คุ้ยตำนาน “พระเจ้าตาก” ใคร “วิ่งเต้น” ตำแหน่งเจ้าเมืองตากให้-ได้เป็นตอนไหน

พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ภายในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระราชวังเดิม

พระเจ้าตาก เปิดตัวครั้งแรกในฐานะ “พระยาตาก” ในพระราชพงศาวดารเมื่อปีระกา พุทธศักราช 2308 เป็นช่วงที่กองทัพพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาในสงคราม “กรุงแตก” ครั้งที่ 2

ขณะนั้นมีคําสั่งให้กองทัพฝ่ายกรุงศรีอยุธยาออกไป ตีค่ายพม่าที่ปากน้ำประสพ ทางตอนเหนือของพระนคร เวลาที่ “เจ้าเมืองตาก” ปรากฏตัวครั้งแรกในพระราชพงศาวดาร นี้ ไม่มี “บทบู๊” อะไร แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ไม่ห่างจากตอนค่ายบางระจันแตกมากนัก

“ฝ่ายข้างในกรุงยกไปตีค่ายปากน้ำประสพอีก, พม่า ให้ยกหาบคอนออกหลังค่ายทําทีจะหนี, พวกอาทมาตชวนกันวิ่งเข้าใกล้ค่ายพม่า, พม่าเอาม้าไล่โอบหลังก็ถอยลงมาโพธิ์สามต้น จมื่นศรีสรรักษ์, จมื่นเสมอใจราช, ขี่ม้าลงข้ามน้ำหนีมาฟากตะวันออก, แต่พวกพระยาตากรบรออยู่ ค่อยข้ามมาต่อภายหลัง”

นอกเหนือจากพระราชพงศาวดารแล้ว ในหนังสือคําให้การชาวกรุงเก่า ยังได้เปิดตัวพระเจ้าตากขึ้น “ก่อน” พระราชพงศาวดารเล็กน้อย คือเปิดตัวตั้งแต่ปี 2307 โดยขณะนั้น “พระยาตาก” เป็นแม่กองอยู่ในกองทัพพระยาพิพัฒโกษา “ยกไปคอยรับทัพพม่าที่เมืองมะริด เมืองตะนาวศรี”

ต่อมาในเดือน 12 ปีจอ พุทธศักราช 2309 พระราช พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา จึงมีการกล่าวถึงพระเจ้าตากครั้งสําคัญขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เป็นการเลื่อนตําแหน่งให้เป็นพระยากําแพงเพชร

“ครั้นถึงเดือน 12 หน้าน้ำ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้พระยาตาก เลื่อนที่เป็นพระยากําแพงเพชร”

จะเห็นได้ว่าพระราชพงศาวดาร “เปิดตัว” พระเจ้าตาก ในฐานะ “เจ้าเมืองตาก” ในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาก่อนกรุงแตกไม่นาน พระราชประวัติก่อนหน้านั้นไม่มีปรากฏในพระราชพงศาวดารเลย ทําให้การสืบค้นเรื่องราวของพระเจ้าตากย้อนหลังกลับไปมากกว่านี้ จําเป็นต้องอาศัย “ตํานาน” เป็นเครื่องนําทาง

โดยหนังสือ “ตํานาน” พระเจ้าตาก “ก่อนเสวยราชย์” นั้น ส่วนหนึ่งปรากฏอยู่ในหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ ตอน “สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี” ซึ่งได้กล่าวพระราชประวัติโดยพิสดารตั้งแต่แรกเกิดจนถึงตั้งกรุงธนบุรี และปรากฏในตอน “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” อีกส่วนหนึ่ง

แต่ทั้งพระราชพงศาวดารและอภินิหารบรรพบุรุษ ไม่มีตอนใดเลยที่ชี้ว่าพระเจ้าตากเป็น “เจ้าเมืองตาก” ตอนไหน

แม้ว่าเรื่องนี้อาจจะไม่ใช่ “กระทู้” สําคัญในประวัติศาสตร์ เมื่อเทียบกับกระทู้ยอดนิยมอื่นๆ ในพระราชประวัติของพระเจ้าตาก แต่ด้วยพระนามต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าเมืองตาก พระเจ้าตาก หรือขุนหลวงตาก ได้อาศัยตําแหน่งเจ้าเมืองตากเป็นพระนามเรียกกันจนติดปาก แม้จะทรงขึ้นครองราชสมบัติแล้วก็ตาม ทําให้ตําแหน่งนี้ควรจะมีความสําคัญในพระราชประวัติเช่นเดียวกับตอนอื่นๆ

จึงทําให้เกิดข้อชวนสงสัยว่า พระเจ้าตากทรงเป็นเจ้า เมืองตาก “เมื่อไหร่” กันแน่?

