ผู้เขียน | ณัฐพล จันทร์กรอง |
---|---|
เผยแพร่ |
พุทธศาสนามีอิทธิพลอย่างสูงต่อสังคมไทยมาหลายสมัย ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า บริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงทำให้วัฒนธรรมดั้งเดิมกับวิถีชีวิตคนสมัยใหม่เริ่มแยกออกจากันมากขึ้น กรณีของ “วัดไทร” ย่านบางโคล่ที่ถูกร้องเรียนว่าตีระฆังเสียงดังปรากฏอยู่ในหน้าสื่อเพียงชั่วพริบตาเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในยุคนี้
วัดไทร ในซอยประดู่ 1 แขวงบางโคล่ ถูก “ผู้อยู่อาศัย” (ว่ากันว่าผู้ร้องเรียนคือ “ผู้อยู่อาศัยรายเดียว”) ในคอนโดที่ตั้งอยู่ข้างเคียงร้องเรียนว่าเสียงตีระฆังจากในวัดรบกวนช่วงพักผ่อน รายงานข่าวจากสื่อหลายแห่งเผยว่า การร้องเรียนนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2560 ขณะที่วัดได้รับหนังสือขอความร่วมมือจากเขตบางคอแหลมลงวันที่ 2 ตุลาคม 2561 เนื้อหาในหนังสือระบุว่า
“วัดไทรตีระฆังสร้างเสียงดังรบกวนตั้งแต่เวลา 03.00-04.00 น. เป็นประจำทุกวัน สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ที่พักอาศัยบริเวณดังกล่าว สำนักงานเขตขอความร่วมมือวัดไทร พิจารณาปรับลดระดับเสียงและช่วงเวลาระยะเวลาตีระฆังที่เหมาะสม ป้องกันการสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้พักอาศัยบริเวณใกล้เคียง”
พระสุธิชาญ สุภัทโท พระลูกวัด ให้สัมภาษณ์กับทีมงาน “ข่าวสด” ชี้แจงว่า วัดจะตีช่วงเข้าพรรษาเป็นเวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น ตีวันละ 2 เวลา ช่วงเช้าตีระฆังใบใหญ่เวลา 04.00-04.20 น. และช่วงเย็นตีระฆังใบเล็กเวลา 18.00-18.10 น. โดยตีในทิศทางที่เชื่อว่าจะทำให้เสียงดังออกไปทางศาลาของทางวัด ไม่ได้ตีให้เสียงดังออกไปทางคอนโด
ในแง่หนึ่งอาจเป็นเพียงกระแสข่าวเชิงสังคมทั่วไปที่คนจำนวนไม่น้อยมองว่าเป็นเรื่องของการบริหารจัดการพื้นที่ และทัศนคติส่วนบุคคล อย่างไรก็ตาม การร้องเรียนของคนในชุมชนระดับคอนโดใจกลางเมืองซึ่งอาจมองได้ว่าสามารถจัดได้ว่าอย่างน้อยก็เป็นชนชั้นกลางในสังคมเมืองยุคใหม่ที่มาอยู่ท่ามกลางวัฒนธรรมดั้งเดิมของพุทธศาสนา และมองว่าพิธีกรรมเหล่านี้รบกวนวิถีชีวิตหรือถึงขั้นสร้างความเดือดร้อนแก่วิถีชีวิตของเขา
ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่ทุกคนยอมรับคือวัดไทรแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นมาก่อนหน้าที่พักอาศัยในอาคารสูงอย่างแน่นอน แม้เว็บไซต์ของวัดไทร หรือข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ยังไม่สามารถระบุผู้สร้าง และยุคสมัยที่สร้างวัดแห่งนี้ได้ แต่จากหลักฐานที่พอจะทำให้ตั้งสมมติฐานยุคสมัยที่วัดแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นอย่างองค์พระพุทธรูปที่มีอยู่ในวิหาร ซึ่งเว็บไซต์ของวัดไทรระบุว่า
