คำว่า หม่อม ใช้มาตั้งแต่เมื่อใด? หม่อมแต่ละประเภทต่างกันอย่างไร?

หม่อมราโชทัย
ภาพประกอบเนื้อหา - หม่อมราโชทัย (หม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร) หม่อมราชนิกุลท่านแรกของกรุงรัตนโกสินทร์

คำว่า หม่อม เป็นมรดกทางภาษาและวัฒนธรรมของสยามประเทศมาแต่กรุงศรีอยุธยา ความปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1 ว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชปราบดาภิเษกสถาปนาพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการตำแหน่งต่าง ๆ บุคคลที่ทรงแต่งตั้งนั้นจะมีคำนำหน้าว่า หม่อม เกือบจะทุกคน

คำว่า “หม่อม” มีความหมาย 5 ประเภท คือ 

  1. หม่อมราชนิกุล หรือหม่อมราชินีกุล
  2. หม่อมห้าม
  3. พระราชวงศ์ทรงกระทำผิดสถานหนักและถูกถอดพระยศลงเป็น “หม่อม”
  4. อนุภรรยาของข้าราชการชั้นเจ้าพระยาหรือพระยาชั้นผู้ใหญ่
  5. ละครหญิงของหลวงที่มิได้เป็น “เจ้าจอม” หรือ “เจ้าจอมมารดา”

หม่อมราชนิกุล หรือหม่อมราชินีกุล

หมายถึง หม่อมราชวงศ์ชายที่รับราชการมีความดีความชอบ ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นหม่อมราชนิกุล โดยให้มีอิสริยยศต่ำกว่าพระองค์เจ้าตั้ง แต่สูงกว่าหม่อมเจ้า พระองค์เจ้าตั้ง หมายถึงหม่อมเจ้าที่ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้า พระองค์เจ้าอีกประเภทหนึ่งคือพระองค์เจ้าโดยพระชาติกำเนิด

หม่อมราชนิกุลนี้หากรับราชการมีความดีความชอบมากยิ่งขึ้นก็จะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยา” โดยมิต้องเป็นขุน หลวง พระ ดังเช่นสามัญชนทั่วไป

หม่อมราโชทัย (หม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร) (12 มิถุนายน พ.ศ. 2363 – 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2410) หม่อมราชนิกุลท่านแรกของกรุงรัตนโกสินทร์

หม่อมห้าม

หมายถึง หญิงสามัญชนที่เป็นภรรยาของพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป เช่น หม่อมใหญ่ เทวกุล ณ อยุธยา ท.จ.ว. ในมหาอำมาตย์นายก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ต้นราชสกุล เทวกุล ณ อยุธยา หรือ หม่อมคัทริน ท.จ.ว. ในจอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ต้นราชสกุลจักรพงษ์ ณ อยุธยา

พระราชวงศ์ทรงกระทำผิดสถานหนักต้องโทษประหารและถูกถอดพระยศลงเป็น “หม่อม”

ในประวัติศาสตร์ช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ มีหลายครั้งที่เจ้านายทรงกระทำผิดโทษถึงประหารชีวิต ซึ่งตามพระราชประเพณีจะต้องถูกถอดพระยศลงเป็นสามัญชนและเรียกว่า “หม่อม”

เมื่ิอต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยซึ่งเป็นระยะเวลาเปลี่ยนแผ่นดิน เจ้านายและขุนนางที่ฝักใฝ่และจงรักภักดีในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยังมีอยู่มาก ข้าราชการได้กราบบังคมทูลแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยว่ามีกาคาบหนังสือมาทิ้งไว้ที่ต้นไม้หน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทว่า

สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต หรือเจ้าฟ้าเหม็น พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชประสูติแต่สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงฉิมใหญ่พระราชธิดาองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พร้อมด้วยพระเชษฐาคือพระองค์เจ้าหนูดำและพระขนิษฐาคือพระองค์เจ้าสำลีวรรณ พระราชชายาในสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ คบคิดกับขุนนางหลายนายจะก่อกบฏชิงราชสมบัติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ถอดพระยศสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิตเป็น “หม่อมเหม็น” แล้วนำไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคา ส่วนพระองค์เจ้าหนูดำ พระองค์เจ้าสำลีวรรณ และข้าราชการอื่น ๆ ที่สมรู้ร่วมคิด ให้ตัดศีรษะเสียทั้งสิ้น

อนุภรรยาของข้าราชการชั้นเจ้าพระยา หรือพระยาชั้นผู้ใหญ่

เอกภรรยาของข้าราชการเจ้าพระยาหรือพระยาพานทองซึ่งนับเป็นพระยาชั้นผู้ใหญ่จะเรียกโดยอัตโนมัติตามบรรดาศักดิ์ของสามีว่า “ท่านผู้หญิง” และ “คุณหญิง” ตามลำดับ ทั้งนี้ไม่จำกัดว่าท่านผู้นั้นจะได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายในหรือไม่ ส่วนอนุภรรยาจะได้รับการยกย่องว่าเป็น “หม่อม”

ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้ใช้คำนำหน้าสตรี พ.ศ. 2460 แล้ว คำว่า “หม่อม” ในฐานะที่เป็นอนุภรรยาของเจ้าพระยาหรือพระยาพานทองจึงเลิกใช้ไป

ละครผู้หญิงของหลวงที่มิได้เป็น “เจ้าจอม” หรือ “เจ้าจอมมารดา”

พันโทสุจิตร ตุลยานนท์ ได้ยกตัวอย่างกรณีนี้คือ หม่อมน้อย (งอก) ไกรทอง ละครผู้หญิงของหลวงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ดังคำกลอนว่า

“จับได้เรือหม่อมน้อยงอก”
รับสั่งให้ออกอินทรชิต
งามจริงเจียวนะแม่
แยงแย่ลงอีกนิด”

หม่อมน้อย (งอก) ผู้นี้เป็นครูถ่ายท่ารำบทไกรทองให้แก่ท้าวศรีสุนทรนาฏ (แก้ว พนมวัน ณ อยุธยา) ซึ่งเป็นขรัวยายของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตราชสุดา สิริโสภาพัณวดี พระราชธิดาองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และท้าวศรีสุนทรนาฏได้ถ่ายทอดท่ารำบทไกรทองนี้ให้แก่ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ศิลปินแห่งชาติ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “หม่อม” เขียนโดย เล็ก พงษ์สมัครไทย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2549


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 พฤษภาคม 2562