เบาะแสแก้ปริศนา “เจ้าเมืองตาก”

หากตรวจสอบเอกสารเท่าที่ปรากฏในปัจจุบัน ก็จะพบว่าไม่มีเอกสารฉบับใดระบุช่วงเวลาการแต่งตั้งพระเจ้าตากให้เป็นเจ้าเมืองตากอย่างชัดเจน จะต้องอาศัย “เบาะแส” ชิ้นต่างๆ มาปะติดปะต่อเพื่อให้ได้คําตอบที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่หลักฐานในปัจจุบันจะนําไปถึง

หนังสือคําให้การชาวกรุงเก่าให้เบาะแสว่า ในปี 2307 พระเจ้าตากได้เป็นเจ้าเมืองตากแล้ว

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ และพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาทิ้งเบาะแสเพียงแค่ว่า อย่างน้อยปี 2308 พระเจ้าตากก็เป็นเจ้าเมืองตากแล้ว

นี่เป็นเพียงกรอบเวลาคร่าวๆ เท่าที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร ซึ่งบอกไว้เพียงว่าพระเจ้าตากได้เป็นเจ้าเมืองตากก่อนปี 2307 อย่างแน่นอน

โชคยังดีที่ยังพอมีเบาะแสอื่นเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย เช่น ในหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ครั้งนั้นเจ้าพระยาจักรีคนใหม่ มิใช่บิดาหลวงยุกรบัตรสิน จึ่งนําข่าวตายเจ้าเมืองตากขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาได้ทรงทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท แล้วจึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตําแหน่งยศ เลื่อนหลวงยุกรบัตรสินให้เปนที่เจ้าเมืองตากด้วย”

เบาะแสนี้ แม้จะไม่ให้คําตอบเรื่อง “เมื่อไหร่” แต่ก็ทิ้งปมเรื่อง “เจ้าพระยาจักรีคนใหม่” ไว้ให้แกะรอยต่อไป ว่า มีเจ้าพระยาจักรีที่ไม่ใช่บิดาบุญธรรม เป็นผู้นําความกราบบังคมทูลเรื่องตําแหน่งเจ้าเมืองตาก จนมีผลทําให้พระเจ้าตากได้เป็นเจ้าเมืองตากในที่สุด

นอกจากนี้ยังมีพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เลขที่ 2/ ก. 101 ให้เบาะแสไว้ตอนหนึ่งสอดคล้องกับหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษว่า “พระยาจักรีก็นําเอาชายมีชื่อผู้นั้นเข้าเฝ้าถวายบังคม ทรงพระกรุณาโปรดฯให้เป็นพระยาตาก” เพื่อจะหาคําตอบว่าพระเจ้าตากเป็นเจ้าเมืองตาก “เมื่อไหร่” จําเป็นต้องคลี่คลายเบาะแสเรื่อง “เจ้าพระยาจักรีคนใหม่” นี้ให้ได้ว่าเจ้าพระยาจักรีที่ไม่ใช่บิดาบุญธรรมของพระเจ้าตากท่านนี้คือใคร และนําเรื่องขึ้นกราบบังคมทูลขอตําแหน่งพระเจ้าตากเมื่อไหร่

“ตํานาน” พระเจ้าตากกับเจ้าพระยาจักรี

ตาม “ตํานาน” พระเจ้าตากในหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ กล่าวไว้ชัดเจนว่า มีเจ้าพระยาจักรี “คนใหม่” เป็นคนกราบบังคมทูลขอตําแหน่งให้พระเจ้าตาก แต่ในตํานานจากหนังสือนี้อีกเช่นกันก็กล่าวว่า พระเจ้าตาก มีบิดาบุญธรรมเป็นเจ้าพระยาจักรีด้วยเช่นกัน

แต่เนื่องจากช่วงระยะเวลาตั้งแต่พระเจ้าตากเกิด จนถึงได้เป็นเจ้าเมืองตากนั้น มีผู้เป็นเจ้าพระยาจักรี หรือผู้ว่าที่สมุหนายก ถึง 4 ท่าน จึงอาจทําให้เกิดความสับสนได้ง่ายว่าใครเป็นใคร มีบทบาทอย่างไรในพระราชประวัติพระเจ้าตาก

ดังนั้น จึงจําเป็นต้องค้นหาว่าเจ้าพระยาจักรีที่เป็น “บิดาบุญธรรม” ซึ่งไม่ใช่เจ้าพระยาจักรี “คนใหม่” ที่ทูลขอตําแหน่งเจ้าเมืองตากเป็นใครได้บ้าง เพื่อที่จะตัด “บิดาบุญธรรมออก” ให้เหลือแต่เจ้าพระยาจักรี “คนใหม่” แล้วถ้ารู้ว่าท่านผู้นี้เป็นใคร เราก็อาจได้คําตอบที่ตามหาพ่วง เข้ามาว่าท่านทูลขอตําแหน่งให้พระเจ้าตาก “เมื่อไหร่” นั่นเอง

“ตํานาน” พระเจ้าตากในหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ กล่าวถึงเวลาเมื่อพระเจ้าตากแรกเกิดขึ้นมานั้น เกิดเหตุอันเป็นลางร้ายจนบิดามารดาคิดจะนําเอาบุตรของตัวไปทิ้งเพื่อจะได้สิ้นเหตุร้ายอันตราย

ความทราบถึง “เจ้าพระยาจักรี” จึงได้รับเอาบุตรของสามีภรรยานั้นมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม และตั้งแต่นําเด็กชายผู้นั้นมาเลี้ยงก็ได้ลาภและทรัพย์สมบัติเป็นอันมาก จึงตั้งชื่อว่า “สิน”

จนกระทั่งเด็กชายสินอายุได้ 9 ขวบ จึงนําไปฝากเรียนหนังสือกับพระอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาส เมื่ออายุ ได้ 13 ปี ก็จัดพิธีโกนจุกให้อย่างใหญ่โต แล้วนําไปถวายตัวเป็นมหาดเล็กในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (ครองราชย์ ปี 2275-2301) ครั้นอายุได้ 21 ปี เจ้าพระยาจักรี บิดาบุญธรรมก็บวชให้ เมื่อสึกออกมาก็ฝากเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กตามเดิม

