ผู้เขียน | อดิเทพ พันธ์ทอง |
---|---|
เผยแพร่ |
เครื่องแบบนาซีเป็นเครื่องแบบที่ดูภูมิฐานและเน้นสัดส่วนร่างกายของผู้สวมใส่ สะท้อนอุดมคติของนาซีที่พยายามโฆษณาชวนเชื่อว่า ร่างกายของชาวอารยันจะต้องมีลักษณะกำยำแข็งแรงไม่เหมือนพวกยิวศัตรูตัวฉกาจ (ของนาซี) ที่ถูกวาดภาพว่าเป็นจอมตะกละพุ่งพลุ้ย
ความเท่ และความสมบูรณ์แบบของมัน ทำให้เครื่องแบบนาซีน่าหลงใหลสำหรับใครหลายๆ คน หากไม่คำนึงถึงประวัติศาสตร์ที่นาซีกระทำต่อมนุษยชาติ (บางคนอ้างว่าความเท่ของเครื่องแบบนาซีมาจากการที่ Hugo Boss เจ้าของเสื้อผ้ายี่ห้อดังมีส่วนในการออกแบบเครื่องแบบนาซีด้วย แต่ความจริงเขาเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตเท่านั้น ถึงอย่างนั้น Boss ก็ถือว่าลืมตาอ้าปากได้ก็ด้วยความช่วยเหลือของนาซี และเขาเองก็เป็นสมาชิกพรรคนาซีด้วย)
อย่างไรก็ดี สังคมกระแสหลักรับไม่ได้กับการแสดงความชื่นชมความเป็นนาซี และยังต่อต้านการผลิตซ้ำสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เคยถูกใช้โดยพวกนาซี ทั้งเครื่องหมายสวัสดิกะซึ่งเดิมทีเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกใช้ในหลายศาสนา รวมถึง “เครื่องแบบ” ที่นักเรียน นักศึกษาไทยเคยนำมาสวมใส่ในการประกอบกิจกรรมต่างๆ จนตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคม
แต่ความคลั่งไคล้เครื่องแบบนาซีไม่ได้เพิ่งจะมีในบ้านเรา ในต่างประเทศมีกลุ่มที่ชื่นชมสัญลักษณ์นาซีมานาน และมีอยู่มากมายหลายกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มที่นิยมอุดมการณ์นาซีโดยแท้จริง หรือกลุ่มที่ไม่ได้ใส่ใจความเป็นนาซีแต่ใช้สัญลักษณ์นาซีเพื่อวัตถุประสงค์ประการอื่น เช่นกลุ่มพังก์บางกลุ่มซึ่งอาจไม่ได้ชื่นชมความเป็นนาซี แต่ต้องการใช้สัญลักษณ์นาซีเพื่อยั่วยุอารมณ์ทางสังคม
วงดังอย่าง Sex Pistols คือตัวอย่างและน่าจะเรียกได้ว่าเป็นผู้ที่สร้างกระแสความนิยมในสัญลักษณ์นาซีขึ้น แม้ว่า Sid Vicious สมาชิกคนสำคัญที่มักสวมเสื้อลายสวัสดิกะจะไม่ใช่นาซีและแฟนสาวของเขาก็เป็นยิวด้วยก็ตาม
(ในบรรดาชาวพังก์ยังมีกลุ่มพังก์ผิวขาว คลั่งเชื้อชาติ และแสดงตัวตนบ่งบอกความเป็นนาซีอย่างชัดแจ้ง เรียกกันว่าเป็น “นาซีพังก์” ถูกมองว่าเป็นพวกวัยรุ่นผิวขาวที่ผิดหวังกับสังคม และเกลียดชังคนต่างชาติที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุทำให้สังคมของคนผิวขาวตกต่ำ)
นอกจากนี้เครื่องแบบนาซียังเป็นที่นิยมในบรรดาชาว S&M (Sadomasochism) หรือกลุ่มซาดิสต์และมาโซคิสต์ (ซาดิสต์หมายถึงผู้ที่มีความสุขจากการกระทำให้ผู้อื่นได้รับความเจ็บปวด หรือถูกเหยียดหยาม ส่วนมาโซคิสต์ก็กลับกันคือเป็นพวกที่มีความสุขที่ถูกทรมานหรือถูกเหยียดหยาม) และในบรรดากลุ่มคน “คลั่งเครื่องแบบ” (ผู้ที่เกิดอารมณ์ทางเพศเมื่อถูกปลุกเร้าด้วยเครื่องแบบบางอย่างเช่น ชุดนักเรียน หรือชุดพยาบาล) ก็มีตลาดเฉพาะสำหรับผู้ที่นิยมในเครื่องแบบนาซีด้วย
ทำไมชาว S&M จึงชอบเครื่องแบบนาซี? นั่นคงเป็นเพราะ นาซีกับยิวในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นภาพสะท้อนความเป็นผู้กระทำและผู้ถูกกระทำได้อย่างสุดขั้ว ภาพยนตร์เรื่อง Night Porter (1974) คือตัวอย่างความสัมพันธ์แบบ S&M ที่เกี่ยวเนื่องกับนาซีและเหยื่อชาวยิว เมื่อเหยื่อผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันได้พัฒนาความสัมพันธ์สวาทแบบ S&M กับเจ้าหน้าที่นาซีที่เคยทั้งทรมานและปกป้องเธอ และทั้งคู่ยังได้สานสัมพันธ์ดังกล่าวอีกหลังสงครามจบลงแล้วเมื่อเขาทั้งสองได้มีโอกาสพบกันโดยบังเอิญอีกครั้ง
