วังท่าพระและเหตุพิสดารของเจ้านายในวัง ฤๅพระปิ่นเกล้าฯ จะใช้พระบาทใส่กรมขุนราชสีห์?

(ซ้าย) วังท่าพระ (ขวา) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม

วังท่าพระและวังที่อยู่ติดกัน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงเริ่มสร้างกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2325 นั้น ได้ทรงสร้างวังพระราชทานเจ้านายพระองค์ชายซึ่งเจริญพระชันษาสมควรจะเสด็จอยู่วังต่างหาก 8 วัง ตั้งอยู่ทั้งสองฟากแม่น้ำ รวมทั้งพระราชวังหลวงและพระราชวังบวรสถานมงคลด้วยเป็น 10 วัง ต่อมาเมื่อเจ้านายพระองค์ชายที่ยังทรงพระเยาว์อยู่ในเวลาสร้างกรุง ทรงพระเจริญถึงเวลาควรจะเสด็จอยู่วังต่างหาก ก็ทรงสร้างเพิ่มเติมขึ้นอีกหลายวัง อยู่ทางฝั่งตะวันออกทั้งสิ้น วังที่ทรงสร้างขึ้นในยุคหลังนี้ สร้างที่ริมถนนหน้าพระลาน ตั้งแต่ท่าพระหรือท่าช้างวังหลวงขึ้นไปถึงหน้าประตูวิเศษไชยศรีรวม 3 วังเรียงติดกัน สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในหนังสือตำนานวังเก่า ถึงประวัติของวังทั้งหมู่นั้น ดังนี้

วังถนนหน้าพระลาน วังตะวันตก

วังนี้อยู่ในพระนครใกล้ประตูท่าพระ โปรดให้สร้างพระราชทานสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต ซึ่งเรียกกันว่า “เจ้าฟ้าเหม็น” พระนัดดา ประทับอยู่จนตลอดพระชนมายุถึงรัชกาลที่ 2 พระราชทานให้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติในรัชกาลที่ 3 พระราชทานให้เป็นที่ประทับของพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ สิ้นพระชนม์ พระราชทานให้เป็นที่ประทับของพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชุมสาย ซึ่งทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่น แล้วเลื่อนเป็นกรมขุนราชสีหวิกรมในรัชกาลที่ 4 เสด็จอยู่มาจนสิ้นพระชนม์เมื่อปีสิ้นรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 พระราชทานให้เป็นที่ประทับของกรมหมื่นอดุลยลักษณสมบัติ พระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 3 เมื่อกรมหมื่นอดุลยลักษณสมบัติสิ้นพระชนม์แล้ว จึงพระราชทานสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ จนกระทั่งปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ

วังถนนหน้าพระลาน วังกลาง

วังนี้อยู่ริมถนนหน้าพระลานต่อวังท่าพระมาทางตะวันตก โปรดให้สร้างเป็นที่ประทับของพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอรุโณทัย ซึ่งทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นศักดิพลเสพ เสด็จอยู่มาจนรัชกาลที่ 3 ได้ทรงรับอุปราชาภิเษกเสด็จไปประทับที่พระราชวังบวรฯ (ที่วังกลางว่างอยู่จนสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์เสด็จออกวัง จึงพระราชทานวังกลางให้เป็นที่ประทับ ครั้นกรมหลวงเทพพลภักดิ์สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2380 โปรดให้เจ้าฟ้าอาภรณ์เสด็จไปประทับ ณ วังหน้าประตูวิเศษไชยศรี) พระราชทานวังกลางให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าชายกลาง ซึ่งพระราชทานพระนามในรัชกาลที่ 4 ว่า เจ้าฟ้ามหามาลา กรมขุนบำราบปรปักษ์ เสด็จอยู่จนสมเด็จเจ้าฟ้าอาภรณ์สิ้นพระชนม์ ถึงรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้รวมวังหน้าประตูวิเศษไชยศรีกับวังกลางเป็นวังเดียวกัน  เป็นที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนบำราบปรปักษ์ และประทับต่อมาในรัชกาลที่ 5 ได้ทรงเลื่อนเป็นกรมพระแล้วเป็นกรมพระยา แล้วจึงสิ้นพระชนม์ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ซึ่งเป็นพระโอรสพระองค์ใหญ่ ได้เสด็จอยู่ต่อมาจนตลอดพระชนมายุอีกพระองค์หนึ่ง แล้วจึงตั้งเป็นโรงงานช่างสิปป์หมู่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยศิลปากรในรัชกาลปัจจุบันนี้

