เผยแพร่ |
---|
พลเอก พระยาเทพหัสดิน หรือ ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา นอกจากจะเป็นหัวหน้าคณะทูตทหารไทยที่เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้ว ยังถือได้ว่าเป็นนายทหารคนสนิทและขึ้นชื่อเรื่องความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เป็นอย่างมาก
พระยาเทพหัสดิน เขียนเรื่อง “น้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม พ.ศ. 2529 เล่าเรื่องราวหลายเหตุการณ์ ความสัมพันธ์ และความในใจที่มีต่อเจ้านายไว้ ในเนื้อหามีทั้งเหตุการณ์ที่ทรงรับสั่งเรียกตัวขณะที่ท่านกำลังติดนัดสำคัญแบบ “เข้าด้ายเข้าเข็ม” สาเหตุที่ไม่ขอรับพระราชทานเงินและบ้านที่อยู่ ปัญหาที่พบในกองทัพ ไปจนถึงการดูเชิงว่าพระองค์จะทรงลืมข้าเก่าหรือไม่
เรื่องราวต่างๆ บอกเล่าในข้อเขียนนี้แล้วดังนี้ (จัดย่อหน้าและเน้นคำใหม่ – กองบก.)
ประมาณ พ.ศ.2430 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธประชวรพระโรคปอดอักเสบ แพทย์หลวงถวายคําแนะนําให้เสด็จประพาสทะเลและประทับตากอากาศทะเลสัก 2 เดือน
สมัยนั้นยังไม่รู้จักคําว่าตากอากาศทะเล จะหาที่ประทับที่ไหนใกล้ทะเลก็ยากเต็มที มีแต่บังกาโลที่พักของ Sir Ernest Sataw อัครราชทูตอังกฤษ ที่เกาะสีชังอยู่หลังเดียวจึงยืมเขาจัดเป็นที่ประทับได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บิดาของข้าพเจ้า ซึ่งเป็นราชองครักษ์ประจําพระองค์ตามเสด็จไปด้วยทูลกระหม่อมโต (สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ) ขอประทานยืม ข้าพเจ้าจากสมเด็จพระเชษฐา (สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ) ให้เป็นมหาดเล็กตามเสด็จออกไปด้วยคนหนึ่ง ข้าพเจ้าจึงได้มีโอกาสฉลองพระเดชพระคุณเฉพาะพระองค์เป็นครั้งแรกในครั้งนั้น ท่านมีพระชันษา 7 ขวบ และข้าพเจ้ามีอายุได้ 10 ขวบ
พระราชอัธยาศัยของล้นเกล้าล้นกระหม่อมเมื่อทรงพระเยาว์นั้นนิ่ง ๆ ขรึม ๆ ไม่ซนเหมือนเด็กในวัยเดียวกัน รู้สึกว่าทรงมีความสุขุมเป็นสมบัติประจําพระองค์มาแต่ปฐมวัยทีเดียว
ในกระบวนเสด็จครั้งนั้น มีเรือเวสาตรี เป็นเรือพระที่นั่ง พระยาชลยุทธ (วิเชอลิเออ) Richelieu เป็นผู้บังคับการ เรืออุบลเป็นเรือพระที่นั่งรอง มีข้าราชการตามเสด็จหลายคน ที่จําได้ก็มีพระยาสมุทรฯ (สิน), ท่านบิดาข้าพเจ้า ไปในตําแหน่งราชองครักษ์, นายจ่ายงภายหลัง เป็นพระยาพิพิธฯ (ชม สุวรรณทัต) ไปในตําแหน่งหัวหน้ามหาดเล็ก กับเจ้านายเล็ก ๆ อีกสองสามองค์ จะเป็นใครบ้างก็จําไม่ได้
ทูลกระหม่อมกับเจ้านายประทับที่บังกาโลของอัครราชทูตอังกฤษ ท่านบิดาข้าพเจ้ากับนายจ่ายง และข้าพเจ้า อยู่ที่ศาลาวัดเกาะ ส่วนข้าราชการคนอื่นๆ นั้นพักในเรือบ้างตามบ้านบ้าง แล้วแต่จะหาที่พักได้
ตลอดเวลาที่ประทับพักผ่อนที่สีชัง ได้มีการประพาสทะเลโดยเรือพระที่นั่งแทนทุกวัน ประพาสชลบุรี, อ่างหิน ,บางพระและพุน้ำร้อน, บางปลาสร้อย, เกาะคราม และเกาะอื่นๆ คือชนบทฝั่งตะวันออกที่ไปมาจากเกาะสีชังได้ในวันเดียวแทบทุกแห่ง ข้าพเจ้าได้ตามเสด็จทุกแห่ง แต่ไม่มีความสนุกเลย เพราะเมาคลื่นและเมาทุกวันไม่รู้จักเคยกับทะเลเสียเลย
ระหว่างประพาสชายทะเลครั้งนั้น มีเรื่องจำได้ตามประสาเด็กอยู่เรื่องหนึ่งคือ เมื่อวันเสด็จประพาสบางปลาสร้อย ที่บางปลาสร้อยมีชายหาดเป็นเลนยื่นออกไปในทะเลไกลมาก แม้เรือกรรเชียงก็เข้าเทียบไม่ได้ ชาวบ้านจึงต้องทำสะพานยื่นออกมาไกล แต่สะพานนั้นทำกันอย่างขอไปที ไม่มีความแข็งแรง พวกเราตัวเล็กก็ตามเสด็จกันไปได้ แต่พอถึงคราวพระยาสมุทรฯ กับพระยาชลยุทธฯ ขึ้นไปบ้าง สะพานทนน้ำหนักไม่ได้ก็หักครืนลงไป