จากมหาดเล็ก ภายหลังจึงเลื่อนขึ้นเป็นหลวงยุตรบัตรเมืองตาก ก่อนจะมีเจ้าพระยาจักรี “คนใหม่” กราบบังคมทูลเสนอให้เป็นเจ้าเมืองตาก

“ตํานาน” พระเจ้าตากเรื่องนี้ ไม่ได้ระบุวันเวลาที่กราบบังคมทูลไว้แน่ชัด และไม่ได้ระบุว่าเจ้าพระยาจักรี “บิดาบุญธรรม” กับเจ้าพระยาจักรี “คนใหม่” ผู้ฝากงานให้เป็นใครกันแน่

ทั้ง 2 ท่านนี้คือกุญแจไขปริศนาของเรื่องนี้

พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตาก ณ สวนสาธารณะทุ่งนาเชย อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี

ไขปริศนา ใครคือพ่อบุญธรรมพระเจ้าตาก?

ไม่มีหลักฐานว่าพระเจ้าตากเกิดเมื่อไหร่ แต่มีหลักฐานในจดหมายเหตุโหร นทึกวันสิ้นพระชนม์ไว้เมื่อปี 2325 คือ “เจ้าตากดับขันธ์ ชนมายุ 48 ปี กับ 15 วัน” หักลบแล้วก็จะได้ปีเกิดคือ ปี 2277 ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

เอกสารสมัยใหม่บางเล่ม “เตา” เอาว่าเจ้าพระยา จักรีที่รับเลี้ยงเด็กชายสินตั้งแต่แบเบาะคือ เจ้าพระยา จักรี (โรงฆ้อง) ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะเจ้าพระยาจักรี (โรงฆ้อง) นั้น เป็นเจ้าพระยาจักรีในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ และเชื่อว่าถึงแก่อนิจกรรมก่อนสิ้นรัชกาล จึงมีการเปลี่ยนตําแหน่งเจ้าพระยาจักรีว่าที่สมุหนายกให้กับพระยาราชสงคราม แต่ท่านนี้ที่อยู่ในตําแหน่งสมุหนายกเพียงสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระเท่านั้น เมื่อเปลี่ยนแผ่นดินก็ถูกโยกย้ายไปกินตําแหน่งอื่น

ดังนั้น ทั้งเจ้าพระยาจักรี (โรงฆ้อง) และพระยาราชสงคราม ขณะที่ทั้ง 2 ท่าน ว่าที่สมุหกลาโหมอยู่นั้น พระเจ้าตากยังไม่เกิด ทั้ง 2 ท่านนี้ จึงไม่อยู่ในข่ายที่จะเป็นบิดาบุญธรรมตาม “ตํานาน” พระเจ้าตากได้

ต่อมาในปี 2275 เปลี่ยนแผ่นดินมาสู่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปีรุ่งขึ้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสงครามย้ายไปเป็นสมุหกลาโหม แล้วตั้งหลวงจ่าแสนยากร เป็นเจ้าพระยาอภัยมนตรี ว่าที่สมุหนายก เท่ากับว่า เจ้าพระยาอภัยมนตรีมีโอกาสที่จะเป็นบิดาบุญธรรมของพระเจ้าตากได้ เพราะเข้ารับตําแหน่งว่าที่สมุหนายก (ซึ่งก็คือตําแหน่งเจ้าพระยาจักรี) ก่อนพระเจ้าตากเกิด 1 ปี

แต่เจ้าพระยาจักรีใน “ตํานาน” กล่าวว่า มีเจ้าพระยาจักรี “เพียงคนเดียว” ที่รับเลี้ยงพระเจ้าตากตั้งแต่แรกเกิด ชนอายุได้ 21 ปี โดยพาไปฝากเรียนหนังสือเมื่ออายุ 9 ปี โกนจุกตอน 13 ปี และเป็นเจ้าภาพบวชพระเมื่อ 21 ปี

ส่วนเจ้าพระยาอภัยมนตรีท่านนี้ไม่ได้มีอายุยืนยาวขนาดนั้น ท่านถึงแก่อนิจกรรมในปี 2285 ขณะที่พระเจ้าตากอายุได้เพียง 8ปี ยังไม่ถึงขวบอายุที่เจ้าพระยาจักรีจะพาไปฝากเรียนหนังสือด้วยซ้ำไป ท่านนี้จึงไม่ใช่บิดาบุญธรรมของพระเจ้าตากตามตํานานอีกเช่นกัน

ผู้มารับตําแหน่งเจ้าพระยาจักรีต่อจากเจ้าพระยาอภัยมนตรี คือเจ้าพระยาราชภักดี ว่าที่สมุหนายก เจ้าพระยาราชภักดีท่านนี้คือ “ผู้ต้องสงสัย” ท่านแรกที่เข้าข่ายเป็นบิดาบุญธรรมตาม “ตํานาน” พระเจ้าตาก มากที่สุด เพราะระยะเวลาที่ท่านตํารงตําแหน่งสมุหนายกนั้น ครอบคลุมช่วงเวลาที่ท่านอุปถัมภ์พระเจ้าตาก “ก่อน” ที่จะเป็นเจ้าเมืองตากเกือบทั้งหมด

คือท่านอยู่ในตําแหน่งสมุหนายกตั้งแต่ปี 2285-98 นั่นคือช่วงเวลาที่พระเจ้าตากมีอายุ 8-21 ปี ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่พระเจ้าตากเริ่มเรียนหนังสือจนถึงครบบวชพอดี

