“ชาวอยุธยา” รับใช้กษัตริย์พม่า ไฉนเจ้านายพม่ากล้าให้รักษาประตูเมือง-วัง-กองทหารม้า?

ราษฎรกรุงศรีอยุธยา ต่อสู้กับทหารพม่า ที่เข้ามาปล้นฆ่า (ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ)

เป็นที่รู้กันว่าสมัยสงครามที่อยุธยารบพุ่งกับพม่า ชาวอยุธยาที่ถูกกวาดต้อนไปที่พม่าก็มีไม่น้อย แต่คำถามคือใครที่ถูกกวาดต้อนไปบ้าง และมีใครไปพึ่งพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์พม่าบ้างหรือไม่ และรับใช้อย่างไรบ้าง

เมื่อลองค้นหาเอกสารฝั่งพม่า มีบทความ “Ayut’ia Men in the Service of Burmese Kings” เขียนโดยอาจารย์พม่านามว่า “ถั่วทุน” (Than Tun) ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการในเกียวโตที่ชื่อ Tonan Ajia Kenkyu (Southeast Asian Studies) ปีที่ 21 ฉบับที่ 4 มีนาคม เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2527 บทความนี้อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ แปลและเรียบเรียงเผยแพร่ในศิลปวัฒนธรรม เมื่อปีพ.ศ. 2528 ขณะที่อาจารย์สุพรรณี กาญจนัษฐิติ ก็เคยแปลบทความนี้เผยแพร่ในหนังสือ “ข้อมูลประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยา จากเอกสารไทยและต่างประเทศ” เช่นกัน

สมัยนั้น อ.ถั่วทุน ถือเป็นอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ของพม่าที่มีชื่อเสียงมากที่สุดอีกรายในสมัยนั้น โดยเอกสารที่ใช้อ้างอิงค้นคว้าคือ D.G.E Hall, A History of South-East Asia, พระราชพงศาวดารฉบับหอแก้ว และพระบรมราชโองการพม่า

ช่วงเวลาที่ศึกษาคือระหว่างที่ไทยรบกับพม่าที่เชียงฮุ่ง เวียงจันทน์ อยุธยา และเชียงใหม่ หลายครั้งในช่วงศตวรรษที่ 16 และ 17 ผลัดกันแพ้ชนะหลายครั้ง

สงครามระหว่างอยุธยากับหงสาวดี หรืออังวะ เริ่มต้นตั้งแต่สมัยพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ซึ่งก็เคยจับเชลยอยุธยาได้ มีทั้งพระอนุชา พระโอรส และพระราชบุตรเขยของกษัตริย์อยุธยาด้วย แต่เมื่อกษัตริย์ไทยเจรจา กษัตริย์พม่าทรงรับและถอนทัพกลับ ทรงปล่อยให้เชลยเจ้านายไทยกลับอยุธยา เมื่อ ค.ศ. 1545

ในสมัยพระเจ้าหงสาวดีชินบยูชิน หรือบุเรงนอง ก็เคยยกกองทัพมาอยุธยา เมื่อ 1563 หลังอยุธยาไม่มีตัวแทนเข้าเฝ้าในงานราชาภิเษก เมื่อถือว่าเป็นประเทศราชและไม่ส่งบรรณาการในโอกาสนี้จึงถือเป็นขบถ

บุเรงนองยกทัพขึ้นเหนือเข้ายึดเชียงใหม่ และยกทัพลงมาอยุธยา เมื่อ 1563 พระมหาจักรพรรดิทรงยอมแพ้เมื่อ กุมภาพันธ์ 1564 บุเรงนอง เสด็จกลับพม่าโดยจับเชลยเป็นบรรดาช่างฝีมือ และครอบครัวไปด้วย ผู้เขียนบทความไม่มีข้อมูลจำนวนและชื่อของเชลยเหล่านี้ แต่ข้อมูลที่มี เชลยเหล่านี้คือ นักแสดงชายหญิง ช่างก่อสร้าง (ประเภทสถาปนิก) ศิลปิน ช่างเหล็ก ช่างไม้ ช่างผม คนครัว ช่างทองแดง ช่างย้อมสี ช่างทอง ช่างเครื่องเขิน หมอช้าง หมอม้า นางระบำ ช่างสี ช่างน้ำหอม ช่างเงิน ช่างสลักหิน ช่างปูน ช่างแกะไม้

บุเรงนองทรงให้บรรดาช่างฝีมือและครอบครัวตั้งบ้านเรือนในเมืองหลวง (ที่หงสาวดีหรือพะโค)

ในสมัยพระเจ้านันทบุเรง ปี ค.ศ. 1582 เมืองอังวะเกิดเป็นขบถขึ้น ทรงส่งพระอนุชาไปปราบขบถ มีช้าง 10 เชือก ไพร่พล 1,000 รวมถึงชาวอยุธยาด้วย ซึ่งดูเหมือนว่าทหารจากอยุธยาจะพิสูจน์ตัวเองได้ดี จนเมื่อพระองค์ครองเมืองอังวะ ทรงพระนามว่า พระเจ้าสีหสุรมหาธรรมราชา พระองค์โปรดให้กลุ่มนี้เป็นทหารรักษาพระองค์ และได้รับหน้าที่คุมประตูเมืองอังวะ ถือว่าเป็นหน้าที่สำคัญ

