ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2532 |
---|---|
ผู้เขียน | พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ |
เผยแพร่ |
มีประเด็นที่ถกเถียงกันทางวิชาการประเด็นหนึ่งจนเป็นที่สนใจของคนไทยทุกระดับ คือการถกเถียงเกี่ยวกับหลักหินชิ้นสำคัญ ศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่าทำขึ้นในสมัยใดแน่ พ่อขุนรามคำแหงหรือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ข้อถกเถียงต่างๆ ที่ต่างฝ่ายต่างยกหลักฐานขึ้นมาอ้างนั้น ได้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในวารสารเล่มนี้ (นิตยสารศิลปวัฒนธรรม) ติดต่อกันมาหลายฉบับและที่พิมพ์เผยแพร่อื่นๆ ก็มีอยู่ไม่น้อย
ผู้เขียนขอเรียนแต่ต้นเลยว่า ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายที่เสนอว่าสร้างขึ้นในสมัย ร. 4 ซึ่งเหตุผลต่างๆ นั้นจะไม่เสนอในที่นี้อีก เนื่องจากไม่อาจหาหลักฐานมาคัดค้านมากเกินกว่าที่ฝ่ายค้านซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญได้ยกขึ้นมาคัดค้านไว้หมดแล้ว
แต่หัวเด็ดตีนขาดอย่างไรผู้เขียนก็ไม่เชื่อว่าพ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้ทำจารึกหลักนี้ขึ้น เพราะแนวคิดเรื่องว่าตัวอักษรคือสิ่งที่เป็นวิวัฒนาการ อะไรที่อยู่ในสายวิวัฒนาการแล้วย่อมหาต้นมิได้ เท่านี้ก็เพียงพอที่ผู้เขียนจะไม่ยอมรับเรื่องพ่อขุนรามคำแหงทรงเป็นต้นคิดประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้นเป็นคนแรก ตามรูปอักษรและอักขรวิธีในศิลาจารึกหลักที่ 1
อักขรวิธีที่ผิดปกติ
ผู้เขียนมีความเห็นว่า ศิลาจารึกหลักที่ 1 น่าจะคิดทำขึ้นด้วยวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งในสมัยสุโขทัย โดยหันไปเอารูปตัวอักษรโบราณที่ไม่นิยมใช้แล้วในสมัยนั้น และพลิกแพลงอักขรวิธีขึ้นให้แปลกไปจากที่ใช้กันในสมัยนั้นเพื่อให้ดูสมจริงกับที่จะเป็นของที่ทำขึ้นในสมัย “เก่า” (คือสมัยพ่อขุนรามคำแหง)
วัตถุประสงค์ที่ทำขึ้น เป็นประเด็นทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจศึกษาประเด็นหนึ่ง ซึ่งควรศึกษากันต่อไปเมื่อได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ศิลาจารึกหลักที่ 1 ให้กว้างขวางออกไปอีก (ดังนั้น ประเด็นถกเถียงที่ผ่านมาจึงเท่ากับเป็นก้าวแรกที่หยิบหลักฐานชิ้นนี้ลงมาใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แทนที่จะเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ประดิษฐานอยู่ในพานทองใครแตะต้องไม่ได้เหมือนกับที่แล้วๆ มา)
