สำรวจร่องรอยที่มาของชื่อ “แม่น้ำเจ้าพระยา” ทำไมเรียกแม่น้ำ “เจ้าพระยา” ?

แม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพฯ เรือจำนวนมาก
แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าราชวรดิฐ ขณะมีพิธีสรงสนาน เฉลิมพระปรมาภิไธยเจ้าฟ้าวชิรุณหิศ ฯ พ.ศ. 2429

สำรวจร่องรอยที่มาของชื่อ “แม่น้ำเจ้าพระยา” ทำไมเรียกแม่น้ำ “เจ้าพระยา” ?

คนไทยรู้จัก แม่น้ำเจ้าพระยา เสียจนไม่คิดจะสงสัยว่าทําไมแม่น้ำสายนี้จึงชื่อว่า “เจ้าพระยา”

ครั้นเมื่อเกิดสงสัยขึ้นมาก็ไม่รู้จะไปหาคําตอบได้ที่ไหน?

สมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรงกล่าวเอาไว้ว่า—

“ที่เราเรียกกันว่าปากน้ำเจ้าพระยาทุกวันนี้ แต่โบราณเรียกว่าปากน้ำพระประแดง ภายหลังเมื่อแผ่นดินงอกทะเลห่างออกไปไกลเมืองพระประแดงจึงเรียกว่าปากน้ำบางเจ้าพระยา ได้เห็นในจดหมายเหตุพระอุบาลีไปเมืองลังกาเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ในหนังสือนั้นเรียกว่าปากน้ำบางเจ้าพระยา ทํานองเรียกปากน้ำบางปะกง เข้าใจว่าที่ซึ่งตั้งเมืองสมุทรปราการทุกวันนี้ในเวลานั้นจะเรียก “บางเจ้าพระยา”(พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา : 2505 : หน้า 455)

โดยสรุป สมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพกล่าวว่า ในสมัยโบราณนั้นแม่น้ำเจ้าพระยาไม่รู้ว่าชื่ออะไรแน่? แต่เรียกบริเวณปากน้ำว่า ปากน้ำพระประแดง

คําว่า “เจ้าพระยา” เพิ่งมาปรากฏเรียก “ปากน้ำบางเจ้าพระยา” เมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

สมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าที่ซึ่งเป็นเมืองสมุทรปราการ หรือจังหวัดสมุทรปราการทุกวันนี้นั้น แต่ก่อน (คือสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ) คงจะเรียกว่า “บางเจ้าพระยา”

แต่ทําไมบางนี้จึงชื่อ “เจ้าพระยา” ก็ไม่รู้อีกเหมือนกัน

บรรยากาศแม่น้ำเจ้าพระยาสมัยก่อน (ภาพจากหนังสือ “Twentieth Century Impressions of Siam”)

เรื่องเกี่ยวกับชื่อ “เจ้าพระยา” และ “แม่น้ำเจ้าพระยา” นี้ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนไว้ในคอลัมน์ “ข้าวไกล นา” ของหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ฉบับประจําวันที่ 30 มิถุนายน 2520 ความว่า

“ศัพท์ในภาษาไทยเรานั้น บางศัพท์ที่เคยใช้กันมาจนรู้จักคุ้นหูกันทั่วก็กลับเงียบหายไปเฉยๆ แต่แล้วก็กลับดังขึ้นมาใหม่ แต่โดยเหตุที่ไม่ได้ใช้ศัพท์กันมานานเมื่อกลับได้ยินศัพท์นั้นใหม่ก็ทําให้คนรุ่นใหม่ ถามกันว่าศัพท์นั้นแปลว่าอะไร

เช่นคําว่า เจ้าพระยา เป็นต้น

คํานี้เคยมีใช้กันแพร่หลาย เพราะมีคนที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาหลายคน แต่ต่อมาผู้ที่เป็นเจ้าพระยานั้นหมดไปคนก็ลืม คงเหลือแต่ชื่อแม่น้ำที่ไหลผ่านกรุงเทพฯ คนก็ยังงงๆ ว่าเพราะเหตุใดจึงเรียกว่าแม่น้ำเจ้าพระยา”

ขออภัยยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ทําไมชื่อว่า “แม่น้ำเจ้าพระยา” ?

แม่น้ำเจ้าพระยา มองเห็นพระบรมมหาราชวังและเรือนแพที่พักชาวสยาม ภาพเขียนหลังเหตุการณ์ไข้ห่าระบาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ในหนังสือของครอว์เฟิร์ด (ภาพจาก Journal of An Embassy to the Courts of Siam And Cochin China by John Crawfurd. Oxford University Press, 1967)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“ก่อนจะถึงฝั่งธนฯ”. จากหนังสือ “เวียงวังฝั่งธนฯ ชุมชนชาวสยาม”. โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ. สำนักพิมพ์มติชน. 2545


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ธันวาคม 2561