เจ้าคุณทั้งสองลงไปพังพาบอยู่ในเลน เป็นเรื่องขันสําหรับเด็ก ๆ เพราะเจ้าคุณสมุทรฯ ท่านเป็นคนอ้วนอย่างเกินขนาด ส่วนเจ้าคุณชลยุทธฯ นั้นเป็นฝรั่งก็มีร่างใหญ่เป็นธรรมดา การเห็นคนอ้วนเกินขนาดกับฝรั่งตกลงไปในเลนนั้นเป็นของขันสําหรับเด็กจนเห็นติดตาอยู่ทุกวันนี้ เจ้าคุณขึ้นมาได้โดยมีเสื้อผ้าเต็มไปด้วยโคลนจึงต้องไปซื้อผ้านุ่งใหม่ในตลาด
การที่เจ้าคุณชลยุทธฯ นุ่งผ้าพื้นนั้นเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เราได้เห็นฝรั่งนุ่งผ้าและเป็นธรรมดา คนที่ไม่เคยนุ่งผ้าโจงกระเบนนั้น เมื่อไปนุ่งเข้าก็ต้องรุ่มร่ามปุกปุย และเพิ่มความขบขันขึ้นไปอีก
ข้าพเจ้าจําได้ว่าวันนั้นล้นเกล้าล้นกระหม่อมได้ทรงพระสรวลมาก เพราะคนไทยอ้วนตกโคลน กับฝรั่งนุ่งผ้าโจงกระเบน
เมื่อเสด็จกลับกรุงเทพฯ นั้น ทรงมีพระสุขภาพสมบูรณ์จนเห็นกันว่าอากาศเกาะสีชังดีนัก และเนื่องจากเหตุนี้เอง พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังเป็นที่ประทับสําราญพระราชอิริยาบถขึ้นที่เกาะสีชังนั้นในปีต่อมา
สําหรับตัวข้าพเจ้านั้น ตั้งแต่ได้ไปตามเสด็จคราวนั้นก็รู้สึกว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ได้ทรงพระกรุณาและสนิทสนมยิ่งขึ้น จนจะไม่ถวายคืนสมเด็จพระเชษฐา ข้าพเจ้าออกจะตกอยู่ในสภาพเป็นข้าสองเจ้าบ่าวสองนายในขณะนั้น แต่โดยเหตุที่ต้องไปเรียนหนังสือ การเฝ้าแหนก็ไม่เป็นการประจําทุก ๆ วัน เวลาเข้าเฝ้าก็เฝ้าด้วยกันทั้งสองพระองค์ จึงไม่เป็นการน่าเกลียดอย่างไร
ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีโสกันต์เขาไกรลาส สําหรับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ และสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร
ต่อมาบิดาข้าพเจ้าป่วยเป็นโรคไส้ตันถึงแก่กรรมเมื่อข้าพเจ้ามีอายุได้ 12 ปี หลังจากที่ได้รับพระราชทานเพลิงศพบิดาข้าพเจ้าและทําบุญอัฐิตามประเพณีแล้ว มารดาของข้าพเจ้าก็ได้เข้าไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง
พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมีรับสั่งเป็นใจความว่า ทรงเสียดายบิดาของข้าพเจ้ามาก เพราะได้ทรงเลี้ยงดูมาแต่เล็กแต่น้อย เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยได้ทุกอย่าง ก็มาด่วนตายเสียแต่ยังหนุ่ม ไม่ทันได้ทรงชุบเลี้ยงให้ถึงขนาด จึงได้ทรงพระราชดําริไว้ว่า จะขอเอาลูกชายคนใหญ่ คือตัวข้าพเจ้าไปเลี้ยงแทน จึงทรงขอส่งข้าพเจ้าไปศึกษายังประเทศยุโรป ดังได้มีพระราชกระแสรับสั่งว่า “ข้าจะเลี้ยงมันแทนพ่อของมัน”
ในระหว่างเตรียมตัวที่จะออกไปยุโรปนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เสด็จออกไปทรงผนวชเณรที่วัดบวรนิเวศ ข้าพเจ้าก็ตามเสด็จไปอยู่ที่วัดโดยมาก เพราะการเรียนตอนนี้ ออกจะทอดทิ้ง ด้วยเห็นว่าอีกไม่ช้าก็จะไปเมืองนอก ตอนนี้การติดต่อสําหรับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธน้อยลงไปเพราะ ไปอยู่เสียที่วัดโดยมาก ทั้งเป็นเวลาเตรียมตัวที่จะออกเดินทางไปยุโรปแล้วด้วย
ก่อนวันออกเดินทาง ข้าพเจ้าได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกราบถวายบังคมลา แล้วไปกราบทูลลาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชที่วัดบวรนิเวศวิหาร และไปเฝ้ากราบทูลลาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ที่ไหนก็จําไม่ได้ ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนที่ถูกกําหนดให้ไปศึกษา ณ ประเทศฝรั่งเศส
ตามเสด็จที่ยุโรป
