“อินเดียนา โจนส์ แห่งโลกศิลป์” นักสืบโบราณวัตถุผู้พบสมบัติฮิตเลอร์ที่คนคิดว่าถูกทำลาย

อาร์เธอร์ แบรนด์ "นักสืบงานศิลปะ" กับภาพโมเสค "นักบุญมาร์ก" (มาระโก) งานศิลปะหายากที่ถูกขโมยจากไซปรัส ถ่ายเมื่อ 17 พ.ย. 2018 (ภาพโดย JAN HENNOP / AFP)

ในบรรดาวงการโบราณวัตถุหรือนักสะสมของเก่าในตะวันตกต้องรู้จักชื่อ อาร์เธอร์ แบรนด์ นักสืบที่ค้นหางานศิลปะและของหายากต่างๆ ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม “อินเดียนา โจนส์ แห่งโลกศิลปะ”

อาร์เธอร์ คือผู้ค้นพบรูปปั้นม้าขนาดใหญ่ที่เดิมทีตั้งหน้าที่ทำงานของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์, ภาพเขียนของซัลวาดอร์ ดาลี (Salvador Dali) มูลค่านับล้านปอนด์ และล่าสุดเพิ่งค้นพบภาพโมเสค (Mosaic) หรือภาพที่สร้างขึ้นจากการประกอบกระจกสีจากศตวรรษที่ 6 ซึ่งถูกขโมยจากไซปรัสในยุค 70s

รายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศหลายแห่งเปิดเผยว่า ผลงานล่าสุดของอาร์เธอร์ แบรนด์ (Arthur Brand) นักค้นหาโบราณวัตถุชาวดัตช์คือการค้นพบภาพโมเสคเก่าแก่มีอายุราว 1,600 ปี ที่แฟลตแห่งหนึ่งในโมนาโก และส่งมอบให้สถานกงสุลไซปรัสในเนเธอร์แลนด์เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ภาพโมเสคที่เป็นภาพเหมือนของ “นักบุญมาร์ก” (มาระโก) ถูกขโมยไปจากโบสถ์ Panayia Kanakaria ห่างจากกรุงนิโคเซีย เมืองหลวงของไซปรัสประมาณ 105 กิโลเมตร รายงานข่าวเผยว่า แบรนด์ ค้นหาภาพนี้ทั่วยุโรป ใช้เวลานาน 2 ปี และแกะรอยมาถึงผู้ครอบครองรายล่าสุดที่เป็นครอบครัวชาวอังกฤษ

นักสืบรายนี้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีเผยว่า ครอบครัวผู้ครอบครองซื้อภาพโมเสคมาด้วยเจตนาบริสุทธิ์ตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อน เมื่อครอบครัวที่ครอบครองรู้ว่ามันเป็นงานศิลปะที่ประเมินค่าไม่ได้ซึ่งถูกขโมยมาจากโบสถ์ในยุค 70s พวกเขาตกใจมาก

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2016 แบรนด์ ก็เป็นผู้สืบเสาะจนค้นพบภาพเขียน Adolescence ของซัลวาดอร์ ดาลี (Salvador Dali) ในปี ค.ศ. 1941 และภาพ La Musicienne ของ ทามารา เดอ เลมปิคกา (Tamara de Lempicka) จิตรกรโปแลนด์ที่โด่งดังจากงานสไตล์ Art Deco ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะถูกตามกลับมาได้แล้ว แต่ก็ได้กลับมาหลังแบรนด์ สืบสวนสอบสวนนานหลายเดือน

รายงานข่าวเผยถึงรายละเอียดการสืบสวนครั้งเมื่อปี 2016 ว่า หลังจากการสอบสวนแก๊งอาชญากร 2 กลุ่มอย่างรอบคอบที่สุดนานถึง 9 เดือน แบรนด์ ก็สามารถนำภาพทั้งสองที่เชื่อว่ามีมูลค่าประมาณ 6.5 ล้านปอนด์กลับมาคืนได้