แต่มีปัญหาอยู่ที่ว่า เจ้าพระยาจักรีตาม “ตํานาน” นั้น อุปถัมภ์พระเจ้าตากตั้งแต่แรกเกิด ส่วนเจ้าพระยาราชภักดีนั้น เพิ่งมาเป็นเจ้าพระยาจักรีเอาตอนที่พระเจ้าตากอายุได้ 8 ขวบแล้ว

ปัญหานี้ไม่ใช่ข้อใหญ่นัก เพราะขณะที่พระเจ้าตากเกิดนั้น เจ้าพระยาราชภักดียังเป็นพระยาราชภักดีอยู่ ผู้แต่ง “ตํานาน” อาจเรียกนามตามตําแหน่งสุดท้ายเพื่อระบุตัวบุคคลหรือเพื่อเป็นเกียรติก็ได้ และเป็นเรื่องที่พบมากในเอกสารเก่าเช่นนี้

และถ้าเจ้าพระยาราชภักดีคือบิดาบุญธรรมตามตํานานจริง ท่านผู้นี้ก็จะไม่ใช่เจ้าพระยาจักรีที่กราบบังคมทูลให้พระเจ้าตากได้เป็นเจ้าเมืองตาก เพราะ “ตํานาน” ระบุไว้ชัดเจนว่า

“ครั้นกาลล่วงมาไม่ช้าเจ้าเมืองตากก็ถึงแก่กรรม ฝ่ายหลวงยุครบัตรสิน จึ่งเป็นผู้ถือบอกข่าวตายลงมายังกรุงศรีอยุธยา ครั้งนั้นเจ้าพระยาจักรีคนใหม่ มิใช่มิตาหลวงยุครบัตรสิน จึ่งนําข่าวตายเจ้าเมืองตากขึ้นกราบบังคมทูล พระกรุณาได้ทรงทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท แล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตําแหน่งยศ เลื่อนหลวงยุครบัตรสินให้เปนที่เจ้าเมืองตากด้วย”

ข้อมูลนี้ช่วยให้เราติดตัวเลือกออกไปข้อหนึ่ง คือ ถ้าเจ้าพระยาราชภักดีเป็นบิดาบุญธรรมพระเจ้าตาก ท่านผู้นี้จึงไม่ใช่ผู้กราบบังคมทูลขอตําแหน่งเจ้าเมืองตากให้กับพระเจ้าตากแน่

กรอบเวลาจึงแคบเข้ามาว่า พระเจ้าตากไม่ได้เป็นเจ้าเมืองตากก่อนปี 2298 (คือปีสุดท้ายที่เจ้าพระยาราชภักดี ตํารงตําแหน่งสมุหนายก) และก่อนปี 2307 เพราะหลักฐานชี้ชัดว่าเวลานั้นเป็นเจ้าเมืองตากแล้ว

พระเจ้าตากจึงมีโอกาสดํารงตําแหน่งเจ้าเมืองตาก ได้ในช่วง ปี 2298-2307 แน่นอน คือระหว่างช่วงอายุ 21-30 ปี เพื่อให้กรอบเวลาแคบเข้ามาอีก จึงจําเป็นต้องตามหา “เจ้าพระยาจักรีคนใหม่” นี้ให้ได้ ว่าท่านคือใคร และกราบบังคมทูลขอตําแหน่งให้พระเจ้าตากเมื่อไหร่

ตามหา “เจ้าพระยาจักรีคนใหม่”

บังเอิญเหลือเกินที่ เจ้าพระยาราชภักดี “ผู้ต้องสงสัย” ว่าจะเป็นบิดาบุญธรรมของพระเจ้าตาก มีเหตุป่วยเป็นวัณโรคจนถึงแก่อนิจกรรมในปี 2298 เวลานั้น พระเจ้าตากอายุ 21 ปี เป็นช่วงเวลาที่สึกออกมารับราชการพอดี ส่วนเจ้าพระยาจักรีที่มารับตําแหน่งแทนคือ พระยาราชสุภาวดี บ้านประตูจีน เป็นที่เจ้าพระยาอภัยราชา ว่าที่สมุหนายก

เท่ากับว่า เจ้าพระยาอภัยราชา คือ “ผู้ต้องสงสัย” จะ เป็น “เจ้าพระยาจักรีคนใหม่” ที่กราบบังคมทูลขอตําแหน่งเจ้าเมืองตากให้พระเจ้าตากได้หรือไม่

ช่วงเวลาที่เจ้าพระยาอภัยราชาเพิ่งเข้ารับตําแหน่งนี้ “ตํานาน” เล่าว่าพระเจ้าตากเพิ่งอายุได้ 21 ปี และเพิ่งสึก ออกมารับราชการในตําแหน่งมหาดเล็กรายงานราชการในกรมมหาดไทยและกรมวังศาลหลวง ซึ่งถ้าหากเจ้าพระยาอภัยราชารับราชการอย่างต่อเนื่องต่อไปในตําแหน่งเจ้าพระยาจักรี ก็มีความเป็นไปได้ที่ท่านผู้นี้จะเป็นผู้กราบบังคมทูลขอตําแหน่งเจ้าเมืองตากให้พระเจ้าตากได้เช่นกัน

แต่เจ้าพระยาอภัยราชาอยู่ในตําแหน่งนี้เพียงแค่ปี 2301 ตอนสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเท่านั้น เพราะเกิดเหตุมีอันต้องถูกราชภัยหลุดจากตําแหน่งนี้ไป

