ฤาอิทธิพลนักธุรกิจจีนในการเมืองไทยฆ่าไม่ตาย? จากต้นรัตนโกสินทร์ ถึงตัวละครคดียุบพรรค

ภาพประกอบเนื้อหา - (ซ้าย) ภาพถ่ายครอบครัวหมื่นปฎิพัทธภูวนารถ (ช้าง) อำแดงพลับ บุตรสาวทั้ง 2 คน บุตรเขยชื่อ "เจ๊กขัน" และหลานชาย ในสมัยรัชกาลที่ 5 สะท้อนการผสมกลมกลืนในสังคมไทย-จีน ภาพจากหนังสือ "ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย" / (ขวา) ทักษิณ ชินวัตร [ใช้เป็นภาพประกอบเนื้อหาเท่านั้น สารในเนื้อหาไม่ได้อธิบายหรือสื่อถึงบุคคลในภาพครอบครัว (ซ้าย) แบบเฉพาะเจาะจง]

เส้นทางการเมืองไทยผ่านเรื่องราวและเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย ปฏิเสธได้ยากว่า เหตุการณ์ที่สำคัญและส่งอิทธิพลต่อความเปลี่ยนแปลงในภายหลังมีจำนวนไม่น้อยที่เกี่ยวข้องกับชาวจีนตั้งแต่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์มาจนถึงยุคนักธุรกิจในช่วงโลกาภิวัฒน์ และช่วงสำคัญหลังวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 ที่มีนักธุรกิจจีนมาอยู่ในวงการการเมืองและกลายเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่ส่งอิทธิพลในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมายาวนานหลายทศวรรษ

กรุงศรีอยุธยา

นับตั้งแต่ชาวจีนอพยพสมัยปลายกรุงศรีอยุธยามาตั้งรกรากและเริ่มหลั่งไหลอย่างต่อเนื่องมาจนถึงช่วงต้นรัตนโกสินทร์ อัตราชาวจีนอพยพหลัง พ.ศ. 2360 ก็เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าจะมีการเดินทางไปมาระหว่างสยาม-จีน แต่โดยรวมแล้วมีบันทึกว่า ชาวจีนที่ยังคงตั้งถิ่นฐานในสยามนับรวมกันได้ไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน กลุ่มคนจีนในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ประกอบอาชีพทั้งรับจ้าง ทำเกษตร และลงทุนปลูกพืชเกษตร เมื่อเวลาผ่านไปมีกลุ่มชาวจีนที่เริ่มตั้งตัวได้ พืชผลการเกษตรของพวกเขายังกลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญในศูนย์กลางของประเทศด้วย

ทางการสยามตระหนักถึงความสำคัญเหล่านี้ดี และมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนชาวจีน อาทิ ยกเว้นเกณฑ์แรงงาน (เกรงว่าจะกระทบกับการค้า) และใช้ระบบเก็บภาษี “รัชชูปการ” ทุก 3 ปี ประกอบกับเก็บภาษีการค้า ซึ่งเป็นหนทางเพิ่มรายได้ให้รัฐอีกทาง เมื่อเวลาผ่านไปพวกเขาเริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวได้ สภาพสังคม และสถานะทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้วิถีชีวิตชาวจีนผูกโยงกับเศรษฐกิจตลาดมากกว่าระบบแรงงาน

คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร ผู้เขียนหนังสือ “ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย” บรรยายสภาพในช่วงทศวรรษ 2370 ว่า ในบรรดาชาวจีนเริ่มมีตระกูลเจ้าสัวกลุ่มหนึ่งรุ่งเรืองขึ้นมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการอุปถัมภ์จากราชสำนักสยาม โดยเริ่มจากเป็นพ่อค้า ช่วยราชวงศ์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในภารกิจด้านการพาณิชย์ จนต่อมาแปรสภาพเป็นนายภาษีอากร ได้รับสัมปทานเก็บภาษีที่มีมูลค่าสูง อาทิ รังนก ฝิ่น สุรา และการพนันในเมือง ผู้ที่ประสบความสำเร็จยังได้ตำแหน่งหัวหน้าชุมชนชาวจีน หรือตำแหน่ง “โชฎึก”