ขณะที่ปี 2015 แบรนด์ ก็สืบค้นจนสามารถนำรูปปั้นม้า 2 ตัวขนาดใหญ่ที่เคยถูกบันทึกว่าตั้งไว้หน้าออฟฟิศของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำเผด็จการของเยอรมนีกลับมาได้ แม้ว่าหนังสือประวัติศาสตร์บางเล่มจะบันทึกว่ารูปปั้นนี้ถูกทำลายไปแล้วในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รายงานข่าวเผยว่า แบรนด์ ใช้วิธีหลอกล่อคนกลุ่มหนึ่งในกลุ่มพวกที่เห็นอกเห็นใจนาซีให้เผยที่เก็บรูปปั้นม้าขนาดใหญ่ได้

แบรนด์ ไม่ได้มีอาชีพหลักเป็นนักสืบงานศิลปะ เขามีบริษัทให้คำปรึกษานักสะสมงานศิลปะและของโบราณไม่ให้หลงซื้อของปลอม ซึ่งเป็นงานที่ใช้เวลาในชีวิตประจำวันของเขาประมาณร้อยละ 70 นั่นหมายความว่าเขามีข้อมูลและหลักฐานผ่านสายตามามากมาย และในการสืบค้นรูปปั้นม้า เขาใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูลตั้งแต่การใช้ความสัมพันธ์กับนายทหาร ภาพถ่ายจากดาวเทียม และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในแต่ละพื้นที่ นั่นเป็นองค์ประกอบที่ทำให้เขาได้ข้อมูลที่ตั้งของรูปปั้นม้าขนาดใหญ่ที่เคยตั้งตระหง่านหน้าประตูออฟฟิศของฮิตเลอร์

แบรนด์ เพิ่มเริ่มต้นอาชีพเสริมในการค้นหาของโบราณเมื่อปี 2002 ในฐานะที่เป็นนักสะสมและเริ่มรู้ตัวว่าเคยลงทุนกับของปลอมไปบ้างแล้ว กระทั่งได้มีโอกาสทำความรู้จักกับมิเชล ฟาน ไรจ์น (Michel van Rijn) ผู้ลักลอบขนงานศิลปะเถื่อนชาวดัตช์ที่มีชื่ออื้อฉาวในวงการที่ช่วงหลังมาประสานให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

มิเชล เชิญเขามาที่ลอนดอนขณะที่กำลังทำงานร่วมกับสกอตแลนด์ยาร์ด, เอฟบีไอ, นักปลอมแปลมของโบราณชื่อกระฉ่อน และนักลักลอบขนของเถื่อน มิเชล ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อแบรนด์ ทำให้เขาเริ่มทำงานนี้ได้ตั้งแต่วันแรกที่สัมผัสกับสายงานนี้

อย่างไรก็ตาม แบรนด์ ยอมรับว่า การติดตามงานศิลปะที่ถูกชิงไปโดยกลุ่มขโมยติดอาวุธมักเป็นเรื่องยาก มีงานศิลปะแค่ร้อยละ 5 เท่านั้นที่สามารถติดตามกลับมาจากกลุ่มหัวขโมยได้ เนื่องจากเมื่อกลุ่มผู้ก่อการเริ่มรู้ตัวว่าเจ้าหน้าที่กำลังติดตามใกล้เข้ามาแล้วก็มักทำลายงานศิลปะและหลักฐานต่างๆ หรือปล่อยของกลางอย่างรวดเร็ว

กรณีภาพเขียนมูลค่ามหาศาลของดาลี และเลมปิคกา ที่เขาตามกลับมาได้เมื่อปี 2016 เปลี่ยนมือเจ้าของมาแล้ว 10 ครั้งนับตั้งแต่ปี 2009 ซึ่งภาพถูกขโมยจากพิพิธภัณฑ์ในเนเธอร์แลนด์