วังถนนหน้าพระลาน วังตะวันออก

วังนี้อยู่ริมถนนหน้าพระลาน ต่อวังกลางมาทางตะวันออกจนถึงมุมถนนหน้าพระธาตุ อยู่ตรงประตูวิเศษไชยศรี ทางเข้าพระราชวัง โปรดให้สร้างพระราชทานเป็นที่ประทับของพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอภัยทัต ซึ่งทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นเทพพลภักดิ์ ต่อมาถึงรัชกาลที่ 3 เลื่อนเป็นกรมหลวง เสด็จอยู่วังนี้จนตลอดพระชนมายุ แล้วพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ต่อมา ครั้นสมเด็จเจ้าฟ้าอาภรณ์สิ้นพระชนม์ ถึงรัชกาลที่ 4 โปรดให้รวมกับวังกลาง เป็นที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ดังกล่าวมาแล้วในเรื่องวังกลาง

นอกจากนั้นยังได้ทรงพรรณนาถึงลักษณะการสร้างวัง และประเพณีสร้างวัง ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 มาจนถึงรัชกาลที่ 3 จึงคัดมาให้อ่านแทนที่จะอธิบาย เพื่อให้เข้าใจได้แจ่มแจ้งดังนี้

จะกล่าวถึงลักษณะการสร้างวังตั้งแต่รัชกาลที่ 1 มาจนรัชกาลที่ 3 อันเข้าใจว่าทำตามประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี คือเจ้านายพระองค์ชายเมื่อโสกันต์ และเสร็จทรงผนวชเป็นสามเณรแล้ว ในตอนพระชันษายังไม่ถึง 20 ปี ยังประทับอยู่ในพระราชวัง บางพระองค์คงอยู่ตำหนักในพระราชวังชั้นในอย่างเดิม บางพระองค์ก็โปรดให้จัดตำหนักให้ประทับอยู่ในพระราชวังชั้นนอก บางพระองค์ก็เสด็จไปประทับอยู่กับเจ้านายที่ออกวังแล้ว เริ่มกะการสร้างวังพระราชทานในตอนนี้ จะสร้างวังที่ตรงไหนก็ให้กรมนครบาลไล่ที่ บอกให้ราษฎรบรรดาอยู่ในที่นั้นรื้อถอนเหย้าเรือนย้ายไปอยู่ที่อื่น เพราะตามกฎหมายถือว่าที่แผ่นดินเป็นของหลวงและเจ้านาย

เมื่อทรงกรมแล้วย่อมมีหน้าที่ควบคุมรี้พลเป็นกำลังราชการ ที่วังก็เหมือนอย่างเป็นที่ทำการรัฐบาลแห่งหนึ่ง อีกประการหนึ่ง ที่ดินในสมัยนั้นก็ยังหาสู้จะมีราคาเท่าใดไม่ เรือนชานทั้งปวงเล่าก็เป็นแต่เครื่องไม้มุงจากเป็นพื้น อาจจะรื้อถอนย้ายไปหาที่ปลูกใหม่ได้โดยง่าย ครั้งจำเนียรกาลนานมา เมื่อสร้างวังหลายแห่งขึ้น มีคนต้องย้ายบ้านเรือนเพราะทำวังบ่อยเข้า ก็เกิดคำพูดกันเป็นอุปมาในเวลาที่ใครถูกผู้อื่นจะเอาที่ แม้จนไล่จากที่นั่งอันหนึ่งให้ไปนั่งยังที่อื่น ก็มักเรียกกันว่า “ไล่ที่ทำวัง”

ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นว่าราษฎรเดือดร้อนถึงรัชกาลที่ 4 จึงโปรดให้พระราชทานค่าชดใช้แก่ผู้ที่ถูกย้ายบ้านเรือนเพราะสร้างวัง ถ้าเป็นที่มีเจ้าของน้อยตัว ก็ให้ว่าซื้อตามราคาซื้อขายกันในพื้นเมือง ถ้าเป็นที่คนอยู่แห่งละเล็กละน้อยหลายเจ้าของด้วยกัน ก็พระราชทานค่าที่ตามขนาดคิดเป็นราคาจตุรัสละบาท (อันถือว่าเป็นปานกลางของราคาที่ดินในสมัยนั้น) คำที่พูดกันว่า “ไล่ที่ทำวัง” ก็สงบไป แต่บางทีก็ไม่ต้องหาที่ทำวัง เพราะพระราชทานวังเก่าที่มีว่างอยู่บ้าง และเจ้านายบางพระองค์ได้ทรงรับมรดกบ้านเรือนของญาตวงศ์ฝ่ายข้างเจ้าจอมมารดาก็โปรดให้สร้างวังในที่นั้นบ้าง

“ลักษณะวังที่สร้างนั้นต่างกันเป็น 2 อย่าง ถ้าเป็นวังเจ้าฟ้าสร้างกำแพงวังมีใบเสมา ถ้าวังพระองค์เจ้าจะมีใบเสมาไม่ได้ ประเพณีอันนี้เข้าใจว่าจะมีมาเก่าแก่ ด้วยในกฎมณเฑียรบาลกำหนดพระราชกุมารเป็นเจ้านายครองเมืองชั้น 1 เป็นหน่อพระเยาวราชชั้น 1 เจ้านายครองเมืองนั้น ที่มากำหนดเป็นขั้นเจ้าฟ้า ในสมัยเมื่อเลิกประเพณีให้เจ้านายออกไปครองหัวเมือง ซึ่งสร้างวังให้มีกำแพงใบเสมาเห็นจะเป็นเครื่องหมายขัตติยศักดิ์ว่าเป็นชั้นเจ้านายครองเมืองตามโบราณราชประเพณี ส่วนตำหนักนั้นก็ผิดกันที่ท้องพระโรง ท้องพระโรงวังเจ้าฟ้าทำหลังคามีมุขลดเป็น 2 ชั้น

ถ้าเป็นท้องพระโรงวังพระองค์เจ้าหลังคาชั้นเดียว แต่ตำหนักที่ประทับนั้นเห็นจะผิดกันแต่ขนาด แต่แบบแผนเป็นอย่างเดียวกัน มีเรือนห้าห้อง สองหลังแฝดเป็นตำหนักใหญ่ที่เสด็จอยู่หลัง 1 มีเรือนห้าห้องหลังเดียวเป็นตำหนักน้อย เห็นจะสำหรับเป็นที่อยู่ของพระชายาและพระโอรสธิดาหลัง 1 (บางคนอธิบายว่าสำหรับเจ้าจอมมารดาอยู่ แต่เห็นว่าจะมิใช่ เพราะเจ้าจอมมารดาจะมีโอกาสออกมาอยู่วังได้ต่อเมื่อรัชกาลนั้นล่วงไปแล้ว เหตุใดจะโปรดฯ ให้สร้างเตรียมไว้ก่อน)

นอกจากท้องพระโรงกับตำหนัก 3 หลังที่กล่าวมาก็มีเรือนสำหรับบริวารชนทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน วังชั้นเดิมสร้างด้วยเครื่องไม้แก่นหลังคามุงกระเบื้องทั้งนั้น แผนผังก็วางเป็นอย่างเดียว คือปลูกท้องพระโรงหันด้านยาวออกหน้าวัง ตำหนัก 3 หลังที่เสด็จอยู่และตำหนักน้อยหันด้านสกัดต่อหลังท้องพระโรง มีชาลาอยู่ระหว่างกลาง วังที่เคยเห็นเป็นดังนี้ทั้งนั้น มาเริ่มสร้างตำหนักเป็นตึกต่อในรัชกาลที่ 3 แต่ก็เป็นของเจ้านายที่เสด็จอยู่วังนั้นๆ ทรงสร้างเองตามพระอัธยาศัยเช่นตำหนักตึก พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างไว้ที่พระราชวังเดิมนั้น เป็นต้น