ตระกูลที่ประสบความสำเร็จไม่ได้แค่ก่อร่างสร้างตัวจากกิจการและโอกาสทางการค้า แต่บางตระกูลยังมักสร้างความสัมพันธ์ด้วยการถวายลูกสาวให้เป็นบาทบริจาริกาของกษัตริย์ หรือแต่งงานกับตระกูลใหญ่ หรือตระกูลพ่อค้าที่มีการค้าในจีน

บรรดาตระกูลที่ชื่อเสียงอย่างเช่น ต้นตระกูลไกรฤกษ์ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการเป็นพ่อค้าเรือสำเภาสมัยพระเจ้าตากสิน ขณะที่ตระกูลอื่น ๆ ก็สืบทอดธุรกิจการค้าและส่งต่อราชทินนามให้บุตรหลานอย่างกรณี ตระกูลโชติกะพุกกะณะ ในบรรดาตระกูลเหล่านี้ร่ำรวยมหาศาล นั่นทำให้กษัตริย์ทรงชักจูงเจ้าสัวให้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างขุดคลองเพื่อเดินเรือ ก่อสร้างและซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างทางศาสนาต่างๆ ไปจนถึงก่อสร้างโรงพยาบาลและโรงเรียนในยุคต่อมา

ต้นรัตนโกสินทร์ ถึง รัชกาลที่ 5

เรียกได้ว่า “เจ้าสัว” ยุคแรกเป็นตัวอย่างของผู้ที่ปรับตัวเข้ากับสังคมไทยได้จนประสบความสำเร็จและมั่งคั่ง คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร เชื่อว่า บริบทเหล่านี้เป็นต้นแบบให้จีนอพยพอื่นๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองต่างๆ นำมาเป็นตัวอย่างตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5

ในช่วงที่มีการปฏิรูปทางสังคมและเศรษฐกิจในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจหลายประการส่งผลต่อกิจการของชาวจีนตลอดทศวรรษ ระหว่าง พ.ศ. 2353-2453 วิลเลียม จี สกินเนอร์ นักวิชาการสาย “จีนวิทยา” ฉายภาพรวมการเปลี่ยนแปลงอันส่งผลต่อกลุ่มเอกชนจีนในแวดวงธุรกิจในเมืองช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ว่า การเดินเรือที่เคยขยายตัวเริ่มเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว ธุรกิจส่งออก-นำเข้าสินค้าของชาวเพิ่มมากขึ้น โรงสีข้าวที่เป็นเครื่องจักรของชาวจีนเพิ่มมากขึ้น แย่งกิจการของชาวตะวันตก ชาวจีนยังสามารถยึดการค้าปลีกไว้อย่างเหนียวแน่น และเข้าสู่วงการธุรกิจธนาคารสมัยใหม่

จุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกจุดคือจอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2481 และมีนโยบายชาตินิยม ขณะที่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ฐานะของชาวจีนในกระบวนการทางเศรษฐกิจกลุ่มสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยเริ่มเปลี่ยนแปลง อาทิ การจ้างกรรมกรจีนที่เพิ่มขึ้นในโรงสียังคงมีในกรุงเทพฯ เท่านั้น คนคุมเครื่องจักรที่เป็นผู้ไม่ชำนาญยังเป็นชาวไทยเป็นส่วนใหญ่

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 เป็นต้นมา ระบบชาตินิยมทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่เด่นชัดในการปกครอง วิลเลียม สกินเนอร์ อธิบายว่า หลังจากจอมพล ป. พิบูลสงครามกลับมาครองอำนาจไม่นานนัก การรณรงค์ทางเศรษฐกิจเพื่อคนไทยก็ฟื้นฟูและเดินหน้าต่อเนื่องมาจนถึงปี พ.ศ. 2495 และถึงจุดสูงสุด พ.ศ. 2496 และเริ่มจางลงในปี พ.ศ. 2498 ซึ่งส่งผลต่อการค้าและวิถีชีวิตของชาวจีนในไทย