แบรนด์ เผยว่า แก๊งอาชญากรที่ขโมยงานศิลปะนี้ลงมือเพราะชมภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ (James Bond) ภาค Dr. No และคิดว่าคงมีมหาเศรษฐีที่ต้องการซื้อภาพเขียนที่ถูกขโมยมาสะสม แต่แล้วก็รู้ทีหลังว่าในโลกความเป็นจริงไม่มี “Dr. No” มาซื้องานศิลปะ

ในโลกความเป็นจริงมีองค์กรที่เรียกค่าไถ่งานศิลปะด้วยเหตุผลหลายอย่าง อาทิ ไออาร์เอ (IRA) ที่ใช้งานศิลปะของกลางซึ่งถูกขโมยมาเป็นเครื่องมือต่อรองเมื่อพวกเขาถูกจับ พวกเขาจะเจรจาต่อรองโดยอาศัยงานศิลปะเป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้ข้อตกลงที่พอใจ แนวทางแบบนี้ก็มีอยู่ในแก๊งอาชญากรรมในอิตาลี แบรนด์ เผยว่า แก๊งมาเฟียอิตาเลียนมีส่วนอย่างมากในมุมมืดของวงการศิลปะ

“ผมเคยต้องต่อรองข้อตกลงนำงานศิลปะคืนจากมาเฟีย ผมไม่ประสบความสำเร็จ ข้อตกลงที่มาเฟียต้องการคืออยากให้พวกของเขาที่อยู่ในเรือนจำเข้าถึงโทรศัพท์ได้สะดวกขึ้น จะได้โทรศัพท์ออกมาจากที่คุมขังได้อาทิตย์ละครั้ง” แบรนด์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Independent เมื่อปี 2016

ผลงานอื่นที่เลื่องชื่อในแวดวงศิลปะอีกอย่างของแบรนด์ คือค้นพบสิ่งของจากขุมทรัพย์อายุ 1,300 ปีที่ถูกลักขโมยไปจากสุสานในเปรู แต่การเข้าสู่วงการนี้ก็ต้องอาศัยประสบการณ์ในตลาดมืดเช่นกัน แบรนด์ รู้จักตลาดมืดสำหรับของโบราณโดยบังเอิญเมื่อเขาติดตามกลุ่มยิปซีไปในทะเลทรายนอกเขตแอนดาลูเซีย ในสเปน

เขาได้รับเชิญไปร่วมกิจกรรมในพื้นที่ขุดหาของโบราณแบบผิดกฎหมาย และได้พบเห็นเหรียญโรมันโบราณที่เชื่อว่ามีอายุมากกว่า 2,000 ปีจึงเริ่มให้ความสนใจและเก็บสะสมเหรียญ แน่นอนว่า สำหรับนักสะสมแล้ว ไม่มีอะไรย่ำแย่กว่าการสัมผัสของเลียนแบบ เพื่อให้แยกแยะว่าเหรียญไหนเป็นของจริงหรือปลอม ก็ต้องศึกษาข้อมูล แบรนด์ จึงรู้จักกับมิเชล ฟาน ไรจ์น ผ่านหน้าสื่อหนังสือพิมพ์ดัตช์และติดต่อไปนั่นเอง



อ้างอิง:

“‘Indiana Jones of art’ finds stolen Cyprus mosaic”. BBC. 18 Nov 2018. <https://www.bbc.com/news/world-europe-46252520>

Battersby, Matilda. “How art detective Arthur Brand recovered two multi-million pound pieces of stolen art”. The independent. 3 Aug 2016. <https://www.independent.co.uk/arts-entertainment/art/features/art-detective-arthur-brand-stolen-dutch-a7170401.html>

Mufson, Beckett. “Meet the Indiana Jones of Stolen Art”. Vice. 21 Jan 2016. <https://www.vice.com/en_us/article/bmybyd/arthur-brand-ukraine-feature>


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 20 พฤศจิกายน 2562