เผยแพร่ |
---|
นักเรียนมหาดเล็กหลวง ที่กรมราชเลขานุการ กับบรรดาหนังสือราชการที่ต้องนำกราบบังคมทูล
เรื่องนี้คัดมาจากส่วนหนึ่งของ “มหาดเล็กรายงาน เส้นทางชีวิตหลวงสุนทรนุรักษ์ (กระจ่าง วรรณโกวิท)” เดิมชื่อ “ชั่วชีวิต หลวงสุนทร” ภายหลังสำนักพิมพ์ต้นฉบับ นำมาพิมพ์ใหม่ พ.ศ. 2553 จึงเปลี่ยนชื่อเป็นมหาดเล็กรายงานฯ หนังสือนี้บันทึกโดยหลวงสุนทรนุรักษ์ (พ.ศ.2433-2504) ท่านเป็นบุตรของพระยานรราชจำนง (มา วรรณโกวิท) กับ พระนมอิน (อิน ศิริสัมพันธ์)
บันทึกตอนที่นำมาเสนอนี้มีชื่อตอนว่า “นักเรียนมหาดเล็กหลวง” พิมพ์อยู่ในหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์ตรีหลวงสุนทรนุรักษ์ (กระจ่าง วรรณโกวิท) ณ ฌาปนกิจสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พุทธศักราช 2505 (โดยมีการจัดวรรคย่อหน้าใหม่เพื่อสะดวกในการอ่าน)
เมื่อจบ ป. 4 จากวัดมหาธาตุแล้วไปเข้าเรียนโรงเรียนมัธยมสวนกุหลาบ เวลานั้นเป็นตึก 2 หลังอยู่ที่วังหน้าริมคลองหลอด เดี๋ยวนี้ใช้เป็นโรงเรียนศิลปากร [1] ข้าพเจ้าชอบเล่นฟุตบอลมากตั้งแต่ยังเรียนอยู่วัดมหาธาตุ กระทั่งมาเรียนมัธยม ครั้งหนึ่งล้มแขนเดาะเข้าเฝือกอยู่หลายวัน แต่ไม่เคยเข้าทีมแข่งขันชิงโล่ห์กับเขาสักคราว
การแต่งตัวนักเรียนในสมัยนั้นนุ่งกางเกงรัดเข่า เสื้อนอกราชปะแตน หมวกฟางผ้าพันสีเหลืองสลับเลือดหมูเป็นเครื่องหมายชั้นมัธยม พ.ศ. 2449 เรียนจบจากมัธยมสามแล้วได้เข้าเรียนที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงในพระบรมมหาราชวัง ตั้งอยู่ข้างประตูพิมานไชยศรี ตรงข้ามศาลาสหทัยสมาคม พระยาศรีวรวงศ์เมื่อยังเป็นเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ [2] เป็นผู้อํานวยการ
นักเรียนมหาดเล็กมีเครื่องแบบกางเกงขาวขายาว เสื้อนอกขาวแบบราชการ มีดุมแถบตราพระเกี้ยว หมวกแก๊ปตราพระเกี้ยวติดหน้าผาก มีอินทรธนูรูปสามเหลี่ยม หน้าจั่วสีแดงกลางทาบแถบทองเรียกกันว่าบ่าขีด ทางโรงเรียนตัดให้ข้าพเจ้า 6 สํารับ การเรียนโรงเรียนนี้ เรียนการมหาดเล็ก ราชาศัพท์ ตั้งเครื่องราชูปโภค ถวายอยู่งานพัด เชิญโต๊ะอาหาร พระยาไชยนันทน์พิพัทธพงศ์ [3] เป็นครูโดยเฉพาะ นอกนั้นก็มีการเรียนการปกครองวิชากฎหมายเพื่อออกรับราชการหัวเมืองในกระทรวงมหาดไทย
ข้าพเจ้าได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กหลวงในรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2450 มีเครื่องแต่งกายอย่างมหาดเล็กวิเศษทุกประการ เครื่องเต็มยศมีกางเกงสักหลาดสีดําแถบทอง เสื้อสักหลาดดํา ข้อมือและคอกํามะหยี สีแดง ปักดิ้นมีรัดปะคดสีเหลืองสลับสีเลือดหมู หมวกยอด มีกระบี่ อินทรธนู สามเหลี่ยมหน้าจั่ว ปักอักษรจปร [4] เรียกว่ามหาดเล็กนักเรียน