“เล่ากันมาว่าประเพณีเจ้านายเสด็จออกอยู่วังแต่ก่อน ถ้าเป็นวังสร้างใหม่ มักไปปลูกตำหนักพักชั่วคราวประทับอยู่ก่อน เพราะการสร้างตำหนักพระราชทานเป็นพนักงานของกรมช่างทหารใน กว่าจะสร้างสำเร็จเสร็จหมดเห็นจะช้า เมื่อเจ้านายเสด็จอยู่วังสิ้นพระชนม์ลง ถ้ามีวงศ์วานจะครอบครองวังได้ ก็ได้ครอบครอบต่อมาเว้นแต่เป็นวังสำคัญเช่นพระราชวังเดิม เป็นต้น และวังที่วงศ์วานไม่สามารถจะปกครองได้ จึงโปรดฯ ให้เจ้านายพระองค์อื่นเสด็จไปอยู่ ส่วนวงศ์วานของเจ้านายพระองค์ก่อนนั้น ก็ทรงพระกรุณาหาที่อยู่พระราชทาน ตามคุณานุรูปประเพณีการสร้างวังมีมาดังนี้”

“วังท่าพระ” นั้นเป็นชื่อตั้งขึ้นเรียกตามตำบลที่วังตั้งอยู่  แต่เสด็จปู่[1] จะทรงริเรียกเป็นชื่อวังขึ้นในสมัยที่ท่านมาประทับ หรือจะโปรดเกล้าฯ ให้เรียกดังนั้นก็ไม่ทราบ ส่วนตำบลก็เรียกตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งกล่าวไว้ในพงศาวดารว่า เมื่อ พ.ศ. 2351 อันเป็นปีที่ 27 ในรัชกาลที่ 1 โปรดให้เชิญพระพุทธรูปองค์ใหญ่อันเป็นพระประธานอยู่ในพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุล่องแพลงมาจากเมืองสุโขทัย พระพุทธรูปองค์นั้นคือพระศรีศากยมุนี โปรดเกล้าฯ ให้เชิญมาเพื่อประดิษฐานไว้ ณ วัดสุทัศนเทพวรารามที่ทรงสร้างขึ้นใหม่

เมื่อพระมาถึงมีงานสมโภชที่หน้าตำหนักเทพ[2] 3 วัน แล้วเชิญชักพระขึ้นจากแพทางประตูท่าช้าง พระพุทธรูปองค์ใหญ่มาก หน้าตักถึง 3 วา 1 คืบ เข้าประตูไม่ได้ ต้องรื้อกำแพงประตูนั้น ต่อมาก็เลยเรียกในทางราชการว่าประตูท่าพระมาจนทุกวันนี้ แต่ท่านั้นเดิมเคยเป็นท่าสำหรับช้างฝ่ายพระราชวังหลวงลงอาบน้ำ ชาวบ้านจึงยังคงเรียกว่าท่าช้างวังหลวงตลอดมา ยังมีช้างลงอาบน้ำที่ท่านั้นมาจนถึงรัชกาลที่ 7 และโดยทำนองเดียวกันก็มีท่าช้างวังหน้าอีกแห่งหนึ่งด้วย สำหรับวังท่าพระนั้นชาวบ้านก็เรียกว่า “วังท่าช้าง” อีกด้วย

เรื่องพิสดารบางเรื่องเกี่ยวกับกรมขุนราชสีหวิกรม และหม่อมเจ้าในกรมบางองค์

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 21 ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติในรัชกาลที่ 2 เมื่อวันพุธ เดือน 4 แรม 10 ค่ำ ปีชวด พ.ศ. 2359 ก่อนพระราชบิดาจะเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ แล้วทรงดำรงฐานันดรศักดิ์ตามพระราชประเพณีเป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าชุมสาย ในรัชกาลที่ 3 ต่อมาในรัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาเป็นกรมขุนราชสีหวิกรม เมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2410 โปรดให้กำกับกรมช่างศิลาและกรมช่างสิปป์หมู่ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 4 เมื่อวันศุกร์ เดือน 11 ขึ้น 9 ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. 2411