พลังใหม่ พ.ศ. 2522-2531

ประเทศไทยผ่านช่วงการเมืองเข้มข้นไปอีกระยะหนึ่ง กระทั่งในพ.ศ. 2522 อันเป็นช่วงที่ระบบรัฐสภาเป็นตัวแทนประชาชนได้รับฟื้นฟูกลับมาใหม่ และนั่นเป็นช่วงที่นักธุรกิจก็กระโจนมาเล่นการเมือง คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร บรรยายว่า ฝ่ายธุรกิจเข้าสู่สภาได้ไม่ยากนักสืบเนื่องมาจากก่อนหน้านี้ซึ่งเป็นช่วงที่กองทัพกีดกันขบวนการของชาวนาและคนงาน ขณะที่ในช่วงระหว่างพ.ศ. 2522-2531 สถิติสัดส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากฟากนักธุรกิจช่วงหนึ่งเพิ่มขึ้นจาก 1 ใน 3 เป็น 2 ใน 3

พรรคการเมืองที่โดดเด่นในช่วงเวลานั้นมี 3 พรรค คือ กิจสังคม, ชาติไทย และประชาธิปัตย์ บรรยากาศการเมืองยุคนั้นสะท้อนคตินิยมในยุคสมัย หัวหน้าพรรคยุคนั้นล้วนมียศศักดิ์ อาทิ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ของพรรคกิจสังคม, ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ของพรรคประชาธิปัตย์ และพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ของพรรคชาติไทย โดยมีแรงขับและการสนับสนุนจากฟากธุรกิจในกรุงเทพฯ ภายในระยะเวลา 10 ปี นักธุรกิจท้องถิ่นต่างร่ำรวยขึ้นจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในหัวเมือง และเริ่มตบเท้าเข้ามาเป็นส.ส.ในรัฐสภา ลงเอยด้วยการเข้ามาเป็นแรงขับในพรรคมีชื่อเสียง

ในช่วงทศวรรษ 2500 การพัฒนา และขยายตัวทางโครงสร้างพื้นฐานจากหลายบริบทเป็นผลให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นเริ่มเติบโต นักธุรกิจรอบนอกศูนย์กลางประเทศที่ประสบความสำเร็จบางคนเป็นขุนนางเก่าหรือตระกูลข้าราชการ และอีกส่วนหนึ่งเป็นลูกหลานของชาวจีนอพยพรุ่น 2 หรือรุ่น 3 ซึ่งผู้เขียนหนังสือ “ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย” มองว่า นักธุรกิจที่รุ่งขึ้นมากลุ่มนี้ล้วนร่ำรวยและมีอิทธิพลสูง (กฎหมายหรือข้อบังคับในท้องถิ่นไม่ได้บังคับอย่างเคร่งครัด) นานวันเข้าก็ถูกเรียกว่า “ผู้มีอิทธิพล”

เมื่อมาถึงการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2531 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทยขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงนี้เองเป็นช่วงที่คณะรัฐมนตรีของพลเอกชาติชาย พยายามลดบทบาททหาร ซึ่งคริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร มองว่า เป็นความพยายามของฝ่ายพรรคการเมืองในการย้ายอำนาจจากฟากข้าราชการพลเรือนและทหาร มาสู่คณะรัฐมนตรีและนักธุรกิจ โดยวลีที่เป็นอมตะคือ “เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า”

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายข้าราชการทหารในกองทัพ ก็มีท่าทีไม่พอใจที่กร่อนเซาะอำนาจ ขณะเดียวกันปัญหาการคอร์รัปชั่นในรัฐบาลก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คณะทหารกลุ่มใหม่เริ่มได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชน

ธนกิจการเมือง

ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในช่วงนั้นนำมาสู่นิยามว่า “ธนกิจการเมือง” คริส และผาสุก อธิบายความหมายของคำนี้ว่า “เป็นการแสวงหาเงินเพื่อเพิ่มอำนาจทางการเมือง ซึ่งอาจเป็นการซื้อเสียง ซื้อส.ส. ฯลฯ โดยเบียดบังงบประมาณ หรือใช้ตำแหน่งหาเงินโดยมิชอบ” เป็นชนวนที่ทำให้ชนชั้นกลางไม่พอใจ เมื่อถึงจุดสุกงอมที่ประชาชนไม่ไว้ใจรัฐบาล สถานการณ์เข้าทางฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับทหาร และกลุ่มทหารใหม่จนวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 เกิดรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเอกชาติชาย

ในช่วง 1-2 ปีหลังจากนั้นเป็นอีกหนึ่งห้วงวิกฤตการเมืองไทย โดยในช่วงที่ไม่มีรัฐสภา รัฐบาลใหม่ที่มีกลุ่มเทคโนแครตเป็นคณะรัฐมนตรี เริ่ม “ปฏิรูปเศรษฐกิจ” ในแนวทางเสรีนิยม ในระยะแรกย่อมเป็นที่นิยมของนักธุรกิจและชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ

ช่วงเวลานั้นเองคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) อนุมัติโครงการดาวเทียมของทักษิณ ชินวัตร นักธุรกิจดาวรุ่งเชื้อสายจีน น่าเสียดายที่บรรยากาศการเมืองเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในช่วง พฤษภาคม 2535 สังคมทั่วไปยังไม่ทันตั้งตัวได้ก็ตามมาด้วยวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

รัฐบาลของนายชวน หลีกภัย แต่งตั้งพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก แต่ความคาดหวังที่จะได้เห็นปฏิรูปกองทัพก็ไม่เป็นไปตามคาด แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงจากกระแสโลกาภิวัฒน์ที่มีเคลื่อนย้ายแรงงาน อันตามมาด้วยปัญหายาเสพติด ทหารที่ดูแลชายแดนกลายเป็นสถานภาพที่ใกล้เคียงกับสถานภาพตามความคาดหวังอย่าง “ทหารอาชีพ” และเหมือนกับว่ากองทัพจะไม่ได้เข้ามามีบทบาทในทางการเมือง แต่กองทัพยังคงยืนยันสถานะ “ผู้ธำรงความมั่นคงของชาติ” ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นแนวคิดที่ฝังรากในสังคมทหาร แต่อย่างน้อย กองทัพที่ถอยออกมาจากการเมืองก็เปิดโอกาสให้ฝ่ายธุรกิจเอกชนและนักเคลื่อนไหวเข้าไปทดแทน

หลังจากผ่านการถกเถียงกันเชิงนโยบายในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ประเพณีรัฐเข้มแข็งถูกหยิบกลับมาทำให้เข้มแข็งอีกครั้ง ซึ่งคริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร มองว่า ครั้งนี้ได้รับแรงหนุนจากนักธุรกิจกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยากให้อำนาจรัฐเข้ามาช่วยปกป้องจากกระแสโลกาภิวัฒน์และการเมืองมวลชนแบบประชาธิปไตย

ไทยรักไทย และทักษิณ ชินวัตร

ในบรรดากลุ่มนักธุรกิจ(ชาวจีน)ช่วงเวลานั้นมีชื่อทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่ก่อนวิกฤตขึ้นมาตั้งพรรคไทยรักไทย เขาลงเล่นการเมืองโดยได้รับแรงสนับสนุนจากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีลมหายใจเหลือรอดจากวิกฤติเศรษฐกิจ ด้วยบรรยากาศหลังจากผ่านวิกฤตทางเศรษฐกิจ และสภาพของธุรกิจที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐ ทักษิณ ชินวัตร ใช้โอกาสนี้เสนอตัวมาช่วยธุรกิจฟื้นกลับมา ยิ่งได้แรงหนุนจากระดับรากหญ้า ประกอบกับยุทธศาสตร์ใหม่นั้นทำให้พรรคประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เริ่มส่งผลกระทบต่อความนิยมและเป็นคำถามในรัฐบาลนี้คือ สงครามปราบยาเสพติดที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ขณะที่ประชาชนนอกเหนือจากในกรุงเทพฯ ยังนิยมในตัวผู้นำรัฐบาลนี้อย่างมาก เรียกได้ว่าสูงกว่านักการเมืองใดๆ ที่เคยมีมาในระบบการเลือกตั้ง แต่ความนิยมในกลุ่มชนชั้นนำในกรุงเทพฯ กลับลดลง เนื่องจากพื้นเพทางธุรกิจ และความเป็นนายกฯที่มักถูกมองว่าใช้ส่งเสริมธุรกิจส่วนตัว เมื่อถูกวิจารณ์ก็เข้าควบคุมสื่อ อีกส่วนหนึ่งคือการลดบทบาทองค์กรอิสระเพื่อ “ความเมืองนิ่ง”

