ปัญหาการประทับ “พระราชยาน” จากความทรงจำของเจ้านาย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับพระที่นั่งราเชนทรยานเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราใหญ่จากเกยหลังวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปประทับพระราชยานที่เกยพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาทในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2454

ในสมัยโบราณที่ยังไม่มียานพาหนะเช่นในปัจจุบัน การเดินทางไปยังสถาน ต่างๆ ยังต้องใช้การเดินเท้าเป็นพื้น ส่วนการเดินทางระยะไกลไปยังต่างเมือง นอกจากการเดินเท้าแล้วยังพบว่า มีการใช้เกวียนเทียมโค หรือช้าง หรือถ้าเป็นพาหนะ ในการเดินทางทางบก หรือใช้เรือ หรือแพเป็นพาหนะทางน้ำ

แต่เวลาที่พระมหากษัตริย์หรือพระราชวงศ์จะเสด็จไปยังสถานที่ใดๆ ไม่ว่าใกล้ หรือไกลทั้งในกรุงและหัวเมือง นอกจากจะใช้พาหนะทางบกทางน้ำดังกล่าวแล้ว ยังมี “พระราชยาน” เป็นพระราชพาหนะในการเสด็จไปยังสถานที่ต่างๆ ที่มิใช่ในเขตพระราชฐานชั้นในหรือภายในเขตพระอารามซึ่งตามพระราชประเพณีจะทรงพระดําเนินด้วยพระบาท

พระราชยานที่ใช้เป็นพระราชพาหนะตามโบราณราชประเพณีนั้นมีถึง 9 องค์ แต่ละองค์มีรูปลักษณะที่หลากหลายและมีชื่อเรียกต่างกัน คือ

1. พระยานมาศ ทําด้วยไม้สักปิดทอง มีคานหามคู่และมีแอกทั้งหน้าหลัง มีเชือกหุ้มผ้าผูกแอกนั้น แล้วไปคล้องกับลูกไม้ สําหรับประทับราบและมีพนักพิง มีคนหาม 8 คน

2. พระยานมาศ 3 ลําคาน เป็นคานหามขนาดใหญ่ทําด้วยไม้ปิดทอง ฐานประดับรูปเทพนมและครุฑเป็น 2 ชั้น มีพนักและคานหาม 3 คาน และคนหาม 2 ผลัด ผลัดละ 50 คน

3. พระราชยานกง สําหรับประทับห้อยพระบาท ทําด้วยไม้สักปิดทองประดับกระจก มีกงกับพนักสําหรับพิง มีคาน 2 คาน กับแอกและลูกไม้สําหรับหาม 8 คน ใช้สําหรับทรงในเวลาปกติ (ไม่ใช้ในพระราชพิธี)

4. พระราชยานถม มีแบบและลักษณะเช่นเดียวกับพระยานมาศ แต่หุ้มด้วยเงินถม ลงยาทาทอง มีกระจังปฏิญาณทองคําลงยาราชาวดีประดับ พระราชยานองค์นี้ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย ณ นคร) สร้างถวายในรัชกาลที่ 3

5. พระราชยานงา มีแบบและลักษณะอย่างพระราชยานถม แต่ทําด้วยงาช้างสลักลาย พระราชยานองค์นี้ นายพลเรือโท พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ รองเสนาบดีกระทรวงวัง ผู้บัญชาการกรมพระคชบาลและผู้บัญชาการกรมช่าง 10 หมู่ ได้สร้างถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2432

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับพระราชยานงาเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนราบจากท่าฉนวนไปประทับเกยหน้าพระอารามวัดอรุณราชวราราม ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2454

6. พระที่นั่งราชยานพุดตานถม ทําด้วยไม้หุ้มเงินสลักลายพุดตาน ถมยา ทาทอง เดิมสร้างขึ้นสําหรับเป็นพระราชอาสน์ คือที่ประทับประจําพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และแปลงเป็นพระราชยานได้ จึงมีห่วงและคานสําหรับหาม

7. พระราชยานทองลงยา มีแบบและลักษณะอย่างพระราชยานถม

8. พระที่นั่งราชยานพุดตานทอง ทําด้วยไม้สลักหุ้มทอง มีรูปเทพนม ครุฑประดับ 2 ชั้น สร้างขึ้นสําหรับเป็นพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ รูปคล้ายพระที่นั่งกง แต่ต่างกันตรงที่พระที่นั่งพุดตานมีใบปรือติดอยู่ 2 ข้าง สําหรับทอดเหนือพระราชบัลลังก์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ใช้เป็นพระราชอาสน์ที่พระมหากษัตริย์เสด็จออกประทับในงานพระราชพิธีสําคัญ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สภาผู้แทนราษฎร เป็นต้นพระที่นั่งองค์นี้ทําเป็นพระราชยานได้จึงมีห่วงและคานสําหรับหาม ในงานเสด็จพระราชดําเนินเป็นกระบวนพยุหยาตราสถลมารค หรือในการเสด็จพระราชดําเนินถวายผ้าพระกฐิน ฯลฯ เมื่อเวลาแต่งเป็นพระราชยานมีแอกผูกติดกับคานทั้งหน้าและหลัง มีแอกผูกลูกไม้สําหรับหามทั้งซ้าย ขวา หน้า หลัง มีคนหามขึ้นบ่าประจําที่คานและที่ลูกไม้ รวมผลัดละ 16 คน และต้องผลัดกันทุกระยะ 500 เมตร

