ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อแรกเริ่มมีมนุษย์ในดินแดนไทย มนุษย์จะอาศัยตามเพิงผาหรือถ้ำ จากหลักฐานทางโบราณคดี พบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ อายุมากกว่า 10,000 ปี เช่น ที่ถ้ำหลังโรงเรียน ถ้ำหมอเขียว อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ถ้ำผีแมน อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นต้น
ในช่วงระหว่าง 4,000-2,500 ปี พบร่องรอยบ้าน ที่เป็นเรือนเสาสูง ปรากฏ “ร่องรอยหลุมเสา” ในแหล่งโบราณคดี เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี พบร่องรอยหลุมเสา ที่ทำให้รู้ว่า บ้านหลังนี้มีผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า และน่าจะเป็นบ้านที่ยกสูงขึ้นมา หรือเป็นบ้านที่มีเสาสูง
นอกจากนี้ ยังพบที่บ้านหนองแช่เสา จังหวัดราชบุรี พบร่องรอยหลุมเสาบ้าน แต่เป็นแบบวงรี และนักโบราณคดีชาวเดนมาร์กชื่อ ซอเรนเซน ได้จินตนาการผังของบ้าน เป็นเรือนเสาสูงของชุมชนยุคแรกๆ จากหลุมเสา 6 หลุม ขุดพบที่บ้านหนองแช่เสา ต. หินกอง อ. เมือง จ. ราชบุรี
(ภาพลายเส้นบ้านจากหลุมเสาที่บ้านหนองแช่เสา จากหนังสือลักษณะไทย เล่ม 1 : ภูมิหลัง ภาค 2 ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดย พิสิฐ เจริญวงศ์ อ้างถึง Sorensen P. Archaeology in Thailand : Prehistory through the Neolithic Age, Sawaddi, July-August, Bangkok, 1972 : 21)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ธันวาคม 2560