รูปอักษรที่ไม่นิยมใช้กันแล้วในกรุงสุโขทัยสมัยที่ทำศิลาจารึกหลักที่ 1 คือรูปอักษรที่ใช้ในศิลาจารึกวัดปงสนุก อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ได้รับการหยิบยืมมาเป็นรูปอักษรที่ใช้ในศิลาจากรึกหลักนี้
แต่ในเรื่องอักขรวิธีในศิลาจารึกหลักที่ 1 เป็นปัญหาที่ผู้เขียนพยายามหาคำตอบ ว่าผู้ทำศิลาจารึกหลักที่ 1 ไปได้ความคิดเช่นนี้มาจากไหน
อักขรวิธีที่แปลกประหลาดในศิลาจารึกหลักที่ 1 คือการวางรูปสระ พยัญชนะอยู่ในบรรทัดเดียวกันไม่ว่าจะเป็นรูปสระอี หรือสระอิ ฯ ที่อยู่ข้างบน หรือสระอุ สระอู ที่อยู่ข้างล่าง ต่างก็ได้รับการนำมาเรียงไว้ในบรรทัดเดียวกันกับตัวพยัญชนะหมด
การวางรูปพยัญชนะไว้ในบรรทัดเดียวกันนี้ มิใช่อักขรวิธีของไทยตามแบบแผนที่รู้จักกันมาแต่ไหนแต่ไร หรือแบบอักขรวิธีของเพื่อนบ้านใกล้เคียงร่วมสมัยกับชาติใดทั้งสิ้น
แม้แต่ศิลาจารึกวัดปงสนุก อำเภอวังชิ้น ที่มีรูปอักษรคล้ายคลึงกับรูปอักษรในศิลาจารึกหลักที่ 1 มากที่สุด ก็ยังวางรูปสระไว้ข้างบน ข้างล่าง ข้างหน้า ข้างหลัง ของตัวพยัญชนะตามปกติ
จะมีก็แต่อักขรวิธีตามแบบอักษรโรมัน (หนังสือฝรั่ง) เท่านั้นที่มีการวางพยัญชนะและสระไว้ในบรรทัดเดียวกัน
ด้วยเหตุนี้จึงเพิ่มข้อกังขาให้แก่ผู้สนใจศึกษาบางท่านว่า ศิลาจารึกหลักนี้น่าจะทำขึ้นในสมัยหลังมากๆ โดยผู้รู้ที่รู้อักขรวิธีแบบอักษรโรมัน
สำหรับผู้เขียนนั้น แม้จะเห็นอักขรวิธีของศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า แปลกประหลาดผ่าเหล่าผ่ากอไปจากอักขรวิธีที่ใช้กันในเอเชียอาคเนย์แต่ยังเห็นว่าสาระสำคัญในศิลาจารึกหลักที่ว่า มีความสอดคล้องกับแนวคิดบางประการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สุโขทัยที่ผู้เขียนศึกษาอยู่ ดังนั้นในการนำศิลาจารึกหลักที่ 1 มาเป็นหลักฐานอ้างอิงจึงทำด้วยความระมัดระวังอยู่เสมอมา มิให้ออกนอกกรอบจากที่อาจนำมาใช้เป็นหลักฐานได้
แต่เพิ่งพยายามหาหลักฐานมาอธิบายในคราวนี้เอง เมื่อการถกเถียงเรื่องศิลาจารึกหลักที่ 1 ทวีความดุเดือดยิ่งขึ้น
แหล่งของข้อมูลประเภทนี้อยู่ที่หอวชิรญาณ หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร
ผู้ที่คอยต้อนรับและให้ข้อมูลแก่ผู้ใฝ่ใจศึกษา คือคุณเทิม มีเต็ม ผู้เชี่ยวชาญอ่านอักษรโบราณประจำอยู่ที่นั่น
แบบอย่างตัวอักษรที่เป็นลายมือคัดลอก หรือข้อมูลบางอย่างที่ซ่อนเร้นอยู่ในศิลาจารึกที่ได้รับการยกขึ้นมาเป็นข้อมูลในประเด็นถกเถียงกันทางวิชาการครั้งนี้ ผู้เขียนทราบว่าได้รับการอนุเคราะห์จากหอวชิรญาณนี้ ซึ่งทั้งฝ่ายเสนอและฝ่ายค้านบางท่านย่อมทราบดีอยู่แก่ใจ
กุญแจไขปัญหาจากหอวชิรญาณ
ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการวางรูปพยัญชนะและสระไว้ในบรรทัดเดียวกันของศิลาจารึกหลักที่ 1 เป็นปัญหาที่ผู้เขียนได้พาไปสู่หอวชิรญาณเพื่อขอความอนุเคราะห์ว่า นอกจากอักขรวิธีที่ใช้ในอักษรโรมันแล้ว จะมีอักษรอะไรอื่นที่ไหนที่มีการเอารูปสระที่ควรจะอยู่ข้างบนหรือข้างล่างรูปพยัญชนะ มาไว้บนบรรทัดเดียวกันกับพยัญชนะ
ต่อไปนี้คือข้อมูลที่คุณเทิม มีเต็มได้หยิบออกมาให้ดูเป็นตัวอย่างเท่าที่จะนึกได้
รูปที่ 1 คือภาพถ่ายสำเนาศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้านที่ 1 ศิลาจารึกหลักนี้มีการวางรูปสระและพยัญชนะอยู่ในบรรทัดเดียวกันทั้งหมด (ที่เป็นปัญหา)
ในบรรทัดที่ 1 คุณเทิม มีเต็ม ได้ขีดเส้นใต้รูปสระอี จากชื่อศรีอีนทราทีตย และขีดเส้นใต้รูปสระอืจากประโยคที่ว่า แม่ชื่อนางเสือง
เป็นตัวอย่างให้เห็นหน้าตาของสระอีและสระอืที่วางอยู่ในบรรทัดเดียวกันกับพยัญชนะของศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า
สระอี มีหน้าตาเป็นวงกลมและมีเส้นตั้งผ่ากลางวงกลม
สระอื มีหน้าตาเป็นวงกลมและมีวงกลมเล็กซ้อนอยู่ข้างใน
รูปที่ 2 คือภาพถ่ายสำเนาศิลาจารึกหลักที่ 3 ตั้งแต่บรรทัดที่ 36-40 ของด้านที่ 1 ซึ่งพระมหาธรรมราชาลิไทผู้เป็นหลานปู่ของพ่อขุนรามคำแหงทรงโปรดให้จารึกขึ้นเมื่อหลัง พ.ศ. 1900 แล้ว
ศิลาจารึกหลักนี้มีอักขรวิธีแบบแผนที่ยึดถือกันมาของไทย คือ รูปสระควรจะอยู่ข้างบนก็เขียนไว้ข้างบน รูปสระที่ควรอยู่ข้างล่างก็เขียนไว้ข้างล่าง หรือข้างหน้าข้างหลังเป็นปกติ
แต่ในบรรทัดที่ 38 คุณเทิม มีเต็ม ได้ขีดเส้นใต้คำว่า อืน ซึ่งอ่านตามความเข้าใจปัจจุบันว่า อื่น
คำๆ นี้กลับเอารูปสระอื มาไว้ข้างหน้าพยัญชนะ น ในบรรทัดเดียวกัน
และหน้าตาของสระอื ก็เหมือนกันกับสระอืในศิลาจารึกหลักที่ 1 คือมีวงกลมเล็กซ้อนในวงกลมใหญ่
รูปที่ 3 คือภาพถ่ายศิลาจารึกหลักที่ 3 เช่นกัน แต่เป็นด้านที่ 2 ระหว่างบรรทัดที่ 40-42 ซึ่งด้านนี้เช่นกันที่มีอักขรวิธีตามแบบแผนของไทยโดยตลอด
แต่มีอยู่ที่หนึ่งในบรรทัดที่ 41 คุณเทิม มีเต็ม ได้ขีดเส้นใต้คำว่า อีง
คำๆ นี้เอารูปสระอีมาไว้ข้างหน้าพยัญชนะ ง ในบรรทัดเดียวกัน
และหน้าตาของสระอี ก็เหมือนักนกับรูปสระอีในศิลาจารึกหลักที่ 1 คือเป็นรูปวงกลม มีเส้นตั้งขีดแบ่งกลางวงกลม
รูปที่ 4 คือภาพถ่ายศิลาจารึกวัดพระยืน จังหวัดลำพูน ระหว่างบรรทัดที่ 12-17 ศิลาจารึกหลักนี้เป็นเรื่องการเผยแพร่พุทธศาสนาของพระสุมนะเถร ที่พระมหาธรรมราชาลิไทส่งขึ้นไปเมื่อ พ.ศ. 1912 และจารึกขึ้นเมื่อประมาณช่วง 2-3 ปีหลังจากที่ขึ้นไปนั้น