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม

เจ้าจอมมารดาของท่านคือเจ้าจอมมารดาเอมใหญ่ ธิดาพระยาพจนาพิมล (ทองอยู่) หรือพระวันรัต ซึ่งเดิมเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆัง ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีที่มีเรื่องราวพิสดารปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารแล้ว กรมขุนราชสีห์มีหม่อมชื่อน้อย ซึ่งมีชื่อเสียงอยู่ในสมัยนั้นว่าเป็นหญิงที่งามมาก[3] ทั้งเป็นธิดาพระยาราชมนตรี (ภู่) ต้นสกุลภมรมนตรี จางวางข้าหลวงเดิมในรัชกาลที่ 3 และเป็นคนที่โปรดปรานมากถึงกับทรงเรียกว่าพี่ภู่อยู่เป็นประจำ

พระยาราชมนตรีเป็นผู้มีสติปัญญาบำรุงจัดการภาษีขนอนตลาดให้เจริญยิ่งขึ้น ทั้งเป็นผู้กำกับจัดการโรงงานด้วย จึงมีคนยำเกรงรักใคร่ทั้งบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ เช่น มีเคหสถานใหญ่โตในเวลานั้นอยู่ที่ตำบลท่าพระ ริมแม่น้ำ เป็นต้น (บ้านนี้คือบ้านท่าช้าง พวกหลานกรมขุนราชสีหวิกรมหรือกรมขุนราชสีห์ ชั้นหม่อมราชวงศ์เกิด ณ ที่นี้ ต่อมาสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้ทรงซื้อเรือนหลังนี้ซึ่งถูกรื้อกองอยู่ในบริเวณ แล้วนำไปปลูกไว้ที่วังคลองเตยยังปรากฏอยู่จนถึงทุกวันนี้) เดิมหม่อมน้อยได้เป็นหม่อมของสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ มีโอรสธิดา 2 องค์ คือหม่อมเจ้าหญิงสารพัดเพชร กับหม่อมเจ้าประเสริฐศักดิ์ ซึ่งภายหลังทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้า

ครั้นกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์สิ้นพระชนม์แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 3 มีพระราชดำริว่า หม่อมน้อยนี้เป็นผู้ได้ทรัพย์สมบัติมหาศาลจากพระยาราชมนตรี ถ้าไม่จัดการอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว ทรัพย์สมบัติทั้งหลายนี้ก็จะตกไปเป็นของคนอื่นเสีย จึงได้โปรดให้เป็นหม่อมของพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชุมสาย ซึ่งต่อมาคือกรมขุนราชสีห์ และได้มีโอรสธิดาด้วยกัน 6 องค์ นอกจากนั้นกรมขุนราชสีห์ยังทรงมีหม่อมอีกคนหนึ่ง คือคุณหญิงพึ่ง ซึ่งเป็นธิดาของคุณอัมพวัน โอรสพระเจ้าตากสิน มีธิดาด้วยกันองค์หนึ่ง คือหม่อมเจ้าหญิงมลิวรรณ

กรมขุนราชสีห์ทรงสันทัดในการช่างมาแต่รัชกาลที่ 3 ครั้นถึงรัชกาลที่ 4 ได้ทรงรับตำแหน่งเป็นอธิบดีการก่อสร้าง ว่าช่างสิปป์หมู่และช่างศิลาต่อจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ มาจนตลอดรัชกาล ดังนั้นงานสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และก่อสร้างทั้งหมดแหล่ตั้งแต่รัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะเวลาที่ทรงเป็นอธิบดีตลอดรัชกาลที่ 4 นั้น ส่วนใหญ่เป็นผลงานของกรมขุนราชสีห์ทั้งสิ้น งานสถาปัตยกรรมที่สำคัญๆ ซึ่งควรยกตัวอย่างได้แก่ พระบรมบรรพตหรือภูเขาทอง ซึ่งเจ้านายอื่นๆ ทรงเข้าร่วมช่วยด้วย นอกจากนี้ก็มีวัดปทุมคงคา พระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท ในพระนครศรีอยุธยา พระที่นั่งอนันตสมาคม (องค์เก่า) พระที่นั่งภูวดลทัศไนย  พระที่นั่งชัยชุมพล พระพุทธปรางค์ปราสาทในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หอกลองและกุฎิสงฆ์วัดปทุมคงคา เป็นต้น