หลังจากเหตุการณ์ ร.ศ. 112 แล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ได้เสด็จไปทรงศึกษายังประเทศอังกฤษ มีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฎ์ ยังไม่ได้ทรงกรม ตามเสด็จออก ไปด้วย เมื่อเสด็จผ่านปารีส ข้าพเจ้าก็ได้ไปเฝ้า และได้รับความยินดีเพิ่มขึ้น โดยได้เห็นเพื่อนนักเรียนเก่าโรงเรียนพระตําหนักสวนกุหลาบตามเสด็จออกไปเป็นเพื่อนเรียนด้วยคน หนึ่ง คือ ม.ร.ว.สิทธิ์ (พล.ท.พระยาวิชิตวงศ์ วุฒิไกร)
ต่อมาไม่ช้า ข้าพเจ้าก็ได้ทราบข่าวที่ก่อให้เกิดความรู้สึกเต็มตื้นด้วยโศกาดูรว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ได้ประชวรพระโรคไตอักเสบสวรรคตเสียแล้ว ได้ทราบข่าวต่อมาว่าได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร สืบสนองพระองค์สมเด็จพระเชษฐาต่อไป
ในการนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาธรรมจรรยานุกูลมนตรี เมื่อยังเป็นพระยาเสมอใจราช เป็นผู้เชิญพระบรมราชโองการ (เข้าใจว่าพร้อมด้วยพระสุพรรณบัตร) ออกไปพระราชทานยังกรุงลอนดอน ให้บรรดามหาดเล็กของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชพระองค์ก่อน โอนไปสังกัดขึ้นเป็นมหาดเล็ก สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์ใหม่สืบต่อไป ข้าพเจ้าจึงได้โอนสังกัดเป็นมหาดเล็กของล้นเกล้าล้นกระหม่อมแต่นั้นมา
พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชนั้น ได้ทำกันที่สถานทูตกรุงลอนดอน 23 แอชเบินเพลส เห็นจะเป็นในกลาง ร.ศ. 113 คณะราชทูตกับนักเรียนไทยในยุโรปทุกคนได้ไปร่วมในพิธีนี้ที่กรุงลอนดอน มีพระยามหาโยธา (นกแก้ว คชเสนี) เป็นราชทูตที่กรุงปารีส มีพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าวัฒนา (พล.ต. กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์) เป็นราชทูต, และที่กรุงเบอร์ลิน มีพ.ต.พระยาไกรโกษา (ทัด สิงหเสนี) เป็นราชทูต ข้าราชการสถานทูตทั้งสาม พร้อมคณะ ได้ไปชุมนุมกันที่กรุงลอนดอนอย่างคับคั่ง
พระราชพิธีนั้นจะมีอะไรบ้างก็จำไม่ได้ จำได้แต่ว่ามีการเลี้ยงอาหารค่ำแบงเกวตเป็นการใหญ่สำหรับคนไทยทั้งหมด จำนวนคนประมาณสัก 60-70 คนเห็นจะได้ เสร็จการเลี้ยงแล้ว ได้มีการกล่าวถวายพระพร โดยพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิ์โสภณ (กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฏ์, พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวัฒนาฯ (พล.ต.กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์), พระยามหาโยธา และพระยาไกรโกษา ในนามข้าราชการสถานทูต คนไทย และนักเรียนไทยในความปกครองของท่าน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชมีพระราชดำรัสตอบพอสมควรแล้ว เป็นอันเสร็จพิธี
ต่อจากนั้นก็มีการสนทนาปราศรัยกัน เล่นดนตรีและร้องเพลงกันบ้าง รุ่งขึ้นก็ได้มีการฉายพระรูปร่วมกับคนไทยที่ไปในงานนั้นทุกคนแล้วข้าพเจ้าก็ต้องทูลลากลับกรุงปารีสด้วยความเสียใจที่ไม่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าใกล้ชิดฐานข้ากับเจ้าอย่างที่แล้วมา ทางสถานทูตเข้าถือว่าข้าพเจ้าเป็นนักเรียน ไม่ได้มอบหน้าที่อะไรให้ทำในฐานะเป็นมหาดเล็กเลย
ขณะนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงพระเจริญขึ้นมากแล้ว ต่อคนทั่วไปนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชคงเป็นเจ้านายที่รับสั่งน้อยตามเคย แต่สำหรับผู้ที่ทรงคุ้นเคยนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แม้กระนั้นเมื่อได้จากกันไปนาน ๆ ก็มักจะไม่ใคร่มีเรื่องรับสั่ง เป็นที่รู้กัน เพราะฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะหาเรื่องขึ้นก่อน แล้วก็ไปด้วยกันเป็นปี่เป็นขลุ่ย