ในบรรทัดที่ 15 คุณเทิม มีเต็ม ได้ขีดเส้นใต้คำว่า อีน และ คำว่า อีก ซึ่งทั้งสองคำมีรูปสระอี เขียนอยู่ในบรรทัดเดียวกันกับพยัญชนะ คือ วางอยู่ข้างหน้าพยัญชนะ น และ ก
หน้าตาของรูปสระอีในศิลาจารึกนี้ ก็คล้ายกันกับรูปสระอีในศิลาจารึกหลักที่ 1 คือเป็นรูปวงกลม และมีเส้นตั้งขีดกลางวงกลมแต่ต่างกันเล็กน้อยที่ศิลาจารึกวัดพระยืนจะขีดเส้นตั้งกลางวงกลมเลยเส้นรอบวงขึ้นไปข้างบน โดยเริ่มขีดจากประมาณเหนือเส้นรอบวงด้านล่างข้างในขึ้นไปเล็กน้อย
รูปสระลอยคือลูกกุญแจ
จากหลักฐานที่คุณเทิม มีเต็ม ชี้ให้ผู้เขียนนำไปคิดต่อ (เหมือนกับที่เคยชี้ให้นักวิชาการหลายท่านไปแล้ว) ผู้เขียนจึงขอสรุปหลักฐานนี้ว่า
ในสมัยของพระมหาธรรมราชาลิไท (พ.ศ. 1890-1913, 4) ถึงแม้ว่าการเขียนลายลักษณ์อักษรจะมีอักขรวิธีเหมือนกับอักขรวิธีตามปกติของไทย คือรูปสระใดอยู่ข้างบน ข้างล่าง ข้างหน้า ข้างหลัง ก็ไว้ตามนั้นอย่างที่รู้จักกัน ยังมีการเขียนรูปสระอีกแบบหนึ่งซึ่งเป็นวิธีการเขียนสืบต่อจากวิธีการเขียนอักษรโบราณจากอินเดียคือการวางรูปสระไว้ข้างหน้าพยัญชนะในบรรทัดเดียวกันในกรณีที่เป็นสระลอย ซึ่งตามหลักฐานที่นำมาเสนอ ได้พบการใช้สระลอยสองรูป คือสระอีและสระอื
สระลอยคือรูปสระที่ใช้วางข้างหน้าพยัญชนะเมื่อคำ นั้น พยางค์แรกออกเสียงสระ เช่น อาทิตย์ อุทัย อริน อินทรีย์ ฯลฯ
สำหรับอักขรวิธีของไทยปัจจุบันไม่ใช้รูปสระลอย แต่ใช้ตัวพยัญชนะ อ ผสมกับรูปสระ เช่น
อ ผสมรูปสระ -า อ่านว่า อา
อ ผสมรูปสระ -ิ อ่านว่า อิ
อ ผสมรูปสระ -ุ อ่านว่า อุ ฯลฯ
หรือถ้าเป็นสระ -ะ เสียงสั้นก็ใช้ตัวพยัญชนะ อ ตัวเดียวนำหน้า เช่น อริน อ่านว่า อะริน ซึ่งในกรณีหลังนี้อาจจะถือว่าตัวพยัญชนะ อ ที่นำหน้านี้คือรูปสระลอยสระ -ะ ที่หลงเหลือมาจนทุกวันนี้ก็ได้
แต่อักขรวิธีของแขกซึ่งเป็นต้นแบบของรูปอักษรในเอเชียอาคเนย์นั้น จะมีรูปสระลอยโดยเฉพาะ ไม่ใช่ตัวพยัญชนะ อ มาผสมแบบไทย
ดังนั้น คำที่ยกมากล่าวข้างต้นถ้าเขียนตามอักขรวิธีของแขก ไม่ว่าจะเป็นอักษรเทวนาครี อักษรปัลลวะ ฯลฯ ก็จะเขียนได้ดังนี้
(รูปสระลอย อะ) ริน อ่านว่า อะริน
(รูปสระลอย อุ) ทัย อ่านว่า อุทัย
(รูปสระลอย อิ) นทรีย์ อ่านว่า อินทรีย์ ฯลฯ
จากหลักฐานที่ยกมาแสดงในรูปที่ 2, 3 และ 4 คือการใช้สระลอยในอักขรวิธีของไทย ซึ่งยังหลงเหลือตกทอดมาจากอักขรวิธีของแขกและยังใช้อยู่ในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท รูปสระลอยอื่นๆ ควรจะมีจนครบเท่าที่จำเป็นจะต้องใช้ แต่ที่เหลือเป็นหลักฐานที่ค้นพบได้ขณะนี้ มีสองรูปสระลอยคือ สระอีและสระอื ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับ สระอี และสระอื ในศิลาจารึกหลักที่ 1