ข้าพเจ้าได้ไปตัดที่ห้างยอนแซมสัน (บาโรบราวน์เดี๋ยวนี้) ทางโรงเรียนเป็นผู้ออกเงินให้ ในระหว่างนี้มักจะต้องไปช่วยราชการกรมมหาดเล็กเสมอ ๆ เช่น มีการเลี้ยงโต๊ะในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ต้องแต่งยูนิฟอร์มบ่อย คือกางเกงกํามะหยี่สีกรมท่ารัดเข่า เชิ้ตปกแข็ง เสื้อนอกเปิดอก ถุงเท้าแพรขาว รองเท้า คัดชูหนัง ผูกคอหูกระต่ายสีดํา ข้าพเจ้าเคยไปช่วยในการนี้หลายครั้ง
อนึ่ง ทางโรงเรียนจัดให้มีเวรผลัดเปลี่ยนไปเฝ้าเวลาเสด็จออกพระที่นั่งอภิเศกดุสิต ในเวลาค่ำ พวกนักเรียนก็ไปปะปนอยู่กับมหาดเล็กหลังพระที่นั่งและรุ่งขึ้น ต้องทํารายงานเสนอทางโรงเรียนว่าเสด็จออกเวลาใด มีพระกระแสรับสั่งกระไรบ้าง มีเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ใครไปเฝ้าบ้าง ทั้งนี้ทําให้รู้จักเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ ถ้าไม่รู้จักก็ต้องถามพวกมหาดเล็ก และในการพระราชพิธีที่พระราชทาน (เหรียญราชอิสริยาภรณ์) มหาดเล็กนักเรียนก็มีศักดิ์อย่างมหาดเล็กวิเศษได้รับพระราชทาน เมื่อ พ.ศ. 2450 ข้าพเจ้าได้รับพระราชทานเหรียญรัชมงคล และใน พ.ศ. 2451 ได้รับพระราชทานเหรียญรัชมังคลาภิเษกด้วย
กลางปี พ.ศ. 2451 ข้าพเจ้าได้รับราชการในกรมราชเลขานุการ กรมนี้เป็นกรมอิสระตั้งอยู่บนพระปรัศว์ซ้ายของพระที่นั่งจักรีมหาประสาท [5] เมื่อได้ทรงสร้างสร้างพระราชวังดุสิตและประทับอยู่ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน จึงได้แยกมาตั้งที่ทํางานที่ท้ายพระที่นั่งอภิเศกดุสิต
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์ ทรงเป็นราชเลขานุการ เทียบเท่าเสนาบดีเจ้ากระทรวง มีผู้ช่วยราชเลขาอีก 3 คน บิดาข้าพเจ้าเป็นผู้ช่วยด้วยคนหนึ่ง เจ้าหน้าที่ต้องมีอยู่ประจําตลอด 24 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็นเวร เวรเช้า เวรบ่าย เวรกลางคืน และอยู่นอนเวรอีก ข้าพเจ้าเป็นเสมียนตรีเงินเดือน 25 บาท ได้ค่ารถอีกเดือนละ 2 บาท 50 สตางค์ อยู่เวรบ่ายคือไปทํางานเวลาบ่าย 15 น. กลับ 23 น. ราชการกรมนี้เป็นที่รามบรรดาราชการทุกกระทรวงกรม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เทียบเท่ากับเป็นนายกรัฐมนตรี มีพระราชภาระที่ต้องพระราชวินิจฉัยบรรดาหนังสือราชการที่มีมาถึง ต้องนําขึ้นกราบบังคมทูลทั้งสิ้น หนังสือที่มีมาจากเจ้ากระทรวงทบวงกรม ต่าง ๆ นั้นเจ้าหน้าที่จะเปิดซอง แล้วย่อข้อความในหนังสือนั้นบนหัวซองด้วย ดินสอ เว้นแต่หนังสือซองเล็กหรือเฉพาะก็ส่งขึ้นทูลเกล้าฯ ทั้งซอง