ทุกครั้งที่เสด็จประพาสปารีสราวปีละครั้ง ครั้งละเดือนบ้าง 6 สัปดาห์บ้าง ข้าพเจ้าก็ได้ไปเฝ้าในเวลาว่างการเรียน และบางครั้งก็ได้ตามเสด็จประพาสในที่ต่างๆ ทั้งนี้ เพราะตามคติในยุโรปเวลานั้น เจ้านายทุกพระองค์จะต้องทรงรู้ภาษาฝรั่งเศส ซึ่งถือกันว่าเป็นภาษาสำคัญสำหรับการทูต
เพื่ออนุโลมตามคติที่กล่าวนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชจึงต้องเสด็จไปปารีส เพื่อหาความชำนาญในภาษาฝรั่้งเศส ตามคราวที่โรงเรียนในอังกฤษปิดเทอมสอน ข้ากับเจ้าจึงได้มีโอกาสติดต่อกันอีก แต่เป็นการติดต่อกันเอง ไม่ใช่ด้วยความส่งเสริมของสถานทูต
ใน ค.ศ. 1896 เดือนมิถุนายน ข้าพเจ้าสอบตกภาษาอังกฤษ จึงข้ามไปหาความชำนาญในประเทศอังกฤษ เมื่อไปถึงสถานทูตเป็นเวลาสบเหมาะ ที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชประทับอยู่ที่นั่น หลังจากที่ได้ไปรายงานตัวต่อท่านอัครราชทูต คือพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ ต่อมาได้เป็นเจ้าพระยาสมเด็จฯ แล้วข้าพเจ้าก็ได้ไปเฝ้าทันที
สมเด็จฯ ประทับอยู่ในห้องสูบบุหรี่ มีพ.อ. พระยาราชวัลลภานุสิต ต่อมาได้เป็น พล.ต. เจ้าพระยาศุภมิตร กับ ม.ร.ว. สิทธิ์ (พล.ท.พระวิชิตวงศ์วุฒิไกร) อยู่ในห้องนั้นด้วย คุยกันจนถึงเวลาอาหารค่ำ หลังอาหารค่ำแล้วทรงพระกรุณาพาข้าพเจ้าไปเที่ยวชมนครลอนดอน
ในคืนวันนั้นเราไปเที่ยวกับที่เออลสคอร์ต โดยข้าพเจ้าเป็นแขกของท่าน เรากลับถึงสถานทูตราวสองยาม เลยลงไปต้มข้าวต้มเลี้ยงกันในครัว ต่อจากนั้นก็ฟังนิทานของเจ้าคุณราชวัลลภฯ หัวร่อกันท้องคัดท้องแข็งอยู่จนสามยามกว่า
รับสั่งตามตัวเพื่อพระราชทานเลี้ยง ขณะมี “นัดสำคัญ”
ในระหว่างที่ข้าพเจ้าเรียนอยู่ในชั้นเตรียมอุดมศึกษาเพื่อจะเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบกนั้น ท่านอัครราชทูตพระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) เห็นว่าไม่เหมาะที่จะให้ข้าพเจ้าอยู่ปารีสหรือแม้ในประเทศฝรั่งเศสต่อไป จึงส่งข้าพเจ้าไปเรียนต่อ และเตรียมเข้าโรงเรียนนายร้อยที่กรุงบรุสเซล นครหลวงแห่งประเทศเบลเยี่ยม
ในขณะเดียวกันนั้น หรือจะผิดกันก็ไม่กี่เดือน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช กับ ม.ร.ว. สิทธิ์ ก็สอบเข้าโรงเรียนนายร้อยทหารบกอังกฤษได้เหมือนกัน ได้ทรงเข้าศึกษาวิชาทหารอยู่ที่แซนต์เฮิร์ท จึงนับว่าล้นเกล้าล้นกระหม่อม กับข้าพเจ้าเป็นทหารรุ่นเดียวกัน แต่ท่านได้ออกเป็นนายทหารก่อนประมาณ 4-8 เดือน เพราะนายทหารในกรมของท่านคือกรมทหารราบเบาเดอแฮม (Durham) นั้น ได้ไปตายเสียในแอฟริกาใต้ ในคราวสงครามทรานสวาลมาก ท่านต้องออกเป็นนายทหารก่อนกําหนด โดยได้ทรงรับอาสาที่จะไปช่วยเขารบด้วย
แต่ก็เป็นธรรมดาที่รัฐบาลอังกฤษจะให้ เจ้านายชั้นสมเด็จพระยุพราชออกไปเสี่ยงสละพระชนม์ชีพนั้นไม่ได้อยู่เอง ได้ทรงรับความขอบคุณจากรัฐบาลอังกฤษในเรื่องนี้
ก่อนเสด็จกลับเมืองไทย ได้เสด็จไปทอดพระเนตรป้อมต่าง ๆ ของประเทศเบลเยี่ยม ซึ่งในขณะนั้นถือกันว่าเป็นป้อมที่ทันสมัยที่สุดในยุโรป ข้าพเจ้าไม่มีกําลังทรัพย์พอที่จะถวายเลี้ยงส่งเสด็จ จึงจะพระราชทานเลี้ยงลาข้าพเจ้า มีรับสั่งให้คุณสิทธิ์ไปตามตัวข้าพเจ้า
แต่วันนั้นเป็นวันสําคัญที่ข้าพเจ้านัดกับผู้หญิงไว้คนหนึ่งกําลังเข้าด้ายเข้าเข็มอยู่ ถ้าพลาดไปก็อาจเสียการ ข้าพเจ้าจึงบอกคุณสิทธิ์ไปตามความจริงให้ขอพระราชทานเลื่อนไปเป็นวันรุ่งขึ้นเถิด
คุณสิทธิ์จะไปกราบทูลว่ากระไร ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ
แต่ตกลงให้เลื่อนไปพระราชทาน เลี้ยงในวันรุ่งขึ้น