เวลานั้นมีการผลัดแผ่นดินให้กับสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งลาผนวชมารับราชสมบัติในฐานะกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่อยู่ในราชสมบัติได้เพียง ๑๐ วัน ก็มีอันต้องถวายราชสมบัติให้กับ “พี่ชาย” คือกรมขุนอนุรักษ์มนตรี หรือต่อมาคือสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ รู้จักกันทั่วไปว่า “สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์” ส่วนสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรก็กลับไปผนวชตามเดิม จนเป็นที่มาของพระนาม “ขุนหลวงหาวัด”

ต่อมาหลังเปลี่ยนแผ่นดินไม่นาน ก็เกิดเหตุกระทบกระทั่งกันระหว่างขุนนางเก่าฝ่ายสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร กับ “นายปิ่น” ขุนนางที่ได้รับแต่งตั้งใหม่เพราะเป็น “พี่เขย” สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่

นายปิ่น ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระยาราชมนตรี บริรักษ์จางวางมหาดเล็ก ออกอาการ “เบ่ง” ถึงขั้นเจรจาคําหยาบ หมิ่นประมาทขุนนางผู้ใหญ่จนทําให้เจ้าพระยาอภัยราชาทนไม่ไหว วางแผนปฏิวัติหวังคืนราชสมบัติให้ กับสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร “ขุนหลวงหาวัด”

“พระเจ้าแผ่นดินชุบเลี้ยงพระยาราชมนตรี จมื่นศรีสรรักษ์ มีจิตกําเริบกระทําการหยาบช้าต่างๆ ไม่ช้าบ้านเมือง ก็จะเกิดจลาจลเป็นแท้ อนึ่ง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ก็ตรัสมอบราชสมบัติแก่พระพุทธเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงผนวช จะได้ทรงมอบราชสมบัติให้แก่พระองค์นี้หามิได้ตรัสทํานาย ไว้ว่าถ้าจะให้พระองค์นี้ครองสมบัติ บ้านเมืองก็จะพิบัติ ฉิบหาย ควรจะคิดกําจัดพระองค์นี้เสียจากเศวตฉัตร จะไปเชิญเสด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงผนวชนั้นให้ลาผนวชออก มาเสวยราชสมบัติดังเก่า”

คิดได้ดังนี้แล้ว เจ้าพระยาอภัยราชาก็ไปเชิญกรมหมื่น เทพพิพิธ พระราชโอรสพระองค์หนึ่งในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งขณะนั้นก็ทรงผนวชหนีราชภัยอยู่เช่นกัน เพราะทรงอยู่ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร เมื่อปรึกษาหารือ กันแล้ว ก็คิดจะไปทาบทาม “ขุนหลวงหาวัด” ว่าจะทรงร่วมหรือไม่

แต่เหตุการณ์ไม่เป็นดังที่วางแผน ไว้ “ขุนหลวงหาวัด” ทรงคิดระแวงคณะก่อการอยู่ด้วยเช่นกัน

“คนเหล่านี้คิดกบฎจะทําการใหญ่ ถ้าเขาทําการสําเร็จจับพระเชษฐาได้แล้ว เขาจะมาจับเราเสียด้วย จะยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นครองราชสมบัติ เราสองพี่น้องก็จะพากันตาย”

ว่าแล้วก็ทรงนําความลับนี้ขึ้น “ฟ้อง” สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ แต่ทรงขอบิณฑบาตชีวิตผู้ก่อการไว้อย่าให้ถึงตาย สุดท้ายเจ้าเจ้าพระยาอภัยราชาและพวกถูกขังคุก กรมหมื่นเทพพิพิธถูกจับไปปล่อยที่เกาะลังกา

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นประมาณเดือน 12 ปลายปี 2301 เวลานั้นพระเจ้าตากอายุได้ 20 ปี ต่อมาในปีรุ่งขึ้น 2302 เกิด “ศึกอสองพญา” ขึ้น ตั้งแต่เดือน 1 กองทัพพม่าบุกตะลุยเมืองมะริด ตะนาวศรี ทะลุผ่านเมืองกุย เมืองปราณ ชะอํา เพชรบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี จวนเจียนจะล้อมพระนครอยู่แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาอภัยราชา และพวกออกจากคุกมาช่วยรบป้องกันพระนคร เท่ากับว่าตําแหน่งเจ้าพระยาจักรีว่างอยู่ตั้งแต่เดือน 12 ปี 2301 จนถึงเดือน 1 ปี 2302 หรือประมาณ 12 เดือน นอกจากนี้เรายังไม่รู้แน่ว่า เจ้าพระยาอภัยราชาจะได้กลับมารับตําแหน่งเดิมหรือไม่ เพราะมีข้อหากบฏติดตัวอยู่เช่นนี้ ตําแหน่ง “เจ้าพระยาจักรีคนใหม่” จึงไม่น่าจะใช่เจ้าพระยาอภัยราชา

ดังนั้น “เจ้าพระยาจักรีคนใหม่” ผู้กราบบังคมทูลขอตําแหน่งเจ้าเมืองตากให้พระเจ้าตากจึงน่าจะเป็นผู้ที่มารับตําแหน่งต่อจากเจ้าพระยาอภัยราชานั่นเอง

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ ค่ายตากสิน อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี

“เจ้าพระยาจักรีคนใหม่” กราบบังคมทูลขอตําแหน่งหลังเหตุ “กบฏ”