“เป็นพุทธรูปประทับยืนปางห้ามญาติ จีวรเป็นดอกพิกุล หรือดูได้จากพระปรางค์หรือเจดีย์ สังเกตจากฝีมือช่างที่ทำการก่อสร้าง มาเปรียบเทียบจะใกล้เคียงกับช่างในสมัยอยุธยาตอนปลาย”
เพื่อเป็นการเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและความสัมพันธ์ของวิถีชีวิตคนในชุมชนกับพุทธศาสนาระหว่างยุคสมัยปัจจุบันกับสมัยที่วัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้น อาจต้องนำข้อมูลสภาพพุทธศาสนาในยุคสมัยนั้นมาพูดถึงร่วมด้วย ซึ่งอาจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ นำเสนอข้อมูลเหล่านี้ในหนังสือ “พุทธศาสนากับแนวคิดทางการเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก”
สภาพพุทธศาสนาในสมัยอยุธยาตอนปลายจากการศึกษาของสายชล พบว่า ประสบการณ์ทางศาสนาของคนในเมืองกับวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้านแตกต่างกันมาก
คนในราชสำนัก ชนชั้นมูลนายทั่วไป และพระสงฆ์ที่บวชนานแล้ว การนับถือพุทธของคนกลุ่มนี้อยู่ในลักษณะผูกพันกับคัมภีร์บาลี เมื่อมีโอกาสอ่านวรรณกรรมหรือตำราที่แปลจากต่างชาติโดยเฉพาะสันสกฤต และเกี่ยวข้องกับพระราชพิธีพราหมณ์เสมอ อิทธิพลทางความคิดของศาสนาพราหมณ์ซึ่งเชื่อเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติของเทพเจ้าจึงเข้ามาผสมผสานกับพุทธศาสนาของคนกลุ่มนี้
ขณะที่ไพร่ ชนชั้นผู้น้อย ตลอดจนพระสงฆ์ที่ใกล้ชิดกับชาวบ้าน (สมัยนั้นชาวบ้านมักไม่มีความรู้ทางหนังสือหรือมีน้อย) พุทธศาสนาที่กลุ่มนี้นับถือจะผูกกับคำสอนที่ถ่ายทอดด้วยปาก ภาพเขียน หรือปฏิมากรรม กลุ่มนี้ยังผูกพันกับขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมทางสังคมที่สั่งสมกันต่อมา
สายชล อธิบายว่า ตามปกติแล้ว วัดที่มีจำนวนมากในอยุธยาเป็นสถานที่ซึ่งเปิดให้ชนชั้นสูงกับไพร่ได้สัมพันธ์กันอย่างมาก ทั้งจากการร่วมงานนักขัตฤกษ์ด้วยกัน มาตรฐาน ค่านิยม ความเชื่อของมูลนาย ต่างถูกปั้นหรือสลักเขียนในโบสถ์วิหาร
อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในช่วงปลายอยุธยาส่งผลให้พุทธศาสนาแตกออกเป็นสองแนว คือพุทธศาสนาแบบมนุษยนิยม (เชื่อในปัญญาของมนุษย์ มองผลในชาตินี้สำคัญมากขึ้น และเห็นมนุษย์เสมอภาคกันมากขึ้น ) ในกลุ่มชนที่เริ่มมีลักษณะเป็นกระฎุมพี กับพุทธศาสนาแบบเน้นบุญฤทธิ์วิทยาคมซึ่งมีอิทธิพลสูงขึ้นเนื่องจากสภาพสังคมที่ปั่นป่วนจนคนต้องหันพึ่งพาอำนาจเหนือธรรมชาติมากขึ้น