ขณะนั้นข้าพเจ้าไม่ได้รู้สึกว่าท่านเป็นสมเด็จพระยุพราชที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ของข้าพเจ้า มีความรู้สึกอยู่อย่างเดียวแต่ว่าท่านเป็นเจ้านายที่รักผู้เต็มไปด้วยพระกรุณาธิคุณต่อตัวข้าพเจ้า ทั้งท่านก็เป็นหนุ่มเช่นเดียวกับข้าพเจ้า ท่านคงจะเห็นใจ เพราะเมื่อข้าพเจ้าไปเฝ้าในวันรุ่งขึ้น ไม่ได้ทรงกริ้ว กราดหรือต่อว่าต่อขานประการใดเลย
ในโต๊ะเสวยคืนวันนั้นได้รับสั่งเล่าถึงที่ได้ไปทอดพระเนตรเห็นมาให้ข้าพเจ้าฟัง มีอยู่ตอนหนึ่งซึ่งจับใจข้าพเจ้าอยู่จนบัดนี้ คือ เมื่อทรงกล่าวถึงป้อมเมืองลิเอซ ถึงสะพาน และช่องทางที่ข้าศึกอาจยกเข้ามา ได้ทรงทํานายไว้ว่าเยอรมันจะต้องยกเข้ามาทางนั้น ได้รับสั่งเรื่องนี้กับข้าพเจ้าในค.ศ. 1901 และในค.ศ.1914 คือ 13 ปีภายหลัง กองทัพเยอรมันก็ได้โจมตีลิเอซตามทางที่ได้ทรงทํานายไว้จริงๆ
เป็นพยานว่าล้นเกล้าฯ ของข้าพเจ้าได้ทรงเห็นกาลไกลทางยุทธศาสตร์ ตั้งแต่ยังทรงพระยศทหารเป็นนายร้อยตรีผู้สําเร็จการศึกษามาใหม่ ๆ เป็นการแสดงให้เห็นว่า นอกจากทรงสามารถสอบไล่ตามหลักสูตรแล้ว ยังทรงสามารถเข้าพระทัยหลักสําคัญแห่งตํารับพิชัยสงคราม สมที่จะได้ทรงเป็นมิ่งขวัญ และจอมทัพสยามต่อไป
เมื่อเสด็จนิวัติพระนครแล้ว ข้าพเจ้าได้อยู่เรียนต่อไปอีกเกือบ 3 ปี จึงได้กลับเมืองไทย แล้วข้าพเจ้าก็ได้ไปเฝ้าที่วังสราญรมย์ ข้าพเจ้ารู้สึกตัวเหมือนเป็นคนหน้าใหม่ แล้วข้าพเจ้าก็ต้องไปราชการทัพเงี้ยวในปีนั้นเอง แล้วก็ได้เป็นข้าหลวงไปปักปันเขตแดนกับอินโดจีนฝรั่งเศส ต่อจากนั้นก็ได้เป็นผู้แทนประเทศสยามในการชุมนุมครั้งที่ 2 แห่งกรุงเฮก ค.ศ. 1907 เป็นอันต้องห่างเหินกันโดยทางหน้าที่ราชการถึงปีกว่า ต่อเมื่อกลับจากกรุงเฮกแล้วจึงได้เฝ้า ถ้ามีเรื่องที่ต้องทรงใช้สอยส่วนพระองค์ และได้รับสั่งให้หาไปทรงใช้สอยบ้าง
“คุมเชิง”
ในตอนต้นที่ได้เสด็จเสวยราชสมบัตินั้น ข้าพเจ้ายังคุมเชิงดูอยู่ว่าท่านจะลืมข้าเก่าหรือไม่ เป็นความคิดในแง่อกุศลซึ่งข้าพเจ้าสารภาพ ต่อมาเหตุการณ์ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า ข้าพเจ้าระแวงผิดและไม่เป็นยุติธรรมต่อท่านเลย
เพราะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น นอกจากท่านเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชา สามารถ และทรงพระคุณธรรมอย่างยอดยิ่งดังที่เราทราบอยู่ด้วยกันแล้ว สําหรับตัวข้าพเจ้าโดยเฉพาะท่านยังเป็นทั้งเจ้าข้าวแดงแกงร้อน เป็นทั้งพ่อเป็นทั้งเพื่อนด้วยกันพร้อม
ในวันแรกที่พระราชทานเข็มข้าหลวงเดิมนั้น ในกรมยุทธนาธิการ ซึ่งบัดนี้เป็นกระทรวงกลาโหมมีผู้ที่ได้รับพระราชทาน 2 ท่าน คือ พล.ต.พระยาสิงหเสนีย์ ผู้เคยเป็นอัครราชทูตอยู่ที่กรุงลอนดอน และถวายการพยาบาลเมื่อคราวทรงพระประชวรต้องผ่าพระนาภี กับ พล.ต.พระยาพิชัยสงคราม คือ ม.ร.ว.สิทธิ์ที่กล่าวถึงข้างต้น ระหว่างนี้เป็นเวลาที่ข้าพเจ้าคอยดูท่านดังกล่าวแล้ว
ข้าพเจ้าไม่ได้เข้าไปเฝ้าด้วยจงใจไม่เข้าไป เมื่อเห็นเจ้าคุณทั้ง 2 ได้พระราชทานเข็มข้าหลวงเดิม ซึ่งที่จริงท่านก็สมควรจะได้ แต่ข้าพเจ้าไม่ได้ ก็เลยเข้าใจว่าได้ถูกลืมเสียแล้วจริง ๆ แต่พอรุ่งขึ้นก็ได้รับหนังสือจากหลวงบุรีนวราษฐ์ (พระยาบุรีฯ) ราชเลขานุการในพระองค์ให้ไปรับพระราชทานเข็มข้าหลวงเดิม ซึ่งเป็นการแสดงว่าข้าพเจ้าได้เป็นคนเลวพอที่ได้มีความระแวงเจ้านายของตัวเองและคอยจับผิดท่านอย่างไม่เป็นธรรม แต่นั้นมา ข้าพเจ้าก็ได้กลับเข้าเฝ้าแหนเป็นที่สนิทชิดเชื้อทุกครั้งที่โอกาสอํานวยจนตลอดรัชกาล
มีผู้สงสัยกันว่า ผู้ที่ทรงพระมหากรุณาชั้นข้าพเจ้าถึงได้รับพระราชทานรัตนวราภรณ์และเครื่องประดับส่วนพระองค์ทุกอย่างเช่นนี้ เหตุไฉนจึงมิได้รับพระราชทานเงินและบ้านที่อยู่ ซึ่งข้าราชการที่ห่างเหินกว่าข้าพเจ้ามากมายก็ได้รับพระราชทานกัน หรือจะมีใครกีดกัน?