9. พระที่นั่งราเชนทรยาน เป็นพระราชยานที่มีบุษบก เป็นที่ประทับในเวลาเสด็จพระราชดําเนินโดยกระบวนพระราชอิสริยยศในพระราชพิธีสําคัญ เช่น เสด็จพระราชดําเนินเลียบพระนครเนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นอกจากนั้นยังใช้ในการเชิญพระโกศพระบรมอัฐิพระมหากษัตริย์จากพระเมรุมาศท้องสนามหลวงเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง

การประทับพระราชยานเสด็จพระราชดําเนินไปยังที่ต่างๆ นี้ โดยปกติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะประทับเพียงลําพังพระองค์ แต่ในบางคราวก็โปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรสพระราชธิดาที่ยังทรงพระเยาว์โดยเสด็จไปบนพระราชยานด้วย ดังที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพทรงเล่าไว้ในพระนิพนธ์ “ความทรงจํา” ว่า

“ถ้าเสด็จไปด้วยมีกระบวนแห่มักทรงพระราชยาน แต่แรกฉันขึ้นวอพระที่นั่งรองตามเสด็จ ครั้นต่อมาเมื่อพระเจ้าลูกเธอที่เคยขึ้นพระราชยานรุ่นก่อนทรงพระเจริญ พระองค์หนักเกินขนาดโปรดให้เปลี่ยนชุดใหม่ จึงทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้ฉันใน พระราชยานตั้งแต่อายุได้ 5 ขวบมาจนสิ้นรัชกาล พระเจ้าลูกเธอที่ได้ขึ้นพระราชยาน เป็นชุดเดียวกันรวม 4 พระองค์ คือ สมเด็จพระศรีพัชรินทรฯ กับสมเด็จพระวัสสาฯ สองพระองค์นี้ประทับบนพระเพลา หรือถ้าไปทางไกลก็ประทับข้างซอก ขนอง กรมพระสมมตอมรพันธ์กับตัวฉันนั่งเคียงกันข้างหน้าที่ประทับ

เรื่องขึ้นราชยานฉันจําได้ไม่ลืม เพราะเคยตกพระราชยานครั้ง 1 เมื่อตามเสด็จงานวัดหงส์ ในปีเถาะ พ.ศ. 2410 ขากลับเสด็จขึ้นพระราชยานที่ท่าราชวรดิษฐ์ เห็นจะเป็นด้วยฉันง่วงนั่งหลับมาในพระราชยาน เมื่อผ่านประตูกําแพงแก้วพระที่ดุสิตมหาปราสาท ทางด้านตะวันออก พอคนหามพระราชยานลงบันได ข้างหน้าพระราชยานต่ำลง ฉันก็พลัดตกลงมา จมื่นจง (โต ซึ่งภายหลังได้เป็นที่พระยาบําเรอ เลื่อนเป็นพระยาวิเศษสัจธาดาในรัชกาลที่ 5) อุ้มส่งขึ้นนั่งอย่างเดิม ไม่ได้เจ็บปวดชอกช้ำอันใด…

เรื่องตกพระราชยานนี้ชอบกล เจ้าพี่ท่านได้ขึ้นพระราชยานมาก่อน บางพระองค์ก็เคยตก ใครตกก็จําได้ไม่ลืม เพราะนานๆ จะมีสักครั้ง 1 แต่ประหลาดที่มามีเหตุเช่นนั้นแก่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ) ในรัชกาลที่ 5 ครั้งตามเสด็จไปวัดกลางเมืองสมุทรปราการ เวลานั้นฉันเป็นราชองครักษ์เดินแซงไปข้างพระราชยาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ขึ้นพระราชยานแต่พระองค์เดียว ประทับพระยี่ภูข้างหน้าที่ประทับ เมื่อกระบวนแห่เสด็จถึงวัดจะไปที่หน้าพระอุโบสถ แต่พอผ่านศาลาโรงธรรมที่พวกพ่อค้าตั้งแถวคอยเฝ้า มีผู้ชูฎีกาทูลเกล้าฯ ถวาย ดํารัสสั่งให้หยุดพระราชยานเพื่อจะทรงรับฎีกา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เห็นจะกําลังเผลอพระองค์ พอพระราชยานหยุดชะงักก็พลัดตกลงไปข้างหน้า เป็นครั้งหลังที่สุดที่เจ้านายตกพระราชยาน”