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงอาจอธิบายได้ว่า การที่ศิลาจารึกหลักที่ 1 เอารูปสระมาอยู่ในบรรทัดเดียวกันกับตัวพยัญชนะนั้น เป็นการแผลงเอารูปสระลอยของไทยมาใช้นั่นเอง แต่มิได้มาใช้ในฐานะเป็นสระลอยอย่างเดียว หากแต่ว่านำมาใช้ผสมกับพยัญชนะไปทุกคำ เหมือนกับเป็นรูปสระธรรมดาทั่วไป (เลยต้องเอามาไว้บรรทัดเดียวกันกับพยัญชนะตามตำแหน่งการวางรูปสระลอย)
กล่าวอีกนัยหนึ่ง ศิลาจารึกหลักที่ 1 คือที่ที่รวบรวมรูปสระลอยของไทยที่มีใช้อยู่ทุกตัวเอามาไว้ด้วยกันนั่นเอง
ถึงจะแผลงไปหน่อย คนก็ยังอ่านออก
ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นการแสดงหลักฐานเพื่อสร้างคำตอบให้แก่คำถามที่ว่า การวางรูปสระพยัญชนะไว้ในบรรทัดเดียวกันของศิลาจารึกหลักที่ 1 นั้น ไปได้แนวคิดมาจากไหน ถ้ามิใช่ได้แนวคิดมาจากอักษรฝรั่ง
และเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็สามารถที่จะอธิบายได้อีกว่า ผู้ทำศิลาจารึกหลักที่ 1 สามารถบรรลุวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งของตนได้เพราะผู้รู้ในสมัยนั้น (สมัยสุโขทัย) ย่อมสามารถที่จะอ่านศิลาจารึกหลักนี้ออก
แต่อย่าเพิ่งสรุปว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 ประดิษฐ์ขึ้นโดยพ่อขุนรามคำแหง เพราะในคำอธิบายเกี่ยวกับการยืมรูปสระลอยมาใช้ในบทความนี้ก็เป็นการปฏิเสธในตัวแล้ว ว่าการทำเช่นนั้นมิได้เป็นวิวัฒนาการของอักขรวิธี แต่เป็นการ “แหวกประเพณี” อย่างหนึ่ง
รวมทั้งเหตุผลอื่นๆ ที่จะไม่ขอกล่าวในที่นี้ เพราะมีผู้กล่าวในที่อื่นแล้ว ถึงเหตุผลที่ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าไม่ใช่ศิลาจารึกที่พ่อขุนรามคำแหงทรงทำขึ้น (เช่น ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร)
แต่จะทำเมื่อใด ด้วยวัตถุประสงค์อย่างไร และท่ามกลางสถานการณ์อย่างไรนั้น ผู้เขียนมีความเห็นว่าน่าจะเป็นประเด็นถกเถียงกันได้สนุกและได้ประโยชน์กว่าที่จะมาอุดปากปิดความคิดคนอื่นมิให้คิดว่าทำในสมัยรัชกาลที่ 4 และเจตนยัดเยียดความงมงายให้คนอื่นว่าทำโดยพ่อขุนรามคำแหงเหมือนกับที่ตนเองที่ยังคงงมงายอยู่ว่าพ่อขุนรามคำแหงเคยไปเมืองจีน 2 ครั้ง
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ที่มา :
วรรณกรรมการเมือง เรื่อง “อานุภาพพ่อขุนอุปถัมภ์” ศึกศิลาจารึก ที่พ่อขุนรามคำแหงไม่ได้แต่งยุคสุโขทัย (หมายเหตุ บทความเรื่องนี้เคยตีพิมพ์แล้วในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 10 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2532)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ กันยายน 2559