สรูปเบาะแสที่รวบรวมได้ขณะนี้คือ เจ้าพระยาราชภักดี (เป็นเจ้าพระยาจักรีระหว่าง 2285-98) อาจจะเป็นบิดาบุญธรรมของพระเจ้าตากตาม “ตํานาน” เจ้าพระยาอภัยราชา (เป็นเจ้าพระยาจักรีระหว่าง 2299-2301) แต่ถูกจับติดคุกในข้อหากบฏ จึงสันนิษฐานเบื้องต้นว่า อาจจะไม่ใช่ “เจ้าพระยาจักรีคนใหม่” ที่กราบบังคมทูลขอตําแหน่งเจ้าเมืองตากให้พระเจ้าตาก

แต่ยังมีข้อมูลหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่ขัดแย้งกับ “ตํานาน” พระเจ้าตากในหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ โดยเฉพาะในเรื่องบิดาบุญธรรม แต่กลับสอดคล้องกันในเรื่องมีเจ้าพระยาจักรีเป็นผู้กราบบังคมทูลเรื่องตําแหน่งเจ้าเมืองตาก

พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เลขที่ 2/ ก.101 ไม่ได้ กล่าวว่าพระเจ้าตากมีบิดาบุญธรรมเป็นเจ้าพระยาจักรี แต่บอกว่าเป็นลูกชาวจีนคลองสวนพลู ที่ขึ้นไปค้าขายที่เมืองตาก ก่อนจะช่วยราชการงานเมือง และสุดท้ายก็ “วิ่งเต้น” ผ่าน “พระยาจักรี” ขอตําแหน่งเจ้าเมืองตากที่ว่างอยู่ โดยไม่ได้ “ไต่เต้า” จากมหาดเล็กเป็นหลวงยุกรบัตร ก่อนจะได้ตําแหน่งเจ้าเมืองตาก ตามที่ปรากฏใน “ตํานาน”

“ขณะนั้นมีผู้นําคุยหรหัสย์คดีมากราบทูลว่า เจ้า พระยาอภัยราชา พระยาเพชรบุรี หมื่นทิพเสนา นายจุย นายเพ็งจันคิดกบฎ จะเอาราชสมบัติถวายกรมหมื่นเทพพิพิธๆ รู้ระคายก็หนีไปจากวัดกระโจม ตามไปจับได้ ณ ป่านาเริ่ง เจ้าพระยาอภัยราชา พระยาเพชรบุรี นายจุยนั้นเฆี่ยนแล้ว ให้จําไว้ จมื่นทิพเสนา นายเพ็งจัน หนีหาได้ตัวไม่ ขณะนั้นสั่งให้ส่งกรมหมื่นเทพพิพิธออกไป ณ เกาะลังกาทวีป

ครั้นเดือนห้า ขึ้นสิบเอ็ด ลุศักราชได้พันร้อย ยี่สิบเอ็ด ปีเถาะ เอกศก พระเจ้าอยู่หัวก็ถวายพระเพลิง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงและพระพันปีหลวง ตามอย่าง ประเพณีแต่ก่อน

ขณะนั้นยังมีบุตรจีนคลองสวนพลูคนหนึ่ง ขึ้นไปค้าขายอยู่ ณ เมืองตากหลายปี

ครั้นอยู่มาจีนผู้นั้นเป็นคนมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ช่วยกรรมการชําระถ้อยความของราษฎรอยู่เนืองๆ เจ้าเมืองตากนั้นป่วยลงถึงแก่ความตาย จีนมีชื่อผู้นั้นก็ตัดผมเป็นไทย ลงมา ณ กรุงศรีอยุธยา จะเดินเป็นเจ้าเมืองตาก จึงเข้ามาหานายสดเป็นคนรักกันกับชายมีชื่อผู้นั้น นายสดก็พาชายผู้นั้นไปหาหลวงนายชาญภูเบศ นายเวรมหาดเล็กของขุนหลวงหาวัด หลวงนายชาญภูเบศก็ไปหาพระยาจักรีว่า ชายมีชื่อจะเดินเป็นตัวเมืองตาก จะกราบเท้าเจ้าคุณ ให้ช่วยด้วย

พอมีหนังสือมาวางเวรว่าเจ้าเมืองตากนั้นถึงอนิจกรรมเสียแล้ว พระยาจักรีนบอกขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า เจ้าเมืองตากถึงแก่กรรมเสียแล้ว พระเจ้าอยู่หัวทรงพระดําริว่า เมืองตากเล่าก็เป็นเมืองหน้าศึกอยู่ ให้พระยาจักรีหาคนที่มีสติปัญญาพอจะเป็นได้

พระยาจักรีเห็นได้ท่วงที่แล้วก็กราบบังคมทูลว่า เห็นจะจัดแจงได้ พระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จขึ้น พระยาจักรีก็กลับออกมาบอกกับนายชาญภูเบศว่าได้ จึงให้หาชายมีชื่อผู้นั้น เข้ามาบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวโปรดแล้ว พระยาจักรีจะให้มี ท้องตราขึ้นไป

พระยาจักรีก็นําเอาชายมีชื่อผู้นั้นเข้าเฝ้าถวายบังคม ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้เป็นเจ้าเมืองตาก จึงพระราชทานเครื่องยศสําหรับเมืองเก่านั้นขึ้นไป”

จากข้อมูลนี้พอสรุปได้ว่า

เวลาที่พระเจ้าตาก “เดิน” เป็นเจ้าเมืองตาก หรือ “วิ่งเต้น” ตําแหน่งอยู่นั้น เกิดขึ้นประมาณเดือน 5 ปีเถาะ ต้นปี 2302 หลังเหตุกบฏ และหลังจากที่ผู้ก่อการถูกลงโทษแล้ว