มีเจ้าหน้าที่อีกพวกหนึ่งจะนําข้อความที่ย่อหัวซองไปพิมพ์ในกระดาษพิมพ์เป็นกระทรวง เว้นหน้ากระดาษประมาณ 4 นิ้ว (ฟุตโน้ต) ส่งขึ้นทูลเกล้าถวาย เมื่อพระราชทานกลับออกมา เรื่องใดมีพระราชกระแสอย่างไรก็ทรงมาในฟุตโน้ตสั้น ๆ เช่น ของพระราชทานอะไรต่าง ๆ ก็จะทรงมาว่าให้ อนุ นอกจากนั้นก็จะมีพระราชกระแสในราชการบางอย่างทรงร่างมา เจ้าหน้าที่ก็ตัดเอาพระราชกระแสไปปิดในต้นฉบับหนังสือนั้น ๆ
แล้วทําตอบไปยังเจ้ากระทรวงที่มีมา ต้นฉบับหนังสือเหล่านี้รวบรวมกลัดเป็นปีกไว้ส่วนหนึ่งเรียกว่าหนังสือรายวัน เจ้านายผู้ใหญ่ตลอดจนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังทรงเป็นสมเด็จ ยุพราชก็เสด็จมาทรงพระอักษรที่กรมนี้ จะทรงเรียกหนังสือรายวันไปขอทอดพระเนตรเพื่อทรงทราบว่าในวันนั้นมีราชการอันใดบ้าง ข้าพเจ้าได้เคยนําหนังสือรายวันทูลเกล้าถวายพระองค์ท่านเสมอ
การส่งหนังสือออกไปจากกรมนี้แบ่งออกเป็น 2 อย่าง เรียกว่า ร. อย่างหนึ่ง เป็นพระราชหัตถ์ของพระเจ้าอยู่หัวจะต้องเขียนกระดาษตราไม่มีบรรทัดด้วยหมึกก๊อบปี้ อีกอย่างหนึ่งเรียก ส. คือเป็นหนังสือของในกรมพระสมมตฯ ใช้พิมพ์ดีด หนังสือทั้ง 2 อย่างนี้ เมื่อได้ลงพระปรมาภิไธยและทรงเซ็นแล้ว เจ้าหน้าที่ต้องนําไปอัดในสมุดก๊อบปี้เป็นสําเนาไว้
ข้าพเจ้าเป็นเสมียนตรี โดยหน้าที่ก็เพียงพิมพ์ดีดอัดก๊อบปี้หนังสือ อย่างดีก็เขียนพระราชหัตถ์บ้าง แต่ข้าพเจ้าไม่ชอบการพิมพ์ดีด ไม่เคยแตะต้องเครื่องพิมพ์จนครั้งเดียว การย่อหัวซองและร่างหนังสือเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ชั้นปลัดกรม ผู้ช่วยเหลือเจ้ากรมเป็นผู้ตรวจ วันหนึ่งข้าพเจ้าเกิดอวดดีพอหนังสือออกมาก็เอาไปร่างใส่ซองไว้หลายฉบับ การร่างใช้ดินสอ มีชื่อผู้ร่างและผู้ตรวจ
พระยาศรีวรวงศ์เห็นชื่อข้าพเจ้าเป็นผู้ร่าง ก็ทักว่าทําไมให้เด็กร่าง เมื่อตรวจแล้วก็ชมว่าร่างดีใช้ได้ ข้าพเจ้าก็เป็นคนร่างหนังสือ ย่อหัวซองเสมอมา หน้าที่ของข้าพเจ้าอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อเสด็จในกรมพระสมมตฯ มาถึงที่ทํางานในราว 12 น. โต๊ะประทับของท่านอยู่อีกห้องหนึ่งตรงกันกับที่ห้องทํางาน เมื่อทรงถอดฉลองพระองค์ออกคลุมเก้าอี้ประทับ จะทรงเดินเข้ามาในห้องทํางาน ทรงเรียกเจ้าตุ๊เบา ๆ เป็นอันว่าข้าพเจ้าต้องไปนั่งเขียนตามคําสั่งของท่านที่ข้างหน้าโต๊ะของท่านเป็นประจํา พระองค์ท่านจะคอยเอาดินสอส่งให้เขียน