จากคำบอกเล่าของคุณปู่ของผู้เขียน (ม.ร.ว. นารถ ชุมสาย) ก็พอทราบว่า กรมขุนราชสีห์ทรงเป็นศิลปินที่มีความคิดอ่านเป็นของพระองค์เอง มีพระนิสัยดุและไม่กลัวเกรงใคร เป็นที่รู้กันในสมัยนั้นว่า อย่าได้มีใครมารบกวนท่านหรือทำเสียงอึกทึกครึกโครมหน้าประตูวังเป็นอันขาด เพราะท่านจะรับสั่งให้ทหารออกไปจับผู้ทำเสียงนั้นมาลงโทษเฆี่ยนตีโดยไม่เกรงว่าผู้นั้นจะเป็นใคร

ความได้ทราบถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 4 ซึ่งก็ได้แต่เพียงทรงกำชับมิให้ผู้ใดไปยุ่งหน้าประตูวังท่าพระ เพราะถ้าเกิดเรื่องแล้ว จะทรงชำระความให้ไม่ได้ ดูเหมือนว่าบริเวณท่าช้างและหน้าวังนี้จะเป็นที่จอแจมีผู้คนมากมายตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว

อย่างไรก็ดี ครั้งหนึ่งมีคนเมามาทำเสียงเอะอะตรงหน้าประตูวัง ท่านจึงส่งทหารออกไปจับมาเฆี่ยนทันที คนเมานั้นก็ร้องว่าตนเป็นทหารของกรมพระราชวังบวรฯ จะจับมาเฆี่ยนมิได้ เมื่อทรงทราบเข้า ท่านก็เลยรับสั่งว่าเป็นทหารของวังหน้าก็ดีแล้ว ให้เฆี่ยนสองเท่าตัว ทหารนั้นก็เจ็บตัวกลับไปฟ้องพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งคงจะแค้นพระราชหฤทัย แต่ก็ไม่ได้ทรงทำอะไร

วันหนึ่งกรมขุนราชสีห์เสด็จประทับบนเสลี่ยง มีมหาดเล็กหามออกมาจากวังจะเข้าไปเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวในวังหลวง เมื่อกำลังจะเข้าประตูพระบรมมหาราชวัง ก็พอดีพบกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ซึ่งประทับอยู่บนเสลี่ยงและกำลังเสด็จมาจะเข้าไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเหมือนกัน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทอดพระเนตรเห็นกรมขุนราชสีห์เข้า ก็ทรงกระโดดลงจากเสลี่ยงตรงเข้าไปจะใช้พระบาท แต่กรมขุนราชสีห์คงรีบเสด็จหนี และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ก็ทรงไล่ตามท่านอยู่ตรงหน้าประตูพระบรมหาราชวัง จนทำให้เกิดโกลาหลกันพักใหญ่

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

เรื่องจะลงเอยอย่างไรไม่ทราบได้ แต่ก็ยังปรากฏว่าในกรมท่านยังทรงเป็นคนดุตลอดมา เพราะผู้แจกเบี้ยหวัดปลายรัชกาลที่ 4 (ม.ร.ว. หญิงพิณ) เล่าให้คุณย่า (ม.ร.ว. หญิงน้อม ชุมสาย ภาณุมาศ) เล่าให้ฟังว่า  ยังจำได้ว่าเมื่อเข้าเฝ้าท่านทีไรก็ถูกตวาดออกมาเรื่อย ผู้คนเกรงท่าน แม้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็คงจะมีอะไรที่ทรงเกรงอยู่บ้าง ทั้งที่ท่านเป็นที่ใกล้ชิดกับพระองค์ เพราะปรากฏว่าในปลายรัชสมัยได้ตรัสเรียกให้ท่านเข้าไปปฏิญาณพร้อมกับเจ้านายชั้นผู้ใหญ่หน้าพระแก้วมรกตว่าจะไม่แย่งราชบัลลังก์ เรื่องนี้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงบันทึกไว้ใน “พระราชประวัติรัชกาลที่ 5 ก่อนเสวยราชย์” โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสเล่าพระราชทาน ดังนี้

“ในปีเถาะ พ.ศ.2410 เมื่อพระราชทานเพลิงพระศพ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เลื่อนกรมเจ้านายเนื่องในเหตุที่พระมหาอุปราชสวรรคตตามราชประเพณีซึ่งเคยมีมา