นอกจากนั้นยังพบความในบันทึกของจมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์) ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

“ทรงเล่าอย่างขันๆ ว่า ไม่มียานพาหนะใดที่จะนั่งด้วยอาการเป็นคิงแท้ๆ เท่าราชยาน เพราะหาความสุขสบายมิได้เลย ทรงตรัสว่า ที่นั่งกว้างพอดีกับพระที่นั่ง (คือ ก้นของท่าน) ที่วางพระบาทมีเฉพาะเพียงพระบาททั้งคู่วางชิดๆ กันได้ไม่ตกแต่หมิ่นเต็มที่ บางทีต้องไขว้และก็ต้องไขว้ซ้ายบนบ้าง ขวาบนบ้าง เรียงคู่บ้าง สลับกันไป เช่นนี้ตลอดทาง ไม่มีทางทําอย่างอื่นได้ เพราะบางคราวทรงนึกจะไขว่ห้างก็ไม่กล้าทํา เพราะเกรงจะไม่เหมาะสม

สองข้างบัลลังก์ยังเป็นกระจังทําด้วยทอง บางที่แกะด้วยไม้มีกนกแหลมๆ เต็มไปหมด วางพระกรเข้าก็เจ็บ ไม่วางก็ไม่รู้จะวางที่ไหน ต้องทนขยับเขยื้อนได้ยากเต็มที่ เพราะที่จํากัด และลอยอยู่ด้วยพลังของคน ถ้าขยับเขยื้อนรุนแรงข้างล่างก็เดือดร้อน ดีไม่ดีพลิกคว่ำลงเป็นเสร็จ ต้องเข้าโรงพยาบาลแน่แล้ว

รับสั่งว่า บางที่เป็นเหน็บทั้งๆ ขา ต้องขยับให้หายชา แล้วทรงกระดิกพระดัชนีให้พระโลหิตเคลื่อน พอค่อยทุเลา นั่งพิงอย่างสบายก็ไม่ได้ เสียทรง ทําให้ไม่งาม ท่านว่าทูลกระหม่อม คือ หมายถึงสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 เคยสอนไว้ว่า นั่งราชยานต้องดัดทรงเป็นละคร คือ ดันกระเบนเหน็บให้ตัวตรง แล้วคิดดูซิ ประทับอยู่บนนั้นตั้งๆ ชั่วโมง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับพระราชยานที่เกยหน้าพลับพลาเปลื้องเครื่องวัดบวรนิเวศวิหาร

ท่านรับสั่งแล้วทรงยิ้มว่า เวลาประชาชนเขาแสดงความเคารพ ทั้งๆ ปวดเมื่อยและเป็นเหน็บก็ต้องแข็งพระราชหฤทัย ทรงยิ้ม ทรงยกพระคธาขึ้นรับเคารพ เพราะยิ้มของพระเจ้าแผ่นดิน คือ น้ำทิพย์ชโลมใจของประชาชน ท่านว่าถ้าจ้างกันละก็ละ 50 บาท (สมัยโน้น) ท่านก็ไม่เอา ต่อให้ร้อยก็ไม่รับประทาน แต่เป็นพระราชกรณียกิจแม้ให้ยากแสนยากเหนื่อยแสนเหนื่อยกว่านี้ก็ต้องรับทํา เพื่อประโยชน์สุขของทวยราษฎร์ แต่พอเสร็จพิธีตอนเข้าที่พระบรรทมน่ะซี ตกเป็นภาระอันหนักของมหาดเล็กผู้ถวายอยู่งาน เพราะจะได้ยินแต่พระสุรเสียงว่า เอาตรงนี้หน่อย คือที่บั้นพระองค์ ที่พระชาณุ (ขา) เป็นต้น”

ฉะนั้นเมื่อเริ่มมีรถม้าเข้ามาใช้ในราชการในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเวลาเสด็จประพาสที่ต่างๆ ในเวลาเย็นจึงทรงเปลี่ยนไปใช้รถม้าพระที่นั่ง และเมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวการเสด็จพระราชดําเนินโดยพระราชยานก็ลดบทบาทลงเหลือเพียงการเสด็จฯ เลียบพระนครในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและเสด็จฯ ไปพระราชทานผ้าพระกฐินประจําปี ณ พระอารามสําคัญในพระนคร 3 วัด คือ วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม


ข้อมูลจาก

วรชาติ มีชูบท. “กระบวนพยุหยาตรา และ กระบวนราบ,” ใน ศิลปวัฒนธรรม ธันวาคม 2560.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤษภาคม 2562