ผู้เขียนมองว่า แนวพุทธศาสนาแบบที่เน้นบุญฤทธิ์วิทยาคมมีอิทธิพลสูงในช่วงปลายอยุธยา และมีแนวโน้มมีอิทธิพลเหนือกลุ่มพุทธศาสนาแบบมนุษยนิยมด้วยซ้ำ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสภาพสังคมที่ปั่นป่วนอันเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงหลายประการจากผลทั้งเรื่องการขยายตัวทางการค้า โครงสร้างชนชั้น และความขัดแย้งกันเองภายในชนชั้นมูลนาย และขัดแย้งระหว่างชนชั้นมูลนายกับไพร่ คนในสังคมไร้ที่พึ่ง จึงเริ่มหันเข้าหาศาสนาที่มีความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติและพิธีกรรมมากขึ้น สภาพการนับถือพุทธช่วงปลายอยุธยามีลักษณะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมมากทีเดียว (ทำบุญหรือให้ทานมีลักษณะเป็นพิธีกรรม)
พุทธศาสนิกชนทั้งชั้นผู้น้อย หรือแม้แต่ชนชั้นสูงที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งก็ให้ความสำคัญกับพิธีกรรมมากขึ้น หันเข้าพึ่งอำนาจเหนือธรรมชาติช่วยดลให้เกิดผลที่ปรารถนา อิทธิพลของพุทธศาสนาแบบบุญฤทธิ์วิทยาคมมีสูงมาก
ขณะที่สภาพความเปลี่ยนแปลงในเมืองยุคปัจจุบัน การเติบโตของที่อยู่อาศัยสมัยใหม่ซึ่งเข้ามาแทรกอยู่ในวิถีชีวิตของชุมชนที่มีมาแต่เดิม สภาพสังคมและเศรษฐกิจยุคนี้อาจไม่ได้ถึงขั้นสับสน คนไร้ที่พึ่งเหมือนกับช่วงอยุธยาตอนปลาย แต่วัดในชุมชนยังคงเป็นสถานที่ซึ่งคนในชุมชนหรือประชาชนจากพื้นที่อื่นมาร่วมประกอบพิธีทางศาสนา ทำบุญ และกิจกรรมอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม จากสภาพของวัดในปลายอยุธยา ยุคที่เชื่อว่าวัดไทรถูกสร้างขึ้นมาในช่วงเวลานั้นล่วงเลยมาถึงในปัจจุบันยังคงมีสถานะคล้ายกับพื้นที่ให้ชนชั้นผู้น้อยกับชนชั้นสูงได้สัมพันธ์กันได้อยู่อีกหรือไม่นั้น อาจเป็นเรื่องที่ยากเกินจะให้คำตอบแบบเฉพาะเจาะจงได้ ผู้ร้องเรียนที่อ้างว่าได้รับผลกระทบจากเสียงระฆังของวัดจะเป็นคนกลุ่มไหนนั้นก็ยังไม่อาจทราบได้
แต่อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในเมืองสมัยใหม่ที่การสร้างอาคารซึ่งสูงกว่าสิ่งปลูกสร้างดั้งเดิมยังต้องทำแบบสำรวจมาให้วัดเซ็นอนุมัติเพื่ออนุเคราะห์แก่ผู้พักอาศัยแต่หลังจากอาคารที่อยู่อาศัยสมัยใหม่สร้างเสร็จ กลับมีผู้อยู่อาศัย (ส่วนน้อย) รู้สึกว่ากิจกรรมทางศาสนาในพื้นที่ใกล้เคียงรบกวนวิถีชีวิตของตัวเองอาจฉายภาพขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมกับวิถีชีวิตคนยุคใหม่ภายใต้สภาพสังคมและเศรษฐกิจที่ “รัดตัว” (อาจไม่ถึงขั้นปั่นป่วนแบบอยุธยาตอนปลาย) เหมือนเริ่มวิ่งฉีกถ่างห่างจากกันมากขึ้นเรื่อยๆ
ไม่แน่ว่าสักวันหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝั่งอาจวิ่งเป็นเส้นขนานแบบชัดเจนขึ้นอีก
อ้างอิง:
สายชล สัตยานุรักษ์. พุทธศาสนากับแนวคิดทางการเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก. (กรุงเทพมหานคร : มติชน, 2546), หน้า 51-61