“เจ้านายซึ่งโปรดให้เลื่อนกรมครั้งนั้นมี 4 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา เป็นกรมขุนบำราบปรปักษ์ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวรจักรธรานุภาพ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นราชสีหวิกรม สองพระองค์หลังนี้เป็นกรมขุนคงพระนามเดิม ส่วนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (เดิมทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นพิฆเนศวรสุระสังกาศ) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงเปลี่ยนพระนามกรมเป็นกรมขุนพินิตประชานาถ ด้วยทรงพระราชดำริว่ากรมมเหศวรศิววิลาศ กรมวิษณุนาถนิภาธร พระชันษาไม่ยั่งยืน จะเป็นด้วยพระนามพ้องกับนามของพระเป็นเจ้าในไสยศาสตร์ จึงทรงเปลี่ยนพระนามกรมหมื่นพิฆเนศวรสุระสังกาศ เป็นกรมขุนพินิตประชานาถ

“เวลาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งให้เลื่อนกรมเจ้านายครั้งนั้น เสด็จประทับที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อทรงสั่งแล้วมีพระราชดำรัสให้หาเจ้านายทั้ง 4 พระองค์นั้นเข้าไปเฝ้า ณ ที่รโหฐานตรงหน้าพระพุทธรูป แล้วมีพระราชดำรัสว่าจะทรงปฏิญาณเฉพาะพระพักตร์พระมหามณีรัตนปฎิมากรว่า เจ้านายซึ่งจะเป็นกรมขุน 4 พระองค์นี้ ถ้าใครได้ครองราชย์สมบัติต่อไปจะไม่ทรงรังเกียจเลย

“เจ้านาย 3 พระองค์ ต่างกราบทูลถวายปฏิญาณว่ามิได้ทรงคิดมักใหญ่ใฝ่สูง ตั้งพระหฤทัยแต่จะสนองพระเดชพระคุณช่วยทำนุบำรุงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอให้ได้รับราชสมบัติสืบไป”

ครั้งมีสุริยุปราคาหมดดวง กรมขุนราชสีหวิกรม พร้อมด้วยพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินไปเกาะจาน เมื่อเสด็จกลับมาก็ประชวรไข้และสิ้นพระชนม์ก่อนสวรรคตในรัชกาลที่ 4 เพียง 15 วัน ส่วนโอรสธิดาซึ่งประสูติในวังท่าพระ ก็ประทับในวังนั้นต่อมาจนถึงรัชกาลที่ 5 จึงย้ายออกไปอยู่ที่บ้านท่าช้าง คือบ้านของคุณตาท่าน (พระยาราชมนตรี) สำหรับหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ โอรสองค์สุดท้องซึ่งภายหลังได้เลื่อนขึ้นเป็นพระองค์เจ้า ถูกส่งไปศึกษาต่อที่สิงคโปร์และประเทศอังกฤษ เป็นคนไทยคนแรกที่ได้เข้ามหาวิทยาลัย (King’s College, London) และถูกแต่งตั้งให้เป็นราชทูตสยามคนแรกประจำราชสำนักอังกฤษและอีก 11 ประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

บทบาทสำคัญของเจ้านายพระองค์นี้ได้แก่การแก้สนธิสัญญาเบาริ่ง (Bowring) ที่กลุ่มประเทศตะวันตกได้เปรียบสยาม การนำสยามเข้าเป็นสมาชิกการไปรษณีย์โทรเลขสากล และจัดการวางสายโทรเลขกรุงเทพฯ-ไซ่ง่อน และกรุงเทพฯ สิงคโปร์ อีกทั้งได้ชักชวนข้าราชการสถานทูตกราบบังคมทูลถวายร่างรัฐธรรมนูญสยามฉบับแรก ใน ค.ศ. 1885

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ม.จ. หญิงดวงจิตร จิตรพงศ์ ทรงเล่าถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จปู่ในที่นี้ คือเสด็จปู่ของพวกหลานๆ

[2] จะเป็นตำหนักเดียวกันกับที่มีรูปถ่ายในหนังสือเล่มนี้ก็ไม่ทราบแน่

[3] มีรูปหม่อมน้อย และพระฉายาลักษณ์กรมขุนราชสีห์เป็นสีน้ำมัน ซึ่งผู้เขียนได้เก็บรักษาไว้


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 เมษายน 2562