ขอตอบแก้ความสงสัยเสียทีเดียวว่า ไม่มีใครกีดกัน มีแต่ผู้ที่จะคอยสนับสนุน ทั้งพระองค์ท่านเองก็ได้ทรงแย้มเปิดทางให้ขอพระราชทานในระหว่างเวลาที่ข้าพเจ้าออกไปในงานพระราชสงคราม ณ ทวีปยุโรป
แต่เวลานั้นข้าพเจ้าขอพระราชทานไม่ได้ เพราะถ้าทําเช่นนั้นข้าพเจ้าก็จะกลายเป็นผู้รับจ้างไปฆ่าคน ขาดเกียรติของการรับอาสา ขาดเกียรติของผู้พร้อมที่จะทอดกายลงไปรับคมอาวุธของข้าศึก และถวายชีวิตเป็นราชพลี ข้าพเจ้าถือตัวอยู่เสมอว่าเป็นทหารเอกของล้นเกล้าล้นกระหม่อม จึงต้องรักเกียรติมากกว่าทรัพย์สมบัติอันควรมีควรได้จากพระมหากรุณาธิคุณ
ครั้นเสร็จงานพระราชสงครามแล้ว ก็ได้เคยคิดอยู่เหมือนกันว่าจะขอพระราชทานกับเขาบ้าง แต่เมื่อได้เห็นพระราชทานคนโน้นคนนี้ ผู้ที่ขอพระราชทานขึ้นไปทุกคน จนต้องผ่อนพระราชทานเป็นเดือนๆ ดูประหนึ่งว่าท่านเป็นลูกหนี้ของเขาเหล่านั้นแล้ว
ข้าพเจ้าก็หมดกําลังใจที่จะขอพระราชทาน เพราะเห็นว่าจะเป็นการแย่งเอาความสุขสําราญ ส่วนพระองค์ท่านมาเป็นของตัว ไม่ชอบด้วยการปฏิบัติของผู้จงรักภักดีอย่างแท้จริง ข้าพเจ้าเห็นว่าความเคารพรักในพระองค์ท่านด้วยน้ำใจสุจริต ไม่หวังอะไรเป็นเครื่องตอบแทนนั่นแหละ เป็นความเคารพรักอันประเสริฐ
นอกจากนั้นข้าพเจ้ามีอายุมากกว่าท่าน ข้าพเจ้าควรจะเป็นผู้ตายก่อน ยังมีพระองค์อยู่ตราบใด ถ้าข้าพเจ้าต้องภัยได้ทุกข์ก็เชื่ออยู่เสมอว่าจะได้รับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ ข้าพเจ้าไม่เคยนึกเลยว่าท่านจะทรงทิ้งข้าผู้ภักดีของท่านไว้ให้อยู่ในความระทมทุกข์แต่ผู้เดียว
เมื่อเสร็จจากงานพระราชสงคราม ก่อนจะกลับจากยุโรป ข้าพเจ้าได้มีความรู้สึกอยู่ว่ามันมีอะไรไม่ดีสําหรับตัวข้าพเจ้าอยู่ในกระทรวงกลาโหม ทําให้ข้าพเจ้าสงสัยว่าจะรับราชการอยู่ต่อไปไม่ได้
ความสงสัยนั้นได้ปรากฏขึ้นเป็นความจริง
วันที่ข้าพเจ้ากลับถึงพระนคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคงเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณตามเคย ได้โปรดเกล้าให้จัดรถพระที่นั่งม้าเทียม 4 สารถีสวมเสื้อแต่งเต็มยศไปรับข้าพเจ้าจากท่าราชวรดิษฐ์ถึงหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง แล้วไปส่งถึงกระทรวงกลาโหม
สองข้างทางมีประชาชนคอยต้อนรับอย่างคับคั่ง ได้รับพระราชทานพระราชสัมผัสโดยทรงสวมกอดข้าพเจ้าต่อหน้าแถวทหาร ยังให้เกิดความปลาบปลื้มและความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอย่างสุดซึ้ง แต่พอพ้นหน้าพระที่นั่ง ข้าพเจ้าจะเข้าไปนั่งใกล้นายทหารผู้ใหญ่คนใดเขาก็หนี
ซึ่งเป็นการแสดงว่าข้าพเจ้าเป็นที่รังเกียจของเขา โดยไม่รู้สึกตัวว่าได้ทำอะไรให้เขา เพราะไม่เคยมีสาเหตุอะไรกับใครเลย นอกจากความเห็นในทางเทคนิคของยุทธวิธีซึ่งแย้งกับผู้ใหญ่ในขณะนั้น และซึ่งงานมหาสงครามได้มาแสดงว่าข้าพเจ้าเป็นฝ่ายถูก นอกจากนั้นก็อาจมีความริษยาที่เกิดขึ้นจากกที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลือกให้ข้าพเจ้าได้เป็นผู้ออกไปเป็นหัวหน้าในราชการสำคัญครั้งนั้น
ข้าพเจ้าจึงได้ตกลงที่จะลาออกจากข้าราชการทหาร ได้ทำหนังสือลาออกไว้เสร็จแล้วจึงได้เข้าไปเฝ้าในที่รโหฐานเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตออกจากราชการ ในฐานะที่ข้าพเจ้าถือว่าท่านเป็นพ่อ ข้าพเจ้าไม่ได้กล่าวหาฟ้องร้องใคร
ได้กราบบังคมทูลเพียงว่า ข้าพเจ้ารู้สึกตัวว่าจะฉลองพระเดชพระคุณในราชการทหารไม่ได้เสียแล้ว ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตลาออกเยี่ยงลูกผู้ดีจะต้องได้รับอนุญาตจากบิดา สำหรับทำอะไรที่สำคัญและเด็ดขาดในชีวิตของตน แต่รับสั่งว่าเมื่อราชการทหารไม่ได้ ก็จะทรงย้ายไปให้เป็นเทศาภิบาล ซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าฯ