วันหนึ่ง หนังสือออกมาในตอนบ่าย ข้าพเจ้ามัวดูทหารมหาดเล็กเปลี่ยนการ์ดมีเดินธงและเพลงมหาไชยเพลินไป แล้วจึงได้ไขเปิดกระเป๋าหนังสือ เห็นมีพระราชหัตถเลขาที่ทรงร่างออกมาเกี่ยวกับเรื่องไทรบุรี ประมาณกว่า 10 หน้ากระดาษฟุลสแก๊ป จึงได้หยิบขึ้นมาเขียน ขณะนั้นค่ำแล้ว พอเขียนไปได้ 4-5 หน้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกประชุมเสนาบดี ห้องที่เสด็จออกอยู่ติดกับห้องทํางานมีประตูเข้าออกถึงกัน แม้แต่พระกระแสรับสั่งก็ได้ยินมาถึงห้องทํางาน ในเวลานั้นมีพระราชประสงค์พระราชหัตถ์ที่ข้าพเจ้ากําลังเขียนอยู่ พระยาศรีวรวงศ์กราบบังคมทูลว่ากําลังเขียน เพราะเหตุที่จะต้องนําลายพระราชหัตถ์นั้นไปอ่านในที่ประชุม พระยาศรีวรวงศ์ก็มาเร่งข้าพเจ้า มีรับสั่งเตือน “ศรี แล้วหรือยัง” ก็ได้ยิน
ข้าพเจ้าพยายามเขียนอย่างเร็วที่จะเขียนได้ แต่หากพระราชหัตถ์นั้นหลายหน้ากระดาษนัก พระยาศรีวรวงศ์บ่นว่าข้าพเจ้าไม่ได้ตรวจทานเพราะเขียนหนังสือดี ข้าพเจ้าได้ขอให้พระบรมบาท [6] เป็นผู้บอกจะได้เขียนเร็วเข้า ทีนี้พวกผู้ใหญ่พากันมารุมล้อมกันใหญ่ แต่ข้าพเจ้าก็เขียนเสร็จทันพระราชประสงค์
พระยาศรีวรวงศ์รับเอาไปทูลเกล้าถวายทั้งที่ยังไม่ได้ตรวจทาน ข้าพเจ้าก็ชักใจไม่ดีเกรงว่าจะมีผิดและตกหล่นไปบ้าง แต่เดชะบุญเหลือเกินมิได้มีผิดหรือตกเลย ข้าพเจ้าเขียนตัว ป. หางสั้นไป ทางต่อเติมให้ยาวขึ้นเมื่อเสร็จขึ้นแล้ว พระยาศรีวรวงศ์ดีใจมาก รุ่งขึ้นถามว่าข้าพเจ้าต้องการรางวัลอะไรจะให้ทางโรงเรียนมหาดเล็กซื้อให้ ข้าพเจ้าต้องการโค้ดอาญา 1 สํารับ ทางโรงเรียนซื้อให้ ราคา 20 บาท ข้าพเจ้ารับราชการอยู่ในกรมนี้เป็นปีเศษ
ราวเดือนมกราคม พ.ศ. 2452 (พ.ศ. อย่างเก่าพ้นเดือนเมษายนเป็น วันระหว่างที่ยังใช้ ร.ศ.) ทางโรงเรียนได้ส่งมหาดเล็กนักเรียนออกฝึกหัดการ ปกครองในมณฑลอยุธยา 18 คน แบ่งไปอยู่จังหวัดอ่างทอง 6 คน จังหวัดสิงห์บุรี 6 คน อยู่ที่พระนครศรีอยุธยา 6 คน ข้าพเจ้าอยู่อยุธยา มี นายเสริม นายสุข (พระนรินทรภักดี) [7] นายแป๊ะ (หลวงสุราษฎรสารภิรมย์) [8] นายตาบ (ขุน) ได้ไปพักอาศัยที่ตําหนักเกาะลอย ไปฝึกงานที่อําเภอรอบกรุง (อําเภอพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน) ผูกอาหารเขารับประทานรวมทั้งผงซักฟอกด้วยเดือนละ 15 บาท รับประทานรวมกัน