เท่ากับว่าพระเจ้าตากได้เป็น “เจ้าเมืองตาก” ในปี 2302 ค่อนข้างแน่นอน และอาจจะเกิดขึ้นในเดือน 5 หรือ หลังจากนั้นเล็กน้อย ซึ่งเวลานั้นพระเจ้าตากมีอายุได้ 25 ปี เวลาที่พระเจ้าตาก “วิ่งเต้น” อยู่นี้ เป็นช่วงเวลาที่ เจ้าพระยาอภัยราชา หรือเจ้าพระยาจักรีคนเดิมติดคุกข้อหากบฏอยู่ ดังนั้น “พระยาจักรี” ที่ปรากฏในเอกสารนี้ จะต้องเป็น “เจ้าพระยาจักรีคนใหม่” ที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นแทนเจ้าพระยาอภัยราชาอย่างแน่นอน

ใครคือ “พระยาจักรี” ผู้ “วิ่งเต้น” ตําแหน่งเจ้าเมืองตาก

ปัญหาสําคัญตอนนี้ก็คือ เจ้าพระยาอภัยราชา ว่าที่สมุหนายก ถูกจับติดคุกข้อหากบฏ (เดือน 23 ปี 2301) ก่อนหน้าที่พระเจ้าตากจะวิ่งเต้น” ตําแหน่ง ถึงประมาณ 5 เดือน แต่ช่วงนี้เป็นช่วงที่เกิดศึก “อลองพญา” แล้ว พระเจ้าอยู่หัวไม่น่าจะปล่อยให้ตําแหน่งว่างลงเฉยๆ ส่วนเจ้าพระยาอภัยราชา แม้จะได้ออกจากคุกมาทําศึกอลองพญา แต่ก็ไม่ควรจะได้กลับมาในตําแหน่งเดิม เพราะสิ้นความไว้วางใจไปด้วยการคิดก่อการกบฏไปแล้ว

ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ก็ได้มีผู้มานั่งว่าที่สมุหนายก แทนเจ้าพระยาอภัยราชาจริง ดังที่ปรากฏในพระราชกําหนด เก่า ดังนี้

“วันอังคาร ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 7 จุลศักราช 1121 ปีเถาะเอกศก เพลาเช้าพญาพระคลังผู้ว่าราชการณะที่สมุหะนายกออกนั่งว่าราชการ ณ ตึกป่าตะกั่ว”

ในที่นี้ให้ความชัดเจนว่า ปีที่มีการ วิ่งเต้น” ตําแหน่ง เจ้าเมืองตากนั้นมีพระยาพระคลัง ว่าที่สมุหนายกอยู่อย่างแน่นอน ปัญหาต่อไปคือ “พระยาพระคลัง” ท่านนี้เป็นใคร?

“พระยาพระคลัง” ผู้วิ่งเต้นตําแหน่งเจ้าเมืองตาก

ปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระยาพระคลัง เป็นท่านหนึ่งที่ “ตบเท้า” ร่วมกับเสนาบดีชั้นสูง รวมถึงเจ้าพระยาอภัยราชา เสนอให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงตั้งให้กรมขุนพรพินิต (ขุนหลวงหาวัด) ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เท่ากับว่าพระยาพระคลังท่านนี้ก็เป็นขุนนางผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งที่ “ไม่เอา” พระเจ้าเอกทัศน์

“ลุศักราช 1119 ปีฉลู นพศก เดือน 5 กรมหมื่นเทพพิพิธจึงปรึกษาด้วยเจ้าพระยาอภัยราชาผู้ว่าที่สมุหนายก และเจ้าพระยามหาเสนา พระยาพระคลัง พร้อมกัน แล้วกราบบังคมทูลพระกรุณาว่าจะขอพระราชทานให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต ขึ้นประดิษฐาน ณ ที่พระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล”

แต่เมื่อการเมืองกลับไปกลับมา จากแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เปลี่ยนมาสู่สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร และพลิกกลับมาสู่สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ สุดท้ายก็มีผู้คิดก่อการปฏิวัติเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อเกิดเหตุคิดปฏิวัติขึ้น ปรากฏว่าพระยาพระคลังซึ่งเคยเป็นผู้สนับสนุนสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร กลับไม่เข้าร่วมขบวนการกบฏด้วย จึงไม่มีรายชื่ออยู่ในกลุ่มผู้ถูกจับกุม และติดคุก

“ได้แต่ตัวเจ้าพระยาอภัยราชา พระยายมราช พระยาเพชรบุรี นายจุ้น สี่คน ให้ลงพระราชอาชญาเมี่ยนแล้วจําไว้ แต่หมื่นทิพเสนากับนายเพงจันนั้นหนีไปหาได้ตัวไม่”

พระยาพระคลัง แม้จะ “คนละสี” กับสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ในตอนต้น แต่เมื่อไม่ได้ร่วมขบวนการกบฏ จึงได้ว่าราชการต่อ ทั้งยังได้นั่งควบสมุหนายกอีกตําแหน่งหนึ่ง พระยาพระคลังท่านนี้ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นพระยาพระคลัง แทนเจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์ พระยาพระคลังคนเก่า ในปี 2296

พระยาพระคลังท่านนี้ ก็คือคนที่ “วิ่งเต้น” ตําแหน่งเจ้าเมืองตากให้พระเจ้าตากนั่นเอง