ในรุ่งขึ้นข้าพเจ้าก็ได้รับลายพระหัตถ์เลขาเป็นส่วนพระองค์ว่า ตอนนี้มีสำเนาลายพระราชหัตถ์เลขา ได้ทรงตกลงกับเจ้าพระยาสุรสีห์แล้วที่จะให้ข้าพเจ้าออกไปเป็นสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครสวรรค์ ซึ่งข้าพเจ้าจะได้รับคำสั่งตามทางราชการในเร็วๆ วันนี้ แล้วข้าพเจ้าก็ได้รับคำสั่งนั้นใน 3 วันต่อมา
งานชิ้นสำคัญครั้งสงครามที่ยุโรป
งานชิ้นสำคัญที่เป็นเกียรติประวัติที่ข้าพเจ้าได้ฉลองพระเดชพระคุณร่วมกับท่านโดยตรงก็คืองานพระราชสงคราม ณ ทวีปยุโรป ซึ่งข้าพเจ้าได้รับเกียรติโดยได้รับพระราชทานความไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นผู้นำทหารไทยออกไปช่วยสัมพันธมิตร ผู้ทำสงครามเพื่อธรรมานุภาพและมนุษยธรรม
ครั้งนั้น ไม่มีเสนาบดีคนใดที่เห็นด้วยกับพระบรมราโชบาย เพราะขณะนั้นฝ่ายเยอรมันกำลังได้เปรียบและกำลังจะเข้าโจมตีทางด้านฝรั่งเศสอย่างขนานใหญ่ ต้องทรงตัดสินพระทัยอย่างเด็ดขาด และทรงชี้ขาดลงไปว่าจะต้องทำสงครามข้างฝ่ายที่เป็นธรรม เพื่อรักษาธรรม ผู้ที่ไม่กล้าลงทุนทำอะไรนั้น ย่อมไม่ได้อะไร ผู้ไม่รักษาเกียรติย่อมไร้เกียรติ เกียรติและเสรีภาพของมนุษย์กำลังถูกคุกคาม ไทยต้องเข้าช่วยรักษาไว้ให้จงได้ มิฉะนั้นก็ตายเสียดีกว่า เพราะคนหรือชาติที่ไร้เกียรตินั้นไม่ควรดำรงชีวิตอยู่ให้หนักโลก
ผลแห่งงานพระราชสงครามครั้งนั้นย่อมทราบแล้ว แต่ผลที่ประเทศสยามได้รับและที่เราภูมิใจกันอยู่ทุกวันนี้นั้น ยังไม่ทราบกันโดยมาก จึงขอเสนอว่าสิ่งนั้นคืออำนาจศาล และการขึ้นภาษีอากร ซึ่งเราปรารถนามานานแล้ว ทางมหาประเทศได้เริ่มยอมรับการเจรจาทางการทูตกับเราด้วยเรื่องนี้ และรับหลักการต่อเมื่อเสร็จสงครามแล้ว เจ้าหน้าที่การทูตของกระทรวงต่างประเทศเป็นผู้ได้รับเกียรติแห่งการทำสัญญาในต่อมา แต่ถ้าไม่ได้อาศัยพระบรมราโชบายอันเด็ดขาดกล้าหาญ และถ้าไม่มีกองทหารอาสาออกไปช่วยเขาในสมรภูมิบนภาคพื้นทวีปยุโรปแล้ว เราจะได้เอกราชทางศาลดังที่เราได้อยู่เวลานี้แหละหรือ? ผลแห่งพระบรมราโชบายนี้ชาวเรายังรู้กันน้อยไป ยังพูดถึงกันน้อยไป
ตามปกติแล้ว ข้าพเจ้าไม่ใคร่จะได้เข้าไปเฝ้าในที่รโหฐาน ต่อนานๆ คิดถึงท่านเต็มทีจึงจะได้เข้าไปเฝ้าสักครั้ง แต่ทุกครั้งที่เข้าไปเฝ้าก็ได้รับความชื่นใจกลับมา
ระหว่างที่ทรงพระประชวรหนักนั้น ข้าพเจ้าได้เข้าไปคอยเฝ้าฟังพระอาการอยู่ในพระบรมมหาราชวังจนดึกๆ ทุกๆ คืน จนถึงสวรรคต ซึ่งวันนั้นข้าพเจ้าคอยฟังอยู่แต่บ่าย ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวถึงความอาลัยของข้าพเจ้าเพราะย่อมเป็นของธรรมดา แต่มีความรู้สึกขึ้นอย่างหนึ่งว่า ข้าพเจ้าจะเป็นผู้หมดวาสนาแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ความรักระหว่างล้นเกล้าล้นกระหม่อม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับข้าพเจ้านั้นเป็นความรักระหว่างเจ้ากับข้าผู้ภักดี ผู้ซึ่งได้มีความคุ้นเคยกันมาแต่พอจําความได้ เป็นความรักซึ่งเกิดขึ้นด้วยความสุจริตใจ ไม่มีความเห็นแก่ตัว หรือความหวังผลตอบแทนแต่อย่างใด แต่เป็นความรักตามธรรมชาติ และหลักศีลธรรมอันดีอย่างเดียวเท่านั้น
เมื่อพูดถึงพระเดชแล้ว คนโดยมากที่อยู่ห่างเบื้องพระยุคลบาท น่าจะเข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขาดพระสมบัตินี้ไป แต่ที่จริงนั้น ล้นเกล้าล้นกระหม่อมไม่ได้ขาดพระเดช แต่หากมิได้ใช้พระเดชอย่างฟุ่มเฟือยพร่ำเพรื่อต่างหาก
ในการปกครองไพร่ฟ้าประชาชนของพระองค์นั้น ได้ทรงถือมติว่า ให้เขาทําถวายด้วยความรักด้วยความจงรักภักดี ไม่ใช่ให้เขาทําถวายด้วยความกลัว