เมื่อเขาส่งอาหารได้ 5-6 วัน ผู้ทําอาหารเขาเกิดปรานีข้าพเจ้าอย่างไรไม่ทราบ เขาจัดสํารับให้ข้าพเจ้าเป็นพิเศษต่างหากไม่ได้รวมกับพวกเพื่อน ๆ แถมมีหมากพลูให้อีกด้วย โดยมิได้เพิ่มค่าอาหารเลย ทําให้ข้าพเจ้าสะดวกจะรับประทานเมื่อใดก็ได้ ต่อมาต้องย้ายไปอยู่แพหน้า พระราชวังจันทน์ ตอนนี้พวกเราตั้งวงเล่นเครื่องสายกันสนุกสนาน ข้าพเจ้าเล่นจะเข้ นายแป๊ะ ซอสู้ นายตาบ ซอด้วง นายเสริม นายศุข ขลุ่ย ทั้งนี้โดยได้ฝึกหัดมาจากโรงเรียนมหาดเล็ก ครูอ่วมเป็นผู้สอน ในคราวนี้มีเจ้าฝรั่งดุ๊กโยฮันอันเบรท เสด็จพระนครศรีอยุธยา พวกเราก็มีส่วนช่วยในการรับรองด้วย
ในการฝึกหัดการปกครองนี้ 15 วัน ต้องทํารายงานการฝึกส่งโรงเรียนฉบับหนึ่ง และได้รับเบี้ยเลี้ยงเดือนละ 45 บาท ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2453 กระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งให้ข้าพเจ้าเป็นมหาดเล็กมณฑลนครศรีธรรมราช กับหลวงระงับ ประจันตคาม (โป๊ะ วัชรปาณ) [9] ในพวกที่ฝึกหัดด้วยกัน 18 คนนี้ ข้าพเจ้ากับนายโป๊ะได้ออกรับราชการเป็นรุ่นแรก ประเพณีของมหาดเล็กเมื่อจะต้องออกไปรับราชการหัวเมืองจะต้องกราบถวายบังคมลาพระเจ้าอยู่หัว
ข้าพเจ้าก็ได้ไปกราบบังคมทูลลาที่พระที่นั่งอภิเศกดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าเชิญลายพระราชหัตถเลขาไปพระราชทานแก่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ [10] ซึ่งได้ทรงออกไปเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช มณฑลนี้ตั้งที่ว่าการมณฑลที่จังหวัดสงขลา เวลานั้นทางรถไฟสายใต้ไปได้เพียงจังหวัดเพชรบุรี การเดินทางต้องอาศัยเรือเมล์บริษัทเรือไฟไทยเดินจากกรุงเทพฯ ถึงสิงคโปร์ เรือเมล์ของบริษัทนี้เป็นเรือกลไฟมีชื่อเป็นพระนามเจ้านายทั้งนั้น มีเรือประชาธิปก เรืออัษฎางค์ เรือยุคล เรือบริพัตร์ เรือภาณุรังสี เรือมหิดล เหล่านี้
ข้าพเจ้าโดยสารเรืออัษฎางค์ไปขึ้นจังหวัดนครศรีธรรมราช เพราะสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงลพบุรีฯ สมุหเทศาภิบาลเสด็จมาประกอบพิธีบําเพ็ญกุศลคล้ายวัน ประสูติอยู่ที่นี่ ออกจากกรุงเทพฯ วันพุธระหว่างทางคลื่นลมสงบ กัปตันเรือ ต้นหน และช่างกลเป็นชาวเดนมาร์ก เฉพาะกัปตันแกใจดีมาก ชักชวนขึ้นไปฉายรูปกันบนดาดฟ้าเรื่อถึงเวลารับประทานอาหารในห้องอาหารก็เอาเหล้าส่วนตัวมา เลี้ยงแทบทุกวัน เวลาเรือถึงจังหวัดนครศรีธรรมราชวันเสาร์ จอดกลางทะเล ต้องมีเรือมารับ
