เผยแพร่ |
---|
อนุสาวรีย์สาธารณะในพื้นที่กรุงเทพฯ อาทิ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์ปราบกบฏ ใครดูแล? จะเป็นกรมศิลปากร กทม. หรือผู้สร้าง?
จากบทความเรื่อง “อนุสาวรีย์ปราบกบฏ กับการรำลึกวีรชนผู้พิทักษ์การปฏิวัติ พ.ศ. 2475″ โดย ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนตุลาคม 2556 ได้กล่าวถึงการพิจารณาหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดูแลอนุสาวรีย์สาธารณะ จนออกมาเป็นมติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 4 กรกฎาคม 2488 กำหนดหน่วยงานที่รับชอบดูแลอนุสาวรีย์สาธารณะ
สำหรับการหาหน่วยงานดูแลอนุสาวรีย์เริ่มต้นจากกระทรวงกลาโหมเสนอความเห็นมายังคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2488 ความว่า อนุสาวรีย์ทหารอาสา อนุสาวรีย์ปราบกบฏ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์ของชาติ และเกี่ยวข้องกับราชการทหารเป็นส่วนใหญ่ เป็นเหตุให้หน่วยราชการเข้าใจว่าเป็นอนุสาวรีย์ของทหาร แต่เมื่อตรวจสอบหลักฐานกลับไม่ปรากฏว่า กระทรวงกลาโหมได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดูแลรักษาอนุสาวรีย์ข้างต้นแต่อย่างใด ประกอบกับมีคนร้ายขโมยโซ่ที่ขึงรอบอนุสาวรีย์ทหารอาสาไปเนื่องจากไม่มีผู้ดูแลอนุสาวรีย์
ด้วยเหตุนี้กระทรวงกลาโหมจึงเสนอหลักการเกี่ยวกับการดูแลรักษาอนุสาวรีย์ที่รัฐบาลสร้างให้มีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบดูแลในฐานะเป็นเจ้าของสถานที่ หากอนุสาวรีย์อยู่ในเขตเทศบาลควรให้เทศบาลนั้นดูแล หากอยู่นอกเขตเทศบาลควรให้คณะกรมการจังหวัดหรือคณะกรมการอำเภอดูแล
ความเห็นของกระทรวงกลาโหมข้างต้น ทางกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณา จากนั้นกระทรวงมหาดไทยได้เสนอรายงานว่า ยังไม่มีระเบียบหรือกฎหมายบัญญัติไว้เป็นทางปฏิบัติหรือควบคุม ดังนั้นเมื่อทางราชการได้สร้างอนุสาวรีย์ใดๆ ผู้ดำเนินการสร้างควรเป็นผู้ดูแลรักษาและจัดงานพิธีเกี่ยวกับอนุสาวรีย์นั้น กระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่เพียงช่วยระวังรักษาในฐานะเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ไม่ใช่เป็นผู้รับผิดชอบดูแลอนุสาวรีย์โดยตรง
ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเรื่องการกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2488 และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติว่า “การดูแลรักษาความปลอดภัยให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยและตำรวจ ในส่วนความสะอาดและความสวยงาม ถ้าอยู่ในเขตเทศบาล ให้มอบให้เป็นหน้าที่ของเทศบาล ถ้าอยู่นอกเขตเทศบาล มอบให้เป็นหน้าที่ของคณะกรมการจังหวัด สำหรับพิธีถ้าเป็นงานของหน่วยราชการใด ให้หน่วยราชการนั้นเป็นผู้จัดงานเอง”
ดังนั้นหากมติคณะรัฐมนตรีข้างต้นยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลอนุสาวรีย์สาธารณะในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยตรงคือ “กรุงเทพมหานคร” โดยมีหน้าที่รักษาความสะอาดและบำรุงรักษาอนุสาวรีย์ให้สวยงาม มิใช่หน่วยงานที่สร้าง กรมศิลปากร หรือหน่วยงานที่ประกอบพิธีที่อนุสาวรีย์แต่อย่างใด
ชี้เป้า “เอกสาร” ให้หน่วยงานรัฐตรวจสอบเพิ่มเติม
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สลค.3.37/9 เรื่องการคุ้มครองอนุสาวรีย์แห่งชาติ (3 กรกฎาคม 2486-5 กรกฎาคม 2488)