มีหลักฐานชี้ชัดว่า พระยาพระคลังผู้ “วิ่งเต้น” ตําแหน่งเจ้าเมืองตากให้พระยาตาก คือพระยาพิพัฒโกษา “ลูกเขย” ของเจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์ พระยาพระคลังคนเก่านั่นเอง

“ครั้นถึง ณ เดือน 4 ในปีนั้น เจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์ผู้ว่าที่โกษาธิบดี ป่วยเป็นลมอัมพาตสี่เดือนถึงแก่กรรม ทรงพระกรุณาพระราชทานโกศให้แต่งศพใส่เครื่องชฎาอย่างเจ้าต่างกรม ให้เรียกว่าพระศพ ให้ทําเมรุ ณ วัดชัยวัฒนาราม แล้วเสด็จพระราชดําเนินไปพระราช ทานเพลิง

แล้วโปรดตั้งพระยาพิพัฒโกษา บุตรเขยเจ้าพระยาชํานาญเป็นพระยาพระคลัง ว่าที่โกษาธิบดีสืบไป”

ที่บังเอิญก็คือ ทั้งเจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์ ว่าที่โกษาธิบดี และพระยาพิพัฒโกษา มีความสัมพันธ์กับ “วัดโกษาวาส” ของพระอาจารย์ทองดีที่เจ้าพระยาจักรี บิดาบุญธรรม นําพระเจ้าตากไปฝากเรียน และบวชพระ ตามตํานานพระเจ้าตากก่อนเสวยราชย์

และพระยาพระคลังท่านนี้ยังเป็นแม่ทัพใหญ่ในคราวยกทัพไปรับศึกอลองพญาที่เมืองมะริด ตะนาวศรี ซึ่งในกองทัพนี้มี “พระยาตาก” เป็นแม่กองอยู่ด้วย อันเป็น ฉาก “เปิดตัว” พระยาตากครั้งแรก จากคําให้การชาวกรุงเก่านั่นเอง

สรุป

หากบิดาบุญธรรมของพระเจ้าตากมีจริงตามตํานาน ก็น่าจะเป็นเจ้าพระยาราชภักดี

พระยาจักรี หรือเจ้าพระยาจักรีคนใหม่ ที่ไม่ใช่บิดาบุญธรรมของพระเจ้าตาก ผู้ “วิ่งเต้น” ตําแหน่งเจ้าเมืองตากให้นั้น ก็น่าจะเป็นพระยาพิพัฒโกษา ว่าที่พระยาพระคลังและสมุหกลาโหม โดย “วิ่งเต้น” ตําแหน่งเจ้า เมืองตากในราวเดือน 5 ปี 2302 เมื่อพระเจ้าตากมีอายุ ได้ 25 ปี

แต่เรื่องบังเอิญที่สุดในพระราชประวัติพระเจ้าตากก็คือ มี “เจ้าพระยาจักรี” เป็นบิดาบุญธรรม มี “เจ้าพระยาจักรี” เป็นผู้วิ่งเต้นตําแหน่งเจ้าเมืองตาก และมี “เจ้าพระยาจักรี” เป็นผู้ปิดตำนานพระเจ้าตากอีกเช่นกัน

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ

1. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน, (พระนคร : คลังวิทยา,2505), น. 650.

2. คําให้การชาวกรุงเก่า คําให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ (พระนคร : คลังวิทยา, 2515), น. 168.

3. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2 (กรุง เทพฯ : คลังวิทยา, 2516), น. 289. อนึ่ง กรณีพระเจ้าตากได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่พระยากําแพงเพชรนี้ มีข้อโต้แย้งว่าเกิดจากการเข้าใจความหมายของศัพท์ “วชิรปาการรญญา” ผิดไป ว่าที่จริง พระเจ้าตากไม่เคยได้รับโปรดเกล้าฯ ในตําแหน่งนี้ (ดู นิธิ เอียว ศรีวงศ์, การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี (กรุงเทพฯ, มติชน, 2547), น. 100-105.)

4. อภินิหารบรรพบุรุษ, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒ ธนากร, 2473), น. 6.

5. พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เลขที่ 2/ก. 101, (กรุงเทพฯ : พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณแม่ทองอยู่ ศิลปเดช, 2518), น. 9.

6. ประชุมพงศาวดาร เล่ม 8, (กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2507), น. 119 .

7. ดู เชาวน์ รูปเทวินทร์ ยอดีต เล่ม 1. (กรุงเทพฯ : พี. วาทิน พับลิเคชั่น จํากัด, 2528), น. 43

8. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2 น. 208

9. เรื่องเดียวกัน, น. 223

10. อภินิหารบรรพบุรุษ, น. 6.

11. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2 น. 239.

12. เรื่องเดียวกัน, น. 240.

13. เรื่องเดียวกัน, น. 246. อนึ่ง ในหนังสือคําให้การชาวกรุง เก่า ระบุว่าทรงครองราชสมบัติอยู่ราว 3 เดือน (อ้างแล้ว, น. 157.)

14. เรื่องเดียวกัน, น. 248

15. เรื่องเดียวกัน, น. 249

16. พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เลขที่ 2/ก. 101, น. 9.

17. ประมวลกฎหมาย รัชกาลที่ 1 จุลศักราช 1166 พิมพ์ ตามฉะบับหลวง ตรา 3 ดวง เล่ม 3, (กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการ พิมพ์, 2528), น. 226.

18. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2, น. 240.

19. เรื่องเดียวกัน, น. 249.

20. เรื่องเดียวกัน, น. 236.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 ธันวาคม 2561