สําหรับข้าพเจ้านั้นทางจังหวัดจัดเรือมารับโดยเฉพาะเข้าคลองปากพูน ไปขึ้นท่าแพต้องใช้รถม้า ทางอีก 100 เส้นถึงกลางเมือง ข้าพเจ้าไปถึงเป็นเวลาเย็น ขณะนั้นสมเด็จสมุหเทศาฯ กําลังบําเพ็ญพระกุศล พระสงฆ์สวด พระพุทธมนต์อยู่ที่พลับพลาพร้อมด้วยข้าราชการทั้งปวง ข้าพเจ้าอัญเชิญพระราชหัตถเลขาเข้าไปถวาย
ประเพณีในการเชิญพระราชหัตถเลขา ถ้าพระราชหัตถ์ยังอยู่แก่ผู้เชิญแล้วจะทําความเคารพแก่ผู้ใดไม่ได้ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร ข้าพเจ้าก็ต้องทําตามประเพณี คือเชิญไปถวายโดยมิได้ให้กระทําความเคารพ ต่อเมื่อได้ถวายไปแล้วจึงถวายเคารพ ในพระราชหัตถ์ทรงเขียนเองและมีนามข้าพเจ้าอยู่ด้วย ตอนหนึ่งว่า “นายกระจ่างมาลาว่าจะมารับราชการ จึงได้ถือหนังสือมา” ข้าพเจ้าถือว่าเป็นมงคลแก่ข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่งจึงได้ขอประทานพระราชหัตถ์ฉบับนี้มาเก็บรักษาไว้ ส่วนนายโป๊ะเลยไปสงขลา เพื่อวางตรากระทรวง โปรดให้ข้าพเจ้าไปอยู่สงขลา ให้นายโป๊ะมาประจําจังหวัดนครศรีธรรมราช
เมื่อไปถึงเมืองสงขลา สมเด็จสมุหเทศาฯ ซึ่งต่อไปจะต้องออกพระนามบ่อย ๆ จะใช้คําออกพระนามท่านว่าสมเด็จฯ เท่านั้น โปรดให้อยู่ในบริเวณสัณฐาคาร อันเป็นที่ประทับและอยู่ในพระอุปการะของพระองค์ท่าน มีสํารับอาหารให้รับประทาน ข้าพเจ้ารู้สึกอึดอัดใจอยู่บ้างที่ต้องทําตัวคล้ายมหาดเล็ก ทรงตั้งวงพิณพาทย์ขึ้นโปรดให้มีการซ้อมพิณพาทย์แทบทุกคืน มีข้าราชการมาเฝ้าโดยมาก ข้าพเจ้าก็ต้องไปเฝ้าแหนอยู่ด้วย ดูไม่ใครมีอิสระเสียเลย
เชิงอรรถ :
[1] ปัจจุบัน คือ วิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร
[2] พระยาศรีวรวงศ์ (ม.ร.ว. จิตร สุทัศน์)
[3] พระยาไชยนันทน์พิพัทธพงศ์ (เชย ไชยนันทน์)
[4] อักษรพระนามย่อไม่มีจุด
[5] ปัจจุบันคือบริเวณชั้นล่าง ของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทิศตะวันตก
[6] พระยาบรมบาทบำรุง (พิณ ศรวรรธนะ)
[7] พระนรินทรภักดี (สุข ทังสภูติ)
[8] หลวงสุราษฎรสารภิรมย์ (แป๊ะ พลศิริ)
[9] หลวงระงับประจันตคาม (โปะ วัชรปาณ) ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2499 อายุ 69 ปี โดยมีนายณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม เป็นผู้เขียนประวัติให้ ได้หนังสือหนึ่งเล่ม หนาถึง 184 หน้า
[10] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2475 พระชันษา 50 ปี ต้นราชสกุลยุคล
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มกราคม 2562