สำหรับเรื่องการตั้งคนอยุธยารักษาประตูเมืองก็มีข้อมูลจากพระบรมราชโองการพม่า เมื่อ 1598 ระบุเหตุการณ์ช่วงสถาปนาอังวะเป็นราชธานี ตั้งพระราชวังใหม่ เมื่อ 1598 โปรดให้คัดคนอยุธยาทำหน้าที่ทหารรักษาประตูเมืองแต่ละประตูมีหัวหน้าหนึ่ง ผู้ช่วยเจ็ด ซึ่งเป็นข้อสังเกตเรื่องพม่านำคนอยุธยาไปรักษาประตูเมือง ทั้งที่เป็นที่ทราบว่าพม่าเข้ายึดอยุธยาได้เพราะมีขบถเปิดประตูเมืองให้กองทัพพระเจ้าบุเรงนอง เมื่อครั้งเสียกรุงครั้งแรก

กรณีชาวอยุธยาที่เข้ารับรับราชการของพม่า บทความระบุว่า มักถูกกำหนดให้อยู่ในกองม้า น่าจะพอบ่งบอกเรื่องความชำนาญการทัพม้า มีข้อมูลว่า ชายอยุธยานาม Tu Ran Kyoau ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้ากองทหารชื่อ Thwe Thauk Su (อาจแปลได้ว่า กองทหารเลือดสาบาน จากที่คำว่า Thwe หมายถึงกรีดเลือดสาบาน และ Thauk แปลว่าดื่ม)

คาดการณ์ว่าทหารกองนี้มีแนวโน้มเป็นชาวอยุธยาทั้งหมดก็เป็นได้ ไม่เพียงแค่กองนี้ที่มีชื่อของชาวอยุธยา ยังมีกองอื่นที่มีหัวหน้าเป็นชาวอยุธยาอย่าง Yui : daya : Mhu (Yui : daya : หมายถึงอยุธยา และ Mhu หมายถึงหัวหน้า) ตามที่พระราชพงศาวดารฉบับหอแก้วกล่าวถึงไว้เมื่อ พฤศจิกายน 1702

หรือกรณีพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้าบุเรงนอง พระบรมราชโองการพม่า กล่าวว่า

“ชาวอยุธยา 50 คนเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้าบุเรงนองโปรดให้ประจำกองม้า ให้ Na Pran San เป็นหัวหน้า ประทานที่ดินของ Na Kula เป็นที่พำนักทำการเพาะปลูก อีกกลุ่ม 125 คน มีหัวหน้าชื่อ Rai Nanda ให้อยู่ในกองม้าด้วย ยกหมู่บ้าน Kukkui Kon : ในเขต M Du: ประทานให้ไป”

(ผู้แปลไม่กล้าถอดชื่อเป็นภาษาไทย แต่อ.ถั่วทุน อธิบายว่า Mre Du: อยู่เหนือของชเวโบ ซึ่งอยู่เหนือของมัณฑะเลย์ขึ้นไปอีก เป็นแหล่งกำเนิดราชวงศ์อลองพญา ราชวงศ์สุดท้ายของพม่า)

ไม่ว่าจะถูกจับไปหรือสมัครใจ คนไทยไปตั้งหลักแหล่งไม่ห่างจากเมืองหลวงของพม่ามากนัก

อย่างไรก็ตาม ชาวอยุธยาก็เคยก่อขบถขึ้นเช่นกัน อย่างเหตุการณ์ในเมืองสะลิน ที่เกิดขบถเมื่อมีนาคม 1680 แต่ก็ยังมีชาวอยุธยาเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารกษัตริย์พม่ากันอยู่เป็นนิจ

โดยสรุปแล้ว อาจารย์ถั่วทุนเขียนไว้ว่า คริสต์ศตวรรษที่ 16 และ 17 อยุธยากับพม่าทำสงครามกันตลอดเวลา ระหว่างอยุธยากับอังวะ และอยุธยากับหงสาวดี ซึ่งเชลยสงครามและช่างฝีมืออยุธยาที่ถูกจับไปพม่าก็มักถูกใช้ให้ไปทำไร่ไถนา บางส่วนถูกส่งไปขายเป็นทาสในตลาดเบ็งกอล

แต่อย่างน้อยด้วยชื่อเสียงเรื่องความสามารถและจงรักภักดี บางส่วนได้โปรดให้เป็นทหารรักษาประตูวังและประตูเมือง ช่างฝีมือก็เข้ารับราชการในราชสำนักโดยเฉพาะ บางครั้งทาสก็เกิดลุกฮือขึ้นบ้าง แต่ก็ถูกปราบแบบไม่ยากนัก ยกเว้นกรณีจราจลขบถฉาน เมื่อ 1565 พวกที่เป็นชาวไร่ชาวนา ถูกส่งไปทางเหนือ ผสมปนเปกับชนพื้นเมือง ภายในหนึ่งหรือสองชั่วอายุคนต่อมาก็ลืมต้นตอของตัวเองว่ามาจากอยุธยา

บทความทิ้งท้ายว่า

“อย่างไรก็ตาม บรรดาลูกหลานของคนเหล่านี้ เราไม่อาจตัดสินว่า เขาไม่รักชาติโดยที่ได้ตัดความผูกพันกับอยุธยาหมดสิ้น เพราะเขาคงไม่เข้าใจในลัทธิรักชาติ (Patriotism) อย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบัน”

 



อ้างอิง: 

ถั่วทุน. “ชาวอยุธยาในพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์พม่าในคริสต์ศตวรรษที่ 16 และ 17”. แปลโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 7 ฉบับที่ 7 (พฤษภาคม 2529)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2561