ล้นเกล้าล้นกระหม่อมทรงเป็นจอมปราชญ์ พระองค์ทรงตระหนักพระราชหฤทัยว่า ความรักเป็นสิ่งประเสริฐที่จะเป็นทางนําพระบรมเดชานุภาพมาถวายด้วยความวัฒนาถาวร จึงทรงแผ่พระเดชไปในทางสร้างความจงรักภักดี ไม่ทรงยินดีต่อการแสดงอํานาจด้วยการสร้างความกลัวซึ่งจะไม่เป็นการยืนยงคงอยู่ได้ แต่เมื่อถึงคราวจําเป็นต้องแสดงความตกลงพระราชหฤทัยอย่างเด็ดขาดเมื่อใด ล้นเกล้าล้นกระหม่อมก็ได้แสดงออกมาให้ปรากฏได้ เยี่ยงวีรกษัตริย์ที่แท้จริง
ข้าพเจ้าจะขอยกตัวอย่างที่จะเห็นได้อย่างเด่นชัดคือ เมื่อคราวประกาศสงครามกับประเทศท่ามกลางยุโรป ซึ่งในที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่และเสนาบดีทุกท่าน ไม่มีใครเห็นด้วยในพระราชดําริ เพราะสัมพันธมิตรกําลังเข้าที่คับขัน และรัสเซียกําลังเปลี่ยนการปกครอง ถ้ารัสเซียต้องออกไปจากสงคราม โดยอธิราชวงศ์โรมานอฟต้องออกจากราชบัลลังก์เยอรมันและเอาสเตรีย ฮังการี ก็จะถอนกําลังจากด้านตะวันออกไปทําการรบทางยุโรป ด้านตะวันตกได้ตั้งร้อยกองพล
ล้นเกล้าล้นกระหม่อมได้ตกลงพระราชหฤทัยอย่างเด็ดขาดประกาศสงครามเข้าข้างสัมพันธมิตร ได้ทรงถือพระราชอาญาสิทธิ์แห่งการเป็นกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ได้ทรงฝืนมติคณะเสนาบดีและบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่แล้ว เราก็ได้เห็นทหารไทยไปทําสงครามเคียงบ่าเคียงไหล่กับราชสัมพันธมิตรอย่างมีสง่า
และในที่สุดฝ่ายเราก็ได้ชัยชนะ
ซึ่งยังผลให้พวกเราได้รับอยู่ทุกวันนี้คือ เอกราชทางศาลและอธิปไตยอันสมบูรณ์นี้ก็คือผลแห่งพระเดชของล้นเกล้าล้นกระหม่อม ซึ่งพวกเราโดยมาก ไม่ได้ทราบหรือไม่ได้คํานึงถึง
สําหรับตัวข้าพเจ้านั้น ขอประกาศเลยทีเดียวว่าข้าพเจ้ากลัวพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาก ท่านเป็นมนุษย์คนเดียวและเป็นสิ่งเดียวที่ข้าพเจ้ากลัวในโลกนี้ บางทีท่านผู้อ่านจะสงสัยว่า ก็ข้าพเจ้าเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิม เป็นราชองครักษ์ และเป็นผู้ที่อยู่ในข่ายพระมหากรุณาธิคุณ มีความสนิทสนมกับท่านเป็นที่สุดแต่เล็กแต่น้อย ทําไมจึงกลัว
ข้าพเจ้ากลัวไม่ใช่กลัวว่าจะถูกลงพระราชอาญาหรือถูกขับไล่ไสส่ง ข้าพเจ้าเป็นข้าผู้ฆ่าไม่ตายขายไม่ขาด ข้าพเจ้าเชื่อเสมอว่าถ้าข้าพเจ้ามิได้ทําความชั่วขึ้นเองแล้ว ท่านจะไม่ทรงทอดทิ้งข้าพเจ้าเลย แต่ที่ข้าพเจ้าว่าข้าพเจ้ากลัวท่านนั้น เพราะท่านได้กําเอาความรักของข้าพเจ้าไว้ได้โดยสิ้นเชิง ข้าพเจ้าจะทําอะไรจะคิดอะไรในทางที่จะไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัยไม่ได้ เพราะกลัวว่าท่านจะเสียพระราชหฤทัยที่ได้พระราชทานพระมหากรุณา และความไว้วางพระราชหฤทัยในตัวข้าพเจ้า ผู้ไม่เป็นผู้สมควรได้รับ
เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่จะทําให้เป็นที่ขุ่นหมองถึงเบื้องพระยุคลบาทแล้ว สิ่งนั้นข้าพเจ้าก็ต้องงดเว้น และความกลัวนี้เอง ได้เป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้าบําเพ็ญแต่คุณงามความดี ให้เป็นที่สบพระราชอัธยาศัยมาแต่หนุ่มจนแก่ และผลที่ข้าพเจ้าได้รับก็คือ พระเดชของล้นเกล้าล้นกระหม่อมของข้าพเจ้าได้มีส่วนสําคัญในการสร้างตัวของข้าพเจ้าให้เป็นตัวของข้าพเจ้า ดังที่แลเห็นอยู่ทุกวันนี้
ล้นเกล้าล้นกระหม่อมจะทรงสถิตอยู่ ณ สถานพิมานใดก็ตาม ข้าพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นข้าเก่าผู้ภักดีขอพระราชทานยืนยันความจงรักภักดีและความอาลัยรักอย่างสุดซึ้งถวายมาพร้อมกับน้ำตาของทหาร ผู้ไม่เคยร้องไห้ให้ใครเลย
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ : 29 พฤศจิกายน 2561