัสยิดอัลอักซอมีความสําคัญเป็นอันดับสามของโลกอิสลามก็เพราะเป็นมัสญิดที่นบีมุฮัมมัดเดินทางอย่างรวดเร็วในยามค่ำคืนจากมัสญิดอัลฮะรอมในมักก๊ะฮฺมายังมัสยิดแห่งนี้ และเดินทางขึ้นสู่ชั้นฟ้าเบื้องสูงโดยการนําพาของมลาอิก๊ะฮฺและกลับมาภายในคืนเดียว เหตุการณ์ในคืนนั้นเป็นที่รู้จักกันว่า “อิสรอ” และ “มิอฺรอจญ์”
ในช่วงพ.ศ. 2542 รัฐบาลอิสราเอลกําลังหาทางที่จะทําลายและรื้อถอนมัสญิดแห่งนี้เพื่อสร้างวิหารใหม่ตามความเชื่อของพวกตนขึ้นมาแทน
มัสญิด อัลฮะรอม
มัสญิดใหญ่ใจกลางนครมักก๊ะฮฺซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของก๊ะอฺบ๊ะฮฺ หรือบัยตุลลอฮฺ รวมทั้งบ่อน้ำซัมซัมและ มะกอมอิบรอฮีม เป็นมัสญิดที่สําคัญที่สุดของอิสลาม
ก่อนสมัยของนบีมุฮัมมัด บริเวณที่ตั้งของสิ่งสําคัญของอิสลามดังกล่าวข้างต้นนั้นถือเป็นศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวมักก๊ะฮฺ บริเวณรอบสถานที่เหล่านี้เป็นที่เปิดโล่ง ไม่มีกั้นรั้วกําหนดเขตเป็นที่แน่ชัด ในปี ฮ.ศ. 8 ท่านนบีมุฮัมมัดใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่นมาซ ต่อมาเมื่อมีมุสลิมเพิ่มขึ้น สถานที่แห่งนี้ก็เล็กลงตามกาลเวลาและจํานวนมุสลิมที่เพิ่มขึ้น จนกระทั่งมาถึงสมัยของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺและอุษมาน บ้านของประชาชนที่อยู่รอบบริเวณศาสนสถานสําคัญแห่งนี้จึงถูกสั่งรื้อถอนและได้มีการสร้างกําแพงกั้นบริเวณขึ้น หลังจากนั้นก็มีการขยายพื้นที่และก่อสร้างส่วนต่าง ๆ ในสมัยของผู้ปกครองอาณาจักรอิสลามคนต่อ ๆ มา
การบูรณะมัสญิดอัลฮะรอมมีขึ้นเป็นครั้งแรกโดยเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อิบนุล ค็อฏฏอบ ใน ฮ.ศ. 17 และอีกหลายครั้งในช่วงเวลาต่อมา
ในระหว่างที่พวกราชวงศ์มัมลู้กแห่งอียิปต์มีอํานาจ (ฮ.ศ. 802) ตัวอาคารมัสยิดอัลฮะรอมได้ถูกไฟไหม้และถูกซ่อมแซมโดยเจ้าชายบัยซักซอฮิรี
หลังจาก ฮ.ศ. 979 เป็นต้นมา มุสลิมชาวเติร์กได้ขึ้นมาเป็นผู้นําชาติอิสลาม จึงได้มีการขยายบริเวณมัสญิดอัลฮะรอมให้กว้างออกไปอีก โดยเฉพาะในสมัยของสุลต่านชาลิมซึ่งทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อบูรณะครั้งใหญ่ ใน ฮ.ศ. 980 และ ฮ.ศ. 984
*มัสญิด สะกดตามสารานุกรมอิสลาม ฉบับเยาวชนและผู้เริ่มสนใจ
คัดเนื้อหาและเรียบเรียงใหม่จาก สารานุกรมอิสลาม ฉบับเยาวชนและผู้เริ่มสนใจ โดย บรรจง บินกาซัน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2542 สำนักพิมพ์ อัล อะมีน