ฉากที่ Charlotte Rampling นักแสดงฝรั่งเศส เปลือยอก สวมหมวกนาซี ร้องเพลงให้ผู้คุมค่ายกักกันฟัง กลายเป็นฉากคลาสสิคที่ถูกผลิตซ้ำหลายครั้งโดยศิลปินยุคหลัง ส่วน Ilsa, She Wolf of the SS (1975) ก็เป็นเหมือนภาพกลับของความสัมพันธ์ เมื่อ Ilsa คือผู้คุมกฎสาวนาซีที่ต้องการพิสูจน์ว่า ผู้หญิงแกร่งไม่แพ้ผู้ชาย และเธอยังมีแรงขับทางเพศสูง เธอจึงมักข่มขืนนักโทษชายฝ่ายสัมพันธมิตร และยังเคยทำโทษเชลยศึกด้วยการ “ตอน” หลังเหยื่อของเธอ “เสร็จเร็ว”
ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องจึงกลายเป็นเหมือนต้นแบบของชาว S&M ในการ “role-play” หรือการสวมบทบาทภายใต้บรรยากาศแบบนาซี ซึ่งคนดังในวงการมอเตอร์สปอร์ตที่มีพ่อเป็นฟาสซิสต์อย่าง Max Mosley ก็เคยถูกกล่าวหาว่า เล่นบท S&M ในธีมนาซีมาแล้ว แต่เขาปฏิเสธว่า การออกคำสั่งด้วยภาษาเยอมัน เสื้อคลุม หมวก และรองเท้าบูตแบบทหารที่ใช้ในการ Role Play กับบรรดาโสเภณีที่เขาจ้างมา มิได้เกี่ยวข้องกับนาซีแต่อย่างใด (เรื่องนี้เป็นคดีดังเพราะสื่ออังกฤษไปแอบตั้งกล้องถ่ายวิดีโอมาแฉ ซึ่งศาลตัดสินให้ Mosley ชนะ เพราะถือว่าสื่ออังกฤษไปรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของเขา)
เห็นได้ว่า ความชื่นชมใน “เครื่องแบบนาซี” มีความหลากหลายมาก บ้างก็ใช้เครื่องแบบนาซีเพียงเพื่อกวนประสาทผู้ใหญ่ บ้างก็เป็นผู้ที่คลั่งไคล้เพราะความรู้สึกหลงใหลเฉพาะตัวในเชิงการมณ์ มิได้ชื่นชมอุดมการณ์นาซีโดยตรง กลุ่มโซเชียลบนโลกอินเตอร์เน็ตที่ชื่อ Nazi Uniform Fetish and Roleplaying ก็ประกาศตัวชัดเจนว่าเป็นกลุ่มที่ให้ความสนใจที่ความรู้สึกทางเพศต่อเครื่องแบบนาซี และไม่ยอมรับอุดมการณ์ความเชื่อที่อยู่บนฐานของความเกลียดชังทุกชนิด
ที่น่าสนใจก็คือในประเทศประชาธิปไตยทั้งตะวันตกและตะวันออกต่างรับไม่ได้กับความชื่นชมในเครื่องแบบนาซีของคนเหล่านี้ ซึ่งรวมถึงกรณีนักเรียน-นักศึกษาไทย [ที่น่าจะใส่เครื่องแบบนาซีเพราะความโก้เก๋มากกว่าชื่นชมอุดมการณ์เชิดชูชนเผ่าอารยัน (หรือเผ่าไทย?)] ทำให้มีหลายฝ่ายออกมาโจมตีคนกลุ่มนี้อย่างหนัก โดยเฉพาะในเมืองไทยที่ดูเหมือนจะเดือดร้อนยิ่งกว่าฝรั่งถึงขนาดที่องค์กรการศึกษาออกมาใช้คำว่าไร้สำนึก ไร้ความรับผิดชอบ และมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนและลงโทษทางวินัยต่อผู้เกี่ยวข้องด้วย เท่ากับไม่ยอมรับในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของนักศึกษา เพราะมีการกำหนดบทลงโทษต่อผู้เกี่ยวข้อง ขณะที่ในต่างประเทศแม้ส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วยกับการแสดงความชื่นชมต่อสัญลักษณ์นาซี แต่ก็ไม่มีการปิดกั้นการแสดงออกโดยสิ้นเชิง (มียกเว้นไม่กี่ประเทศที่มีกฎหมายห้ามเช่น เยอรมนี และออสเตรีย เป็นต้น)
หรือจะพูดง่ายๆ ก็คือ หากพิจารณาตามหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแล้ว แม้ว่าการกระทำของนักศึกษาในกรณีนี้จะไม่เหมาะสม สาธารณชนย่อมมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ แต่ไม่ควรไปไกลถึงขั้นปิดกั้น และมีการลงโทษในการแสดงความเห็นนั้น
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผบแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กันยายน 2559