แต่ในการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2548 พรรคไทยรักไทย ก็ยังชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 67 ในช่วงนี้ทักษิณ โอนอำนาจจากข้าราชการมาอยู่ที่นักการเมือง ก่อนหน้านี้พลเอกชาติชาย เคยมาในแนวทางเดียวกันและลงเอยด้วยการรัฐประหาร พ.ศ. 2534 เมื่อปัญหาเรื่องการแต่งตั้งญาติขึ้นตำแหน่งสำคัญในกองทัพ การยกเลิกรายการของผู้ที่วิจารณ์ทักษิณ อย่างรุนแรง และการขายหุ้นบริษัทโดยไม่เสียภาษีนำมาสู่การชุมนุมต่อต้านโดยกลุ่มของนายสนธิ ลิ้มทองกุล รวมกับนักเคลื่อนไหวอย่างพลตรี จำลอง ศรีเมือง และนำมาสู่การยุบสภา

การเลือกตั้ง พ.ศ. 2549 ถูกตัดสินให้เป็นโมฆะ แต่ก่อนที่จะได้เลือกตั้งอีกครั้ง คืนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เกิดการรัฐประหารขึ้น ภายหลังศาลตัดสินให้ยุบพรรคไทยรักไทยเพราะทำผิดกติกาการเลือกตั้ง ในพ.ศ. 2549 ตามมาด้วยบทลงโทษผู้บริหารพรรค 111 คน และยึดทรัพย์สินทักษิณ และครอบครัวชินวัตร เป็นมูลค่า 9 หมื่นล้านบาท บางคนในครอบครัวยังถูกดำเนินคดีข้อหาคอร์รัปชั่น

แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า การยุบพรรคครั้งนั้นอันเป็นอีกหนึ่งความพยายามควบคุมกลุ่มที่สนับสนุนทักษิณนั้นไม่เป็นผลสำเร็จ หลังจากนั้นไม่นานพรรคการเมืองของฝ่ายทักษิณ ก็แปรรูปออกเป็นพรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย และพรรคเครือข่ายในการเลือกตั้งครั้งต่อ ๆ มา โดยเฉพาะกระแสในปัจจุบันที่มีกลุ่มนายทุนเชื้อสายจีนซึ่งก่อร่างสร้างตัวจนประสบความสำเร็จในรุ่นก่อนหน้าและรุ่นลูกเริ่มเข้ามาโลดแล่นในวงการการเมืองในพ.ศ. 2561-2562 ดังที่ได้เห็นกันในปรากฏการณ์ต่าง ๆ และนักวิเคราะห์บางรายมองว่า นายทุนเชื้อสายจีนในยุคนี้ก็ได้รับกระแสนิยมไม่แพ้ในช่วงที่ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาเล่นการเมือง แต่ดูเหมือนว่าห้วงเวลาที่เข้ามาช่วงนี้ดันเป็นช่วงการเมืองไม่ปกติจำต้องเผชิญอุปสรรคซึ่งถาโถมเข้ามา ตกเป็นเป้าและพัวพันกับคดีฟ้องร้องอันทยอยเข้ามาก่อนหัวโค้งเลือกตั้งต้น พ.ศ. 2562

จากเส้นทางพลังของพ่อค้าจีน นักธุรกิจนายทุนเชื้อสายจีนใน มาจนถึงพลังของนักธุรกิจเชื้อสายจีนที่เข้ามามีอิทธิพลในทางการเมืองไทยตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา มาจนถึงรัตนโกสินทร์ น่าจะสะท้อนภาพบทบาทและอิทธิพลของกลุ่มคนเชื้อสายจีนในไทย ซึ่งดูเหมือนว่า ในรอบทศวรรษที่ผ่านมานี้ นักธุรกิจจะเป็นกลุ่มคนเชื้อสายจีนที่มีอิทธิพลไม่แพ้ในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่พ่อค้าจีนหรือบุคคลสำคัญจะเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับกลุ่มอำนาจทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม การบอกเล่าเส้นทางของนักธุรกิจหรือนายทุนเชื้อสายจีนในทางการเมืองไทยในอนาคตคงยากที่จะบอกว่าจะเปลี่ยนแปลงหรือไปจบลงในเส้นทางไหน แต่อย่างน้อยหลายคนคงเชื่อว่า หนทางยังอีกยาวไกลนัก 


อ้างอิง:

เบเคอร์, คริส และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร. ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557

สกินเนอร์, จี วิลเลียม. สังคมจีนในประเทศไทย ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์. สมุทรปราการ : มูลนิธิโตโยต้า, 2548


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มีนาคม 2562